Tags:
Node Thumbnail

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล. หรือ KMITL) เปิดศูนย์วิจัยเซมิคอนดักเตอร์ KMITL Academy of Innovative Semiconductor Manufacturing (KAISEM) ทำหน้าที่เป็นห้องปฏิบัติการกลาง รวมผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่างๆ เช่น วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ วิศวกรรมระบบการผลิต และวิศวกรรมวัสดุ มาวิจัยเซมิคอนดักเตอร์ร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เซมิคอนดักเตอร์ของไทย

ในงานเปิดศูนย์ KAISEM ยังมีการเซ็นบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับบริษัท National Instruments (NI) ของสหรัฐ เพื่อนำเครื่องมือและความเชี่ยวชาญของ NI มาใช้ในการเรียนการสอนและการวิจัยของคณะวิศวกรรมศาสตร์ด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ตลอด 64 ปีที่ผ่านมา สจล. ได้สร้างชื่อเสียงในด้านการศึกษาและการพัฒนาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเซมิคอนดักเตอร์ เช่น วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ วิศวกรรมระบบการผลิต และวิศวกรรมวัสดุ ในปีนี้ สจล. ได้ก่อตั้งศูนย์ KMITL Academy of Innovative Semiconductor Manufacturing (KAISEM) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาหลักสูตรเฉพาะทางและเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาในการก้าวสู่อนาคตที่เต็มไปด้วยความท้าทายของอุตสาหกรรมเชมิคอนตักเตอร์

สจล. มีประวัติการวิจัยที่ยาวนานในด้านเชมิคอนดักเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบบวงจรรวม การพัฒนาอุปกรณ์เซมิคอนตักเตอร์ หรือการออกแบบแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) ที่ประยุกต์ใช้งานในด้านต่าง ๆ นอกจากนี้ สจล. ยังมีความร่วมมือกับภาคเอกชน มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยชั้นนำจากทั่วโลก เช่น ไต้หวัน ญี่ปุ่น และเยอรมนี ซึ่งความร่วมมือเหล่านี้จะยิ่งเสริมสร้างศักยภาพในการวิจัยของศูนย์ KAISEM และทำให้สจล. เป็นผู้นำระดับโลกในด้านเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ พร้อมทั้งเชื่อมโยงภาคการศึกษาและอุตสาหกรมเพื่อให้บริการวิชาการที่ครอบคลุมและตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ

รองศาสตราจารย์ ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ได้ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรและวิธีการเรียนการสอนให้ทันสมัยและสอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะหลักสูตรภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มุ่งผลิตบุคลากรคุณภาพสำหรับตำแหน่งงานด้านเซมิคอนดักเตอร์ ผ่านความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำกว่า 11 องค์กร ซึ่งทำให้คณะมีห้องปฏิบัติการด้านเซมิคอนดักเตอร์และสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัย สนับสนุนการเป็นศูนย์กลางในการผลิตบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทย นอกจากนี้ คณะยังได้เสนอแนวทางการเรียนไปพร้อมกับการทำงาน (WIL) ซึ่งช่วยให้บุคลากรพร้อมเข้าสู่ตลาดงานได้ทันทีและลดระยะเวลาในการรอให้กับภาคอุตสาหกรรม

ภายในงานการเปิดศูนย์ KAISEM ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างสถาบันฯ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ และ บริษัท National Instruments ซึ่งเป็นบริษัทด้านเซมิคอนดักเตอร์ ชั้นนำระดับโลกที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบทดสอบและวัดผลอัตโนมัติ และมีการให้บริการในหลายอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ อากาศยานอิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม มายกระดับการเรียนการสอนและการวิจัยของคณะ ให้ก้าวสู่ระดับสากล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิภู ศรีสืบสาย รักษาการแทนคณบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมวัสดุ สจล. กล่าวว่า สจล. เป็นผู้นำในด้านวิศวกรรมวัสดุ (Material Engineering) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ศูนย์ KAISEM มุ่งเน้นการรวบรวมนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์ เพื่อเสริมสร้างการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีวัสดุศาสตร์ที่มีความทันสมัยและประสิทธิภาพสูง ศูนย์ KAISEM จะเป็นศูนย์กลางในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านวัสดุศาสตร์ โดยเฉพาะการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต เชมิคอนดักเตอร์และ PCB ศูนย์ KAISEM จะมุ่งเน้นการพัฒนาวัสดุที่สามารถตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในระดับโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการรวมความเชี่ยวชาญจากนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์ของ สจล. และพันธมิตร ศูนย์ KAISEM จะช่วยเพิ่มความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์และเสริมกระบวนการผลิตให้มีความทันสมัยและแข่งขันได้ในตลาดโลกอย่างยั่งยืน

รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรพล ภคศิริ รักษาการแทนคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง สจล. กล่าวว่า สจล. ให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมและการให้บริการวิชาการที่ได้รับการยอมรับจากภาครัฐและเอกชนมาอย่างยาวนาน การเปิดศูนย์ KAISEM จะตอบสนองความต้องการในการทดลองกระบวนการผลิตเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วยบริการออกแบบเทคโนโลยีการผลิตแบบ pilot ก่อนการลงทุนในระดับใหญ่ พร้อมกับการวิจัยและพัฒนาสำหรับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ศูนย์ KAISEM ยังจะเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์และเป็นศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญในการสร้างงานวิจัยขั้นสูงเกี่ยวกับเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์และ PCB โดยการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ เช่น ไต้หวัน ญี่ปุ่น เยอรมัน เพื่อยกระดับเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ของประเทศไทยให้เป็นรับในระดับโลก นอกจากนี้ ยังมีภารกิจในการให้บริการด้านวิชาการ การเรียนการสอน และการฝึกครบถ้วนและสมบูรณ์

ที่มา - KMITL

No Description

Get latest news from Blognone

Comments

By: vulkan on 23 August 2024 - 16:33 #1320255
vulkan's picture

ฉากหลัง มีเส้นไฟชี้ลงมาที่หัว อย่างคูล

By: btoy
ContributorAndroidWindows
on 23 August 2024 - 19:11 #1320273
btoy's picture

หวังว่านี่จะเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองเล็กๆที่สำคัญต่อการปูรากฐานการพัฒนาบุคลากรด้านเซมิคอนดัคเตอร์ในบ้านเราครับ


..: เรื่อยไป

By: nununu
Windows Phone
on 23 August 2024 - 19:39 #1320277

อยากให้ประเทศไทยมีส่วนในวงการชิปโลกบ้าง แม้เพียงเล็กน้อยก็ยังดี