นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเบิร์กลีย์ (UC Berkeley) ของสหรัฐอเมริกา ประสบความสำเร็จในการสังเคราะห์วัสดุชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพกักเก็บคาร์บอนในอากาศได้ดีกว่าเดิม
เทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอน (carbon capture) ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อลดปริมาณ CO2 แก้ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอนในปัจจุบันยังทำงานได้ดีในการดูดคาร์บอนหนาแน่นจากแหล่งเดียว (เช่น ปากปล่องควันโรงงานผลิตไฟฟ้า) หากเราเอามากักเก็บ CO2 ตามท้องถนนทั่วไป มันยังทำงานได้ไม่ดีนัก
เทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอนจากอากาศโดยตรง (direct air capture หรือ DAC) จึงเป็นความหวังของมนุษย์ในการลดปริมาณคาร์บอนในชั้นบรรยากาศลง งานวิจัยที่นำโดย Omar Yaghi ศาสตราจารย์ด้านเคมีของเบิร์กลีย์ สร้างวัสดุสังเคราะห์ชื่อ COF-999 (COF ย่อมาจาก covalent organic framework) สามารถกักเก็บคาร์บอนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง ใช้ผง COF-999 จำนวน 200 กรัม ดูดคาร์บอนได้ 20 กิโลกรัมในหนึ่งปี เทียบเท่ากับต้นไม้ต้นหนึ่งเลยทีเดียว
เทคนิคการสร้าง COF-999 เป็นเทคโนโลยีด้านวัสดุศาสตร์ ที่ออกแบบโครงสร้างโมเลกุลให้มีที่ว่างภายในสำหรับดูดคาร์บอนมาเก็บไว้ ทีมวิจัยของ Yaghi ทดลองสร้างวัสดุชนิดต่างๆ มานานเกิน 20 ปีแล้ว เมื่อสองปีก่อนสร้างวัสดุชื่อ MOF-808 ที่ให้ประสิทธิภาพดี แต่ใช้ไปสักระยะหนึ่งแล้วโครงสร้างจะพังทลายลง ทางทีมใช้เวลา 2 ปีค้นหาสาเหตุและแก้ปัญหา จนได้ออกมาเป็น COF-999 ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสำหรับการทำ DAC
ที่มา - Berkeley
Comments
ต้นไม้ต้นหนึ่งนี่คือเค้าเทียบกับต้นอะไรกันนะ
อยากรู้ว่าการได้มาซึ่ง COF-999 จำนวน 200 กรัม มี carbon footprint เท่าไหร่ ถึงจะรู้จำนวนคาบอนที่มันลดได้อย่าแท้จริง
เข้าใจว่าถ้า mass product ได้ ค่า carbo footprint ก็น่าจะลดลงอีก
เก็บมาแล้ว เอาไปทำอะไรต่อ
เอาไปใส่ในเรือดำน้ำ ยานอวกาศ สถานีอวกาศน่าจะดีขึ้นเปล่านะ หรือมีของที่ล้ำกว่านั้น
ก็น่าสนใจดีแต่ต้นทุนและปริมาณการดูดทรัพย์จะต้องมีความได้สัดส่วนที่เหมาะสม จะว่าไปต้นไม้ 1 ต้นประสิทธิภาพการดูดซับคาร์บอนยังสู้สาหร่ายไม่ได้เลย
สาธุ 999