เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คดีความระหว่าง Arm กับ Qualcomm เรื่องไลเซนส์การใช้งานซีพียู Arm ของ Nuvia บริษัทลูกของ Qualcomm เข้าสู่กระบวนการไต่สวนในศาล ผลลัพธ์ในภาพรวมออกมาเป็นประโยชน์กับทาง Qualcomm มากกว่าทาง Arm
รายละเอียดของคดีนี้คือ Nuvia ซื้อไลเซนส์พิมพ์เขียวซีพียูจาก Arm เพื่อใช้กับซีพียูเซิร์ฟเวอร์ แต่หลังจากนั้น Nuvia โดน Qualcomm ซื้อกิจการ แล้วนำเทคโนโลยีของ Nuvia มาใช้กับซีพียูไคลเอนต์ Snapdragon X โดยจ่ายค่าตอบแทนให้ Arm ในราคาที่ Qualcomm จ่ายอยู่เดิม (ซึ่งถูกกว่าที่ Nuvia จ่าย) Arm มองว่าผิดเงื่อนไขใบอนุญาตและตัดสินใจฟ้อง Qualcomm
การตัดสินคดีนี้จึงต้องแยกเป็น 2 ส่วนคือ Nuvia ผิดเงื่อนไลเซนส์กับ Arm หรือไม่ และ Qualcomm ผิดเงื่อนไขไลเซนส์กับ Arm หรือไม่
คดีนี้ใช้ระบบลูกขุนตามกระบวนการยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา ซึ่งคณะลูกขุนจำนวน 8 คน เห็นตรงกันว่า Qualcomm ไม่ผิดสัญญากับ Arm โดยตรง แต่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ว่า Nuvia ผิดสัญญากับ Arm ด้วยหรือไม่
Qualcomm แถลงว่าตัวเองเป็นผู้ชนะในคดีนี้ ส่วน Arm ระบุว่าจะขอให้ไต่สวนใหม่ (retrial) ในขณะที่ผู้พิพากษา Maryellen Noreika มองว่าไม่มีใครเป็นผู้ชนะชัดเจน และแนะนำให้ทั้งสองฝ่ายกลับมาเจรจากันใหม่
ที่มา - Qualcomm, Reuters, Bloomberg, Computerworld
Comments
Qualcomm ควรจ่ายในเรทเดียวกับ Nuvia เพราะถ้าQC ซื้อ NV มาก็ต้องรับภาระสัญญาค่าใช้จ่ายเดิมก่อนหน้ามาด้วย อีกอย่างสัญญา NV กับ Arm ผลิตเพื่อ Server แต่ QC เอามาใช้กับ Client อันนี้จริงๆ ก็ถือว่าผิดข้อตกลง
จริงๆ แล้ว QC ควรจ่ายชดเชยทั้งหมด เพราะ Elite ที่เป็นหน้าเป็นตาทุกวันนี้แทบไม่ได้เกิดจาก Qualcomm เลย
หากเป็นคนให้เช่าบ้าน ทำสัญญาปล่อยเช่าเพื่ออยู่อาศัยใน rate ถูกๆ, แต่คนเช่าดันไปให้คนอื่นเช่าต่อธุรกิจ
มันไม่ใช่ว่า "ก็ทำได้นะ โดยอัตราเช่าก็ได้ rate ถูกๆต่อไป แต่ส่วนผิดวัตถุประสงค์ก็ค่อยไปว่ากัน!?" ผมว่ามันผิดนะ
หลักกฎหมายที่ถูกต้องคือ ในเมื่อคุณใช้ผิดวัตถุประสงค์ ก็ต้องยกเลิกสัญญาได้ ไม่งั้นทุกคนก็มาโกหกว่าจะมาเช่าเพื่ออยู่อาศัยเพื่อให้ได้ใน rate ถูกๆ แต่เอาไปให้คนอื่นเช่าต่อธุรกิจกินกำไรส่วนต่าง, เจ้าของบ้านก็ตายสิครับ
อีกตัวอย่างน่าจะเหมือนการจดทะเบียนรถ ป้ายเหลือง ป้ายขาว เสียภาษีไม่เท่ากัน