แอปเปิลเป็นบริษัทที่มีความโดดเด่นด้านการพัฒนาพลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งแผนการตลาดชั้นยอด แต่อีกด้านอันแข็งแกร่งของแอปเปิลซึ่งบรรดาคู่แข่งในอุตสาหกรรมต่างรับรู้โดยผู้คนทั่วไปอาจไม่รู้กันก็คือความสามารถในการจัดการห่วงโซ่อุปทานหรือ Supply Chain นั่นเอง เรามองเห็นด้านหน้าของแอปเปิลกับผลิตภัณฑ์ที่สร้างความโดดเด่นหลายอย่าง แต่เบื้องหลังแอปเปิลเองก็ลงทุนไปเป็นเงินมหาศาลเพื่อให้แน่ใจว่าบริษัทมีห่วงโซ่อุปทานในการดำเนินงานที่แข็งแกร่งที่สุด ความสำคัญของขั้นตอนการดำเนินงานการผลิตนี้เอง ที่เป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งทำให้ทิม คุก ชายผู้สตีฟ จ็อบส์ไว้วางใจมากที่สุดคนหนึ่งในฐานะซีโอโอถูกเลือกมาเป็นซีอีโอคนปัจจุบันของแอปเปิล
แอปเปิลเริ่มให้ความสำคัญกับการจัดการห่วงโซ่อุปทานทุกส่วนตั้งแต่ช่วงที่สตีฟ จ็อบส์เริ่มกลับมาทำงานให้แอปเปิล ในสมัยนั้นผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ยังนิยมขนส่งสินค้าทางเรือเนื่องจากมีต้นทุนที่ถูกที่สุด แต่สตีฟ จ็อบส์กลับคิดต่างออกไป เขาอยากให้ iMac รุ่นสีฟ้ากระจายสินค้าออกไปได้ในวงกว้างและรวดเร็วที่สุดเพื่อทันช่วงเทศกาล จ็อบส์จึงใช้เงิน 50 ล้านดอลลาร์เพื่อซื้อเที่ยวบินขนส่งสินค้าในช่วงเทศกาลที่ว่างอยู่ทั้งหมด ผลลัพธ์ก็คือคู่แข่งต่างเห็นประโยชน์จากการขนส่งทางอากาศที่แม้มีต้นทุนสูงขึ้นแต่ลูกค้าก็พึงพอใจมากขึ้นเช่นกัน และเริ่มหันมาส่งสินค้าทางเครื่องบินตาม วิธีการดังกล่าวยังถูกใช้ในการส่ง iPod รุ่นแรกเมื่อปี 2001 ไปถึงมือลูกค้าโดยตรงจากโรงงานที่ประเทศจีนเลย พอลูกค้าตรวจสอบการเดินทางของสินค้าก็จะพบว่าใช้เวลาแค่ไม่กี่วันเท่านั้นของก็มาส่งถึงหน้าบ้านแล้ว
ห่วงโซ่อุปทานของแอปเปิลนั้นเริ่มต้นกันตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบเลย หลายครั้งที่ Jonathan Ive หัวหน้าฝ่ายออกแบบของแอปเปิลต้องใช้เวลาหลายเดือนอยู่ร่วมกับทีมวิศวกรและบรรดาซัพพลายเออร์ ตลอดจนโรงงานผู้ผลิต เพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าที่ยังอยู่ในขั้นตอนการออกแบบนั้นสามารถนำไปผลิตได้จริง
ครั้งหนึ่ง Ive ได้ออกแบบ MacBook รุ่นใหม่และเขาคิดว่าเคสอลูมิเนียมนี้ควรเปล่งแสงสีเขียวออกมาได้จากภายในเคสถ้ากล้องหน้าเปิดอยู่ Ive เองก็ทราบว่ามันเป็นเรื่องไม่ง่ายในทางวิศวกรรม แต่เมื่อเรียกบรรดาผู้ผลิตและผู้เชี่ยวชาญวัสดุก็พบว่ามีหนทางที่เป็นไปได้ คือใช้แสงเลเซอร์พิเศษเจาะสร้างรูระดับที่ตาคนมองไม่เห็น แต่ใหญ่พอที่จะให้แสงไฟสีเขียวลอดออกมาได้ ปัญหาคือเครื่องจักรทำแสงเลเซอร์ที่สามารถเจาะรูแบบนี้ได้นั้นมีผู้ผลิตอยู่เพียงรายเดียว แถมยังมีราคาเครื่องละ 250,000 ดอลลาร์ ซึ่งคงไม่มีโรงงานไหนยอมลงทุนเพื่อการนี้แน่ แต่แอปเปิลก็สั่งซื้อเครื่องจักรดังกล่าวเป็นจำนวนหลายร้อยเครื่องเพื่อการนี้ ทำให้คุณสมบัติการเปล่งแสงดังกล่าวพบในผลิตภัณฑ์ของแอปเปิลอย่าง MacBook Air, Trackpads และแป้นพิมพ์ไร้สาย
อีกกลยุทธ์ที่แอปเปิลใช้บ่อยในการผลิตคือการทำสัญญาซื้อขายชิ้นส่วนจากซัพพลายเออร์เป็นจำนวนมหาศาล วิธีการดังกล่าวนอกจากจะทำให้แอปเปิลผลิตของปริมาณมากได้ตามต้องการแบบไม่ขาดแคลนวัสดุแล้ว ยังทำให้แอปเปิลควบคุมต้นทุนได้ต่ำกว่าคู่แข่งอีกด้วย ผู้จัดการคนหนึ่งของ HTC เล่าว่าช่วง iPhone 4 เปิดตัวเมื่อปีที่แล้วนั้น HTC ประสบปัญหาในการซื้อจอภาพในการผลิตสมาร์ทโฟนอย่างรุนแรง เพราะบรรดาซัพพลายเออร์ต่างติดสัญญาในการผลิตจอส่งให้แอปเปิลทั้งหมด วิธีการสั่งซื้อชิ้นส่วนล่วงหน้านี้ยังถูกใช้ในช่วงการผลิต iPad 2 ด้วยเช่นกัน ทำให้คู่แข่งไม่สามารถหาซื้อจอภาพได้ในปริมาณที่มากและถูกพอ
แม้การได้เป็นซัพพลายเออร์ให้แอปเปิลจะมาพร้อมคำสั่งปริมาณมหาศาล แต่ก็มาพร้อมความกดดันเช่นกัน เพราะแอปเปิลเป็นลูกค้าที่มักขอลงรายละเอียดในใบเสนอราคา โดยต้องการข้อมูลทุกอย่างกระทั่งต้นทุนแท้จริง ค่าแรง จนถึงกำไรที่ซัพพลายเออร์จะได้ด้วย ตลอดจนการสร้างข้อตกลงอาทิ ชิ้นส่วนต้องมีเพียงพอในสินค้าคงคลังอย่างน้อย 2 สัปดาห์ และกำหนดชำระเงินภายในเวลาถึง 90 วัน นั่นทำให้หลายบริษัทที่แม้ได้ข้อเสนอในการซื้อชิ้นส่วนมูลค่าเป็นพันล้านดอลลาร์ ก็เคยปฏิเสธมาแล้วเพราะพวกเขามองว่ามันเป็นการควบคุมมากไป
ปลายทางของห่วงโซ่อุปทานก็คือขั้นตอนการจำหน่ายสินค้าให้ถึงมือลูกค้า สำหรับแอปเปิลแล้วบริษัทใช้วิธีการมากมายเพื่อให้แน่ใจว่าความลับของสินค้าตัวใหม่จะไม่รั่วไหลออกไปก่อนการเปิดตัว โดยใช้วิธีเร่งกำลังการผลิต จ่ายโอทีให้คนงานจำนวนมาก เพื่อให้สินค้าจำนวนมากถูกผลิตออกมาในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนการเปิดตัวสินค้า และเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีใครเอาความลับในนั้นออกไปได้ แอปเปิลถึงกับลงทุนติดตั้งกล้องภายในสายการผลิตและส่งภาพวิดีโอกลับไปที่สำนักงานใหญ่ในอเมริกาเลย เมื่อสินค้าผลิตเสร็จแล้ว เพื่อไม่ให้ใครสังเกตเห็นได้แอปเปิลก็เคยลงทุนบรรจุสินค้าในกล่องมะเขือเทศ หรือกล่องเปล่าอื่นๆ ในช่วงขั้นตอนการขนส่ง โดยทุกขั้นตอนจะมีพนักงานของแอปเปิลคอยควบคุมตลอดให้แน่ใจว่าไม่มีการรั่วไหลออกไปได้
ปัจจุบันการตรวจสอบการขายที่หน้าร้านของแอปเปิลนั้นจะดูกันเป็นรายชั่วโมง และมีการปรับเปลี่ยนคำสั่งการผลิตกันแบบรายวัน ถ้าหากค้นพบคอขวดใดในสายการผลิตบริษัทก็พร้อมสั่งเครื่องจักรเพิ่มเพื่อแก้ปัญหานั้นทันที จะเห็นว่าเพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างที่ต้องการแอปเปิลก็ต้องใส่เงินลงไปมหาศาล แต่เพราะบริษัทมีเงินล้นเหลือซึ่งล่าสุดก็ปาเข้าไป 8 หมื่นล้านดอลลาร์แล้วมันจึงไม่ใช่เรื่องยากเลย แอปเปิลประกาศว่าบริษัทมีแผนจะลงทุนในการเพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่อุปทานอีก 7.1 พันล้านดอลลาร์ และจ่ายเงินพิเศษให้กับซัพพลายเออร์ในการทำสัญญาล่วงหน้าสำหรับชิ้นส่วนที่สำคัญรวมเป็นมูลค่าถึง 2.4 พันล้านดอลลาร์
ความทุ่มเททั้งหมดนี้ทำให้ไตรมาสล่าสุดแอปเปิลสามารถทำผลงานด้วยระดับกำไรขั้นต้นในการขายสินค้าเฉลี่ยสูงถึง 40% เรื่องที่น่าสนใจต่อจากนี้คือแอปเปิลกำลังสนใจจะทำทีวี ซึ่งอุตสาหกรรมทีวีกำลังเผชิญกับสภาพสินค้าขายแล้วแทบไม่มีกำไรเลย แต่ถ้านั่นเป็นเหตุผลที่แอปเปิลไม่ควรทำทีวี ลองนึกถึงวันที่แอปเปิลลงมาทำโทรศัพท์มือถือดู วันนั้นอุตสาหกรรมโทรศัพท์ก็มีกำไรกันแค่ตัวเลขหลักเดียวเท่านั้น แต่แอปเปิลก็สร้างผลกำไรมหาศาลขึ้นได้สำเร็จ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามดูกันต่อไป
เขียนครั้งแรกที่ Arjin's Blog
ที่มา: BusinessWeek ภาพประกอบ: 9to5Mac, Fast Company และ CNET
Comments
กรณีศึกษาที่ดีเลยทีเดียวครับ
+1
อ่านเพลินมากเลยครับ
อ่านเพลินจริงๆ ครับ
ตรงที่มีแสง
+1 ขอบคุณมากครับ ที่นำมาเรียบเรียงให้
positivity
ใช้เงิน มาต่อเงินเพิ่มขึ้นๆไป
"ลองนึกถึงวันที่แอปเปิลลงมาทำโทรศัพท์มือถือดู วันนั้นอุตสาหกรรมโทรศัพท์ก็มีกำไรกันแค่ตัวเลขหลักเดียวเท่านั้น "
นึกถึงโทรศัพท์รุ่นท๊อปช่วงนั้น ราคาแถวๆ 30k.(แต่คงขายไ้ด้จำนวนน้อย)
เสียดายว่าไม่ได้เล่าในส่วนของการลดต้นทุนด้วยห่วงโซ่อุปทานครับ
ปล.ห่วงโซ่อุปทานคือการอุปทานเป็นห่วงโซ่ หรือเรียกว่าอุปทานหมู่ (ข้อมูลหลอก)
กำลังคิดว่าจะเขียนเรื่องนี้เหมือนกัน เรียบเรียงได้ดีเลยครับ (y)
แฟนพันธุ์แท้สตีฟจ็อบส์ | MacThai.com
(y) นี่คือ key ของอีโมยกนิ้วโป้งใช่ป่ะครับ :D ผมติดพิมพ์เอาเหมือนกัน
ผมมองเป็นอย่างอื่นเหอะ :P
เวลาดูสาวชอบดูสาวขาวๆ Sex Sex เวลาดู Notebook ชอบแบบ"ถึกๆดำๆ"
Twitter : @Zerntrino
G+ : Zerntrino Plus
มันดี
สนุกดีครับ แต่ผมสงสัยตรงนี้อะครับ
โดยต้องการข้อมูลทุกอย่างกระทั่งต้นทุนแท้จริง ค่าแรง จนถึงกำไรที่ซัพพลายเออร์จะได้ด้วย ตลอดจนการสร้างตกลงอาทิ
"ตลอดจนการสร้างตกลง" นี่แปลว่าอะไรอะครับ
แก้ไขแล้วครับ
อ่านแล้วก็ก้มลงไปกดปุ่มเช็คแบตของ MBP ตัวเองหนึ่งที
กดปุ่ม Wireless Keyboard เหมือนกันครับ !^^
เหมือนตัวเช็คระดับแบ็ตมันจะมีรูให้แสงส่องลอดออกมาอยู่แล้วนะครับ...
ในที่นี้คิดว่าน่าจะเป็นแบบ โลหะไม่เห็นรูแต่มีแสงสีเขียวลอดออกมาได้ตอนเวลาใช้งานมากกว่า เช่น ไฟแสดงการใช้งานกล้องใน MBA ที่อยู่ข้างๆ รูกล้องด้านขวา ซึ่งจะไม่เห็นรูนี้ {ใน MBP จะมีขอบพลาสติกสีดำบังทำให้ไม่เห็นรูตอนหลอดไม่สว่าง}
ซัมซุงมาแนวเดียวกัน แต่ต่างกันตรงที่มีโรงงานเป็นของตัวเองสินะ
ซัมซุงคงใช้วิธีทำเองล่ะครับ เรื่องจอก็เล่นเอาคนละเทคโนโลยีกับแอปเปิลอีกด้วย รายนี้ก็คงเล่นอีกแบบแต่ไม่เบาเหมือกนัน
@TonsTweetings
เขียนได้ดีครับ ไม่น่าเบื่อเลย ^^
อ่านเพลินมาก ๆ ครับ ขอบคุณสำหรับข่าวนะครับ
เบื้องหน้าที่สวยงามต้องและมาด้วยความโหดร้ายของการจัดการต่างๆเยอะจริงๆ
เชดดดดดด
twitter.com/djnoly
บทความแบบนี้อ่านแล้วได้ความรู้ดีนะครับ ขอบคุณที่แปลให้ครับ
ทำงานหาเงินใช้ กับ ใช้เงินทำงาน
มันเป็นของคู่กันแหละครับ เราใช้เงินทำงานไม่ได้หรอก ถ้าไม่มีคนทำงานเพื่อหาเงินใช้
สุดยอด
SPICYDOG's Blog
เขียนได้เยี่ยมจริงครับ อ่านสนุกแม้จะเป็นเรื่องยากๆก็ตาม
very good.
ผมไม่เข้าใจเรื่องลำแสงที่เขียว มันอยู่ตรงไหน ทำอะไร ให้เปล่งออกมาเพื่ออะไร (ใช้ตรง isight รึป่าว)
ใช่ครับ ตอนเปิดกล้องจะเห็นไฟสีเขียว
ขอบคุณครับผม, จะว่าไป เขาใส่ใจรายละเอียดสุดๆ
มันคือแสงไฟที่ส่องผ่าน case อลูมิเนียมครับ ปกติจะไม่เห็น หากมี MacBook Unibody ให้ดูตรง ขอบด้านหน้าด้านขวาเวลาปิดเครื่องลงเพื่อ Sleep จะมีไฟแว๊บๆ ดับ สว่าง ดับสว่าง ส่องออกมาจาก ตัว case ครับ ส่วน wireless Trackpad และ wireless keyboard จะมีไฟสีเขียวหาก กดปุ่มเปิดปิดครับ ส่องออกมาจาก ตัวอลูมิเนียม เหมือนกัน ลงทุนซื้อเครื่องจักรเฉพาะการนี้เลย
เป็นบทความที่ดีมากเลย ชอบๆๆ
ขอบคุณครับ :)
อ่านแล้วทำให้รู้จัก Apple มากขึ้น
อ่านเพลินด้วยคน คิดว่าเป็นไปได้มั้ยครับถ้าอยากได้ภาพลักษณ์ก็จ้างเขียนข่าวแนวๆ นี้ >>
"แถมยังมีราคาเครื่องละ 250,000 ดอลลาร์ ซึ่งคงไม่มีโรงงานไหนยอมลงทุนเพื่อการนี้แน่ แต่แอปเปิลก็สั่งซื้อเครื่องจักรดังกล่าวเป็นจำนวนหลายร้อยเครื่องเพื่อการนี้" กับสื่อ
ผมอ่านแล้วอยากได้เลย 55+ ( ไม่ได้กวนนะครับ ไม่ได้ต่อต้านด้วย ) สงสัยเฉยๆ
เขียนได้ดีครับ เท่าที่ผมอ่านในหนังสือมามีตอนนึงบอกด้วยว่า Apple โน้มน้าวให้ Supplier ตั้งโรงงานใกล้กับโรงงานประกอบชิ้นส่วนของ Apple ด้วย เพื่อให้สามารถผลิตได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ก่อน Tim Cook จะมาบริหารการผลิต Apple มีสินค้าที่ขายไม่ได้เยอะมากๆ และมีสินค้าที่ค้างส่งมากๆ เช่นกัน ด้วยการบริหารของ Tim Cook บริษัท Apple จึงลดความสูญเสียเรื่องสินค้าคงคลังไปได้มหาศาล คนๆ นี้จึงสมเป็นผู้บริหารมือทองจริงๆ ต้องลองไปอ่านประวัติของ Tim Cook แล้วจะรู้ว่าคนนี้ไม่ธรรมดาจริงๆ ครับ
หาอ่านได้จากหนังสือหรือที่ไหนหรือครับ?
ที่ไม่ได้เขียนเรื่องเอาโรงงานมาตั้งใกล้ๆ เพราะสูตรนี้ Toyota ทำมานานแล้ว ในวงการอิเล็กนี่ก็มี Dell ที่ทำมานานเช่นกัน ผมชอบวิธี Apple ในแง่การล็อกคำสั่งซื้อชิ้นส่วน key component เพราะมันต้องอ่านเทรนด์ขาดมากสิ่งนั้นนี้จำเป็นและเทคโนโลยีไล่ตามไม่ทันกัน ตัวอย่างที่ชัดมากคือ Tablet ต้องใช้เวลาเกือบสองปีกว่าจะเริ่มขายของให้มีราคาสู้ Apple ได้ ทั้งที่มันไม่ควรเกิดเลยเมื่อต้องแข่งกับแบรนด์ที่ได้ชื่อว่าขายของราคาพรีเมี่ยมตลอด
เรื่อง Facilities Decisions นี่หลังๆเริ่มแพร่หลายแล้วครับ
เป็นส่วนหนึ่งของการทำ Operation Management ให้มีประสิทธิภาพ
อันนี้ Apple อาจจะเอามาใช้เป็นเจ้าแรกๆเลยก็ได้
ผมเคยเขียนเชียรตา tim ตอนมีรายชื่อเป็น candidate ใหม่ๆ
ว่าตอนนี้ Apple ไม่ต้องการ CEO ที่มี vision อีกแล้ว
Apple ต้องการ CEO ที่มาจัดการ Operation ของ Apple ให้ดีขึ้น
อ่านดูแล้วสุดยอดมากๆ
oxygen2.me, panithi's blog
Device: HP Zbook, iPad Pro, iPhone 15PM, iPhone 16+, Nothing Phone 1
Apple ทำอะไรต้องจับตาดูตลอด มันเป็นบทเรียนในอดีต
ใครจะคิดมือถือเปลี่ยนแบตไม่ได้ใส่ซิมลำบากราคาแพงแถมตอนนั้นยังไม่มี App อะไรแบบ Nokia
จน Nokia ชะล่าใจผลก็คือตาม Apple ไม่ทัน
หรือจะตอน iPod ก็ตามที Apple ทำอะไรลงเต็มที่ไม่เหมือนบริษัทประเภทคิดถึงต้นทุนน้อยกำไรมาก
มันจึงทำให้ Apple พร้อมลงทุนมหาศาลเพื่อผลิตภัณฑ์ของตัวเอง
"MacBook รุ่นใหม่และเขาคิดว่าเคสอลูมิเนียมนี้ควรเปล่งแสงสีเขียวออกมาได้จากภายในเคสถ้ากล้องหน้าเปิดอยู่"
ถ้าเป็นบริษัทอื่นไม่มีทางแน่ๆ แต่ Apple เป็นไปได้ทำเทคโนโลยีราคาแพงในสายการผลิตให้เราซื้อกันได้เกิดการพัฒนาที่เร็วกว่าเดิมหลายปี
อาหมวยน่ารัก เอ่อ...ไม่ได้เกี่ยวไรกับข่าวเลย
สำหรับแอปเปิ้ล ถ้าไม่มีเงินทำไม่ได้จริงๆนะเนี่ย
อ่านแล้วชื่นชมแนวการทำงานเขาจริงๆครับ ไม่ได้มองว่ามีเงินไม่มีเงินครับ ผมมองการทำงาน แนวคิด ที่ไม่เหมือนคนอื่น ต้องยอมรับว่า อนาคต จะมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้น อย่าง siri ก็ทำได้ดีจนหลายคนก็บอกว่าฉลาดกว่าที่คิด
อ่านแล้วเพลินเลยครับ เขียนได้ดีจริงๆ
น้องหมวยแก้มตึงดีจัง ^^
ในฐานะที่ผมเคยทำงานที่โรงงานรับจ้างผลิตให้ Cisco เขาใช้วิธีดูแล Raw Mat'l เองแล้วจ่ายให้เฉพาะค่าแรง ค่าโอที ค่าเครื่องจักร ค่า Scrap ซึ่งเป็นอะไรที่เขี้ยวมากจริง
ต้องเห็นเวลา PA ของโรงงานต่อรองกับลูกค้านี่มันมาก เขี้ยวลากดินฟาดฟันดุเดือด 555+
อีกฟากของความสำเร็จในการทำ Operation Management
คือ Supplier ที่กระอักเลือดเพราะความเขี้ยวนี่แหละ
มันลดการสูญเสียและทำให้โลกพัฒนาขึ้น ช่วยโลกได้เยอะเลย