FTC หรือคณะกรรมการการค้าของสหรัฐ หยุดการสอบสวนกูเกิลในข้อหาผูกขาดและกีดกันคู่แข่ง (ข่าวเก่า 1, ข่าวเก่า 2) หลังจากกูเกิลทำข้อตกลงยอมความและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ FTC ต้องการ
ข้อตกลงระหว่าง FTC กับกูเกิล แบ่งได้เป็น 3 ประเด็นใหญ่ๆ ดังนี้
1) สิทธิบัตรด้านมือถือของโมโตโรลา
กูเกิลรับรองว่าจะไม่กีดกันถ้าหากคู่แข่งขอใช้งานสิทธิบัตรพื้นฐานของวงการโทรคมนาคม ที่กูเกิลได้มาจากการซื้อกิจการโมโตโรลา
โมโตโรลามีสิทธิบัตรมากถึง 24,000 รายการ และสิทธิบัตรจำนวนมากถือเป็นเทคโนโลยีสำคัญของอุตสาหกรรมมือถือ ถ้าหากกูเกิลกีดกันไม่ให้คู่แข่งใช้งานสิทธิบัตรเหล่านี้ ก็จะมีผลต่อการแข่งขันในตลาดได้
การยินยอมของกูเกิลอยู่บนหลัก “fair, reasonable and non-discriminatory” หรือเรียกย่อๆ ว่า FRAND ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติที่ได้รับการยอมรับในวงการสิทธิบัตรอยู่แล้ว
2) เลิกกีดกันคู่แข่งในวงการโฆษณา
ประเด็นนี้แบ่งได้เป็น 2 ข้อย่อยครับ
2.1 กูเกิลจะอนุญาตให้ผู้ลงโฆษณาในระบบ AdWords สามารถ export ข้อมูลของตัวเอง เช่น คีย์เวิร์ด ราคาประมูล กลุ่มเป้าหมาย ฯลฯ ออกจากระบบของ AdWords เพื่อไปวิเคราะห์ผ่านเครื่องมือของผู้ลงโฆษณาเองได้ ซึ่งการทำแบบนี้จะช่วยให้ผู้ลงโฆษณาสามารถเปรียบเทียบประสิทธิภาพของ AdWords กับระบบโฆษณาอื่นๆ (เช่น adCenter ของไมโครซอฟท์) ได้
ก่อนหน้านี้กูเกิลพยายามกีดกันไม่ให้ผู้ลงโฆษณาสามารถลงโฆษณาหลายๆ แพลตฟอร์มพร้อมกันได้ง่าย โดยใช้อิทธิพลของ AdWords ที่เป็นเจ้าตลาดนั่นเอง
2.2 เว็บไซต์ใดๆ สามารถขอ "ลบข้อมูล" ที่แสดงบนเว็บค้นหาเฉพาะทางของกูเกิล (เช่น Google Local หรือ Flight Search) ได้ (ข้อตกลงนี้ไม่รวมถึง Google Search โหมดปกติ)
ประเด็นนี้เป็นผลมาจากคู่แข่งของกูเกิลอย่าง Yelp ที่มีข้อมูลรีวิวร้านอาหาร และกูเกิลใช้ crawler อ่านหน้าเว็บของ Yelp เอารีวิวอันนั้นไปแสดงบน Google Place โดยไม่ได้รับอนุญาต (กูเกิลอ้างว่าดูดข้อมูลหน้าเว็บตามปกติ - ข่าวเก่า) ข้อตกลงนี้จะทำให้เว็บอย่าง Yelp ปฏิเสธไม่ให้กูเกิลดูดข้อมูลจากเว็บของตัวเองได้
3) ผลสรุปเรื่องอคติ (bias) ในผลการค้นหา
ในการสอบสวนรอบนี้ ประเด็นหนึ่งที่ FTC สนใจคือ Universal Search หรือการค้นหาแบบรวมมิตรที่กูเกิลนำข้อมูลในบริการอื่นๆ ของตัวเองมาแสดง (เช่น Google+, Google Local หรือ Google Shopping) และโดนคู่แข่งโวยว่า เพจของกูเกิลได้อันดับดีกว่าเพจต้นฉบับ (ข่าวเก่า)
ประเด็นนี้ FTC ได้ข้อสรุปว่า Universal Search เป็นนวัตกรรมด้านระบบค้นหาของกูเกิล และหยุดสอบสวนกูเกิลในประเด็นนี้แล้ว (ถือเป็นชัยชนะของกูเกิลในคดีนี้)
โดยสรุปแล้ว ในแง่ของผู้ใช้งานคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ในแง่ของการแข่งขันในตลาด FTC ก็สามารถบีบให้กูเกิลยอมเปิดกว้างในบางประเด็น (สิทธิบัตรและโฆษณา) ช่วยให้คู่แข่งของกูเกิลสามารถแข่งขันกับกูเกิลได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ FTC เจรจากับกูเกิลเป็นประเด็นเก่าหน่อย เพราะสอบสวนกันมาเกือบสองปี ส่วนประเด็นใหม่ๆ อย่างเช่น ไมโครซอฟท์โวยเรื่อง YouTube ก็คงต้องเป็นไปตามกระบวนการในคดีใหม่ๆ ต่อไป
กูเกิลยังมีคดีกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น คดีลักษณะเดียวกันกับสหภาพยุโรป ที่ยังอยู่ในกระบวนการสอบสวน, วุฒิสภาสหรัฐ และไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีของ FTC ที่ยุติไปแต่อย่างใด
ที่มา - FTC, Google Official Blog
Comments
เป็นผมผมไม่ยอมหรอก
พาลให้นึกถึงคดี Apple กับ Samsung.............
เห็นฝั่ง MS โวยวาย บอกว่าทีตัวเองแทบจะโดนสั่งแยกบริษัท
เขาว่าถือเป็นชัยชนะของ Google นะในคราวนี้ เพราะว่าผลลัพท์อาจจะแย่กว่านี้ได้ถ้า Google ไม่ให้ความร่วมมือกับ FTC มากนัก
ว่าแต่อากู๋คงนั่งเซ็ง ฉันซื้อ Motorola มาทำไม ปล่อยมันเจ๊งไปก็ดีแล้ว !
เมื่อนักบุญโดนเปิดโปงอิอิ
ที่ซื้อๆมา ถือว่าซื้อมาป้องกันตัวละกัน ฮี่ๆ