เมื่อปีที่แล้วผมเขียนบทความเรื่อง BitCoin ไปแล้วครั้งหนึ่งอธิบายถึงกระบวนการทำงานภายใน ช่วงนี้มีข่าว BitCoin กลับขึ้นมาอีกครั้งและคนจำนวนมากน่าจะสนใจกันมากขึ้นว่าตกลงแล้ว BitCoin มันคืออะไรกัน ผมกลับไปอ่านบทความเดิมแล้วคิดว่าน่าจะปรับปรุงให้อ่านง่ายขึ้นได้ เลยถือโอกาสกลับมาเขียนกันใหม่อีกรอบ
คำเตือน: บทความนี้ยังคงเป็นบทความเชิงเทคนิค จะมีการอ้างถึงกระบวนการเข้ารหัสหลายๆ จุด หากไม่เข้าใจกระบวนการเข้ารหัสพื้นฐานแนะนำให้อ่านบทความ กระบวนการแฮช, การสุ่มเลขในการเข้ารหัส, และการเข้ารหัสแบบกุญแจไม่สมมาตรแล้วกลับมาอ่านอีกครั้ง
ทุกวันนี้เราใช้เงินผ่านกระบวนการทางดิจิตอลเป็นเรื่องปกติ ตั้งแต่บัญชีธนาคาร, การโอนเงินออนไลน์, ระบบบัตรเดบิต, บัตรเครดิต ที่เราใช้ทุกวันนี้ล้วนยืนยันจำนวนเงินด้วยไฟล์ฐานข้อมูลของระบบธนาคารทั้งสิ้น ธนาคารไม่ได้เก็บเงินเป็นธนบัตรไว้ในตู้เซฟตามจำนวนเงินฝากที่มีอยู่จริง ในกรณีของประเทศไทย ข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า เงินสดในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท ขณะที่เงินฝากนั้นมีปริมาณถึง 13 ล้านล้านบาท เงินจำนวนมากเป็นเพียงตัวเลขยืนยันว่าเราเป็นเจ้าของ
แต่ธนาคารมีหน้าที่สำคัญคือการเก็บสถานะความเป็นเจ้าของเงินของแต่ละคนไว้ให้ครบถ้วน เมื่อเราถอนหรือโอนเงินออกจากบัญชี ธนาคารต้องตรวจสอบอย่างละเอียดว่าเรามีเงินอยู่ในบัญชีจริงหรือไม่ และเราไม่ได้ถอนเกินกว่าที่เรามี เมื่อเราสั่งจ่ายทางออนไลน์หรือใช้บัตรเดบิต ร้านค้าสามารถตรวจสอบกลับไปยังธนาคารได้ว่าเราจ่ายเงินตามที่เรามีอยู่จริงหรือไม่ และร้านค้าจะยืนยันได้เมื่อเห็นตัวเลขเงินเข้ามายังบัญชีของร้านค้าว่ามีเงินเข้ามาแล้วจริงๆ
หน้าที่หลักของธนาคารคือการเก็บรักษาข้อมูลความเป็นเจ้าของของเงินในแต่ละบัญชี และเก็บล็อกของการโอนเงินเข้าออกบัญชีแต่ละบัญชีว่าโอนออกไปยังบัญชีใด (หรือถอนเป็นเงินสด) เมื่อไหร่ จำนวนเท่าใด
แม้ธนาคารจะทำหน้าที่ได้ดีเป็นส่วนใหญ่ แต่มีหลายกรณีที่ธนาคารทำหน้าที่ได้ไม่ดีนัก ประเทศที่ขาดเสถียรภาพอาจจะมีธนาคารทำออกนโยบายแปลกๆ เช่น การยึดเงินในบัญชี, การอายัดบัญชีที่รัฐบาลพอใจ, ตลอดจนการปล่อยเงินออกมาในระบบมากขึ้นทำให้เงินเฟ้อ, ธนาคารเองบางครั้งก็ยกเลิกการโอนได้
นักวิจัยนิรนามที่ใช้ชื่อ Satoshi Nakamoto ประกาศว่าเขากำลังออกแบบระบบเงินที่ไร้ศูนย์กลาง (decentralized) อย่างสมบูรณ์ และเปิดเผยการออกแบบทั้งหมดออกมาในปี 2009 ในชื่อ BitCoin
การออกแบบทำให้ BitCoin มีคุณสมบัติพอที่จะทำหน้าที่แทนธนาคาร ได้แก่
กระบวนการเก็บข้อมูลแบบไร้ศูนย์กลางนั้นแนวคิดง่ายๆ คือ การให้ทุกคนเก็บข้อมูลไว้ในเครื่องของตัวเองทุกคน (ทำไมเราคิดไม่ได้!!!) และรับข้อมูลใหม่เข้ามาอัพเดตตลอดเวลา
ปัญหาสำคัญคือเมื่อมีคนสั่งจ่ายเงินครั้งหนึ่งในระบบไร้ศูนย์กลาง กระบวนการกระจายข้อมูลการสั่งจ่ายนั้นอาจจะใช้เวลานับสิบนาที ความล่าช้าเช่นนี้อาจจะทำให้คนจ่ายเงินที่ประสงค์ร้ายสั่งจ่ายเงินหลายครั้งในระหว่างที่ฐา่นข้อมูลของแต่ละคนยังอัพเดตไม่สำเร็จ ความผิดพลาดนี้เรียกว่า double-spending หรือการจ่ายเงินซ้ำซ้อน
ในระบบไร้ศูนย์กลางเราไม่สามารถเชื่อใจคนใดคนหนึ่งในระบบว่าจะมีข้อมูลล่าสุดเสมอ ทุกคนอาจจะอ้างว่าตัวเองมีข้อมูลที่ใหม่กว่าคนอื่นได้ตลอดเวลาเพราะไม่มีศูนย์กลางคอยควบคุม
ดังนั้นจึงต้องมีกระบวนการยืนยันว่าสถานะล่าสุดของฐานข้อมูลที่ทุกคนเห็นนั้นเป็นอย่างไร กระบวนการยืนยันสถานะนี้ต้องแน่ใจว่าทุกคนจะยอมรับร่วมกันเป็นชุดเดียว
กระบวนการ BitCoin ออกแบบให้ทุกคนในเครือข่ายสามารถรู้ได้ว่าสถานะล่าสุดของฐานข้อมูลเป็นอย่างไร โดยเปิดให้ทุกคนช่วยกัน "ยืนยัน" ความเปลี่ยนแปลงล่าสุดของฐานข้อมูล
ผู้ต้องการช่วยยืนยันสถานะล่าสุดของฐานข้อมูลจะต้องรวบรวมคำสั่งโอนเงินที่กระจายอยู่ในเครือข่ายและยังไม่ได้รับการยืนยันลงฐานข้อมูล จากนั้นรวบเข้าด้วยกันเป็นไฟล์ที่เรียกว่าบล็อค (block) ตัวบล็อคจะประกอบด้วยรายการการโอนเงินในระบบจำนวนมาก พร้อมกับข้อมูลอื่นๆ เช่น เวลาที่รวบรวมข้อมูล, ค่าแฮชของค่าแฮชแต่ละรายการโอนในบล็อค, และเวอร์ชั่นล่าสุดของฐานข้อมูลก่อนที่จะประกาศบล็อคนี้
ระบบของ BitCoin ถูกออกแบบกฎให้การประกาศบล็อคใหม่ซึ่งจะอัพเดตฐานข้อมูลของทุกคนในระบบเป็นเรื่องยาก และใช้เวลานานประมาณ 10 นาทีแม้จะใช้เครื่องที่แรงที่สุดก็ตามที
ระบบที่ Satoshi ออกแบบไว้นั้นคือมีข้อมูลฟิลด์หนึ่งในบล็อคเป็นค่า nonce ที่สามารถเปลี่ยนเป็นค่าอะไรก็ได้ แต่ต้องทำให้ค่าแฮชของส่วนหัวของบล็อค (block header) มีค่าน้อยกว่าค่าหนึ่ง
ค่าที่กำหนดว่าค่าแฮชสุดท้ายต้องน้อยกว่าเท่าใดนั้น ระบุอยู่ใน ฟิลด์ difficulty ที่คำนวณใหม่ทุกๆ 1000 บล็อค โดยจะดูจากระยะเวลาคำนวณ 1000 บล็อคที่ผ่านมาแล้วคำนวณค่าใหม่ เนื่องจากทุกคนมีฐานข้อมูลเหมือนกัน หากทุกคนใช้สมการเดียวกันก็จะสามารถคำนวณค่าได้เท่ากัน หากมีคนที่ประกาศอัพเดตฐานข้อมูลโดยคำประกาศไม่ผ่านเงื่อนไขของ difficulty ก็จะไม่มีใครยอมรับการประกาศนั้น
กระบวนการแฮชที่มีความปลอดภัยสูงเช่น SHA-256 นั้นเราไม่สามารถ "ออกแบบ" ข้อมูลให้ได้ค่าแฮชตรงหรือใกล้เคียงกับค่าที่เราต้องการได้ สื่งที่เราทำได้คือการค่อยๆ ปรับข้อมูลไปทีละนิดแล้วลองแฮช ในกรณีของ BitCoin เราจะต้องปรับค่า nonce ไปเรื่อยๆ เพื่อให้ได้ค่าแฮชของบล็อคตามที่กำหนดไว้
ยกตัวอย่างค่าแฮชของบล็อค 249675 นั้นมีค่า "000000000000002db552292eda7fd1772c058543da1a0bb41af06abd1c8edfeb" การจะหาข้อมูลให้ได้ค่าแฮชที่มีศูนย์นำหน้าขนาดนี้นับเป็นเรื่องยากมาก ทุกคนอาจลอง sha1sum ข้อมูลมั่วๆ ในเครื่องตัวเองให้ได้ศูนย์นำหน้าสักสิบหลักดูได้
เนื่องจากกระบวนการปรับค่า nonce และการคำนวณแฮชนั้นใช้เวลานาน การแข่งประกาศเวอร์ชั่นใหม่ของฐานข้อมูลจึงทำได้ยาก ไม่ใช่ว่าใครจะสามารถประกาศบล็อคใหม่ได้
ในกรณีที่มีการประกาศบล็อคใหม่ขึ้นมาสองบล็อคพร้อมกันแต่เป็นเลขเวอร์ชั่นเดียวกัน ทุกคนจะรอว่าบล็อคต่อไปที่ประกาศได้ก่อนจะเลือก "ต่อ" จากบล็อคใด หากมีการต่อเส้นทางที่ยาวกว่าก็จะถือว่าเส้นทางนั้นเป็นเส้นทางที่ถูกต้อง
ฐานข้อมูลใน BitCoin จึงใช้เวลานานในการอัพเดต และแม้จะมีการประกาศอัพเดตแล้วบางครั้งก็มีการยกเลิกกลับได้ชั่วคราว กระบวนการจ่ายเงินจึงต้องรอว่าฐานข้อมูลของทุกคนอัพเดตตรงกันแล้วจริงหรือไม่ โดยทั่วไปแล้วหากมีการคำนวณบล็อคต่อกันไปแล้วประมาณ 6 บล็อคก็จะถือว่าทุกคนในเครือข่ายยอมรับตรงกัน
คำถามสำคัญคือ แล้วทำไมผู้คนจะต้องมาพยายามคำนวณค่าแฮชนับล้านๆ ครั้งเพื่อให้ได้ค่ายืนยันบล็อค
ระบบของ BitCoin มีการให้ผลตอบแทนกับผู้คำนวณค่าแฮชนี้ได้สองรูปแบบ
กระบวนการนี้ทำให้คนจำนวนหนึ่งที่ต้องการ ค่าธรรมเนียมและเงินที่สามารถโอนให้ตัวเองได้ พากันลงทุนสร้างเครื่องพิเศษแบบต่างๆ เพื่อนำมาคำนวณค่าแฮชเป็นการใหญ่กระบวนการนี้เรียกว่าการ "ขุดเหมือง" (mining)
ในช่วงหลักกระบวนการคำนวณแฮชเหล่านี้ใช้พลังประมวลผลสูงมาก จากการที่ BitCoin เริ่มได้รับการยอมรับในตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ มีคนลงทุนเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่สามารถคำนวณบล็อคก่อนคนอื่นๆ ได้ ซึ่งทำให้ความพยายามคำนวณแข่งนั้นสูญเปล่าไป คนเหล่านี้จึงรวมตัวกันแล้วแบ่งงานกันทำกลายเป็นคลัสเตอร์ประมวลผลขนาดใหญ่ที่มีพลังประมวลผลสูง เรียกว่า mining pool ทุกวันนี้การคำนวณบล็อคใหม่ 75% มาจากการรวมกลุ่มเหล่านี้
การรวมกลุ่มเช่นนี้มีข้อดี คือ หากผู้ที่มีพลังประมวลผลไม่สูงนัก สามารถเข้าร่วมกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แล้วคำนวณตามงานที่ได้รับมอบหมาย หากในกลุ่มมีคนใดคนหนึ่งคำนวณสำเร็จก็ได้จะ BitCoin เข้าบัญชีผู้ดูแลกลุ่ม ผู้ดูแลมักจะแบ่งเงินให้ทุกคนในกลุ่มตามสัดส่วนพลังประมวลผล ก็จะได้เงินเป็นส่วนเล็กๆ ของตัวเองได้ ตัวอย่างเช่น BitCoin.cz จะแบ่ง BitCoin ทั้งหมดที่ได้รับให้กับสมาชิกที่ช่วยคำนวณโดยคิดค่าจัดการ 2%
กระบวนการขุดเหมืองนี้นอกจากจะสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ที่เข้ามาคำนวณบล็อคแล้ว ยังช่วยเพิ่มปริมาณเงินในระบบขึ้นไปเรื่อยๆ ได้ด้วย แต่ระบบ BitCoin นั้นระบุกฎไว้ให้เงินที่เกิดใหม่นี้ค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ จนหยุดไปในที่สุด และเงิน BitCoin ทั้งโลกจะมีปริมาณจำกัด
แม้จะออกแบบจากฐานของระบบการเข้ารหัสที่ซับซ้อน แต่ BitCoin ก็ยังถูกโจมตีได้ในหลายรูปแบบ รูปแบบหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วคือหากมี BitCoin รวมกันที่บัญชีใดมากๆ แล้วเกิดบัญชีนั้นๆ เก็บรักษาไม่ดี เช่น มีการฝาก BitCoin ไว้กับบริษัทรับฝากซึ่งรวมเข้าไว้เป็นบัญชีเดียว แต่ปรากฎว่าฐานข้อมูลของบริษัทนั้นถูกแฮ็ก ก็ทำให้เสียเงินไปได้
ปัญหาอีกประการหนึ่งคือซอฟต์แวร์ BitCoin สร้างจากแนวคิดว่าทุกคนต้องอยู่บนกฎที่ตรงกันเสมอ หากมีซอฟต์แวร์ที่ใช้กฎไม่ตรงกันก็ทำให้เกิดฐานข้อมูลหลายเวอร์ชั่นพร้อมกัน ซึ่งผิดจากความพยายามออกแบบตั้งแต่ต้นไป ประเด็นนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อ BitCoin อัพเดตซอฟต์แวร์เป็นเวอร์ชั่น 0.8 แล้วมีบั๊ก
อีกประการหนึ่ง คือ โดยการออกแบบเอง จะยกอำนาจให้กับผู้ที่คำนวณบล็อคใหม่ได้ สามารถเลือกบันทึกรายการใดหรือไม่บันทึกก็ไ้ด หากมีคนที่มีพลังประมวลผลสูงมากๆ จนคนอื่นในโลกไม่สามารถแข่งขันได้ คนนั้นจะเข้าควบคุมระบบ BitCoin สามารถเลือกแบนบัญชีบางบัญชีไม่ยอมโอนเงินให้ หรือย้อนกลับฐานข้อมูลเพื่อจ่ายเงินซ้ำอีกครั้งได้
ในโลกความเป็นจริงเราไม่ต้องไป "ขุดเหมือง" เพื่อให้ได้เงินมา มีบริการรับแลกเงินจำนวนมากเปิดให้เราจ่ายเงินเป็นเงินสกุลปกติในโลกเพื่อแลกกับ BitCoin เช่น กรณีของบริษัท bitcoin.co.th ที่ต้องหยุดกิจการไปเพราะธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่าผิดกฎหมาย หรือบริษัทรับแลกเงินที่ดังมากๆ เช่น Mt. Gox บริษัทเหล่านี้มีจำนวนมากในโลก กระบวนการทำกำไรนั้นต่างกันไป บางบริษัททำหน้าที่เป็นเพียงนายหน้าให้คนทั่วไปเข้ามาส่งคำสั่งซื้อขายและเก็บค่าธรรมเนียมในฐานะตัวกลางเช่นเดียวกับตลาดหุ้น ทำให้ได้กำไรเสมอไม่ว่าจะมีคนซื้อหรือมีคนขาย
ตัวอย่าง Camp BX แพลตฟอร์มแลกเงินแห่งหนึ่งเปิดให้ดูตารางคำเสนอซื้อขายได้ทั้งตาราง โดยราคาซื้อที่แพงที่สุดจะอยู่บนสุด และราคาเสนอขายที่ถูกที่สุดก็จะอยู่บนสุดเช่นกัน
เมื่อได้เงินมาแล้วมีบริการจำนวนหนึ่งรับค่าสินค้าและบริการเป็นเงิน BitCoin (ดูรายการใน BitCoin Wiki) โดยส่วนมากจะเป็นบริการทางเว็บเช่น บริการ VPN, บริการเว็บโฮสติงค์
ควรลงทุนขุด BitCoin ไหม
ความคุ้มค่าคงไม่มีใครตอบได้ แต่ทุกวันนี้คนที่จะคำนวณบล็อคได้ชนะ จะต้องมีพลังประมวลผลประมาณ 300 TH/s (สามร้อยล้านล้านแฮชต่อวินาที) เครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีพลังประมวลผลขนาดนี้มีราคาแพง และกินพลังงานสูงมาก คนที่ลงทุนได้ควรมีความสามารถในการออปติไมซ์ราคาและพลังงานเป็นอย่างดี รวมถึงอาจจะอยู่ในโซนที่มีค่าไฟถูกกว่าคนอื่นๆ เพื่อความได้เปรียบ
ซื้อเก็บไว้ลงทุนดีไหม
(ถ้าผมรู้ว่าซื้อแล้วรวยแน่ก็คงไม่บอกอยู่ดี) กิจกรรมทางการเงินเกี่ยวกับ BitCoin ส่วนใหญ่ผิดกฎหมายไทย แม้จะมีคำถามว่าการ "โอน" เงินใน BitCoin นี้ถือเป็นการส่ง BitCoin ออกนอกประเทศได้หรือไม่จากลักษณะการทำงานแบบ P2P แต่กระบวนการแปลงเป็นเงินสดอย่างถูกกฎหมายก็ทำไม่ได้ในตอนนี้จนกว่าจะมีกระบวนการแน่ชัด
ตอนนี้แค่ซื้อก็ผิดกฎหมายแล้ว ดังนั้นคงไม่มีใครแนะนำให้ลงทุน
มีเงินสกุลอื่นแบบเดียวกันอีกไหม
หลังจากที BitCoin ออกมาแล้ว มีกลุ่มคนที่อยาก "ปรับปรุง" BitCoin อีกจำนวนหนึ่ง ออกค่าเงินใหม่ออกมาโดยใช้การออกแบบ BitCoin เป็นฐาน เช่น LiteCoin, PPCoin โดยมีการปรับพารามิเตอร์และกระบวนการให้ต่างออกไปบ้าง
ถ้าซื้อขายไม่ได้ แล้วจะเขียนมาตั้งยาวให้อ่านทำไม
กระบวนการที่ Satoshi ออกแบบนับเป็นการออกแบบฐานข้อมูลแบบไร้ศูนย์กลางที่น่าสนใจ ทุกคนช่วยกันเก็บข้อมูลพร้อมกับช่วยกันยืนยันความ "ใหม่" ของข้อมูลตลอดเวลา แนวทางการออกแบบนี้เริ่มมีการนำไปใช้ในเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น NameCoin ที่สร้างฐานข้อมูล DNS แบบไร้ศูนย์กลาง
Comments
ทำให้คิดขึ้นมาเหมือนกันนะครับ ว่าที่สุดแล้วระบบนี้ประเทศที่มีเทคโนโลยีดีๆ ก็จะกลายเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มที่จะผูกขาดเงินเอาไว้มากกว่าคนอื่นหรือเปล่า (แน่นอนว่าก็เพราะมีโอกาสมากกว่า) แต่พอมองในแง่ปรัชญา เงินมันก็เพียงสิ่งที่ถูกแทนค่าขึ้นมาเองอยู่ดี ไม่ว่ามันจะเป็นดิจิตอล หรือไม่ เหมือนการเข้าถึงแหล่งเพชรพลอย ก็มีทั้งประเทศที่ได้เปรียบ และเสียเปรียบ (ถามเอง ตอบเอง -..-')
my blog
ผมอ่านแล้วก็ยังงงอยู่ดีว่า มูลค่าของเงิน bitcoin มันมาจากไหน อย่างเงินจริงที่เราใช้ๆ กันก็มีรัฐบาลของแต่ละประเทศเป็นผู้ค้ำประกัน (โดยเอาทองไปวางค้ำไว้) แล้ว bitcoin นี่มันเป็นเงิน digital แล้วยังไม่มีศูนย์กลาง ไม่มีเจ้าของ แล้วมูลค่าของเงินมันมาจากอะไร
concept ของ "เงิน" จริงๆ แล้วมันก็แค่ของที่เราใช้แลกเปลี่ยนทางธุรกรรมกันได้ โดยมั่นใจว่าเงินจะไม่หมดมูลค่าไปดื้อๆ หรือมีคน generate เงินขึ้นมาได้เองเฉยๆ
เกมออนไลน์ทั้งหลายที่มีระบบเงินก็มีผู้พัฒนาเกมเป็นคนค้ำประกัน เพื่อให้คนเล่นมั่นใจว่าเงินยังมีมูลค่า หรือเงินจริงๆ ที่ค้ำประกันด้วยทองก็ทำด้วยความ "หายาก" ของทอง เชื่อว่าไม่มีประเทศไหนสามารถ generate ทองขึ้นมาแบบไม่จำกัดได้
ทำนองเดียวกันสิ่งที่ค้ำประกัน bitcoin อยู่คือความยากของการคำนวณ block ครับ
pittaya.com
คุณ Kittichok ได้อธิบายไว้แล้วในความเห็นข่าวเดิมครับ
มูลค่าของมนเกิดจากความเชื่อใจครับ ^ ^''
ต้องลองกลับไปตั้งคำถามว่า "เงิน" คืออะไรครับ
ลองตั้งคำถามดูว่า
คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของการเป็นเงิน คือความเชื่อครับ เรายอมรับกระดาษแผ่นเล็กๆ มาเพราะเราเชื่อว่าเราเอาไปใช้ได้ คนอื่นจะยอมรับแลกของของเขากับกระดาษของเรา ที่รัฐบาลต้องออกข้อกำหนดต่างๆ นานาในการออกธนบัตรก็เพื่อให้คนเชื่อ แม้แต่แร่ทองแร่เงินเอง ถึงแม้จะมี intrinsic value อยู่บ้าง แต่สิ่งที่ทำให้มันกลายเป็นสื่อกลางได้ก็เพราะคนเชื่ออยู่ว่าจะเอาไปแลกต่อได้ (ถามว่าถ้าได้รับทองมาแล้วเอาไปขายต่อหรือแลกเปลี่ยนกับอย่างอื่นไม่ได้ เราจะมองว่าทองมีมูลค่าเท่าไหร่?)
อ่านแล้วไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ครับ แต่พอเข้าใจไอเดียการออกแบบฐานข้อมูลแบบไร้ศูนย์กลาง
แล้วมันมีนิติบุคคลรองรับไหม? เวลาเกิดความเสียหายทางการเงินขึ้นมาจะฟ้องร้องเอากับใคร เพราะมันเป็น peer to peer ปัดความรับผิดชอบให้เป็นความรับผิดชอบของ peer ไปฟ้องร้องกันเอาเอง แล้วรู้ได้ไงว่า peer ไว้ใจได้ peer ปัดความรับผิดชอบไปให้ระบบเครือข่ายทำงานผิดพลาด ให้ลูกค้าไปฟ้องร้องเอากับเครือข่ายแล้วจะทำไง?????
ไม่มีนิติบุคคลใด ๆ ทั้งนั้นครับ ไม่มีส่วนกลางมาควบคุมอะไรเลย เท่าที่มีมานอกจากเรื่องเครือข่ายแตกเป็นสองส่วนเมื่อต้นปีแล้วยังไม่มีเหตุที่เป็นการผิดพลาดจากระบบเครือข่ายอีกเลย ถ้าอ่านบทความBitCoin เมื่อโลกเทคโนโลยีปลดแอกการเงินจากธนาคารแล้วจะเข้าใจจะเห็นถึงความแน่นหนาในการออกแบบระบบครับ เชื่อถือได้มากทีเดียว
แน่นอนว่าไม่มีระบบไหนไม่มีช่องโหว่ ถ้า SHA256 ถูกเล่นงานได้ถูกจุด ถึงตอนนั้นระบบนี้ล่มอย่างแน่นอน แต่จนถึงตอนนี้มันยังปลอดภัยดีครับ
ความเสียหายทางการเงินเกิดขึ้นได้เพียงแค่ไม่กี่แบบ เช่น คีย์เข้ารหัสกระเป๋าเงินคุณหลุดไป ซึ่งคงโทษใครไม่ได้ (ถ้าหลุด ก็รีบเปิดบัญชีใหม่แล้วโอนเงินไปบัญชีใหม่) หรือการโอนเงินไม่ถูกบันทึกลงสายหลัก ซึ่งจริง ๆ มีระบุระยะเวลาขั้นต่ำไว้แล้วว่าควรรอดูว่าการโอนนั้นถูกบันทึกลงไปไม่ต่ำกว่ากี่บล็อคจึงจะเชื่อถือได้แน่นอน ทำให้มันไม่เหมาะกับการจ่ายเงินแบบทันทีด้วย
เสียหายทางการเงินเช่นอะไรหรือครับ? ระบบออกแบบไว้ว่าต่อให้เครือข่ายทำงานผิดพลาด ระบบก็ยังมี intregity อยู่นี่ครับ?
pittaya.com
อย่างในกรณีที่มีการฉ้อโกง , Phishing หรือ เครื่องผู้ใช้โดนไวรัส อาจจะไม่สามารถแก้ไขได้ (ใช่ไหมครับ)
ธนาคารปกติก็แก้ไขไม่ได้ครับ
lewcpe.com, @wasonliw
ปกติธนาคารก็ไม่มีการแก้ให้ครับ นอกจากมีหมายศาล อยากได้ต้องไปฟ้องศาลเอาครับ อย่างโดนเงินผิดเนี้ย ถ้าเราไม่ไปตกลงกับคนที่เราโอนไปได้ หรือเขาไม่โอนกลับ ธนาคารก็ทำไรไม่ได้
ไม่ใช่เคสโอนเงินผิดครับ อย่างถ้าใช้ Bitcoin หมายศาลจะออกไปหาใครครับ
อย่างเคสที่ผมเจอ ต้นทางเจอขโมยบัญชีเพื่อโอนเงินมาที่ผม
แต่ธนาคาร และตำรวจออกหมายเรียกผมไปชี้แจงและสืบหาผู้กระทำผิดต่อไปครับ
ฐา่น => ฐาน ไม้เอกบนสระอาเกินครับ
ซื่ง => ซึ่ง สระอึกลายเป็นสระอือ
ไ้ด => ได้ (ไม้โทอยู่บน ไ)
เว็บโฮสติงค์ ใช้ ค์?
อ้าวซ้ำ
May the Force Close be with you. || @nuttyi
ที => ที่ (ไม่มีไม้เอก)
ยังไม่ได้อ่านหมด (ติดธุระ) แต่ตอนนี้ผมสงสัยว่าตัวโปรแกรมมันมีการเชื่อมต่อเซอร์เวอร์กลางบ้างหรือเปล่าครับ? ถ้าไม่นับเช็คอัพเดตมันมีการไปดึงรายชื่อ peer อื่น ๆ หรือค่าอะไรจากเซอร์เวอร์กลางบ้างหรือเปล่า หรือว่าใช้ค้นหากลางเน็ตหมดเลย
link : "bitcoin.co.th ที่ต้องหยุดกิจการไปเพราะธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่าผิดกฎหมาย" ผิดครับ ขาดคำว่า blognone.com
เรื่อง bitcoin ผมอ่านเท่าไหร่ก็ไม่เข้าใจซักที
เงินตัวนี้ ใครเป็นคนรับประกันมูลค่าของมันครับ เงินดิจิตัลอื่นยังพอเข้าใจว่ามีผู้รับประกันอยู่ แต่เจ้านี่ไม่มีคนรับประกัน
ไม่มีครับ ค่าเงินถึงได้ผันผวนขนาดนั้น นอกนั้นก็ดู ๆ จากอุปสงค์อุปทานและความน่าเชื่อถือแหละครับ
คือสงสัยนิดนึง ... ทองเอาไปสวมใส่ได้ เป็นของตกแต่ง จับต้องได้ แต่ SHA-256 เอาไปทำไรได้ -_-? (คือจะเก็บไป hack อะไรหรือเปล่า??) อ่านกี่รอบก็ไม่เข้าใจครับ 555+
ทอง เป็นตัวรับประกันได้ว่าจะไม่มีใครเอาออกมาทีละมาก ๆ เพราะมันหายากครับ
block เป็นตัวรับประกันว่าจะไม่มีใครทำออกมาได้ทีละมาก ๆ เพราะมันทำได้ยากเช่นกันครับ
เนื่องจากการสร้าง block จะต้องหาค่า nonce ที่ทำให้ได้ค่า SHA-256 ของ block ที่ถูกต้องได้ยากมาก ๆ ครับ ยากเพราะตอนนี้เรายังหาค่า nonce จากค่า SHA-256 ไม่ได้ จึงต้องไล่ค่า nonce ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้ค่า SHA-256 ที่ต้องการ ซึ่งระบบนี้กำหนดมาเลยว่าต้องการค่า SHA-256 ที่มีศูนย์นำหน้าอยู่กี่ตัว ๆ
เอาจริงๆ ที่ผมอยากรู้คือหาค่า nonce นั่นน่ะครับ ... เอาไปใช้ประโยชน์อะไรได้? (อย่างที่ผมวงเล็บไว้แต่แรก เก็บไว้ hack อะไรหรือเปล่า?)
ผมเข้าใจว่า nonce คือหมายเลขธนบัตรนะครับ คิดว่าคงมีคนเก็บและพยายามติดตามเงินนั้นๆ เหมือนกันแต่ระบบออกแบบมาให้เป็นแบบไร้ตัวตน ตามไปก็ใช่ว่าจะเจอว่าใคร
ประโยชน์ของมันคือเอามาแลกเงินรางวัลได้ และเอาไว้ใช้ยืนยันข้อมูลบล็อคนั้น ๆ ครับ แค่นั้น หลังจากเจอและใช้ยืนยันบล็อคไปแล้ว มันต้องถูกเก็บไว้ใช้ยืนยันบล็อคนั้น ๆ ตลอดไป
ผมว่าคำตอบนี้ไม่ตรงคำถามครับ ทองก็เอาไปแลกเป็นเงินได้เหมือนกัน(จะหาว่าผมกวนตีนไม๊ 555+) อยากให้ข้ามเรื่องตังไปก่อนครับ ..... ประเด็นที่ผมอยากจะถามคือ ทองก็เอาไปทำอย่างอื่นได้ด้วย เช่นทองคำแปลว(เอาไปปิดทองหลังพระ!?) หรือจะเอาไปเป็นตัวนำไฟฟ้าก็ OK(แต่มันแพงไปหน่อยนะซาร่า...) แต่ไอ้ค่า nonce เนี่ย เอาไปทำอะไรได้อีกครับ???? มีใครจะพอตอบให้ผมมองเห็นประโยชน์(นอกจากเรื่องตัง) ได้มั่งไม๊ครับ ?
555 คงเพราะมันเอาไปทำอย่างอื่นไม่ได้เลยนอกจากเรื่องตังค์นี่แหละครับ
งั้นผมยืนยันให้ครับ มันเอาไปทำประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้เลยครับ ไร้ค่าสิ้นดีเลย
หลักการเดียวกับทองครับ เปรียบเทียบ block คือทองที่อยู่ในดินยังไม่ได้ขุด เราก็ต้องเลยต้องหาว่าทองนี้อยู่ไหนในโลกใบนี้มันไม่ใช่เรื่องง่าย block ก็เช่นกัน ล่าสุดที่ได้อ่านมาคือต้องหาค่า SHA-256 ที่มีเลข 0 นำหน้าถึง 13 ตัว การหา block ที่มีค่า SHA-256 ตามเงื่อนไขได้ต้องใช้การคำนวนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอ แล้วนำ block นี้เข้าสู่ระบบเพื่อเพิ่มเป็นเงินในระบบ เงินในระบบตอนนี้ก็คือ block ที่ขุดเจอกันแล้ว ไม่ใช่อยู่ๆ ก็เกินขึ้นมา เราสามารถซื้อขาย bitcoin ได้ไม่เงินจำนวนที่มีอยู่ในระบบเท่านั้นครับ (หรือว่าถ้าเราซื้อ bitcoin ใหม่มันจะสร้าง block ใหม่ในระบบ?)
ตามที่ผมเข้าใจคือถ้าเงินสกุลนี้หายไป SHA-256 ก็ไม่มีค่าอะไรเลยแถมเอาไปทำอะไรก็ไม่ได้
ธนบัตรเยอรมันตะวันออก ตอนหลังทลายกำแพงเบอร์ลินแล้ว ก็เอาไปทำอะไรไม่ได้เหมือนกันครับ
pittaya.com
ผมหมายถึงที่คุณ eol เอาไปเทียบกับทองอะครับ
อย่างน้อยยังเป็นเชื้อไฟได้นะครับ
"BitCoin อัพเดตซอฟต์แวร์เป็นเวอร์ชั่น 0.8 แล้วมีบั๊ก"
ใส่ link ผิดครับ
สุดท้ายแล้วมันไม่หยุดไม่ใช่เหรอครับ? หรือว่าหั่นจนทศนิยมเกินแปดหลักแล้วมันจะหยุด?
สุดท้ายมันจะน้อยจนไม่คุ้มที่จะมีใครขุดหรือเปล่าครับ? ยังไงมันก็ลู่เข้าสู่ค่าหนึ่งอยู่ดี?
pittaya.com
สงสัยว่าใครจะเป็นคน confirm เรื่อง transaction ในกรณีที่ bit coin เต็ม/ใกล้เต็มมูลค่าแล้ว จนไม่มี/ขุดต่อได้ช้ามากใช้เวลาหลายอาทิตย์/เดือน/ปี
ระยะเวลาการขุดจะถูกปรับค่าความยากทุก ๆ หนึ่งพันบล็อก โดยดูพลังประมวลผลของหนึ่งพันบล็อคล่าสุดแล้วปรับให้อยู่ที่ประมาณสิบนาทีครับ
ถ้าเป็นแบบนั้น ต่อให้ขาใหญ่เลิกคนที่อยากได้มีคอมธรรมดาก็แย่งกันได้ ยังไงก็คงมีคนขุด และคนที่ยังใช้อยู่ก็จะพยายามบีบให้มีคนอยากขุดด้วยการจ่ายค่าธรรมเนียมที่สูงพอจะมีคนเก็บไปขุดครับ (ทุก transaction สามารถใส่ค่าธรรมเนียมลงไปให้คนสร้างบล็อคได้ด้วยครับ) ทำให้เมื่อค่าธรรมเนียมการขุดลดลงไปแล้วยังสามารถมีรายได้จากค่าธรรมเนียมการโอนได้อีก
ออกแบบไว้ละเอียดอ่อนพอสมควรครับ แต่ไม่ว่ายังไงวันนึงมันก็ต้องจบลงอยู่ดี