เมื่อวันพุธที่ผ่านมา Uber ได้จัดงานเปิดตัวอย่างเป็นทางการ หลังจากที่เปิดบริการอย่างไม่เป็นทางการ (soft launch) ในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งผมและ nismod ได้มีโอกาสไปเก็บบรรยากาศและข้อมูลน่าสนใจมาฝากครับ
เริ่มต้นด้วยการกล่าวต้อนรับโดยคุณ Tiger Fang ซึ่งเป็นหัวหน้าที่ดูแลการตลาดในไทยเวลานี้ จากนั้นจึงตามด้วยคุณ Sam Gellman หัวหน้าฝ่ายขยายกิจการในเอเชีย (Head of Asia Expansion) โดยมาเล่าประวัติความเป็นมาของ Uber
ความน่าสนใจของ Uber อยู่ตรงที่ว่า ต้นกำเนิดของ Uber จริงๆ มาจากในโลกทวิตเตอร์ กล่าวคือ สองผู้ก่อตั้ง (Garrett Camp และ Travis Kalanick) คุยกัน แล้วประกาศหาคนในทวิตเตอร์ ซึ่งคนที่ตอบก็คือ Ryan Graves (เป็นซีอีโอคนแรก แต่ลาออกแล้วเปิดทางให้ Travis ขึ้นมาเป็นซีอีโอคนปัจจุบัน ส่วนตัวเองไปนั่งเป็นรองประธานฝ่ายดำเนินกิจการแทน) นั่นเอง (ข้อความต้นฉบับอยู่ด้านล่าง)
@KonaTbone heres a tip. email me :) graves.ryan[at]gmail.com
— Ryan Graves (@ryangraves) January 6, 2010
ในระยะแรกที่เปิดตัวที่เมือง San Francisco จำนวนรถและผู้ใช้งานยังไม่เยอะมาก ต่อมาไม่นานนักเมื่อบริการได้รับความนิยมมากขึ้น ก็ทำให้บริการและความหนาแน่นในการใช้บริการเพิ่มขึ้นมาก
หลักการของ Uber ก็ง่ายๆ คือ จะต้องสะดวกสบาย (ไม่ปวดหัว จุกจิก) โปร่งใส (ค่าบริการชัดเจน) เข้าถึงได้ง่าย (ขั้นตอนเข้าถึงไม่ซับซ้อนและปวดหัว ตลอดจนถึงมีราคาไม่สูงมาก) และปลอดภัย (ไม่ต้องกังวลเรื่องเงินสด ฯลฯ) ซึ่งภาพที่ผู้บริหารเปรียบเทียบคือ ถ้ามีเงินพอที่จะซื้อคาปูชิโนจาก Starbucks หนึ่งแก้ว ก็ต้องมีเงินพอที่จะใช้บริการของ Uber ได้ (สำหรับคนอเมริกัน ไม่ได้แพงขนาดนั้น)
ในเวลาเดียวกันสิ่งที่ Uber นำเสนอกับคนขับ หรือบริษัทที่จัดหารถให้คือการใช้ประโยชน์จากเวลาว่างเต็มที่ และทำให้มีงานเพิ่มขึ้นด้วย
Uber เองยังเล่นกิจกรรมสนุกๆ ตลอดมา เช่นบริการสั่งรถไอติมในอเมริกา หรือในช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เมื่อเรียกรถก็จะมาเป็นขบวนสามคัน มีรถคุ้มกันหน้าหลังพร้อมเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสำหรับคันหัวและท้ายขบวน (ลองดูตัวอย่างได้จาก blog ของทาง Uber)
เหตุผลสำคัญสำหรับ Uber ที่มาเปิดตลาดเมืองไทย คือการที่ตลาดในเมืองไทยนั้นมีศักยภาพที่จะเติบโตและถือเป็นมหานครที่สำคัญของโลก แต่สิ่งที่น่าจะมีผลอย่างมาก คืออัตราของคนที่เรียกใช้แอพ Uber ตั้งแต่ก่อนที่ยังไม่มีบริการของ Uber ในไทยนั้นค่อนข้างสูง (ลองดูภาพ)
สำหรับกิจกรรมในไทยก็คือการเรียกรถกระบะเอาไว้เล่นสงกรานต์ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่) ในช่วงวันหยุดที่จะถึงนี้
มาถึงอัตราการใช้งานตั้งแต่ช่วงเปิดตัวไม่เป็นทางการจนถึงประมาณราว 5 อาทิตย์แรกบ้าง ซึ่งหลายประเทศก็มีอัตราการใช้งานที่สูง แต่ของไทยถือว่าสูงมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่น
นอกจากรถแล้ว Uber เองยังเคยมีบริการอื่นๆ ที่เป็นครั้งคราวบ้าง อย่างการสั่งเรือให้ไปรับ (ที่กรุง Amsterdam ประเทศเนเธอร์แลนด์) หรือในฝรั่งเศสที่เรียกรถมอเตอร์ไซค์ได้
ท้ายสุดในช่วงถามตอบ คำถามที่น่าสนใจอันหนึ่งคือ Uber จะมีบริการที่ถูกกว่านี้หรือไม่ (ปัจจุบันเป็น Uber Black ที่ทำงานร่วมกับผู้ให้บริการรถลีมูซีน) คำตอบก็คือว่าต้องดูสถานการณ์ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่การตอบรับจากสังคมด้วยเช่นกัน ส่วนอีกคำถามคือในกรณีที่เป็นชาวต่างชาติ ปัญหาเรื่องภาษากับคนขับจะเป็นอย่างไร ซึ่งคำตอบก็คือ แม้แต่ที่จีน ก็ยังเป็นปัญหา ซึ่ง Uber เองพยายามจะแก้ไขปัญหาในจุดนี้ ซึ่งอนาคตอาจจะมีแอพในการช่วยสื่อสารหรือแปลข้อความต่างๆ ให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ข้อมูลอันหนึ่งที่สำคัญคือ ทาง Uber ระบุว่าเมื่อเวลาผ่านไปสักระยะ พบว่าลูกค้าจำนวนมากประมาณร้อยละ 80 เป็นลูกค้าในท้องถิ่น ดังนั้นปัญหาด้านภาษาอาจจะไม่สำคัญมากนัก
Blognone เองมีบทสัมภาษณ์พิเศษกับคุณ Sam Gellman เกี่ยวกับเรื่องของ Uber ซึ่งจะได้เผยแพร่ในโอกาสต่อไปอันใกล้นี้ครับ
Comments
คนที่เปิดให้แอพ Uber ?
แก้แล้วครับ
I'm ordinary man; who desires nothing more than just an ordinary chance to live exactly what he likes and do precisely what he wants.
กิจกรรมฮา สร้างสรรค์ใช้ได้เลย
UberTwitter นี่ของบริษัทนี้ปะครับ
ไม่ใช่ครับ
I'm ordinary man; who desires nothing more than just an ordinary chance to live exactly what he likes and do precisely what he wants.
กิจกรรมเข้ากับเทศกาลดีเลย มีรถให้ฟรีๆไปเล่นน้ำเกือบ 20 นาที ใช้ได้ๆ
เห็นกราฟแล้วตกใจ ประเทศไทยเรียกใช้บริการเยอะกว่าอเมริกา
คงเป็น อัตราเรียกมากกว่ามั๊งครับ เทียบด้วยจำนวน อเมริกา น่าจะเยอะกว่าอยู่แล้ว
ผมก็เปิดดูบ่อย ๆ กะจะเรียกบ้างแต่รอนานเลยไม่ได้เรียกมาลองใช้บริการสักที
กราฟนั้นเป็นกราฟเฉพาะในช่วง 5 สัปดาห์แรกหลังเปิดตัวครับ
ในสหรัฐ Uber เป็นของใหม่แกะกล่อง คนรู้จักแทบไม่มี เติบโตได้ด้วยเพียงการบอกปากต่อปาก ในขณะที่เมื่อมาเปิดในไทย ผู้ใช้ส่วนใหญ่คือคนที่รู้จักและเคยใช้บริการ Uber ในประเทศอื่นๆมาก่อนแล้วครับ
โห ตั้ง 20 นาที *0* //อยากได้แบบขบวนรถแบบอเมริกามั่งจัง ไปรับสาวมาเดทคงจะโก้มิใช่น้อย
บล็อกส่วนตัวที่อัพเดตตามอารมณ์และความขยัน :P
บริการแบบ Uber มีข้อกฏหมายรับรอง หรือผิดกฏหมายอะไรไหมครับ
เหมือนไปทับซ้อนบริการกับแทกซี่ รถตู้ อะไรยังงี้เลย
เหมือนจะจ้างเดินรถผ่านบริษัทที่ได้รับอนุญาติถูกต้องตามกฏหมายอีกทอดนึงครับ
ผมไม่แน่ใจนะครับว่าจ้างเดินรถผ่านบริษัทอีกทีขนาดนั้นหรือเปล่า แต่เท่าที่ฟังวันนั้น Uber มี partner แค่เรื่องซื้อรถครับ
อีกอย่างคือป้ายทะเบียนรถ Uber เป็นสีเขียวอ่อน ที่ใช้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นพวกลิมูซีนตามโรงแรม สนามบินพวกนั้นอ่ะครับ
การจดทะเบียนจึงเป็นคนละประเภทกับแท็กซี่ครับ (รถรับจ้างทั่วไปทะเบียนสีเหลือง)
ส่วนเรื่องทับเส้น อย่างที่บอกครับว่าตอนนี้ Uber ให้บริการแค่ Uber Black ซึ่งก็คือระดับ premium อ่ะครับ ฉะนั้นกลุ่มเป้าหมายจะเป็นพวกชนชั้นกลางระดับบน (ผู้บริหาร นักธุรกิจ เสี่ยๆ ฯลฯ) เสียมากกว่า ผมเลยคิดว่าคงยังไม่ทับเส้นแท็กซี่นะครับ แต่ถ้าหาก Uber เปิดให้บริการในเรตที่ถูกลงมาอีก (Uber X ความไฮโซจะน้อยกว่าแต่ยังไม่เปิดในไทย) อันนั้นค่อยว่ากันอีกที
แผ่นป้ายเป็นพื้นสี่เหลืองสะท้อนแสง เป็นประเภทรถยนต์รับจ้าง ซึ่งได้แก่ รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน หรือรถยนต์สาธารณะอื่นนอกจากรถยนต์โดยสารประจำทาง ซึ่ง taxi เข้าข่ายนี้
แผ่นป้ายเป็นพื้นสี่เขียวสะท้อนแสง ขอบป้ายสีขาว เป็นประเภทรถยนต์บริการธุรกิจ ซึ่งได้แก่รถยนต์ที่ใช้บรรทุกคนโดยสารระหว่างท่าอากาศยาน ท่าเรือเดินทะเล สถานีขนส่งหรือสถานีรถไฟกับโรงแรมที่พักอาศัย ที่ทำการของผู้โดยสาร หรือที่ทำการของผู้บริการธุรกิจนั้น ซึ่ง Uber เข้าข่ายนี้
ซึงรถยนต์บริการธุรกิจเสียภาษีประจำปีแพงกว่ารถยนต์รับจ้างอีกด้วย
น่าจะแค่แท็กซี่ที่น่าจะทับเส้นกัน แต่ข้อดีกินขาดแทบทุกอย่างนะ
ในไทย คาดว่าจะยังไม่ทับเส้นกันในเร็วๆนี้ครับ เพราะราคาต่างกันมาก
ผมลองนั่งไปสุวรรณภูมิ
ปกติ Taxi ธรรมดา ราคาประมาณ 250 บาท + ทางด่วน 75 บาท
ลองนั่ง Uber 1,000 บาท แต่รวมค่าทางด่วนแล้ว
แต่ต่างประเทศ ที่ค่า Taxi ปกติก็สูงอยู่แล้ว น่าจะกระทบเต็มๆ
ส่วนสิงคโปร์ ระบบโทรเรียกแทกซี่ที่นั่น ค่อนข้างมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว Uber อาจจะต้องหาจุดขายอะไรเพิ่มเติม