หลังจากที่ไมโครซอฟท์ได้เปิดตัว Surface Pro 3 พร้อมกับปากกาแบบใหม่นามว่า Surface Pen โดยเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีจากทาง N-trig แทน จากเดิมที่ Surface Pro และ Pro 2 นั้นใช้เทคโนโลยีจาก Wacom โดยที่เจ้าของใหม่ชิ้นนี้ไม่เพียงแต่รองรับระดับแรงกดได้น้อยลงเหลือ ๒๕๖ ระดับ จากที่รุ่นพี่เคยทำไว้ ๑,๐๒๔ ระดับ แต่ยังต้องใช้ถ่านทั้งหมดถึง ๓ ก้อนด้วยกัน (ขนาด AAAA ๑ ก้อน และถ่านกระดุมอีก ๒ ก้อน) ทำให้หลายคนเกิดความสงสัยว่า "ไมโครซอฟท์เปลี่ยนทำไม"
มีคนถามถึงเรื่องนี้ในช่วงที่ไมโครซอฟท์เปิดช่วงถาม-ตอบเกี่ยวกับ Surface Pro 3 บน Reddit ซึ่งทางไมโครซอฟท์ได้เรียบเรียงคำตอบออกมาให้คำถามนี้ถึง ๒,๖๐๐ คำ! ผมเห็นว่ามีเรื่องน่าสนใจหลายส่วนจึงวิเคราะห์และนำมาเรียบเรียงใหม่อีกต่อหนึ่งหลังจากที่ไปสรุปแบบเบียดเบียนบนข่าวคนอื่นไว้เสียเยอะ
ก่อนที่จะเริ่มการเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียระหว่างของเก่า Surface Pro Pen ที่ใช้เทคโนโลยีจาก Wacom กับของใหม่ Surface Pen ที่ใช้เทคโนโลยีจาก N-trig เรามาทำความรู้จักกับปากกาเขียนหน้าจอ (pen digitizer) แบบต่างๆ กันก่อน ปัจจุบันเราสามารถแบ่งออกเป็นสามประเภทหลักๆ ตามนี้
ภาพ Surface Pro Pen ที่เป็นปากกาแบบแม่เหล็กไฟฟ้า (คลิกดูภาพใหญ่)
ภาพ Wacom Bamboo Stylus ปากกาแบบ passive (คลิกดูภาพใหญ่)
และ Adonit Jot ปากกาแบบ passive อีกตัวหนึ่ง
ภาพ Surface Pen
ต่อจากนี้เป็นการสรุปเหตุผลหลักๆ ที่ไมโครซอฟท์ให้มา ว่าทำไมจึงเลือก N-trig
อย่างแรกคือเรื่องความแม่นยำ การที่จะทำให้แบบแม่เหล็กไฟฟ้าสามารถใช้งานได้ดีทั่วหน้าจอรวมถึงบริเวณมุมจอนั้นทำให้ต้องใส่แผงสัญญาณให้ใหญ่กว่าขนาดหน้าจอจริงออกไปอีก การที่จะทำให้แบบแม่เหล็กไฟฟ้าทำงานได้เที่ยงตรงนั้นต้องอาศัยการปรับเทียบอย่างดีจากผู้ผลิต ไม่เพียงเท่านั้น แบบแม่เหล็กไฟฟ้ายังอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมเป็นอย่างมาก หากมีอุปกรณ์ที่ส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือแม้กระทั่งวัตถุที่เป็นโลหะอยู่ด้านหน้าแผงสัญญาณจะทำให้ความแม่นยำลดต่ำลงอย่างมาก ขณะที่แบบ active ของ N-trig นั้น ไมโครซอฟท์บอกว่าได้มีการทำการปรับแต่ง Surface Pen เป็นอย่างดีจนมีความแม่นยำในด้านตำแหน่งกว่าแบบแม่เหล็กไฟฟ้า และยังแม่นยำเสมอตลอดพื้นที่ใช้งานโดยไม่จำเป็นต้องปรับเทียบและไม่ถูกรบกวนจากสภาพแวดล้อม ส่งผลให้สามารถลากเส้นตรงได้ตรงกว่าเมื่อเทียบกับแบบแม่เหล็กไฟฟ้า รวมถึงไม่มีปัญหากับบริเวณขอบและมุมจอที่มักเกิดกับแบบแม่เหล็กไฟฟ้า
ต่อมาคือเรื่องของตัววัดมุมปากกาที่ Surface Pen นั้นไม่มี แม้จะเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ปากกาแบบ active ส่วนมากไม่สามารถใส่ความสามารถนี้มาด้วยได้ แต่ก็ไม่ส่งผลในการใช้งานทั่วไปมากนัก เพราะระยะระหว่างหัวปากกาต่อตัวตรวจจับตำแหน่ง (นั่นก็คือระบบสัมผัสหน้าจอที่อยู่ใต้กระจกหน้า ซึ่งระยะนี้คือตัวที่ทำให้เกิด electronic parallax) ห่างกันเพียง ๐.๗๕ มม. ขณะที่ปากกาแบบแม่เหล็กไฟฟ้าของ Wacom นั้นต้องวัดจากตัวรับ/ส่งสัญญาณที่อยู่ลึกเข้าไปในตัวด้ามไปถึงแผงสัญญาณที่อยู่ด้านหลังจอแสดงผลไปอีก ซึ่งเป็นระยะค่อนข้างห่างพอสมควร การจะรู้ได้ว่าหัวปากกานั้นจริงๆ แล้วแตะอยู่ที่ส่วนใดของหน้าจอจึงบีบให้ต้องมีการวัดมุมของปากกาต่อหน้าจอประกอบด้วย แบบแม่เหล็กไฟฟ้าจึงได้ระบบวัดมุมปากกามาเป็นข้อได้เปรียบอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งแม้จะมีข้อได้เปรียบนี้ แต่เจ้าของเทคโนโลยีอย่าง Wacom กลับไม่ยอมให้อุปกรณ์ของผู้ผลิตอื่นอย่าง Surface Pro และ Pro 2 นำค่าความเอียงของปากกานี้ไปใช้งาน ดังนั้นไม่ว่าไมโครซอฟท์จะเลือก Wacom หรือ N-trig ก็จะไม่มีความสามารถนี้ให้ใช้งานอยู่ดี
ถัดมาอีกเป็นเรื่องของวัสดุ เนื่องจากปากกาแบบแม่เหล็กไฟฟ้าของ Wacom นั้นถูกรบกวนได้ง่ายมากโดยสิ่งแวดล้อมตามที่กล่าวไปก่อนหน้า จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ตัวปากกาแบบแม่เหล็กไฟฟ้าไม่สามารถทำตัวด้ามเป็นโลหะได้ และมักจะมีน้ำหนักเบามากจนบางครั้งถึงกับจับได้ไม่ถนัดมือ ขณะที่ระบบของ N-trig ไม่มีปัญหากับเรื่องนี้และเลือกใช้วัสดุได้ค่อนข้างอิสระ สามารถทำตัวด้ามเป็นโลหะได้ และเลือกวัสดุเพื่อปรับน้ำหนักให้ความรู้สึกเหมือนปากกาจริงได้มากกว่า
และเนื่องจากไม่ต้องกังวลกับการรบกวนของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า, โลหะ หรือแม่เหล็ก ทำให้ไมโครซอฟท์สามารถออกแบบให้พับคีย์บอร์ดขึ้นมายึดกับพื้นที่ข้างหน้าจอด้วยแรงแม่เหล็ก ทำให้คีย์บอร์ดชันขึ้นมาและยึดแท็บเล็ตได้มั่นคงขึ้นอีก
อีกหนึ่งส่วนที่ไม่เกี่ยวกับตัวปากกาคือ การเลือกใช้ระบบปากกาของ N-trig นั้นส่งผลให้ทำตัวเครื่องได้เบากว่าและบางกว่า เนื่องจากไม่ต้องวางแผงสัญญาณของแบบแม่เหล็กไฟฟ้าที่ต้องมีขนาดใหญ่กว่าขนาดหน้าจอลงไปอีก (ระบบของ N-trig มีแผงรับสัญญาณแบบรวมกับระบบหน้าจอสัมผัสเลย ไม่ต้องแยกสองชุด และบางมากเมื่อเทียบกับระบบแม่เหล็กไฟฟ้าของ Wacom)
ประเด็นที่อาจมีหลายคนกังวลคือความเข้ากันได้กับโปรแกรมต่างๆ ไมโครซอฟท์ชี้แจงว่า N-trig เองก็มีไดรเวอร์ WinTab ให้ดาวน์โหลดมาติดตั้งได้เช่นเดียวกับของ Wacom ทำให้ทำงานกับโปรแกรมที่ทำงานกับ Wacom ได้ปกติ
ข้อเสียอีกอย่างของระบบจาก N-trig คือความล่าช้าของเคอร์เซอร์ (ที่เรียกกันว่า cursor lag) เกิดจากเวลาที่เอาปากกาชี้หน้าจอโดยไม่สัมผัสแล้วเคอร์เซอร์จะเคลื่อนไหวช้ากว่าปากกา ซึ่ง Wacom ไม่มีปัญหาตรงนี้ (Wacom ใช้ระบบเดียวกันในการระบุพิกัดทั้งเวลาสัมผัสหน้าจอและไม่สัมผัสหน้าจอ)
คนที่ใช้งาน Wacom มาก่อนมักจะวาด/เขียนโดยการมองเคอร์เซอร์เนื่องจากปัญหาความไม่แม่นยำของตัวระบบเอง ทำให้เคอร์เซอร์ไม่ตรงกับหัวปากกา เมื่อมาใช้ N-trig อาจจะขัดใจที่ต้องรอจนเคอร์เซอร์มาหยุดนิ่งก่อนจึงจะจิ้มปากกาลงไป แต่ในความเป็นจริงแล้วตรงนี้ไม่จำเป็นนัก เพราะความแม่นยำของระบบ N-trig จะทำให้เราไม่จำเป็นต้องมองเคอร์เซอร์ขณะวาด และมั่นใจได้ว่าลายเส้นจะออกมาตรงกับหัวปากกาที่เราจิ้มลงไปนั่นเอง
ส่วนปัญหาว่าล่าช้าขนาดไหนในการใช้งานจริง (เพราะการใช้งานบางอย่างเราต้องเอาเคอร์เซอร์ไปชี้โดยไม่กด เช่น หน้าเว็บไซต์บางแห่ง หรือเวลาต้องการดู tooltip ของปุ่มบางปุ่ม) ตรงนี้คงต้องทดสอบเองครับ
สุดท้าย มาที่ประเด็นที่เป็นกระแสหลัก นั่นคือตัววัดระดับแรงกด ที่ Surface Pen รองรับเพียง ๒๕๖ ระดับ จากที่เดิม Surface Pro Pen เคยรองรับถึง ๑,๐๒๔ ระดับ
ไมโครซอฟท์ชี้แจงว่าของเก่าอย่าง Surface Pro Pen นั้น แบ่งค่าแรงกดตั้งแต่ ๑๐ กรัมไปจนถึง ๕๐๐ กรัมออกเป็น ๑,๐๒๔ ระดับแบบเชิงเส้น ส่งผลให้แต่ละระดับนั้นต่างกันเพียงประมาณ ๐.๔ กรัมเท่านั้น
ส่วนของใหม่อย่าง Surface Pen นั้น แม้จะรองรับเพียง ๒๕๖ ระดับ แต่เกิดจากการแบ่งค่าแรงกด ๑๐ กรัมจนถึง ๔๐๐ กรัมออกเป็นระดับต่างๆ โดยไม่เป็นเชิงเส้น และอธิบายเพิ่มเติมว่าการควบคุมการออกแรงของมนุษย์นั้นไม่เป็นเชิงเส้นเช่นกัน
ตรงนี้ไมโครซอฟท์พยายามอธิบายว่าคนเราไม่สามารถควบคุมแรงแค่ ๐.๔ กรัมได้ตลอดทั้งช่วง โดยที่คนเราจะควบคุมแรงได้ดีกว่าที่ช่วงการกดหนัก และควบคุมได้แย่กว่าเมื่อแตะเบาๆ ทำให้ Surface Pen นั้นสามารถปรับระดับอย่างหยาบๆ ได้สำหรับช่วงแรงกดน้อย และปรับระดับโดยละเอียดเมื่อแรงกดมาก ด้วยการทำแบบนี้จะทำให้ไมโครซอฟท์ลดปริมาณข้อมูลลงได้ถึง ๒๐% จาก ๑,๐๒๔ ระดับที่ต้องอาศัยข้อมูล ๑๐ บิต ลงมาเหลือ ๒๕๖ ระดับที่มีข้อมูลเพียง ๘ บิต (พอดีกับช่องข้อมูลขนาด ๑ ไบต์) ทำให้ส่งข้อมูลได้เร็วกว่า ส่งผลไปถึงทำให้การตอบสนองภาพบนหน้าจอทำได้รวดเร็วกว่า
เผื่อใครงงเรื่องการแบ่งระดับแบบไม่เป็นเชิงเส้น ย่อหน้านี้ผมยกตัวอย่างเองเพื่อให้เห็นภาพง่ายขึ้นครับ ไม่เกี่ยวข้องกับไมโครซอฟท์ ในช่วงแรกๆ ที่แรงกดน้อยนั้น อาจจะให้มีช่วง ๓-๕ กรัมต่อหนึ่งระดับ และในช่วงท้ายๆ เมื่อออกแรงกดมากๆ อาจทำให้ละเอียดถึง ๐.๔ กรัมต่อหนึ่งระดับตามแบบของเก่าก็ได้ [อัพเดต ๑] โดยสามารถดูภาพกราฟเปรียบเทียบปากกาแบบเก่าและแบบใหม่ได้ที่คอมเมนต์ของคุณ originalBlueSin ครับ (ไม่ตรงกับความจริงนักแต่ก็ช่วยให้เห็นภาพได้) [จบอัพเดต ๑]
แรง ๐.๔ กรัมนี่ละเอียดขนาดไหน น้อยขนาดไหน ทำไมไมโครซอฟท์จึงคิดว่ามองข้ามได้สำหรับบางช่วง ดูได้จากตัวปากกาเริ่มวัดแรงกดได้ที่ ๑๐ กรัมครับ การที่เราเขียนบนหน้าจอได้ด้วยเส้นบางที่สุดนั่นคือเราใช้แรง ๑๐ กรัมทำให้ปากการายงานค่าที่ระดับ ๑ หากเราออกแรงมากกว่านั้นเป็นเท่าตัว (ซึ่งก็คืออีกแค่นิดเดียวเมื่อเทียบกับแรงตั้งต้น) หรือ ๒๐ กรัม จะทำให้ปากการายงานค่าไปที่ระดับ ๒๐ กว่า โดยที่เกือบจะเป็นไปไม่ได้ที่เราจะควบคุมการออกแรงกดปากกาในช่วง ๑๐ กรัมนี้ (คือช่วงที่ออกแรงกด ๑๐-๒๐ กรัม) ได้ถึง ๒๐ ระดับ ไมโครซอฟท์จึงเรียกข้อมูลช่วงนี้ว่าเป็นข้อมูลที่ไม่เป็นประโยชน์นักและมองข้ามมันไป
[อัพเดต ๕] นอกจากนี้ทางไมโครซอฟท์ยังเตรียมที่จะปล่อยซอฟท์แวร์สำหรับปรับแต่งการแบ่งระดับนี้ให้ผู้ใช้สามารถปรับเองได้ผ่านทาง Windows Update ทำให้ทราบว่าจริงๆ แล้วตัวปากกาของ N-trig นั้นสามารถวัดแรงได้ละเอียดไม่แพ้ของ Wacom แต่เลือกที่จะส่งข้อมูลที่มีประโยชน์ออกมาเพียง ๒๕๖ ระดับเท่านั้น (หรือมองอีกด้าน ระบบของ N-trig ที่ใช้แผงรับสัญญาณอาจจะไม่สามารถส่งข้อมูลมากกว่า ๘ บิตได้ก็เป็นได้) [จบอัพเดต ๕]
จากข้อมูลที่ได้มา ผมสรุปเอาเองโดยไม่เคยสัมผัสของจริงว่า Surface Pen นี้น่าจะเหมาะกับการเขียนทั่วไปมากกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นการตอบสนองที่ดีขึ้น น้ำหนักที่เหมาะสมขึ้น รวมไปถึงการใช้วัสดุที่ดีขึ้น ให้สัมผัสที่ดีกว่าเดิม
แต่สำหรับงานวาดเขียน ปากกาจาก Wacom ยังมีข้อได้เปรียบจากหลายส่วน เช่น การรายงานแรงกดได้ละเอียดกว่า และที่สำคัญคือการจับองศาการเอียงของปากกาที่มีประโยชน์กับเครื่องมือบางอย่างโดยเฉพาะ
และที่สำคัญ ข้อเสียที่ไม่อาจปฏิเสธได้ คือ Surface Pen ต้องใช้แบตเตอรี่ถึงสามก้อน
ความเห็นผู้เขียน - ทั้งที่ตอนแรกก็ไม่ซีเรียสเรื่องปากกานี้อยู่แล้ว แต่พอเข้าใจเรื่องราวนี้ก็ทำเอาความอยากได้พุ่งขึ้นไปอีก เหลือรอลองจับเครื่องจริงกับรอดูการ์ดจอที่จะมาต่อเข้ากับพอร์ต Light Peak ที่ภาวนาให้มากับ dock อย่างเป็นทางการ
[อัพเดต ๒] ปิดท้ายด้วยคลิปวิดีโอทดสอบ Surface Pen ที่คุณ originalBlueSin หามาให้ครับ ในคลิปนี้แสดงจุดเด่นของ Surface Pen ได้ดีพอสมควร เริ่มจากการใช้ปุ่มกดระยะไกลที่ปากกาแบบแม่เหล็กไฟฟ้าไร้สายไร้แบตเตอรี่ทำไม่ได้ในตอนนี้ การไล่ระดับแรงกด ความแม่นยำของปากกาที่ระบุว่า "เหมือนหมึกไหลออกมาจากปลายปากกาจริงๆ" (ผมเคยใช้ปากกาแบบแม่เหล็กไฟฟ้ามาก่อนหน้านี้โดยไม่ทราบว่าเป็นของเจ้าไหน ที่บางพื้นที่บนหน้าจอมันจะไม่ตรงกับหัวปากกาครับ) และยังทำให้เห็นอีกว่า ปากกาใช้ชี้ได้โดยปลายปากกายังไม่สัมผัสกับหน้าจอ (ซึ่งผมยังไม่ทราบว่าทำได้ด้วยวิธีไหน อย่างไร) ความเร็วในการตอบสนองที่ไม่เร็วขนาดลากปุ๊บติดปั๊บแบบลากดินสอบนกระดาษจริง แต่ถือว่ารวดเร็วในระดับนึงแล้ว การเขียนตัวหนังสือที่ผมเห็นว่าดูดีกว่าปากกาแบบ active ด้วยกันอย่าง Adonit Jot Script มาก และการใช้ปุ่มกดด้านข้างในการเปลี่ยนเป็นยางลบที่น่าจะเร็วกว่าการกลับด้านปากกา
ถัดมาที่การวาดภาพที่ผมต้องขอชี้แจงด้วยครับว่าที่ลายเส้นและการลงสีหยาบถึงขนาดนั้น เป็นเพราะแอพ Fresh Paint ตั้งใจให้เป็นแบบนั้นครับ แนะนำให้ดาวน์โหลดแอพนี้มาลองใช้ดูก่อนแล้วจะเข้าใจว่าทำไมภาพจึงออกมาเป็นแบบนั้น
[อัพเดต ๓] บทความน่าสนใจที่แนะนำให้อ่านต่อ
[อัพเดต ๔] เพิ่มเติมเกี่ยวกับอายุแบตเตอรี่ของปากกา N-trig ครับ โดยรุ่นที่นำมาอ้างอิงเป็น VAIO Duo 11 Pen ที่โซนี่นำไปใช้ ตัวนี้ใช้แบตเตอรี่ขนาด AAAA จำนวนสองก้อน อยู่ได้นาน ๑๘ เดือน
ทางฝั่ง Surface Pen นั้นแบ่งแบตเตอรี่ออกเป็นสองชุดครับ ชุดแรกคือถ่านขนาด AAAA จำนวนหนึ่งก้อนที่ใช้เลี้ยงระบบปากกาของ N-trig และอีกชุดคือถ่านกระดุมเบอร์ 319 จำนวนสองก้อนที่เลี้ยงระบบปุ่มกดด้านท้ายที่เป็น Bluetooth LE ครับ
ในส่วนถ่านกระดุม เมื่อเทียบกับอุปกรณ์จำพวกเดียวกันอย่างพวกอุปกรณ์วัดการเต้นหัวใจหรือ Nokia Treasure Tag แล้ว ประเมินได้ว่าจะอยู่ได้ราวครึ่งปีครับ
ส่วนถ่านขนาด AAAA นั้น ผมเทียบเอาคร่าวๆ เผื่อขาดกับปากกาของโซนี่แล้ว Surface Pen ที่ใช้ AAAA ก้อนเดียวนั้นควรอยู่ได้ไม่ต่ำกว่าครึ่งปีเช่นกัน ซึ่งถ้าปากกานี้เปลี่ยนถ่านชุดนึงอยู่ได้ครึ่งปีจริงผมถือว่าเป็นระยะเวลาที่ยอมรับได้ครับ
Comments
อ่านเพลินเลยเขียนดีมากๆเลยครับ ขอบคุณครับ
ขอบคุณครับ (^.^)
แก้แล้วครับ ^^
และเชื่อมกับกับ ?
แก้แล้วคร้าบ
ตอนแรกได้เห็นว่าไม่ใช่ wacom เซ็งครับ พออ่านบทความนี้อยากได้หนักกว่าเดิม 555
ภารกิจผมสำเร็จแล้ว (>_<)
เดินไปขอเงินไมโครซอฟท์ที่แน่ๆ คือ Surface Pen หน้าตาภายนอกดูดีมากครับ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับของเก่าที่เบาๆ ก๊องแก๊งนั่น (- -)d
ไปขอ N-trig ดีกว่ามั้ยครับ
ทำไมรู้สึกบัลลังก์ Wacom จะล่มยังไงก็ไม่รู้ 555
ดูว่าจะสะเทือนไปกลุ่ม Note ด้วยมั้ย
ขอสองที่เลยแล้วกันครับ :p
ถ้ามันทำได้ตามที่ว่ามาจริงๆ (ซึ่งจากคลิปผมว่าค่อนข้างจริง แต่คนทำคลิปเป็นฝ่าย Surface อาจใช้เทคนิคทำให้มันดูดีกว่าปกติ) นี่มีลุ้นครับ ตลาดอาจแตกออกเป็นฝั่งงานเขียนด้วย N-trig กับงานศิลป์ด้วย Wacom
แต่เรื่องแบตเตอรีนี่ผมว่าต้องรอดูครับว่ายังไง ตัวกระดุมสองเม็ดนั่นคิดว่าคงอยู่ได้สักครึ่งปี-หนึ่งปี แต่เจ้า AAAA นี่สิ ถ้าให้ผมเปลี่ยนทุกเดือนก็แย่อยู่นะ เหมือนจะไม่มีถ่านชาร์จด้วย
ขอบคุณมากครับ ได้ข้อมูลช่วยสำหรับตัดสินใจเพิ่มมากขึ้นเยอะเลยครับ ผมค้นหาวิดีโอตัวอย่างการใช้ปากกาของ N-Trig วาดรูปแล้วได้วิดีโอนี้มาครับ http://www.youtube.com/watch?v=VD_fNrLkS54 ดูแล้วก็เห็นว่าน่าจะใช้ได้เหมือนกันนะครับ ชอบที่การตอบสหนองมันเร็วมากเลยครับ หน่วงแค่นิดเดียว
เพิ่มรูปภาพให้คนที่ไม่เข้าใจนะครับ ปกติปากกา Wacom จะมีเครื่องมีให้ปรับ Pressure Curve แยกต่างหากอยู่แล้ว แต่ผมไม่ทราบเหมือนกันว่าใน Surface pro นี่ทำงานอย่างไร (ไม่มีปัญญาหามาทดลองใช้)
โอ้ มีภาพประกอบให้ด้วย ขอบคุณมากครับ (ผมไม่มีปัญญาวาดเองครับ (ToT)) เดี๋ยวผมอ้างอิงมาที่คอมเมนต์นี้ด้วยนะครับ
ส่วนเรื่อง pressure curve ของ Wacom ผมเข้าใจว่าต่างจาก pressure curve ของ Surface Pen ครับ ของ Wacom นั้นเป็นการปรับทางซอฟต์แวร์ของอุปกรณ์ปลายทาง (แท็บเล็ต) คือปรับไดรเวอร์ว่า ที่แรงกดระดับนี้ ให้เส้นหนาแค่ไหน ส่วนของ Surface Pen นั้นไปปรับที่ซอฟต์แวร์ของตัวปากกาแทนว่า แรงกดเท่านี้ ให้รายงานเป็นระดับไหน ซึ่งทางไมโครซอฟท์ (หรือ N-trig) คงเล็งเห็นแล้วว่าปกติคนจะปรับ curve เป็นลักษณะนี้ ทำให้ช่วงต้นนั้นค่าแทบไม่แตกต่างกันและนำตรงจุดนี้มาใช้ประโยชน์
หากที่ผมว่ามาในย่อหน้าที่แล้วนี้จริง จุดต่างที่เห็นได้ชัดคือหากนำ Wacom แบบ 256 ระดับ มาเทียบกับ Surface Pen 256 ระดับเช่นกัน Surface Pen จะได้เปรียบขึ้นมาทันทีครับ
ผมขอฝังวิดีโอนั้นลงไปท้ายข่าวด้วยนะครับ น่าสนใจมากทีเดียว
ตอนเห็นภาพนี้ทีแรกผมก็ว่ามันมีอะไรผิดไป แต่นึกยังไงก็นึกไม่ออก หลังจากไปนั่งคิดนอนคิดมาหลายตลบ ตอนนี้นึกออกแล้วครับ
กราฟในแนวตั้งจะไม่ใช่ขนาดหัวแปรงครับ แต่เป็นอย่างอื่น โดย default จริงๆ เลยที่แรงกดเท่าๆ กัน Wacom กับ N-trig อาจจะตั้งให้แรงกดเท่าๆ กันมีขนาดหัวแปรงเท่าๆ กันก็เป็นได้ (จริงๆ ก็ควรจะเป็นแบบนั้น) เพียงแต่ช่วงที่เส้นยังเล็กๆ อยู่ ของ N-trig จะเพิ่มทีละเยอะกว่านิดนึง
เรื่องภาพการใช้งานจริง อันนี้คงต้องรอของจริงอย่างเดียวครับ ผมเข้าใจแต่ส่วนการทำงานของปากกาจริงๆ ตอนนี้ เรื่องเส้นจะออกมาเป็นยังไงนี่ตอบไม่ได้ (แต่ก็ยังเชื่อว่าตั้งค่าดีๆ แล้วจะออกมาไม่ต่างกันมาก)
ขอบคุณครับ เป็นบทความที่ดีครับ
ส่วนเรื่องการวัดแรงกดนี้ผมเรียกว่า Microsoft แถครับ อุปกรณ์ยิ่งวัดแรงกดได้ละเอียดเท่าไหร่ก็ต้องดีกว่าที่วัดได้ละเอียดน้อยอยู่แล้ว ส่วนการส่งข้อมูล 10 บิต กับ 8 บิตนี้ผมว่าความแตกต่างไม่น่าจะมากจนเห็นได้ชัดครับ
การวัดได้ละเอียดเท่าไหร่ ก็ย่อมดีกว่าอยู่แล้วครับ
แต่กรณีนี้เค้าอธิบายแนวคิดว่า จะวัดให้ละเอียดบางช่วงไปทำไม ในเมื่อ input นั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้
เค้าจึงตัดออก
ถ้าคนซื้อคิดว่า ตัวเองสามารถสร้างแรงกดในระดับที่ละเอียดขนาดนั้นได้ อุปกรณ์นี้ก็ไม่เหมาะครับ
แต่ถ้าคิดว่า เราเองไม่สามารถสร้างแรงกดแบบนั้นได้ตาม MS ว่า ก็ถือว่า อุปกรณ์นี้ก็สามารถใช้งานได้ครับ
เค้าพยายามอธิบายว่า Surface Pen มันคืออุปกรณ์รับ Input ครับ ไม่ใช่อุปกรณ์วัด Input วิธีคิดในการออกแบบมันจึงต่างไปจากเดิม
ใช่ครับ ตามนี้เลย อุปกรณ์นี้ออกแบบมากลางๆ ไม่เน้นหนักทางด้านใดด้านหนึ่งตั้งแต่ต้นเพื่อกวาดตลาด จะแท็บเล็ตเต็มที่ก็ไม่ใช่ แล็ปท็อปก็ไม่เชิง หากเป็นคนทำงานเฉพาะอย่างการวาดภาพก็ควรหาอุปกรณ์เฉพาะให้เข้ากับงานจะเหมาะสมกว่าครับ
ส่วนเรื่องวัดระดับแรงกดนั้นผมอธิบายไปพอสมควรแล้วครับ แต่ก็ขอเสริมเรื่องจำนวนข้อมูลอีกนิด ข้อมูล 8 บิตนั้นไม่ใช่ได้เปรียบเพียงแค่มันน้อยกว่า 10 บิตอยู่ 20 % ครับ แต่มันยังพอดีกับ 1 ไบต์อีกด้วย ผมเข้าใจว่าทำให้การประมวลผลต่างๆ ทำได้เร็วขึ้นเป็นเท่าตัวเมื่อเทียบกับ 10 บิตที่ต้องใส่ในช่องข้อมูล 2 ไบต์ และควรจะประหยัดพลังงานไปครึ่งหนึ่งด้วยสำหรับอุปกรณ์ความเร็วต่ำพลังงานต่ำมากอย่างนี้
มองดูก็เป็นการแถจริงครับ แต่เหตุผลสำหรับการแถนั้นผมว่าค่อนข้างยอมรับได้ทีเดียว (ไม่รู้ผมอวยจนหน้ามืดรึเปล่านะครับเลยยอมรับง๊าย ง่าย :D )
วัดได้ละเอียดย่อมดีกว่าครับ
แต่ส่งข้อมูลน้อยกว่าก็ตอบสนองไวกว่า
ตอบสนองไวกว่ามันก็ดีกว่าเหมือนกันครับ
อยู่ที่มุมมองและการใช้งานล่ะครับว่าเราสนใจอะไรมากกว่ากัน
ถ้า N-Trig ทำ 1024 ระดับแล้วปรับเป็น Curve มันจะยิ่งดีเข้าไปอีกเลยนะครับ
จับองศาเอียง..เหอะๆ วาคอมไม่ให้ใช้ครัช มีไปก็ไม่มีtiltอยู่ดี เพราะเฮ๊ยเค้าเก็บไว้ให้Cintiq
สรุปคือความได้เปรียบที่มีแต่ของวาคอมใช้ได้
intuos pro ก็มีวัดองศาครับ(รวมถึงพวก intuos รุ่นเก่าๆ)
ตามที่ข้างบนบอกละครับถึงมีก็ไม่ให้ใช้อยู่ดีกั๊กไว้ให้รุ่นสูงๆของตัวเองอย่างเดียว
ปากกาแบบใหม่นี่ถ้าใส่ gyroscope เข้าไปมันจะทำให้วัดองศาได้หรือไม่ครับ(แต่น่าจะส่งข้อมูลมากขึ้นเยอะ)
ผมเข้าใจว่าการวัดองศาของตัวปากกานั้นทำไม่ยากมากครับ แต่ที่จะยากคือการวัดองศาของปากกากับตัวหน้าจอให้แม่นยำแบบทันที เรื่องการใช้พลังงานคิดว่าอาจจะพอเป็นไปได้เพราะปกติปากกาแบบ active ก็มักจะมีเซ็นเซอร์รายงานการเคลื่อนไหวของตัวปากกาอยู่ภายในด้วยอยู่แล้ว
ผมเชื่อว่ามันต้องมีวิธีวัดที่ไม่ละเมิดของ Wacom ครับ เพียงแต่ยังหาวิธีดีๆ กันไม่ได้
"เนื่องจากปากกาแบบแม่เหล็กไฟฟ้าของ Wacom นั้นถูกรบกวนได้ง่ายมากโดยสิ่งแวดล้อมตามที่กล่าวไปก่อนหน้า จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ตัวปากกาแบบแม่เหล็กไฟฟ้าไม่สามารถทำตัวด้ามเป็นโลหะได้"
Wacom Intuos Creative Stylus ตัวด้ามเป็นโลหะนะครับ ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ขนาด AAAA 1.5V จำนวน 1 ก้อน
ด้านหัว
http://solidsmack.com/wp-content/uploads/2013/10/unScrewed.jpg
ด้านท้าย
http://the-gadgeteer.com/wp-content/uploads/2013/11/wacom-intuos-creative-7.jpg
โลหะทั้งด้ามใส่แบตเตอรี่เข้าไปแล้วทำให้ตัวด้ามปากกามีน้ำหนักที่ดีขึ้นในการจับ
ตัวนี้เป็นปากกาแบบ active ของ Wacom ครับ เจ้านี้ทำปากกาออกมาเกือบทุกรูปแบบ (ในแบบ passive นั้นผมก็ยกตัวอย่างและภาพของ Wacom Bamboo ด้วย เรียกว่าทั้งสามแบบนี้ผมอ้างถึง Wacom ครบเลย) แต่ในความหมายนั้นผมสื่อถึงปากกาแบบแม่เหล็กไฟฟ้าของ Wacom ที่มาพร้อมกับ Surface Pro, Pro 2
ที่ผมต้องอ้างอิงว่า "ของ Wacom" เนื่องจากเทคโนโลยีที่ใช้การสั่นพ้องของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากับปากกาไร้สาย, ไร้แบตเตอรี, วัดแรงกดได้ตัวนี้ เป็นสิทธิบัตรของทาง Wacom ครับ
ว่าแต่ปากกาตัวเก่า (ของ Wacom) ใช่กับ Surface Pro 3 ได้หรือป่าวครับ? ถ้าได้ก็ซื้อเพิ่ม
ไม่ได้ครับ เพราะไม่มีแผงสัญญาณนี้ ซึ่งการที่ Surface Pro 3 สามารถทำให้เครื่องบางและเบาขนาดนี้ได้ส่วนนึงเพราะตัดเจ้าแผงที่ว่านี้ออกไปครับ
ผมว่า ความรู้สึกของเจ้า N-Trig เทียบกับ Wacom คงคล้ายกับ หน้าจอที่มีความหนาแน่น 326 PPI กับ 441 PPI บนจอมือถือมั้งครับ
คือคนทั่ว ๆ ไปใช้แล้วไม่รู้สึกต่าง แต่คนที่เชี่ยวชาญหรือความสามารถสูงหน่อยจะเห็น
ว่าแล้วพาให้คิดถึง โลโก้ Google มันต่างนะ แต่มองเผิน ๆ แล้วไม่รู้เลยว่ามันต่าง
ผมมองต่างออกไปครับ หน้าจอความหนาแน่นต่างกันนี่มันจะมีฝั่งนึงที่มีข้อดีเต็มไปหมดแบบที่อีกฝั่งแย้งเกือบไม่ได้ (อาจจะแย้งได้แค่ว่าใช้พลังประมวลผลน้อยกว่า) ขณะที่ Surface Pro Pen V.S. Surface Pen นี่ข้อดีข้อด้อยต่างกันไป
เขียนบทความชุดนี้เสร็จนี่สำหรับผมเอง Surface Pen เหลือข้อเสียแค่ว่าต้องใส่ถ่านเลยครับ เพราะเรื่องจับมุมนี่ผมคงไม่แคร์แล้ว ส่วนเรื่องแรงกดนี่ก็ปรับแต่งจนความต่างไม่ได้ต่างกันอย่างที่คิดแล้ว
ก็จริงแหะ จอละเอียดขึ้นมันก็มีแต่ดีกับดี จะแย่กว่าก็ตรงพลังงานกับราคา แต่ไม่ค่อยใช่ประเด็นเท่าไหร่
แต่ดูจากที่่เขียนมา ผมยากได้สุด ๆ เหมือนกันนะครับ เพราะผมต้องการ tablet ที่เอาไว้จดบันทึก หรือไม่ก็ร่าง layout ของ UI คร่าว ๆ
ขอแค่น้ำหนักปากกามันหนักเหมือนปากกาจริง ๆ ก็พอครับ
พอจะหาข้อมูลได้มั้ยอะครับว่าถ่านนี่อยู่ได้นานแค่ไหน
ถ้า 2 - 3 เดือนผมก็ว่าช่างมันแล้วล่ะครับ
เม้าส์ bluetooth ผมทุกวันนี้ก็ประมาณนั้น เคยซื้อถ่ายไว้ 4 ก้อน กะว่าหมดจะได้ไม่ต้องเดินไปซื้อใหม่อีกรอบ สุดท้ายพอหมดซื้อใหม่อยู่ดี อีก 2 ก้อนที่เก็บไว้หาไม่เจอ จำไม่ได้ว่าเก็บไว้ที่ไหน
รายละเอียดเรื่องระยะเวลาแบตฯ ผมเพิ่มไว้ที่ [อัพเดต 4] แล้วครับ แต่เป็นแค่ผลที่ผมประเมินเอาเองอิงจาก N-trig ของเจ้าอื่นนะครับ
ครึ่งปีผมว่ายอมรับได้นะครับ ว่าแต่ว่ามันมีสวิตซ์ให้ปิดเวลาไม่ใช้หรือเปล่าครับ?
ไม่มีสวิตช์ครับ เปิดตลอดเวลา
อันนี้ผมว่าต้องลองของจริงก่อนถึงจะบอกได้ครับว่าแบบไหนดีกว่ากัน
ถ้าเอาเฉพาะข้อมูลในตอนนี้ดูเหมือน N-trig จะเหมาะกับงานเขียน ส่วน Wacom เหมาะกับงานวาด
ในวงการงานวาด brush ที่ใช้มันไม่ได้มีแค่เส้นปากกาอย่างเดียวสักหน่อย แต่ยังมีอีกหลาย brush เช่นแบบหัวฟุ้ง แบบแปรง สีพาสเทล มาร์กเกอร์(โคปิค) ฯลฯ คงต้องสัมผัสได้ถึงความแตกต่างระหว่าง 1024 ระดับ กับ 256 ระดับเวลาใช้งานอย่างแน่นอน แต่ก็อย่างที่เมนท์ก่อนๆ ว่าไว้ก็คือต้องใช้เองเท่านั้นถึงจะรู้ได้ว่ามันต่างยังไง
ผมก็แจ้งไว้แล้วนะครับว่ามันไม่เหมาะกับงานวาดเขียน และคนทั่วไปคงไม่สามารถควบคุมแรงกดในช่วง 10-20 กรัมได้ถึง 20 ระดับครับ
ซื้อ
ไล่ตอบทุกเม้นเลย ได้ค่าสปอนเซอร์เท่าไหร่ครับ 555
ปล. กำตังรอแล้ว
เกือบทุกข่าว/บทความที่ผมเขียนผมก็ตอบรัวแบบนี้ล่ะครับ ผมไม่ค่อยได้เขียนข่าวเท่าไหร่ภาระผูกพันเลยไม่เยอะ นี่ก็กำลังรอ Microsoft กับ N-trig ติดต่อมาจ่ายค่าสปอนเซอร์ครับ #อด
คอมเมนต์แรกนี่ทีแรกผมข้าม กะว่ารอบนี้จะตอบน้อยๆ หน่อย จนกระทั่งมาโดนทักนี่ถึงรู้ตัวว่าพลาดกลับอาการเดิมไปแล้ว (T_T) ไหนๆ ก็ไหนๆ กลับโหมดเดิมเลยแล้วกัน :p
ตกลงซื้อหรือยังครับ แอบอยากรู้ว่าเจ๋งแค่ไหน
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
โดนคำถามนี้ เหมือนโดนตุ๊ยท้องแล้วทุบหัวซ้ำเลยครับ (ล้อเล่นนะครับ 555)
ยังไม่ได้ซื้อครับ เหตุผลหลายอย่างมารวมๆ กันช่วงนั้นพอดี
จากข้อสุดท้ายนั่นผมเลยลองไปควาญหา tablet ขนาดเล็ก (จอเล็กกว่า 10 นิ้ว) ที่ใช้ N-trig แต่หาไม่เจอเลยครับ คือติดใจปากกาเจ้านี้เข้าเสียแล้ว ในหน้าเว็บ N-trig มีภาพแท็บเล็ตขนาดพอดีมืออยู่แต่หาข้อมูลยังไงก็หาไม่เจอว่ามันคืออะไร (T^T)
แต่ด้วยความอยากก็ทำให้ไปยืนเล่น Surface Pen มาหลายรอบพอสมควรนะครับ ความแม่นนี่ถือว่าดีมากๆ เลย เขียนแบบมองหัวปากกาแบบใช้ปากกาจริง ไม่ต้องมองเคอร์เซอร์แบบ Wacom แล้ว การตอบสนองค่อนข้างดี แต่ถ้าจับโคนปากกาแล้วลากเบาๆ (คล้ายๆ จับให้หัวห้อยมาแตะจอเฉยๆ) อันนี้เขียนไม่ติดนะครับ เอาจริงๆ ปากกาลูกลื่นจำนวนไม่น้อยก็ไม่ติดเหมือนกัน (ต้องเป็นดินสอหรือปากกาหมึกซึมถึงจะเขียนติดแม้ลากเบาขนาดนั้น)
โดยรวมประทับใจเลยล่ะครับ ยังหวังกับ Surface ที่ใช้ Broadwell อยู่ครับ
ขออภัยที่แทงใจดำขนาดนั้นนะครับ แล้วผมจะกลับมาถามทุกเดือนนะครับ #ห๊ะจงใจแทงใจดำกันชัดๆ
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
/me ทำหน้าแบบรูปประจำตัวลุง papasek