จากข่าวลือเรื่องการบีบให้ค่ายเพลงยกเลิกสัญญากับคู่แข่ง ในขณะนี้ Eric T. Schneiderman อัยการรัฐนิวยอร์ก และ George Jepsen อัยการรัฐคอนเนตทิคัต กำลังตรวจสอบข้อตกลงการเจรจาทางการค้าระหว่างแอปเปิลกับค่ายเพลงว่าเข้าข่ายร่วมกันผูกขาดทางการค้าหรือไม่ ก่อนการเปิดให้ใช้บริการในสิ้นเดือนนี้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภค
การตรวจสอบอยู่บนข้อสังเกตทั้งในกรณีที่แอปเปิลบีบให้ค่ายเพลงออกจากบริการคู่แข่ง และค่ายเพลงเองจะถอนตัวออกจากบริการฟรีเมียม อย่าง Spotify มาให้บริการแบบบอกรับสมาชิก Apple Music ในอนาคต เนื่องจากบริการ Apple Music ไม่มีการให้บริการฟรี มีเพียงข้อเสนอให้ทดลองใช้ 3 เดือนแรก การใช้งานหลังจากนั้นต้องจ่ายเงิน ทางคณะกรรมาธิการยุโรปเองก็กำลังตรวจสอบในกรณีนี้เช่นกัน
Universal Music Group เป็นบริษัทแรกที่เรียกร้องให้มีการตรวจสอบแอปเปิลและค่ายเพลงอย่าง Sony Music Entertainment และ Warner Music Group ในกรณีที่อาจกีดกันการให้บริการฟรี หรือบริการฟรีที่มีการโฆษณาสนับสนุน เนื่องจากทางบริษัทมีจุดยืนสนับสนุนให้มีการแข่งขันในธุรกิจการสตรีมมิงเพลงเพื่อผลประโยชน์ร่วมของผู้บริโภค ศิลปิน และผู้ให้บริการควบคู่กันไป
อย่างไรก็ตามการบริการฟรีเมียมของ Spotify เคยมีประเด็นทั้งในเรื่องการไม่ทำเงินให้กับศิลปินและค่ายเพลงมากเท่าที่ควร และทำให้ผู้บริโภคไม่มีแรงจูงใจที่จะซื้อเพลง แต่ก็พอมีศิลปินและค่ายเพลงอิสระที่สนับสนุนบริการลักษณะฟรีเมียมอยู่ และหัวหน้าผู้บริหารของหนึ่งในค่ายเพลงในเครือ Warner Music Group เคยออกมาให้ความเห็นว่าควรเข้าใจถึงการบริการฟรีเมียมก่อนจะยุติการสนับสนุนบริการลักษณะนี้ ในปีล่าสุด Spotify มีสมาชิกกว่า 60 ล้านคน มี 15 ล้านคนที่ใช้บริการแบบจ่ายเงิน มีรายได้ 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดย 91% ของรายได้มาจากบริการแบบบอกรับสมาชิก แต่ยังขาดทุนอยู่ 197 ล้านเหรียญสหรัฐ
หากยังจำกันได้ว่าแอปเปิลเคยถูกสั่งปรับในข้อหาโก่งราคา e-book นี่เป็นครั้งที่ 2 ที่อัยการรัฐทั้งสองคนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบกรณีการผูกขาดทางการค้าที่แอปเปิลมีส่วนเกี่ยวข้อง และในตอนนี้ยังไม่มีความเห็นใดๆ จากแอปเปิล
ที่มา – The New York Times
Comments
เฮ่อ... ได้แต่ทอดถอนใจ
ไม่น้า
สู้ๆนะ Apple ถ้าไม่ได้ทำผิดก็ไม่ต้องกลัวอะไร
Oh..wait...
แต่ปกติ ทำจริงนี่สิ ^___^
ภาคการตรวจสอบเขาเข้มแข็งดีอยากให้เราเป็นแบบนี้บ้าง
เหอะๆ ทุนนิยมสามานนนนน
ลักษณะฟรีเมียม นี่คือยังไงอะครับ หรือว่าพิมพ์ผิดหรือเปล่า (พรีเมียม ?)
ตามที่ผมเข้าใจเป็นการใช้บริการฟรีแบบมีเงื่อนไขครับ
Freemium เป็นแนวคิดให้ใช้ฟรี ค่อยไปเก็บทีหลัง ที่เห็นตัวอย่างกันก็ evernote ไม่ก็พวก cloud ตอนแรกใช้ฟรี พอใช้ๆ ไปเราเก็บข้อมูลไว้เยอะ เริ่มจำเป็นต่อชีวิตก็ต้องจ่ายตังเพื่อเพิ่มขนาดข้อมูล
อยากให้เวลาจะทับศัพท์คำใหม่ๆ จากภาษาอื่น ช่วยใส่คำต้นฉบับไว้ในวงเล็บ เอาไว้ใน “ครั้งแรก” ของการใช้ในหน้านั้นด้วยครับ การทำอย่างนั้นจะมีประโยชน์มากทั้งเรื่องคนอ่านไปหาความหมายต่อเองได้ และในเชิง seo เป็นการสอน google ให้รู้จักความเกี่ยวโยงของศัพท์ไปด้วยในตัว ที่ incquity.com ใช้วิธีนี้หากในบทความมีศัพท์ใหม่ๆ เสมอครับ เว็บ blognone เองก็มีมาตรฐานที่ดีในการแปลและทับศัพท์มาเป็นทุนอยู่แล้ว อย่างนี้ก็น่าจะยิ่งดีขึ้นอีกนะครับ