Node Thumbnail

ในงานแถลงข่าว Microsoft Dynamics ที่ประเทศสิงคโปร์ ไฮไลท์สำคัญอยู่ที่ไมโครซอฟท์เชิญตัวแทนจากทีมรถแข่ง Lotus F1 (ที่ไมโครซอฟท์เป็นพันธมิตรและสปอนเซอร์) มาเล่าเบื้องหลังระบบไอทีที่ทีม F1 ใช้กัน ซึ่งเป็นของแปลกที่หาฟังได้ยากครับ

งานนี้เราได้คุณ Thomas Mayer ซึ่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (COO) ของทีม Lotus F1 (ชื่อเดิมคือ Benetton และ Renault) มาเล่ากระบวนการทำงานของทีม F1 ให้ฟังกันว่าเขาทำงานกันอย่างไร

alt="Formula One World Championship"

คุณ Thomas Mayer, COO ของทีม Lotus F1 (คนขวามือในภาพ) เริ่มต้นด้วยการเล่าว่าในมุมมองของคนทั่วไป ทีมรถแข่ง F1 เน้นไปที่ประสิทธิภาพของรถยนต์ และความสามารถของนักแข่งรถเป็นหลัก แต่จริงๆ แล้วทีม F1 ถือเป็นองค์กรที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยี (ไม่ใช่เฉพาะไอที) สูงมาก ทั้งทีมมีคนทำงานมากกว่า 500 คน มากกว่าที่เราเห็นเวลาแข่งรถเยอะเลย

alt="Microsoft Dynamics Singapore"

คุณ Mayer บอกว่ารูปแบบการทำงานของทีม F1 (ซึ่งมีสถานะเป็นนิติบุคคล) จะคล้ายกับบริษัทในอุตสาหกรรมการบิน (aerospace) หรืออุตสาหกรรมอาวุธ (defense) ตรงที่ต้องใช้เทคโนโลยีไฮเทค ใช้เทคโนโลยีด้านวัสดุศาสตร์ และต้องมีกระบวนการผลิต (manufacturing) ที่ทันสมัยเป็นอย่างมาก เพราะวัสดุต่างๆ ที่ใช้ในรถแข่ง F1 ต้องน้ำหนักเบา มีความทนทานสูง ความแตกต่างของส่วนประกอบรถยนต์ย่อมมีผลต่ออันดับการแข่งขัน ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดขององค์กร

ทีม F1 จึงถือเป็นองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์ (material science) สูงมากแห่งหนึ่งของโลก และโค้ดของซอฟต์แวร์ที่ใช้ภายในก็สามารถแชร์ร่วมกับบริษัทผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของโลกได้ เพราะรูปแบบการทำงานคล้ายคลึงกัน

แต่จุดที่ทีม F1 ต่างจากอุตสาหกรรมการบินหรืออาวุธ คือความเร็วในการทำงาน (agility) เพราะรถแข่ง F1 แข่งกันบ่อยทุก 1-2 สัปดาห์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งฝั่งของฮาร์ดแวร์รถยนต์ และซอฟต์แวร์ที่ใช้ควบคุม จึงมีรอบการพัฒนาที่เร็วกว่ากันมากๆ เพราะชิ้นส่วนหรือซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการแข่งสนามนี้ อาจไม่เหมาะสำหรับการใช้งานในสนามถัดไป ตรงนี้ถือเป็นข้อจำกัดของทีม F1 ที่บริษัทผลิตเครื่องบินหรืออาวุธไม่ต้องเจอ

alt="Formula One World Championship"

กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของทีม F1 ไม่ต่างอะไรกับบริษัทไฮเทคทั่วไป คือต้องมีฝ่ายวิจัย (R&D) ฝ่ายผลิต (production) และต้องมีระบบการดูแลหลังขาย (after sales service) แบบเดียวกับบริษัทไอที เพียงแต่ลูกค้าคือทีมแข่งขัน ซึ่งถือเป็นอีกส่วนงานในองค์กรเดียวกัน

ทางทีม Lotus F1 ที่คุณ Mayer ดูแลอยู่ มีรอบการพัฒนาต้นแบบ (prototyping) ผลิตภัณฑ์ทุก 2 สัปดาห์ เทคนิคสมัยใหม่อย่างการขึ้นรูปด้วย 3d printer จึงเข้ามาช่วยในการสร้างต้นแบบได้ดีมาก ทางทีมต้องออกแบบชิ้นส่วนใหม่ปีละ 50-100 ครั้ง คุณ Mayer บอกว่าการใช้ไอทีช่วยลดเวลาการทำงานลงได้มาก จากเดิมกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ 1 รอบ (นับตั้งแต่ออกแบบ ทดสอบ deploy) อาจใช้เวลานาน 4 สัปดาห์ ก็สามารถลดลงเหลือ 1 สัปดาห์ได้ ตรงนี้ทีมไหนที่มีระบบไอทีดีกว่า ทำงานเร็วกว่า ก็จะได้เปรียบคู่แข่งมากกว่า

การวิจัยรถแข่งในปัจจุบันนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยมากมาย รถแข่ง F1 หนึ่งคันมีเซ็นเซอร์มากกว่า 2,000 จุด (ส่วนใหญ่อยู่ในเครื่องยนต์) ตัวเลขทุกอย่างต้องตรวจวัดตลอดเวลา เช่น การวัดอุณหภูมิของพื้นสนามเพื่อเปลี่ยนยางให้เหมาะสม

เมื่อทางทีมต้องรองรับปริมาณข้อมูลจำนวนมหาศาลจากเซ็นเซอร์เหล่านี้ ย่อมไม่มีทางที่มนุษย์ธรรมดาจะวิเคราะห์ข้อมูลได้ทัน ทางออกคือใช้คอมพิวเตอร์เข้าช่วย ตอนนี้ทางทีมเริ่มใช้เทคนิค machine learning เข้ามาช่วยวิเคราะห์แล้ว

alt="Formula One World Championship"

คุณ Mayer เล่าว่าในธุรกิจที่แข่งขันสูงแบบ F1 จะมีมุมมองที่ไม่เน้นการประหยัดเงินค่าพัฒนาระบบ เพราะเป้าหมายคือแข่งขันให้ชนะ แต่จะมีมุมมองว่าลงทุนไปแล้วต้องได้ผลลัพธ์กลับมาคุ้มค่าที่สุด ดังนั้นในทีมซอฟต์แวร์ของ Lotus F1 จะมีตัวชี้วัดของการพัฒนาโค้ดเป็น "ระยะเวลาต่อรอบ" (lapse time) ว่าถ้าลงทุนพัฒนาซอฟต์แวร์ส่วนนี้เพิ่มเข้ามา ในภาพรวมแล้วจะสามารถลด lapse time ของการแข่งขันลงได้กี่วินาที

สุดท้าย คุณ Mayer บอกว่าการนำระบบไอทีเข้ามาใช้งานยังช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น เดิมทีทางทีมของเขาต้องแบกตู้แร็คเซิร์ฟเวอร์ไปตามสนามแข่งขันต่างๆ ทั่วโลก แต่ช่วงหลังเขาสามารถรันงานบนคลาวด์ได้โดยตรง โดยเลือก provisioning ตัวโค้ดที่อยู่บนคลาวด์ไปไว้ที่ data center ที่ใกล้สนามแข่งมากที่สุดเพื่อลด latency

อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่าการทำแบบนี้ได้ ทางสนามแข่งต้องมีอินเทอร์เน็ตให้ใช้งานมากกว่า 1 สายเพื่อทำ redundancy เผื่อว่าเน็ตมีปัญหาระหว่างการแข่งขัน จะได้ยังต่อเชื่อมระบบได้ตลอด ซึ่งตอนนี้สนามแข่งส่วนใหญ่ยังมีเน็ตแค่ 1 สายเท่านั้น ทำให้หลายกรณียังต้องใช้วิธีแบกตู้แร็คไปเหมือนเดิม

alt="Formula One World Championship"

ผมมีโอกาสเข้าไปดูในสนามแข่ง F1 ที่สิงคโปร์ด้วย พบว่าตรงข้างๆ ทีมมอนิเตอร์ที่นั่งอยู่ติดขอบสนาม มีตู้แร็คขนาดเล็กวางอยู่จริงๆ ครับ (หลุดกรอบในภาพออกไปนิดหน่อย) ส่วนใน pit หรืออู่ที่อยู่ด้านข้างสนาม ก็นำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยมากมายครับ (เผอิญว่าเขาไม่พาเข้าด้านในสุด เลยได้ดูแต่แบบไกลๆ)

หมายเหตุ: ทีม Lotus F1 ใช้ระบบ Dynamics ERP ของไมโครซอฟท์ และเป็นพาร์ทเนอร์กันหลายเรื่อง ดังจะเห็นว่าไมโครซอฟท์มีโฆษณา Xbox บนตัวถังรถ และดึงนักแข่งทีม F1 ไปเป็นพรีเซนเตอร์เกม Forza 6 ด้วย

alt="Formula One World Championship"

Get latest news from Blognone

Comments

By: sukoom2001
ContributorAndroidUbuntu
on 21 September 2015 - 17:32 #844968
sukoom2001's picture

ในมือคนรูปล่างสุด นี่มัน joypad xbox? ใหญ่มาก

By: art_duron
AndroidWindows
on 21 September 2015 - 18:43 #844989 Reply to:844968
art_duron's picture

มันคงเป็นพวงมาลัยรถ F1 แหละครับ

By: mk
FounderAndroid
on 21 September 2015 - 21:50 #845041 Reply to:844968
mk's picture

พวงมาลัยรถครับ หน้าตาแบบนี้จริงๆ

By: nessuchan
iPhoneAndroidWindows
on 21 September 2015 - 17:34 #844970
nessuchan's picture

อ่าห์ อ่านข่าวนี้แล้วฟิน มีทั้งเรื่องรถ มีทั้งเรื่องคอมพิวเตอร์

ถ้ามีพริตตี้ด้วยนะ จะเพอเฟกเลย ครม รถ คอม ผู้หญิง 555

By: hisoft
ContributorWindows PhoneWindows
on 21 September 2015 - 23:05 #845054 Reply to:844970
hisoft's picture

ไหนคณะรัฐมนตรีอ่ะครับ

By: coolmilk
ContributorAndroidWindows
on 21 September 2015 - 17:50 #844977

ขอบคุณครับ ชอบบทความนี้มากเลย

By: virgosaka
Android
on 21 September 2015 - 18:06 #844980
virgosaka's picture

สิ่งที่คาใจมาก ๆ คือ ช่างเครื่องของ F1 ที่เห็นทำงานใน Cockpit เนี่ย เค้าเก่งด้านเครื่องยนต์​มากกว่าช่างตามศูนย์​รถทั่วไปรึเปล่า?

By: Remma
AndroidWindows
on 21 September 2015 - 20:35 #845023 Reply to:844980
Remma's picture

จะเอาอะไรมาวัดว่าเก่งกว่าล่ะครับ? ถ้าให้ไปซ่อมเครื่องรถบ้านช่างศูนย์ก็คงชำนาญกว่าแน่นอนเพราะซ่อมมาเยอะ แต่ถ้าให้ไปซ่อมเครื่อง F1 ช่างศูนย์คงได้แต่นั่งมองล่ะครับ เพราะต่างคนต่างมีความชำนาญกันคนละอย่าง

แล้วก็ Cockpit นี่หมายถึงที่นั่งคนขับในรถแข่งหรือว่าเครื่องบินครับ ต้องเรียกว่า Pit ที่หมายถึงพื้นที่ทำงานของแต่ละทีมในสนามแข่งรถ

By: Aize
ContributorWindows PhoneAndroidWindows
on 21 September 2015 - 21:53 #845042 Reply to:844980
Aize's picture

เทียบกันไม่ได้ครับ ช่างศูนย์ทั่วไป อาจจะรวมถึงช่างที่เปิดร้านเอง = หมออายุรเวท ส่วน ช่างCockpit F1 = หมอเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ล่ะมั้งครับ


The Dream hacker..

By: awayg2
AndroidSUSEWindowsIn Love
on 21 September 2015 - 19:27 #845000
awayg2's picture

อยากให้f1มาแข่งสนามบุรีรัมย์

By: Jewzwei
iPhoneAndroidWindows
on 21 September 2015 - 20:47 #845024

เมืองไทยน่ามีแข่งบ้างนะครับ อยากทำทีม F1 ต้องใช้เงินเท่าไหร่กัน พันล้านน่าจะไม่พอใช่มะ

By: Architec
ContributorWindows PhoneAndroidWindows
on 21 September 2015 - 21:04 #845030 Reply to:845024

หลายพันล้านบาท และ FIA จำกัดงบประมาณสูงสุดทุกปีครับ (แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้แคร์ทีมเล็กๆเลยแม้แต่น้อย อ่านต่อได้ที่ วิเคราะห์งบประมาณทีมแข่ง F1 ทำไมทีมเล็กถึงไม่อาจอยู่รอด)

ทุกวันนี้ F1 จืดไปแล้ว เพราะยัดเทอร์โบเข้ามา แต่ตัดรอบเครื่องยนต์แสบแก้วหู 20,000 rpm เหลือ 15,000 rpm แล้วยังไม่พอ ตัดลูกสูบลงเหลือแค่ 6 .....

สำหรับแฟนๆ F1 ทุกวันนี้ไปดู Le Mans (FIA WEC) กันแล้ว ใช้งบไม่มาก บ้างก็ว่าได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมากกว่าใน F1 ด้วยซ้ำ

เกือบลืม ถ้ามาจัด F1 ที่ไทย ยังไงก็ไม่คุ้มครับ เฉพาะงบจัดรายการแข่งก็มหาศาลแล้ว

By: puka56k
AndroidBlackberry
on 21 September 2015 - 21:37 #845036 Reply to:845030

จริงนะ ใช้เครื่องเทอร์โบนี่เสียงดูไม่จืดจริงๆ ไปดู WEC ยังสนุกกว่า :v

By: Architec
ContributorWindows PhoneAndroidWindows
on 21 September 2015 - 23:09 #845058 Reply to:845036

ผมว่า LMP1 ที่ยัดระบบ Hybrid เข้ามาช่วงรอยต่อ F1 แบบ(เกือบ)พอดี๊พอดีทำให้ WEC บูมขึ้นมาเลย อีกอย่างคือทีมไหนอยากทำเครื่องยนต์อะไรก็ได้ คนที่เบื่อ f1 ก็หันมาดูกันเยอะเพราะเดี๋ยวนี้มันแทบจะ mainstream กันหมดแล้ว

By: art_duron
AndroidWindows
on 22 September 2015 - 08:32 #845112 Reply to:845058
art_duron's picture

F1 จะว่างไปตั้งแต่ยุค V6 Turbo​ มานี่ มันก็น่าจะถือเป็น Hybrid​ แล้วนะครับ แต่พลังไฟฟ้า​จะเอามาใช้ตอนกดปุ่มตามใจคนขับ

แต่ก็จริงแหละครับที่ f1 มันดูเหมือนๆ กันไปหมด
อาจต้องรอดูปี 2017 เห็นว่าจะมีการปรับกฎอีกมาก หน้าตารถก็จะเปลี่ยนไปด้วย

By: Digitech
Windows
on 21 September 2015 - 22:27 #845051 Reply to:845030

เครื่อง 1600 ซีซี แล้วยัดเทอร์โบเข้ามาช่วย สนามแรกๆที่ใช้เครื่องตัวนี้ เสียงจืดชืดมาก จนกระทั่งต้องประชุมกันให้ปรับเสียงเครื่องยนต์ให้ดังขึ้นอีก แต่ก็เทียบเครื่องตัวเก่าไม่ได้เลย

By: Hadakung
iPhoneWindows PhoneAndroidWindows
on 22 September 2015 - 10:01 #845144 Reply to:845051

ผมไม่ใช่คอ F1 สรุปที่ F1 มันเพราะเสียงหรอครับ (ถึงว่าพวกแรงแต่เสียงในถนนไทยมีเยอะจัง)

By: 255BB
Android
on 22 September 2015 - 10:49 #845176 Reply to:845144

มันเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งน่ะครับ ลองฟังในยูทูปก็ได้ ขนาดผมเริ่มดูยุคเครื่อง 3.0 L V10 ยังมีคนบอกเสียงสู้ยุค V12 ไมได้
ส่วนตัวชอบยุค 2.4L V8 นะ ขนาดกำลังดี เสียงก็เร้าใจ เคยไปดูที่เซปังครั้งนึง วิ่งทางตรงเสียงดังมากๆ ถ้าไม่มีที่อุดหู หูหนวกแน่

By: Digitech
Windows
on 22 September 2015 - 12:48 #845215 Reply to:845176

ใช่เลยครับเครื่องตัวนี้กำลังดี 2.4 นี่แหละ

By: puka56k
AndroidBlackberry
on 21 September 2015 - 21:37 #845035 Reply to:845024

เอาแค่จะจัดยังยากเลยครับ
ถึงที่บุรีรัมย์จะรองรับ แต่ก็ยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องทำเพิ่มเช่นระบบ Logistic เป็นต้น เพราะจำไม่ผิดส่งทางเครื่องบินทั้งนั้น ซึ่งสนามบินที่บุรีรัมย์ไม่รองรับแน่นอน แถมเฮียเนวินเคยเกริ่นไว้ว่าถ้าภาครัฐไม่เอาด้วยคงยากหละ จัดพวกเข้าถึงง่ายๆพวก Super GT WTCC ALMS WSBK หรืออนาคตอย่าง MotoGP จะคุ้มกวาหนะครับ

By: 255BB
Android
on 22 September 2015 - 10:46 #845171 Reply to:845024

ลงทุนสูงมากครับ หลายพันล้านอาจจะเกือบหมื่นล้านด้วยซ้ำ ถ้าบางปียอดคนดูน้อย กำไรน้อยอาจถูกตัดจากปฏิทินแข่งก็ได้ ขนาดสนามประวัติศาสตร์ยาวนานอย่างมอนซ่า (อิตาลี)ยังมีข่าวจะถูกตัดเลย บางครั้งหลายสนามในยุโรปก็ได้จัดปีเว้นปี

By: 255BB
Android
on 21 September 2015 - 20:59 #845028

ปีนี้เอาใจช่วย McLaren honda แต่ผลงานย่ำแย่เหลือเกิน ที่สิงคโปร์ก็แข่งไม่จบทั้งคู่ รถมีปัญหา

By: Pinery
ContributoriPhoneAndroidIn Love
on 22 September 2015 - 15:33 #845281

เคยดูสารคดีสั้นๆ เรื่องนี้เหมือนกัน ทีมงานเยอะมากๆ จอคอมเยอะมากๆ

หยั่งกะห้องควบคุมยานอวกาศนาซ่า 555