ปี 2016 ถือเป็นปีทองแห่งเทคโนโลยี VR (Virtual Reality) อย่างแท้จริง เราเห็นบริษัทด้านไอทีหลายรายหันมาทำแว่น VR ออกสู่ตลาดกันมากมาย ซึ่งมีทั้งแว่นระดับสูงสำหรับมืออาชีพ ไปจนถึงแว่นแบบ Cardboard ที่ราคาถูกมาก
คนที่ไม่ได้อยู่ในวงการ VR อาจสงสัยว่าตกลงแล้วแว่น VR มีทั้งหมดกี่แบบ แต่ละแบบมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันอย่างไร บทความนี้เราแยกแยะรูปแบบของแว่น VR เป็น 3 กลุ่ม เพื่อให้ง่ายต่อการแยกแยะ
แว่น VR รุ่นท็อปสุด เน้นตลาดเกมเมอร์สายแข็งที่ต้องการสเปกดีที่สุด กราฟิกอลังการที่สุด แว่นประเภทนี้มักต้องใช้กับเครื่องพีซีสเปกแรง หรือเครื่องเล่นเกมคอนโซลอย่าง PS4
ตัวอย่างแว่น VR ในกลุ่มนี้ ที่โด่งดังที่สุดคือ Oculus Rift ตามด้วย HTC Vive และ PlayStation VR
จุดเด่นของแว่น VR ระดับท็อปคือสมรรถนะด้านกราฟิกที่ดีที่สุดในปัจจุบัน ส่วนข้อเสียคือราคาแพง ต้องใช้พีซีสเปกแรง และแว่นเกือบทั้งหมดต้องเสียบสาย มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวขณะสวมใส่
แว่น VR กลุ่มนี้ริเริ่มโดยกูเกิล ภายใต้โครงการ Google Cardboard แต่ภายหลังก็มีคนทำแว่นลักษณะนี้ออกมาขายเป็นจำนวนมาก รูปแบบการใช้งานแว่นแบบ Cardboard ต้องใช้หน้าจอของโทรศัพท์มือถือ ที่ติดตั้งแอพ Google Cardboard จาก Play Store จากนั้นนำมาครอบศีรษะด้วย “กระดาษแข็ง” ที่ตัดแล้วพับเป็นแว่น โดยมีเลนส์ช่วยปรับภาพให้โค้งตามสายตา
จุดเด่นของแว่นแบบ Cardboard คือราคาที่ถูกมาก สั่งซื้อออนไลน์ได้ไม่แพง หรือถ้ามีอุปกรณ์ครบจะทำเองก็ยังได้ อีกทั้งคล่องตัว ใช้งานได้แบบไม่ต้องเสียบสายใดๆ ส่วนข้อเสียคือคุณภาพของวัสดุ (โดยเฉพาะเลนส์) ย่อมมีผลต่อประสบการณ์การใช้งาน อีกทั้งแอพส่วนใหญ่ยังเป็นแอพแบบง่ายๆ ไม่ใช่เกมหรือเนื้อหาคุณภาพสูงที่พัฒนามาสำหรับ VR โดยเฉพาะ
Samsung Gear VR เป็นแว่นที่รวบรวมข้อดีจากแว่นทั้งสองแบบเข้าด้วยกัน โดยหลักการแล้ว Gear VR ใช้หน้าจอของโทรศัพท์มือถือแบบเดียวกับ Cardboard แต่ปรับปรุงคุณภาพให้ดีกว่ากันมาก ทั้งคุณภาพของตัวเลนส์ (มุมมอง 96 องศา) คุณภาพของวัสดุที่ใช้ทำตัวแว่น (ส่งผลให้น้ำหนักเบาเพียง 318 กรัม) และคุณภาพของหน้าจอ Samsung Galaxy (S6/Note 5/S7) ช่วยให้ประสบการณ์ใช้งานโดยรวมดีกว่าแว่น Cardboard อย่างมาก สวมใส่ได้ยาวนาน ตัวแว่นออกแบบให้กระจายน้ำหนักอย่างสม่ำเสมอ
Gear VR รุ่นล่าสุดยังมีปุ่มทัชแพดที่ตัวแว่น ช่วยให้สั่งงานจากตัวแว่นได้โดยตรง อีกทั้งมีพัดลมระบายความร้อนในตัว เช่นลดปัญหาการเกิดฝ้าบนเลนส์ด้วย
ในฝั่งของเนื้อหา ซัมซุงยังจับมือกับ Oculus ผู้พัฒนาแว่น VR ที่ถูกจับตามองมากที่สุดในขณะนี้ ส่งผลให้เนื้อหา VR ของ Oculus Store สามารถใช้กับ Gear VR ได้เลย
กล่าวโดยสรุป Samsung Gear VR จึงเป็นแว่น VR ที่ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นหน้าจอ มีความคล่องตัวระหว่างการสวมใส่ แต่มีคุณภาพสูงกว่า Cardboard มาก และมีเนื้อหา VR ลักษณะเดียวกับ Oculus ในราคาที่ถูกกว่า Oculus Rift ตัวเต็มมาก (99 ดอลลาร์กับ 599 ดอลลาร์)
Comments
Samsung Gear VR นี่ดูหนัง แบบ 360 ได้รึเปล่า
ได้ครับ // เว็บ HS แรกที่ผมอ่าน
ลองแล้วได้ครับ แต่เซงที่ดู youtube vr ไม่ได้ เพราะติด oculus home
ดูได้ครับ ผ่าน Samsung Internet App
ในนั้นจะมี youtube ให้เล่น
แต่ Samsung Gear VR จะต้องมีโทรศัพท์ ราคา 20k ซึ่งก็ยังถูกกว่าอยู่ดี
Oculus ก็ต้องมีคอมสเปกแรงที่ราคาทะลุ 20k ไปอีกไกลนะครับ......
ถึงจะเป็น Ad แต่บทความนี้อธิบายได้ดีนะ :)
ก็คืออยากได้ "คุณภาพ" ดีแค่ไหน
ถ้าอยากได้คุณภาพเนียนๆ ก็ต้องต่อ PC, PS4 แยก
เพราะมันประมวลผลหนักแต่มีสายรุงรัง
ถ้าไม่อยากมีสายก็ใช้ SmartPhone (ทั้วต้องแรงพออยู่ดี)
แต่ก็มีเรื่องคุณภาพอย่างอื่นด้วยซึ่ง CardฺBoard มันอาจจะไม่ค่อยโอเค
เพิ่งได้ไปลอง Gear VR มา ก็ถือว่าทำได้ดีกว่าที่คิดนะ ดีกว่า Cardboard มากๆ มุมมองกว้างกว่า ไม่รู้สึกเวียนหัว สายตาสั้นก็ปรับให้ชัดได้ น่าเสียดายที่ในไทยไม่เอารุ่นที่ใช้ได้กับ Note4 มาขาย
ที่อยากลองอีกคือพวก VR จีนตัวละไม่กี่ร้อย ว่าจะพอรับได้ไหม แต่ดันอยู่บ้านนอกไม่มีที่ไหนให้ลองเล่นซะนี่
ลองแล้ว ค่อนข้างดีและโอเคเลย
แต่ก็ไม่ได้ perfect มาก
ตาม shop ราคา 3500
แต่อยากให้ได้สัก 2500 เหมือนที่งานมือถือมากกว่า (เห็นราคานี้แล้วก็เลยไม่อยากถอยที่ 3500)
ยิ่งใครถอย S7 แบบจอง จะได้ราคาโปรที่ 1750 บาท
ผมรอโปรออกมาใหม่อยู่ครับ ถึงจะสอย
เหมือนกันเลยครับ ถ้ามีโปร S7 + GearVR นี่จะน่าสนใจมากๆ
หลังๆมานี่ ecosystem ของซัมซุงดีขึ้นเรื่อยๆ แม้จะมีแพไปบ้าง
สอบถามครับว่า ใช้ gear vr แต่อยากจะใช้ app ภายนอกนี่จะทำยังไงดีครับ ตอนนี้เหมือนติดคุก occulus (ฮา) อยากจะใช้ app ชาวบ้าน ๆ แบบแว่นจีนถูก ๆ หรือเกมส์ 3D ทั่ว ๆ ไปมั่งอะครับ