Tags:
Node Thumbnail

ทางการจีนกำลังร่างแผนโร้ดแมพที่จะใช้เป็นแม่บทกำกับงานพัฒนาทั้งเทคโนโลยี, กฎหมาย และระบบพื้นฐานให้รองรับการใช้งานรถยนต์แบบไร้คนขับได้จริงภายในปี 2025 โดยงานนี้ได้รับการผลักดันจากกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีน

Li Keqiang ศาสตราจารย์วิศวกรรมยานยนต์แห่ง Tsinghua University ซึ่งเป็นประธานร่างแผนดังกล่าวได้ออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ว่าแผนโร้ดแมพนี้จะประกาศอย่างเป็นทางการภายในปีนี้ โดยในระยะสั้นจะพัฒนารถยนต์ไร้คนขับให้ใช้งานบนทางด่วนได้สำเร็จภายใน 3-5 ปีข้างหน้า ส่วนรถยนต์ไร้คนขับสำหรับเขตชุมชนซึ่งมีความซับซ้อนและพัฒนายากกว่านั้นจะเป็นไปตามกรอบเวลาที่ระบุไว้ข้างต้นคือในปี 2025 ซึ่งเมื่อการร่างแผนนี้แล้วเสร็จ จะมีการเปิดฟังความเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาคเอกชนและหน่วยงานรัฐอื่นๆ เพื่อขอความเห็นชอบในการประกาศใช้แผนนี้ต่อไป

รายละเอียดของแผนโร้ดแมพนี้จะกำหนดรายละเอียดครอบคลุมงานหลายด้าน ทั้งการกำหนดมาตรฐานทางเทคนิคให้ทุกฝ่ายพัฒนางานไปในทิศทางเดียวกัน อาทิ ภาษาที่รถยนต์จะใช้สื่อสารระหว่างกันและสื่อสารกับอุปกรณ์แวดล้อม ซึ่งเป็นไปได้ว่าจีนจะเลือกกำหนดมาตรฐานการสื่อสารผ่านทางเครือข่ายมือถือเนื่องจากรถยนต์ในจีนส่วนใหญ่มีระบบเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านช่องทางนี้กันอยู่แล้ว นอกจากนี้แผนโร้ดแมพจะกำหนดกรอบการทำงานแก่ภาครัฐ โดยจะให้แนวทางการปรับแก้กฎหมายให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี สาระสำคัญส่วนหนึ่งของประเด็นทางกฎหมายคือการระบุความรับผิดของผู้ผลิตรถยนต์หากเกิดอุบัติเหตุขณะรถวิ่งในโหมดอัตโนมัติ

นโยบายการผลักดันเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับของจีนนั้นแม้จะดูออกตัวช้าแต่อาจรุดหน้าเร็วกว่าสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในยุโรป สาเหตุหนึ่งมาจากรูปแบบการปกครองที่เป็นหนึ่งเดียวทำให้การออกมาตรฐานหรือข้อกำหนดต่างๆ นั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในขณะที่สหรัฐอเมริกายังคงมีประเด็นที่แต่ละรัฐมีข้อกำหนดปลีกย่อยแตกต่างกัน และมาตรฐานทางอุตสาหกรรมที่เกิดจากภาคเอกชนหลายรายที่แข่งขันกันอย่างเต็มที่ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ต้องใช้เวลาพอสมควรให้แต่ละฝ่ายปรับแต่งระบบของตนเองให้ทำงานร่วมกันได้

ที่มาของแผนโร้ดแมพนี้ก็มาจากสภาพการเติบโตของสังคมเมืองในประเทศจีน ด้วยความที่เป็นประเทศซึ่งมีตลาดรถยนต์ใหญ่ที่สุดในโลก ปัญหาผลพวงที่ตามมาทั้งเรื่องมลภาวะอากาศ, สถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนซึ่งมีผู้เสียชีวิตปีละกว่า 200,000 ราย ตลอดจนปัญหาการจราจรที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนจีน ปัจจัยเหล่านี้จึงกลายเป็นแรงกระตุ้นผลักดันให้นโยบายรถยนต์ไร้คนขับดูน่าสนใจยิ่งขึ้นสำหรับภาครัฐ

ในขณะที่ท่าทีของสังคมจีนต่อเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับนั้นก็มีแรงเสียดทานน้อยกว่าในสหรัฐอเมริกา ดูตัวอย่างได้จากผลการสำรวจในงาน World Economic Forum 2015 คนจีนกว่า 75% ระบุว่าต้องการทดลองใช้รถยนต์ไร้คนขับ ในขณะที่คนสหรัฐฯ เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่ยินดีกับเทคโนโลยีใหม่นี้

สำหรับความพร้อมของภาคเอกชนนั้น ถึงตอนนี้ผู้ผลิตรถยนต์ในจีนบางรายอย่าง SAIC Motor และ Changan (ผู้ผลิตรถในจีนที่เป็นพันธมิตรกับ Ford Motor) ก็เดินหน้าทำระบบรถยนต์ไร้คนขับกันไปบ้างแล้ว และมีส่วนร่วมกับการร่างแผนโร้ดแมพนี้ด้วย อย่างในกรณีของ Changan เองล่าสุดก็ได้มีการทดลองระบบของรถยนต์ไร้คนขับด้วยการวิ่งเป็นระยะทางกว่า 2,000 กิโลเมตรจากสำนักงานใหญ่ใน Chongqing ไปยังกรุงปักกิ่ง ในขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์จากต่างชาติอย่าง Volvo ก็มีข่าวเตรียมทดสอบรถยนต์ไร้คนขับเร็วๆ นี้เช่นกัน ยังไม่นับเรื่องการตื่นตัวของกลุ่มบริษัทไอที อย่างที่เห็นล่าสุดคือ Baidu ที่ประกาศเตรียมให้บริการรถโดยสารไร้คนขับในปี 2018 และยังเดินหน้าค้นคว้าวิจัยเทคโนโลยีต่อเนื่องถึงขนาดลงทุนไปตั้งศูนย์วิจัยรถยนต์ไร้คนขับในสหรัฐอเมริกา

ด้วยสภาพการณ์ทั้งหมดที่กล่าวมา นักวิเคราะห์หลายแห่งต่างมองว่าจีนน่าจะเป็นประเทศในกลุ่มแรกๆ ที่มีการใช้รถยนต์ไร้คนขับอย่างแพร่หลายจริงจังไล่เลี่ยกับสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศในยุโรป หรือหากจะประสบความสำเร็จเร็วกว่าก็ไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด

ที่มา - VentureBeat

Get latest news from Blognone

Comments

By: maoIndie
Ubuntu
on 26 April 2016 - 14:20 #906515
maoIndie's picture

แจ่ม อยากให้มาถึงยุครถยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับเร็วๆจัง เบื่อมลพิษทางอากาศในเมือง

By: namon2345
AndroidUbuntuWindows
on 26 April 2016 - 21:05 #906579 Reply to:906515

ไฟฟ้าดีจริง แต่พลังงานจะเอาจากไหน นิวเคลียร์ แดด ลม น้ำ ยังน้อยและบ้านเรายิ่งโต้วาทีเก่งซะด้วย นักวิชาการกล่อมยาก

By: put4558350
ContributorAndroidUbuntuWindows
on 26 April 2016 - 21:41 #906586 Reply to:906579
put4558350's picture

แดดบ้านเราแรงมาก น่าจับไปทำไฟฟ้านะครับ


samsung ใหญ่แค่ใหน ?
https://youtu.be/6Afpey7Eldo

By: crucifier
iPhoneAndroidUbuntu
on 27 April 2016 - 06:23 #906635 Reply to:906586

ก๊อปของเก่าที่เคยโพสต์ไว้ที่นี่มาตอบอีกครั้งครับ

เคยอภิปราย จริงๆ เรียกถกเถียง เอาจริงๆ ก็นั่งเถียงกันเป็นวรรคเป็นเวรนี่แหละ คือเถียงกับใครสักคนเกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งทางนั้นก็เชียร์พลังงานทางเลือกอย่างมาก เช่น พลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานลม แถมยังคิดว่าเพราะอำนาจการเมืองที่คอยขัดขวางการเกิดขึ้นของพลังงานทางเลือกเหล่านั้น นี่มันทฤษฎีสมคบคิดแนวเดียวกับเรื่องบริษัทน้ำมันคอยขัดขวางการวิจัยสร้างพลังงานทดแทนน้ำมันชัดๆ

เอาเข้าจริงๆ พลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานลมอาจเป็นตัวเลือกที่ดี แต่นั่นมันสำหรับประเทศอื่นที่อยู่ไกลจากเส้นศูนย์สูตรสักหน่อย สำหรับประเทศไทยแล้วทั้งสองตัวเลือกไม่เหมาะสมด้วยเหตุผลเชิงภูมิศาสตร์

ใครๆ คงคิดว่าประเทศไทยเหมาะกับ solar cell เพราะแดดแรงขนาดนี้ คือแดดแรงก็จริง แต่ solar cell ไม่ได้ต้องการแดดร้อน แดดแรง แดดจัดจนผิวไหม้ แต่ต้องการแดดที่สม่ำเสมอต่อเนื่อง ซึ่งประเทศไทยเมฆเยอะซะส่วนใหญ่ ประเทศร้อนชื้นใกล้เส้นศูนย์สูตรนี่ตัวดีเลย เมฆทั้งนั้น นั่นแปลว่าเวลากลางวัน 12 ชั่วโมง เราจะได้ผลผลิตจาก solar cell น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ก็จะกระทบไปถึงความคุ้มค่าต่อต้นทุนด้วย

ส่วนฟาร์ม solar cell ที่เพชรบุรี หรือที่อื่นๆ หากจะสร้างมันก็ดีทั้งนั้น เพราะมันคือพลังงานทดแทน แค่จะบอกว่ามันอาจจะไม่เหมาะกับประเทศไทยเมื่อเทียบกับผลผลิตที่ได้ต่อต้นทุนที่ต้องจ่ายเท่านั้น

ซึ่งหากวันใดต้นทุนการผลิตลดลงมาถึงจุดหนึ่ง (จะด้วยเพราะเทคโนโลยีการผลิตดีขึ้น หรือภาครัฐส่งเสริมก็ตามแต่) ความคุ้มค่ามันก็จะเพิ่มขึ้นเป็นกลไกตลาด

นั่นคือคำว่าไม่เหมาะของผมไม่ได้แปลว่าไม่ควรส่งเสริม ไม่ควรใช้พลังทดแทนจาก solar cell หรือไม่เห็นด้วยกับพลังงานทางเลือก แต่จะยึดอยู่กับพลังงานทางเลือกโดยไม่สนใจ fact และยึดอยู่กับทฤษฎีสมคบคิดนั่นก็ไม่ไหวเหมือนกัน

อีกทั้งนิวเคลียร์เป็นพลังงานสะอาด โซล่าเซลล์สู้ไม่ได้ตรงนี้

เทคโนโลยี solar cell อาจผลิตพลังงานสะอาด แต่โดยตัวของ solar cell เองแล้วกลับก่อมลพิษมากมายไว้กับโลก ขั้นตอนการผลิตแผ่น solar cell นั้นไม่ได้สะอาดสมกับคำกล่าวอ้าง นอกจากขั้นตอนการผลิตเทคโนโลยี solar cell ที่แฝงปัญหาไว้มากมายแล้ว อีกจุดหนึ่งที่คนทั่วไปคาดกันไม่ถึงก็คือแบ็ตเตอรี แบ็ตเตอรีเป็นลูกๆ นี่แหละ ที่ต้องเอามาใช้เพื่อเก็บไฟที่ได้จาก solar cell และไม่สามารถเก็บประจุจนเต็มรอบเพราะแดดน้อย (โอเคแดดมันแรง แดดมันจัด แดดมันร้อน) ทำให้แบ็ตเตอรียิ่งเสื่อมเร็วขึ้นไปอีก

ค่าบำรุงรักษา/เปลี่ยนแบ็ตเตอรี ณ ต้นทุนปัจจุบันจะทำให้เราไม่มีวันคืนทุนจาก solar cell ได้เลย นี่ยังไม่นับมลพิษจากแบ็ตเตอรี่เก่าเมื่อหมดอายุการใช้งานอีกด้วย

อธิบายเป็นวรรคเป็นเวรก็หาว่าเราอยู่ข้างนักการเมืองชั่วซะงั้น =..='

By: Polwath
ContributoriPhoneWindows PhoneAndroid
on 27 April 2016 - 09:27 #906667 Reply to:906635
Polwath's picture

พูดถึงพลังงานนิวเคลียร์ เราสามารถสร้างได้ครับ ถ้ามีงบประมาณสูงพอและต้องมั่นใจว่าเจ้าหน้าที่โรงไฟฟ้าสามารถควบคุมการทำงานได้ ไม่ใช่เอาไปโกงกินแล้วสร้างออกมาได้คุณภาพห่วยเหมือนที่ยูเครนปี 1986 นะ

แต่ปัญหามันอยู่ที่กากกัมมันตภาพรังสีที่หมดสภาพจากการผลิตพลังงาน เรายังไม่รู้เลยว่าจะให้เอาไปทิ้งหรือฝังกลบที่ไหน แถมชาวบ้านส่วนใหญ่ยังกลัวและคัดค้านพลังงานชนิดนี้อยู่ รวมถึงยังมีความรู้ความเข้าใจที่น้อยและไม่ถูกต้องเยอะอยู่พอสมควร และปัญหาภัยธรรมชาติที่บ้านเรามีอยู่ค่อนข้างบ่อย โดยเฉพาะน้ำท่วม และบางครั้งก็มีแผ่นดินไหวด้วย แม้จะไม่บ่อยก็ตามที


Get ready to work from now on.

By: time3957
iPhoneWindows PhoneAndroidWindows
on 27 April 2016 - 09:48 #906677 Reply to:906667

สร้างห่วยมันเป็นไปไม่ได้ครับ มีแค่สร้างเกินราคามากกว่ามันไม่ใช่ว่ายัดเงินแล้วจบ และที่ยูเครนมันเกิดจากคนนะที่ผมเข้าใจคือมีการปิดระบบรักษาความปลอดภัยในการทดสอบครับ ไม่ได้เกิดจากก่อสร้างหรือโกงอะไรทั้งนั้น อีกอย่างปัจจุบันเทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มันพัฒนาขึ้นเยอะแล้ว ที่เห็นหลังที่ภัยธรรมชาติทั้งนั้นและมันเป็นแนวเกินที่ตั้งป้องกันไว้มากกว่าแบบรุนแรง

By: Polwath
ContributoriPhoneWindows PhoneAndroid
on 28 April 2016 - 18:35 #907170 Reply to:906677
Polwath's picture

ถ้าเป็นเรื่องโรงไฟฟ้าปี 86 ลองอ่านบทความอื่นที่เกี่ยวข้องดูครับ มันไม่ใช่แค่การบริหารที่แย่กับความผิดพลาดของมนุษย์เพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงโครงสร้างของโรงไฟฟ้าที่มีข้อถกเถียงอยู่ด้วยครับ


Get ready to work from now on.

By: -Rookies-
ContributorAndroidWindowsIn Love
on 27 April 2016 - 10:50 #906706 Reply to:906635

แบตเตอรี่นี่ปัจจุบันเขาแก้ปัญหาด้วยการไม่ใช้มันซะเลยครับ คือผลิตแล้วส่งเข้าการไฟฟ้าตรง ๆ เลย ผมก็เคยพูดบ่อย ๆ ว่ามันมีความแย่แอบแฝงอยู่อย่างคุณพูดนี่แหละ แล้วก็โดนเพื่อนที่ทำงานด้านนี้อยู่ตอกกลับมาหงายเงิบเลย ๕๕๕

โดยสรุปคือเขาใช้วิธีต่อสายส่งไปการไฟฟ้าตรง ๆ แล้วการไฟฟ้าเขาก็เอาไฟฟ้าที่เราผลิตได้ไปป้อนบ้านเรือนก่อนเลย ไฟฟ้าที่การไฟฟ้าผลิตได้ใช้ทีหลังครับ


เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!

By: TeamKiller
ContributoriPhone
on 27 April 2016 - 13:51 #906761 Reply to:906635
TeamKiller's picture

ถ้าใช้แบบ
Concentrated solar power

ต้มน้ำเดือดแทน ไม่ต้องใช้ Solar Cell ขอแดดแรงๆ ร้อนๆ

By: hisoft
ContributorWindows PhoneWindows
on 27 April 2016 - 14:01 #906763 Reply to:906761
hisoft's picture

ก็จะย้อนไปที่

แต่ต้องการแดดที่สม่ำเสมอต่อเนื่อง ซึ่งประเทศไทยเมฆเยอะซะส่วนใหญ่ ประเทศร้อนชื้นใกล้เส้นศูนย์สูตรนี่ตัวดีเลย เมฆทั้งนั้น

ครับ ยิ่งระบบต้มน้ำต้องใช้ความต่อเนื่องมากกว่าเซลล์สุริยะอีกเพราะไม่ใช่ประเภททำงานได้ทันที เร่งเครื่องจาก 0 => 100% ภายในวินาทีเดียวอะไรแบบนั้น

By: Jirawat
Android
on 26 April 2016 - 14:45 #906519
Jirawat's picture

เมืองไทยละว่าไง หุหุพอจะได้สอยรถ tesla ไหม

By: btoy
ContributorAndroidWindows
on 26 April 2016 - 16:06 #906537
btoy's picture

ต้องยอมรับว่ารัฐบาลเค้าทำอะไรค่อนข้างจะจริงจังและต่อเนื่อง ต่างจากบ้านเราเปลี่ยนรัฐบาลทีก็โยนของเดิมทิ้ง


..: เรื่อยไป

By: -Rookies-
ContributorAndroidWindowsIn Love
on 26 April 2016 - 17:25 #906545 Reply to:906537

+1 TT^TT


เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!

By: xoxokkt
iPhoneWindows PhoneAndroidBlackberry
on 26 April 2016 - 21:01 #906578 Reply to:906537

บางทีก็แค่เปลี่ยนชื่อ

By: xxa
Android
on 26 April 2016 - 20:07 #906563

เห็นไหม เห็นอนาคตของประเทศบ้างไหม

By: namon2345
AndroidUbuntuWindows
on 26 April 2016 - 21:05 #906580 Reply to:906563

ตาจะบอด มองไม่เห็น

By: zipper
ContributorAndroid
on 27 April 2016 - 09:43 #906675

จีนไปเร็วมาก ขนาดประเทศเราเทคโนโลยียังไปไม่เร็วเท่าจีนยังมีคนตามไม่ทันกันเยอะแยะ แล้วคนที่จีนเค้าจะรู้สึกยังไงหนอ

ในชั่วชีวิตของคนคนนึงตอนเด็กอาจจะได้เห็นบ้านเมืองในสภาพชนบทแร้นแค้น พอโตมาซักอายุ 20 บ้านเมืองก็มีตึกสูง ผ่านไปอีกหน่อยก็มีสินค้าไฮเทคอย่าง smart phone ให้ใช้ เดี๋ยวพอไปซักพักก็รถอัตโนมัติให้ใช้งาน

ตั้งแต่เด็กจนตายคงผ่านสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปเยอะมากเลย

By: crucifier
iPhoneAndroidUbuntu
on 27 April 2016 - 19:48 #906854 Reply to:906675

จะช้าก็วงการชีววิทยาและการแพทย์ครับ ผมรออวัยวะภายในเทียมจากสเต็มเซลล์อย่างใจจดจ่อ