เว็บไซต์ Fast Company สัมภาษณ์ Blake Adickman อายุ 26 ปี เป็นออทิสติก ปัจจุบันทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ที่ไมโครซอฟท์ โดย Adickman เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่เป็นออทิสติก ที่ไมโครซอฟท์รับเข้าทำงานหลังจากสัมภาษณ์และทดสอบทักษะเรียบร้อยแล้ว
โครงการดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ ทำมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2015 และมีหลายบริษัทที่ริเริ่มโครงการแบบนี้มาก่อนแล้ว เช่น SAP บริษัทซอฟต์แวร์จากเยอรมัน เพียงแต่ไมโครซอฟท์เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดที่เปิดเผยสู่สังคมว่าทำโครงการแบบนี้อยู่
แม้ Adickman เป็นออทิสติก แต่ก็สนใจในคอมพิวเตอร์ และเกมมาก อย่างไรก็ตามเขาเข้ากับเพื่อนๆ ไม่ได้ ด้วยอาการของโรคมักทำให้ผู้ป่วยไม่กล้าสบตาคน มีการแสดงออกแปลกๆ
Adickman เคยสัมภาษณ์งานที่ Amazon.com เป็นการสัมภาษณ์งานแบบหลายคนถามคนๆ เดียว เขาถูกรบเร้าให้อธิบายทักษะการเขียนโปรแกรมของเขา เขารู้สึกกดดัน และแล้วก็สัมภาษณ์ไม่ผ่าน ทั้งๆ ที่ความสามารถค่อนข้างจะเข้าตา Amazon.com ด้วยซ้ำ จากนั้นก็เข้าทำงานไอทีในบริษัทเล็กๆ มาเรื่อยๆ จนแม่ของเขามารู้ทีหลังว่าที่ไมโครซอฟท์มีโปรแกรมรับคนออทิสติกเข้าทำงาน
ไอเดียเรื่องความหลากหลายของพนักงานในองค์กรเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้เกิดโครงการนี้ เพราะตั้งอยู่บนหลักการเดียวกับให้มีการจ้างผู้หญิง หรือจ้างคนที่มีหลากหลายชาติพันธุ์ เข้ามาทำงานด้านไอที เพราะไม่เพียงจะสร้างความเปิดกว้างในความคิดสร้างสรรค์ แต่เป็นการนำมุมมองที่หลากหลายมาพัฒนางาน เพราะความหลากหลายเหล่านี้สะท้อนถึงลูกค้าที่มีหลายแบบทั่วโลก
แผนผังความสำเร็จด้านการสร้างความหลากหลายในองค์กรของไมโครซอฟท์
ที่มาภาพ Microsoft
อีกหนึ่งแรงบันดาลใจที่ทำให้ไมโครซอฟท์กระโดดเข้ามาทำโครงการนี้ เพราะ CEO หรือ Satya Nadella มีเป้าหมายอยากทำให้วัฒนธรรมองค์กรมีความเปิดกว้าง และเขาเองก็มีลูกชายเป็นเด็กพิเศษเช่นกัน ประเด็นเรื่องประสบการณ์ร่วมของผู้บริหารระดับสูงที่มีคนในครอบครัวเป็นออทิสติกเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันสำคัญให้องค์กรสามารถออกนโยบายรับคนออทิสติกเข้าทำงานได้สำเร็จ
Sataya Nadella
ภาพจาก Microsoft
โครงการรับคนออทิสติกเข้าทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ของไมโครซอฟท์มีหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญคือ Jenny Lay-Flurrie เจ้าหน้าที่ด้านการเข้าถึง และ Neil Barnett ผู้อำนวยการด้านการจ้างงานของไมโครซอฟท์ โดย Lay-Flurrie ระบุว่า สิ่งที่ไมโครซอฟท์ทำ อาจช่วยกระตุ้นบริษัทอื่นๆที่กำลังมองข้ามประเด็นนี้ไป
Jenny Lay-Flurrie
ภาพจาก Blog Microsoft
อย่างไรก็ตาม ภาวะออทิสติกต่างจากการสูญเสียอวัยวะอื่น เพราะอาการออทิสติกกระทบต่อสมองโดยตรง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญมากของการเป็นพนักงานบริษัทไอที
เรื่องนี้เป็นงานที่ท้าทายบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างไมโครซอฟต์มาก ความท้าทายอย่างแรก คือ ไม่เคยมีแบบแผนที่ชัดเจนในการจ้างงานผู้มีภาวะออทิสติกให้มาทำงานเฉพาะด้านแบบนี้ ในขณะที่การจ้างผู้หญิง คนผิวสีมาเขียนโปรแกรม เพียงไปร่วมพวกงานสัมมนาเกี่ยวกับผู้หญิงหรือผิวสี หรือติดต่อองค์กรทางด้านนี้ก็หาคนกลุ่มนี้เจอ แต่การจ้างงานคนออทิสติก ทำแค่นั้นไม่พอ เพราะคนกลุ่มนี้กระจายตัวอยู่ ไม่ได้รวมเป็นกลุ่มเป็นก้อนมากนัก
ความท้าทายอย่างที่สอง คือกระบวนไม่ได้จบแค่รับผู้มีภาวะออทิสติกเข้าทำงาน แต่ทำอย่างไรที่จะรักษาพนักงานเหล่านั้นไม่ให้ลาออกกลางคัน จากความรู้สึกแปลกแยกภายในบริษัท ทำอย่างไรจึงไม่เกิดปัญหาแบ่งแยกชนชั้น การกลั่นแกล้งในองค์กร
เมื่อผู้สัมภาษณ์งานผ่านการทดสอบรอบแรก กระบวนการจะเข้าสู่โครงการทดลองงานเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ขั้นตอนนี้ต่างจากการสัมภาษณ์งานทั่วไป คนผ่านการคัดเลือกจะได้พบกับว่าที่เจ้านายที่จะมาสังเกตการณ์ผู้สมัคร และตัดสินใจว่าจะรับเข้าทำงานหรือไม่
สำหรับคนที่ผ่านการคัดเลือกจนเข้ามาทำงานได้สำเร็จ ทางไมโครซอฟต์จะจัดให้มีพี่เลี้ยงคอยช่วยเหลือ ซึ่ง Adickman ได้รับความช่วยเหลือหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้การทำงานเป็นทีม เนื้องาน และเรื่องชีวิตประจำวันอื่นๆ เช่น การจอดรถ สาเหตุที่ต้องมีพี่เลี้ยงก็เพื่อป้องกันความรู้สึกแปลกแยก นอกจากนี้ หัวหน้างานและคนในทีมก็ต้องเข้าเทรนเพื่อให้มีความรู้เรื่องภาวะออทิสติกด้วย
เมื่อรู้ตัวว่าตัวเองได้ทำงานที่ไมโครซอฟต์ Adickman บอกกับพี่เลี้ยงของเขาตรงๆ ว่ามันดูขี้โกงที่ได้มาอยู่ที่นี่ในตำแหน่งนี้ แต่พี่เลี้ยงบอกเขาว่าไมโครซอฟต์ไม่เคยจ้างพนักงานเพื่อเอาบุญ แต่ Adickman มีความสามารถเหมาะสมที่จะอยู่ที่นี่ต่างหาก
ทีมของ Adickman มีบุคลิกค่อนข้างเสียงดัง อึกทึกครึกโครม ตอนแรกพี่เลี้ยงก็กลัวว่า Adickman จะไม่ชอบเสียงดังหรือไม่ แต่กลายเป็นว่าเขาเข้ากันด้วยดี ไม่กลัวเสียงดัง นอกจากนี้เขายังรู้สึกมีความสุขที่ได้ทำงานที่นี่
ผู้ที่ผ่านโครงการนี้ของไมโครซอฟท์ ยังไม่เคยมีใครลาออกกลางคันเลย แม้โครงการจะยังอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่ไมโครซอฟต์ก็เล็งจะประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย องค์กรต่างๆ ที่ทำหน้าที่ในการสานรอยต่อระหว่างชีวิตการงาน ผู้พิการและคนออทิสติก เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อพยายามสร้างแบบแผนที่ดีต่อไป
ที่มา - Fast Company
Comments
ดีจัง
นอกเรื่องนิดนึง ผมไม่เข้าใจว่าพ่อแม่คิดยังไงตั้งชื่อเค้าแบบนั้นนะ แต่ผมว่าชื่อจะทำให้เค้าถูกล้อมั้ย? ชีวิตวัยเด็กจะยากลำบากเพราะชื้อมั้ย? หรือฝรั่งเขาไม่ล้อกันเรื่องแบบนี้ (ผมคิดว่าถ้าเป็นคนไทยนี่มีล้อกันแน่ ๆ อะ)
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
ผมก็ไม่เข้าใจพ่อแม่เขาเหมือนกันว่าทำไมตั้งแบบนี้
Get ready to work from now on.
นึกถึงมุกนี้ใน The IT crowd
https://www.youtube.com/watch?v=fTaKDnSIb4c
นามสกุลเขาเป็นยังงั้นเอง ไม่ใช่หรอครับ พ่อแม่ไม่ได้ตั้ง
อ๊ะ จริงด้วย นามสกุลนี่ ผมลืมไปว่าฝรั่งมักเรียกกันด้วยนามสกุลไม่ใช่ชื่อ สงสัยคงเป็นภาษาพื้นเมืองซักที่นึง
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
ตามประสบการณ์ของผม ปกติฝรั่งจะไม่ค่อยล้อชื่อกัน (ไม่ว่าชื่อต้น หรือนามสกุล) ในทางเสียหายครับ หรือเอาจริงๆ ถ้าโดนเรียกชื่อตลกๆ เค้าจะรู้สึกพอใจและสนุกเสียด้วยซ้ำ
ทั้งนี้ทั้งนั้น การนำชื่อไปใช้เพื่อทำให้คนอื่นเสียหายหรืออับอาย เค้าจะสามารถฟ้องคดีได้ว่าเป็นการ Harassment ครับ ซึ่งในกรณีนี้ฝรั่งถือว่าเป็นคดีค่อนข้างรุนแรงและมีบทลงโทษหนักอยู่ครับ
ต้องย้อนกลับขึ้นไปอ่านเลย
เพราะคุณมองจากภาษาอังกฤษครับ แบบเดียวกับชื่อคนไทยในมุมของ English speaker เช่น พร, สลัด, ปู, ภูชิต ครับ
เรื่องล้อ ... เป็นเรื่องปกติครับ
หมายถึง dick ในนามสกุล Adickman ใช่ไหมครับ คำว่า dick ในความหมายแสลงถูกใช้ประมาณศตวรรษที่ 19 นี้เอง ก่อนหน้านั้น dick เป็นคำทั่วไปหมายถึงเพื่อนหรือสหาย และถูกใช้ในชื่อนามสกุลจำนวนหนึ่ง
โอ้ขอบคุณครับ
เป็นความท้าทายที่น่าชื่นชมนะครับ
อยากเห็นหน้าเค้าจังเลย :)
ในต้นทางมีรูปครับ
ต่างจากบ้านเราจริงๆ ทุกวันนี้ยังแบ่งแยกสถาบันอยู่เลย
คือ ผมก็ไม่ได้สนับสนุนการแบ่งแยกสถาบันนะ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเด็กจบสถาบันดี(ส่วนมาก)มันก็ดีกว่าจริงๆ อันนี้ผมว่าเป็นผลพวงมาจากระบบการศึกษาและสังคมตั้งแต่ระดับเล็กเลย ไม่ใช่แค่มหาลัย คิดง่ายๆว่าครูตาม รร.ทั่วๆไปยังมีการหงายการ์ดสอนพิเศษหลังเลิกเรียน เด็กไม่มีตังค์มันก็แทบไม่ได้ลืมตาอ้าปากตั้งแต่ตอนนั้นแล้วครับ จะไปเอ็นท์ติดสถาบันดีๆมันก็ยาก
ก็เหมือนประเทศที่อยู่ภายในโลก แต่สถานบันอยู่ภายในประเทศ
เรื่องปรกติแหละครับ เมกาก็เลือก Ivy League ไว้ก่อนเหมือนกัน หลังๆHR ITซักเจ้ารู้สึกจะเป็นGoogle ถึงมาพูดเรื่องนี้ แต่ก็ไม่รู้ว่าทำจริงขนาดไหน
การรับพนักงานของ MS นี่เปิดกว้างจริงๆ ครับ เพราะส่วนตัวก็เจอคนตาบอดที่ไปทำงานเขียนโค้ดจริงจัง อยู่ในนั้นคนนึง @tomi91 และก็มีประกาศรับสมัครงานตำแหน่งที่ต้องการคนพิการโดยเฉพาะอีกด้วย
ซึ่งในเมืองไทยนี่ ไม่เคยเจอเลยจริงๆ ที่จะมีบริษัทไหนที่ต้องการรับสมัครคนพิการเข้าทำงาน แบบที่เป็นความต้องการในเนื้องานของบริษัทจริงๆ มีแต่รับเพราะกฎหมายบังคับให้รับ รับๆ ไปก่อน แล้วค่อยหางานที่พอทำได้ให้ทำ เห้ออออ facepalm
@ Virusfowl
I'm not a dev. not yet a user.