ต่อจากข่าว ระบบขนส่งมวลชนซานฟรานซิสโกโดน Ransomware ล่าสุดแฮ็กเกอร์ที่เจาะระบบได้ ประกาศเรียกค่าไถ่ข้อมูลเป็นจำนวน 100 bitcoin (73,000 ดอลลาร์ หรือ 2.6 ล้านบาท) เพื่อให้ระบบคอมพิวเตอร์จัดการตั๋วของเมืองทำงานได้เหมือนเดิม
แฮ็กเกอร์ให้ข้อมูลกับเว็บไซต์ Threatpost ของบริษัท Kaspersky ว่าพวกเขาไม่ได้อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา และถ้าทางองค์กรขนส่งมวลชนของซานฟรานซิสโก (SFMTA) ไม่ติดต่อกลับไป พวกเขาจะโพสต์ฐานข้อมูลขนาด 30GB ออกสู่สาธารณะ ซึ่งในฐานข้อมูลนี้มีข้อมูลส่วนตัวของพนักงานและลูกค้า SFMTA ด้วย
ฝั่งโฆษกของ SFMTA กลับให้ข้อมูลอีกด้านว่าคำอ้างของแฮ็กเกอร์ไม่เป็นความจริง แฮ็กเกอร์ไม่ได้เจาะทะลุไฟร์วอลล์ และไม่มีข้อมูลของลูกค้าหรือธุรกรรมใดๆ ถูกขโมยออกไป ทาง SFMTA ไม่มีนโยบายจ่ายค่าไถ่แต่อย่างใด และตอนนี้สามารถฟื้นระบบตั๋วคืนมาได้แล้ว
Threatpost สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยหลายราย ซึ่งให้ความเห็นว่าแฮ็กเกอร์ไม่น่าจะได้ข้อมูลของ SFMTA ไป ส่วนตัว ransomware ที่ใช้โจมตีชื่อว่า HDDCryptor หรือ Mamba ซึ่งเขียนข้อมูลทับ Master Boot Record (MBR) ของฮาร์ดดิสก์ และเข้ารหัสดิสก์ทั้งลูก
หนังสือพิมพ์ San Francisco Examiner ระบุว่าการโจมตีครั้งนี้ส่งผลต่อคอมพิวเตอร์ของ SFMTA จำนวน 2,112 เครื่อง จากทั้งหมด 8,565 เครื่อง ส่งผลกระทบต่อระบบตั๋ว ระบบอีเมล และระบบจัดตารางเดินรถ แต่ไม่กระทบกับระบบควบคุมการเดินรถ
Tim Erlin ผู้เชี่ยวชาญความปลอดภัยจาก Tripwire ให้ความเห็นว่า ระบบขนส่งมวลชนมีประสบการณ์แก้ปัญหากรณีบริการเดินรถใช้งานไม่ได้ จึงมักมีระบบสำรองที่ช่วยฟื้นคืนระบบหลักให้กลับมาเป็นปกติอย่างรวดเร็วอยู่แล้ว แต่การโจมตีครั้งนี้ก็เป็นตัวอย่างว่า cybersecurity กำลังมีบทบาทต่อโลกความเป็นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ
ที่มา - Threatpost, ภาพจาก SFMTA
Comments
ระบบเงินดิจิตอล ติดตามลำบาก/ไม่ได้เหรอครับ
Bitcoin(และค่าเงินอื่นที่ใช้ blockchain) ยืนยันตัวตนด้วยข้อมูลเข้ารหัสครับ และอาจใช้ข้อมูลอะไรก็ได้ขอแค่เจ้าตัวถือคีย์ที่ใช้ยืนยันตัวตน และการทำธุรกรรมของ bitcoin ติดตามได้ยากเพราะไม่มีศูนย์กลางและทุกคนมีข้อมูลเหมือนกันแม้แต่ตอนสั่งจ่ายเงินก็ยังติดตามได้ยากว่าสั่งมาจากไหนครับ เท่าศึกษาใครแม่นกว่าเสริมได้ครับ...
จริงๆ แล้วมันคือการแฮชนะครับ ไม่ใช่การเข้ารหัส
ถามว่าติดตามได้ยากไหมมันก็ยากในระดับนึงแต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำไม่ได้เพราะทุก transactions มันสามารถมองเห็นได้อยู่แล้ว
อย่างที่สองท่านพูดคำผมใช้คำผิดจากสั่งมาจากไหนเป็นสั่งมาจากใคร แต่แฮชก็คือการเข้ารหัสทางเดียวไม่ใช่หรือครับ?
สำหรับผม หากมีคำว่าการเข้ารหัสจะต้องมีกุญแจที่ใช้ในการเข้ารหัสครับ เพราะการเข้ารหัสในเบื้องต้นมันต้องอาศัยสามอย่างคือ m ข้อความ, k กุญแจ, และตัว E, D ที่เป็นอัลกอริธึมที่ใช้ในการเข้ารหัสและถอดรหัส เวลาเราเข้ารหัสหรือถอดรหัสจะสามารถอธิบายได้เป็น m := Dk(Ek(m)) ถ้าในกรณีที่เป็นแบบสมมาตร
สำหรับการแฮชจะมีแค่สองอย่างคือ m ข้อความและ H คือฟังก์ชันแฮช ได้ผลลัพธ์ h เป็นค่าแฮช ไม่มีการใช้กุญแจครับ
ส่วนคำว่าการเข้ารหัสทางเดียว ผมเข้าใจว่าน่าจะแปลมาจาก One-way function ซึ่งผมแปลเองว่าเป็นฟังก์ชันทางเดียวมากกว่า ฟังก์ชันทางเดียวนี้สำหรับผมเองนั้นเป็นแค่การอธิบายฟังก์ชันที่ผลลัพธ์ยากต่อการ invert ครับ เพราะ cryptographic hash function (แฮชที่มีคุณสมบัติ 3 อย่างที่ปลอดภัย) ก็ถือเป็น One-way function, การคูณกันของจำนวนเฉพาะจำนวนมากสองตัวก็อาจถือว่าเป็น One-way function เพราะคูณง่ายแต่จากผลลัพธ์นั้นเรา invert ได้ยาก ดังนั้นผมจึงไม่เรียกฟังก์ชันทางเดียวว่าเป็นการเข้ารหัสทางเดียวครับ
จริงๆ แล้วคำว่าการเข้ารหัสทางเดียวอาจมีที่มาได้จากที่สมัยก่อนเราใช้ block cipher ในการสร้างแฮช เช่น ในระบบปฏิบัติการตระกูลยูนิกซ์ที่ใช้ DES โดยเอาพาสเวิร์ดของผู้ใช้เป็นทั้งกุญแจและข้อมูลที่จะเข้ารหัสทำให้มันไม่สามารถถอดรหัสได้ถ้าไม่รู้ข้อมูลที่ถูกเข้ารหัสอยู่ก่อน (และนั่นอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เราตั้งพาสเวิร์ดจำกัดความยาว เพราะเราเคยถูกจำกัดให้ตั้งตามขนาดของกุญแจของอัลกอริธึม block cipher!)
ทั้งหมดนี่เป็นความเข้าใจของผมเมื่อนานมาแล้ว ถ้ามีข้อมูลใหม่ๆ อื่นมาเพิ่มเติมหรือหักล้างก็ยินดีที่จะแก้ไขให้ครับ
ติดตามง่ายครับว่าจากไหนไปไหน รู้กันหมด เพียงแต่มันไม่มีข้อมูลว่าบัญชีไหนเป็นของใครครับ