มูลนิธิกระจกเงาประสบความสำเร็จในการตามหาบ้านของคนหาย (กลับข้างกับการตามหาคนหายตามปกติ) โดยเป็นการตามหาบ้านของนายอั้มที่หนีออกจากบ้านตั้งแต่อายุเพียง 7-8 ขวบ และออกจากบ้านไปถึง 15 ปี ด้วยความไม่ได้เรียนหนังสือจึงไม่สามารถอ่านเขียนได้ แต่สามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้เพราะเล่นเกมออนไลน์
เมื่อนายอั้มต้องการตามหาครอบครัวจึงติดต่อทางมูลนิธิกระจกเงาทางแชตหน้าเพจ แต่ตัวนายอั้มเองไม่สามารถเขียนหนังสือได้ จึงอาศัยกูเกิลแปลงเสียงเป็นข้อความทำให้สามารถคุยกับเจ้าหน้าที่ได้ จนทางเจ้าหน้าที่ออกประกาศตามหาบ้านให้เมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา และประสบความสำเร็จในการตามครอบครัวจนพบในวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา
แนวทางการใช้งานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แนวทางหนึ่งคือการเปิดโอกาสให้คนด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ดีขึ้น กรณีนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่คนที่ไม่สามารถพิมพ์ข้อความได้โดยตรงสามารถพูดคุยเป็นข้อความได้ เทคโนโลยีแนวทางเดียวกันเช่นการแปลงเสียงเป็นข้อความสำหรับคนมีปัญหาในการได้ยิน หรือเทคโนโลยีการบรรยายภาพเป็นข้อความสำหรับผู้ที่มีปัญหาการมอง และการแปลงข้อความเป็นเสียงอีกครั้งหนึ่ง
ที่มา - ไทยรัฐ, มูลนิธิกระจกเงา
Comments
ขอบคุณ บก.ลายจุด ผู้ก่อตั้งมูลนิธินี้ขึ้นมา และสามารถนำพาคนหายกลับถึงบ้านได้มากมายแล้ว
ใช่เหรอครับ ผมคิดว่าแกเป็นแค่พนักงานคนนึงเอง
ใช่ครับ แกก่อตั้งและเป็น ผอ.คนแรกเมื่อปี 2534
ยังมีคนหายที่ยังต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากอีกมากครับ ช่วยกันเป็นหูเป็นตาดุคนเหล่านี้เยอะๆ เผื่อจะคุ้นหน้าแล้วพากลับบ้านได้สำเร็จ
สงสัยหน่อยนึงครับ ทำไมไม่โทรคุยกัน หรือคุยแบบ call ผ่านอินเตอร์เนตไปเลยครับ
จะแปลงเสียงเป็นข้อความกันทำไม แล้วไม่คิดว่าเค้าจะอ่านหนังสือแล้วแปลผิดเหรอครับ
อ่านแล้วก็ดูแปลกๆเหมือนกันครับ เขาก็น่าจะมีเพื่อนที่เขียนได้ แล้วการแปลข้อความจากเสียงเป็นอักษรถ้าใช้ก็น่าจะแค่บอกเบอร์โทรติดต่อของตนเองหรือคนที่รู้จัก แค่นั้นน่าจะพอแล้วค่อยโทรคุยกันน่าจะง่ายกว่า