ธนาคารกสิกรไทย เปิดตัวแอพใหม่ K PLUS Beacon บริการธนาคารผ่านมือถือสำหรับผู้บกพร่องทางการเห็น (visually impaired) ไม่ว่าจะเป็นตาบอดหรือมีปัญหาด้านการมองเห็นประเภทอื่นๆ หรือแม้แต่บุคคลทั่วไป ก็สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ง่ายขึ้นมาก
K PLUS Beacon เป็นการต่อยอดจาก Beacon Interface แอพต้นแบบที่เคยไปชนะงาน Singapore FinTech Festival เมื่อปี 2016 หลังจากนั้นทีมงานพัฒนาก็ไปทำงานร่วมกับคนพิการทางสายตา และสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย เพื่อปรับปรุงแอพให้เหมาะกับการใช้งานมากขึ้น
หลักการของ K PLUS Beacon คือการปรับอินเทอร์เฟสให้เหมาะกับผู้พิการทางสายตา โดยใช้ gesture 4 ทิศทาง (ปัดขึ้น ลง ซ้าย ขวา) เพื่อสั่งงาน โดยจะมีเสียงพูดกำกับทุกสถานการณ์ว่าขณะนั้นหน้าจอกำลังแสดงข้อมูลอะไรอยู่
ในแอพ Beacon Interface เวอร์ชันแรกๆ ใช้การนำทางหลายทิศทาง ทำให้ผู้ใช้สับสน พอมาถึง K PLUS Beacon ก็ปรับให้ตัวเลือกในทุกหน้าจอมีความสม่ำเสมอมากขึ้น โดยปัดขึ้นคือถอยหลัง ปัดลงคือยืนยัน ปัดซ้าย-ขวาคือเปลี่ยนตัวเลือกในหน้านั้นๆ
อินเทอร์เฟสของ K PLUS Beacon ก็ถูกปรับปรุงไปจากเดิมหลายอย่าง โดยใช้รูปทรง (shape) ช่วยให้ไอคอนของแต่ละหน้าจอดูแตกต่างกัน (เช่น สามเหลี่ยม วงกลม) เพื่อให้คนที่มองเห็นไม่ชัด ตาไม่ได้บอดสนิท สามารถดูจากรูปทรงได้ว่ากำลังอยู่ในหน้าจอไหน หรือใช้สีเข้าช่วยเพื่อแยกแยะแต่ละโหมดออกจากกัน
ตอนนี้ K PLUS Beacon มีทั้งหมด 6 หน้าจอ ทำธุรกรรมพื้นฐานได้ครบถ้วน ตั้งแต่เช็คยอดเงิน (Balance) โอนเงิน (Transfer) เติมเงิน (Top Up) จ่ายบิล (Pay Bills) โดยรองรับการสแกนบาร์โค้ดด้วย ทางทีมงานบอกว่าในอนาคตจะเพิ่มความสามารถด้านธุรกรรมออนไลน์อื่นๆ เช่น การลงทุน เข้ามา
ในงานแถลงข่าว ธนาคารกสิกรไทยได้เชิญคนตาบอดมาทดสอบแอพด้วย หลายคนไม่เคยลองใช้มาก่อน และมาลองใช้งานให้สื่อมวลชนดูเป็นครั้งแรก พบว่าช่วงแรกมีการเรียนรู้เรื่องอินเทอร์เฟสอยู่บ้าง จุดที่ยากคือการป้อนตัวเลข (เช่น โอนเงิน 987.50 บาท จะยากกว่าการโอนเงิน 500 บาทที่มีปุ่มลัดอยู่แล้วค่อนข้างมาก) แต่พอคุ้นเคยกับอินเทอร์เฟสแล้วก็ใช้งานได้คล่องแคล่วในเวลาเพียงไม่กี่นาที
เพื่อให้เห็นภาพว่าแอพนี้ใช้งานอย่างไร เราก็มีวิดีโอแสดงการใช้งานมาด้วย (แอพยังเป็นเวอร์ชันเดโม ข้อมูลทุกอย่างบนจอเป็นข้อมูลปลอม)
จากการสัมภาษณ์คนตาบอดที่มาร่วมทดสอบแอพ ปัจจุบันประเทศไทยมีคนตาบอดที่ลงทะเบียนประมาณ 2 แสนคน และคนตาบอดจำนวนหนึ่งใช้สมาร์ทโฟนอยู่แล้วผ่านฟีเจอร์ accessibility ของระบบปฏิบัติการ โดยให้อ่านออกเสียงปุ่มและข้อความต่างๆ บนแอพ แต่แอพบางตัวยังเขียนมาไม่ดีพอ ทำให้บางปุ่มหรือบางเมนูไม่มีข้อความ (label) กำกับ ไม่รู้ว่าเป็นปุ่มอะไร ต้องใช้วิธีจำตำแหน่งปุ่มแทน และไม่สะดวกเท่าไรนัก
การมีแอพที่ใส่ใจเรื่อง accessibility มาตั้งแต่แรกจึงเป็นประโยชน์มาก และช่วยลดความจำเป็นในการต้องไปทำธุรกรรมที่สาขาหรือตู้ ATM ลงได้มาก (คนตาบอดไปที่ตู้ ATM ใช้วิธีจำปุ่มของตู้แต่ละรุ่น/ยี่ห้อ แต่จะกังวลตอนกด PIN ว่ามีใครแอบมองหรือไม่)
ธนาคารกสิกรไทย จะเริ่มทดสอบแอพ K PLUS Beacon ในวงกว้างมากขึ้น โดยจะเปิดรับ Beta Tester จำนวน 300 ราย ทั้งกลุ่มที่เป็นคนตาบอด สายตาเลือนราง กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มบุคคลทั่วไป
ขั้นตอนคือวันที่ 16-24 พฤศจิกายน 2560 จะเป็นช่วงรับสมัครผู้ทดสอบ ผ่าน 3 ช่องทางคือ
หมายเหตุ: ผู้ทดสอบไม่จำเป็นต้องมีบัญชีธนาคารกสิกรไทย และแอพ K PLUS มาก่อน ตัวแอพ K PLUS Beacon รองรับทั้ง iOS และ Android
จากนั้นในวันที่ 5-28 ธันวาคม 2560 จะเป็นช่วงเริ่มทดสอบ โดยธนาคารจะจัดเจ้าหน้าที่ช่วยสอนการติดตั้งและใช้งานแอพ ที่ธนาคาร 5 สาขา ได้แก่ สาขามาบุญครองเซ็นเตอร์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ บางขุนเทียน ดาวคนอง ปิ่นเกล้า
แอพ K PLUS Beacon จะเริ่มเปิดให้ใช้งานทั่วไปในปี 2561 และทีมงานบอกว่าแผนการในระยะยาวคือผนวกฟีเจอร์ด้าน accessibility เหล่านี้เข้ามาในแอพ K PLUS ตัวหลัก เพื่อให้ใช้งานได้ทั่วถึงโดยไม่ต้องมีแอพแยก
Comments
คนตาบอดที่ใช้สมาร์ตโฟนโดยที่ไม่ใช้ Accessibility Features นี่ต้องเทพขนาดไหนครับ ประโยคนี้ ผมเห็นว่าคำว่า "จำนวนนึง" เขียนดูให้น้อยเกินความเป็นจริงไปมากครับ เพราะมันควรจะเป็น "ทั้งหมด" หรือ "เกือบทั้งหมด" มากกว่า
นี่แหละครับ คือประเด็นสำคัญ ในเมื่อรู้แบบนี้ แล้วทำไมไม่แค่ใส่ Label ให้ปุ่มบนแอพตัวหลักของคุณล่ะครับ (รวมถึงบนหน้าเว็บของ KBank เองด้วยแหละ) จะมาพัฒนาแอพแยกทำไหม?
สรุปคือ คนตาบอดต้อง "ทำความคุ้นเคยกับอินเทอร์เฟซ" เพื่อใช้งานแอพนี้ขั้นเวลาแค่นั้นสินะครับ แล้วพอทำแอพหลักให้ access แล้วก็กลับไป "ทำความคุ้นเคย" กับหน้าตาของแอพตัวหลักกันใหม่อีกทีนึง #ดีครับดี
อันนี้เป็นความเห็นจากการฟังคลิปตัวอย่างนะครับ ไม่ได้ไปใช้จริงด้วยตนเองแต่อย่างใด
@ Virusfowl
I'm not a dev. not yet a user.
ที่เค้าบอกว่าคนตาบอดจำนวนนึงใช้ smartphone ผ่าน accessibility เค้าหมายถึงว่าที่เหลือไม่ได้ใช้ smartphone เพราะมันยากครับ ไม่ใช่ใช้ได้โดยไม่ต้องมี accessibility
ผมเห็นด้วยว่า app ของ KBank ชอบทำให้ยุ่งยากโดยไม่จำเป็น ชอบทำอะไรที่มันไม่มาตรฐานเหมือนพยายามจะแตกต่าง ใช้มานานแล้วแต่ทุกครั้งที่เปิดก็ด่าอยู่ในใจ
ส่วนเรื่องที่ไม่ต้องขอ OTP เวลายืนยันเพราะเค้ามั่นใจอยู่แล้วว่าเป็นเบอร์ที่ถูกต้อง เปลี่ยนซิมหรือเปลี่ยนเครื่องทุกครั้ง app มันจะโวยวายตลอด ถือว่ายืนยันครั้งแรกแล้วที่เหลือเปลี่ยนไม่ได้อีก
ครับ จริงๆ เรื่อง wording "จำนวนนึง" ในประโยคนั้น ผมว่ามันก็ตีความได้ทั้งแบบที่ผมบอกและแบบที่คุณบอกครับ
แต่ที่ผมเลือกที่จะตีความตามที่บอกไป เพราะจากบริบทที่เขาทำออกมาให้เห็นครับ ตัวแอพนี้เหมือนจะบอกกลายๆ ว่า accessibility ของระบบปฏิบัติการมัน "ใช้ยาก" เราทำใหม่ให้ใช้ง่ายๆ ดีกว่า
ส่วนการตีความตามที่คุณบอก อันนี้ผมก็ไม่มีข้อมูลอ้างอิงนะครับ แต่ผมว่าการใช้ iOS / Android ไม่ใช่เรื่องยากแล้วครับ และประกอบกับโทรศัพท์ที่ไม่ใช่สมาร์ตโฟนเอง ก็แทบจะหมดไปจากตลาดแล้ว ดังนั้นต่อให้เป็นการตีความแบบนี้ ผมก็ยังคิดว่า ไม่น่าใช่แค่คนตาบอดส่วนน้อยหรอกครับที่ใช้สมาตร์โฟน
@ Virusfowl
I'm not a dev. not yet a user.
ยินดี ที่ K PLUS Beacon
เข้ามาเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งสำหรับผู้มีปัญหาทางสายตา
อย่างไรก็ตาม
ผมอยากให้ทำแอพ K+
ที่มีอยู่เดิม
ให้รองรับระบบ accessibility ของระบบปฏิบัติการให้เร็วที่สุดด้วยครับ
คงทำไม่ยาก IOS Android ได้เปิดทางไว้หมดแล้ว
คนตาบอดเองก็จะสามารถใช้งานได้ทันที
และสามารถเข้าถึงบางเมนู
ที่ยังไม่มีใน K PLUS Beacon ได้ด้วยครับ
อันนี้ทางทีมของ KBank บอกว่าช่วงแรกจะยังแยกกันไปก่อน เพื่อให้การพัฒนารวดเร็วครับ พอลงตัวแล้วจะทยอยเอาเข้า K Plus ตัวหลักต่อไป
ความผิดปรกติทางสายตามีหลายระดับครับ ตั้งแต่บอดสนิทไปจนถึงมองไม่ชัด เช่น สายตาสั้นมาก
Beacon ทำมาเพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้ที่ไม่สามารถใช้การบริการทางการเงินบนมือถือ เหมือนคนปรกติทั่วไปได้
ปัญหามันอยู่ที่แอปปกติทำไมถึงไม่ทำให้ใช้งานได้มากกว่านะครับ