กูเกิลประกาศสถิติว่าในปี 2017 ทั้งปี ถอดแอพที่ทำผิดเงื่อนไขการใช้งานออกจาก Play Store มากถึง 700,000 ตัว เพิ่มขึ้นจากปี 2016 ถึง 70%
ระบบของ Play Store ต่างไปจาก App Store ของแอปเปิล เพราะฝั่งกูเกิลเน้นใช้ระบบอัตโนมัติช่วยตรวจสอบเป็นหลัก โดยกูเกิลบอกว่าอัลกอริทึมที่ใช้ตรวจสอบนั้นแม่นยำขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นผลให้ถอดแอพประสงค์ร้ายได้มากขึ้น
กูเกิลยังบอกว่าแอพที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม (abusive contents) จะถูกตรวจสอบได้ก่อนขึ้น Play Store เกือบหมด (ความแม่นยำ 99%) ส่วนแอพสายมัลแวร์ที่พยายามซ่อนตัวไม่ให้จับได้ แม้จะได้ขึ้น Store แต่ก็ถูกตามไปสอยร่วงในเวลาไม่นาน
ตัวอย่างแอพที่กูเกิลแบนไป มีทั้งแอพปลอม (ปลอมชื่อและไอคอนเหมือนแอพจริง), แอพที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม เช่น โปเปลือย รุนแรง ผิดกฎหมาย รวมถึงแอพมัลแวร์ ที่กูเกิลใช้คำเรียกว่า Potentially Harmful Applications (PHAs)
นอกจากสถิติของแอพแล้ว กูเกิลบอกว่าแบนบัญชีนักพัฒนาไปอีกกว่า 100,000 บัญชี และปรับกระบวนการสมัครให้เข้มงวดขึ้น ช่วยให้นักพัฒนารายเดิมๆ กลับเข้ามาส่งแอพใหม่ได้ยากขึ้น
ที่มา - Android Developers
Comments
คำถามคือ หลังจากที่ขึ้นสโตร์ไปแล้ว ถูกตรวจพบและนำออกจากสโตร์ ยูสเซอร์ที่โหลดไปติดตั้งบนเครื่องแล้ว จะได้รับการถอนการติดตั้งออกให้โดยอัตโนมัติหรือเปล่า