หลังจากปิดฉากสเตจ 1 ของการแข่งขัน Overwatch League ไปได้อย่างดงาม ESPN ได้มีรายงานถึงความพยายามของ Overwatch League ที่ต้องการหาทีมมาซื้อสิทธิ์เข้าแข่งขันเพิ่มสำหรับซีซั่น 2 โดยเล็งเป้าไปที่ทีมจากยุโรปและเอเชีย แต่ Overwatch League ต้องหาวิธีการใหม่ๆ ในการเจาะตลาด และความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนที่ต้องการจะเข้ามาร่วมซื้อสิทธิ์ในลีกนี้
แหล่งข่าวได้กล่าวกับ ESPN ว่า แม้จะเปิดลีกไปได้แค่ 3 เดือน แต่ Overwatch League มีรายได้ทะลุตัวเลขที่คาดการณ์เอาไว้ล่วงหน้าแล้ว ซึ่งสูงกว่าตัวเลขที่วางแผนไว้ตอนแรกถึงเกือบสี่เท่า โดยรายได้ของลีกนั้นมาจาก ดีลการถ่ายทอดสดผ่าน Twicth เป็นเวลา 2 ปี มูลค่า 90 ล้านดอลลาร์ ดีลสปอนเซอร์ระยะเวลา 2 ปี จาก HP Omen มูลค่า 17 ล้านดอลลาร์ และ Intel 10 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ ยังมีสปอนเซอร์รายอื่นๆ ที่เข้ามาเพิ่มเติมหลังจากเปิดลีกแล้วอย่าง T-Mobile, Toyota และ Sour Patch Kids รวมถึงการขายเสื้อและสินค้าอื่นๆ จากรายได้ทั้งหมดที่ได้รับนี้ คาดการณ์ว่า ทั้ง 12 ทีมที่จ่ายเงินซื้อสิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันมูลค่า 20 ล้านดอลลาร์ อาจจะได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าเร็วกว่าที่คิด
ความท้าทายถัดไปของ Overwatch League คือการหาทีมจากนอกสหรัฐอเมริกามาซื้อสิทธิ์การแข่งขัน ซึ่งในขณะนี้มีเพียง Shanghai Dragon เพียงทีมเดียวเท่านั้นที่เป็นทีมจากต่างชาติ เพราะ Seoul Dynasty และ London Spitfire นั้นเป็นทีมจากบริษัทที่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา โดย Overwatch League ตั้งเป้าดึงทีมจากยูโรปและเอเชียให้มาซื้อสิทธิ์ในซีซั่นสอง ซึ่งเป้าหมายของพวกเขาคือ ทีมจากยุโรป 1 ทีม และ ทีมจากเอเชีย 2 ทีม
ปัญหาสำหรับการดึงทีมจากต่างชาติเข้ามาร่วมซื้อสิทธิ์แข่งขันจากทั้งสองโซนนี้ก็แตกต่างกัน สำหรับยุโรป นักลงทุนจากยุโรปนั้นต้องการความแน่นอน ความปลอดภัย และประวัติผลงานที่ดีก่อนที่จะตัดสินใจจ่ายเงินออกไป ซึ่งแตกต่างกับนักลงทุนจากอเมริกาที่กล้าเสี่ยงมากกว่า ดังนั้น สิ่งที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด สำหรับการหาทีมจากยุโรปคือ การเล็งไปที่นักลงทุนอเมริกันที่มีทีมฟุตบอลในต่างประเทศแทน
ส่วนในฝั่งเอเชีย นักลงทุนที่สนใจใน eSports อาจจะยังไม่มีแรงจูงใจมากพอที่จะทำทีมเข้าร่วม Overwatch League อย่างเช่นในเกาหลีใต้ ชื่อแบรนด์ที่สนับสนุน eSports ที่เราได้ยินอยู่บ่อยๆ อย่าง SK Telecom, CJ Entus และ KT Rolster นั้นไม่ได้วางขายสินค้าของพวกเขานอกประเทศ ดังนั้น ลีกการแข่งขันในระดับโลกนั้นจึงไม่ได้ช่วยเพิ่มยอดขายให้กับพวกเขาแต่อย่างใด และ การที่ Blizzard ตัดสินใจ ยกเลิกการแข่งขันรายการ APEX ในเกาหลีใต้ก็น่าจะก่อให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีสำหรับนักลงทุนกับเกม Overwatch
สำหรับในประเทศจีน ถึงแม้จะมีผู้เล่นและผู้ชมจำนวนมากมาย แต่นักลงทุนที่มีแนวโน้มจะเข้าร่วมลีกก็กลัวความขัดแย้งทางด้านผลประโยชน์ หรือ มีประวัติที่ไม่ค่อยดีเท่าไรนักในการบริหารจัดการในการทำ eSports อื่นๆ
และอีกหนึ่งกำแพงใหญ่ที่ขวางทีมจากยุโรปและเอเชียให้ไม่กล้าซื้อสิทธิ์เข้าร่วมในซีซั่นถัดไป คือ ราคาค่าสิทธิ์เข้าร่วมที่แพงขึ้นกว่าซีซั่นแรก ซึ่ง Blizzard ได้ประกาศเรื่องนี้ไปเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา แหล่งข่าวเผยว่าตัวเลขที่จะต้องจ่ายสำหรับซีซั่นสองอาจจะสูงถึง 35-60 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว
ทั้งนี้ ต้องมาจับตาดูกันต่อไปว่า Overwatch League จะสามารถหาทีมจากนอกอเมริกามาเข้าร่วมเพิ่มเติมได้มากแค่ไหนในซีซั่นถัดไป
ที่มา: ESPN
Comments
ผมก็เล่นเกมนี้ ดูการแข่งขันมาหลายครั้ง ผมว่าเกมนี้มันสนุกแบบฉาบฉวย ไม่เรียบง่ายแต่เล่นได้เรื่อย ๆ (เพราะว่าเดินได้รอบ map ไม่ต้องเป็นเส้นตรง) แบบ CS:GO ตัวละครไม่เยอะเท่า MOBA ไม่มีการเลือก skill items ความหลากหลายก็จำกัด แถมแผนที่ก็เน้นเดินเป็นเส้นตรงเป็นหลักไม่ว่าจะเป็นการยึดพื้นที่ (Capture Point) หรือเข็นรถ (Escort) สุดท้ายแล้วเกมก็เลยกลายเป็นแบบเดิม ๆ ไม่ค่อยมีอะไรใหม่ให้น่าสนใจในระยะยาว
จะมี map ที่ Pharah ได้เปรียบเกือบทุกทีมที่แข่งก็เลือก Pharah
Mercy ก็ยังคงเป็น a-must pick เหมือนเดิม
Genji, Tracer ก็ยังคงเป็น carry ขวัญใจมหาชน
สูตรการเลือกตัวก็ยังเหมือนเดิมคือ balance ระหว่าง tank, support, carry เท่าที่ดูมาเห็นครั้งเดียวที่มีแปลกแบบแหวกแนวเลยคือ map Junker Town เป็นฝ่ายเข็นรถด้วยสูตร tank 3 healer 2 Widow 1 มีครั้งนั้นครั้งเดียวที่ทำให้ผมแปลกใจได้
That is the way things are.