Tags:
Node Thumbnail

ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา (2017-2018) กูเกิลยกเครื่องหลายส่วนของแพลตฟอร์ม Android ไปเยอะมาก ในระดับที่ว่าตำราพัฒนาแอพ Android ที่อายุเก่าเกิน 2-3 ปีอาจล้าสมัยไปหมดแล้ว แพลตฟอร์ม Android ในปี 2018 มีความแตกต่างจาก Android ปี 2008 แบบที่เรียกได้ว่าไม่เหมือนกันเลยอย่างสิ้นเชิง

ในงาน Google I/O 2018 มีหัวข้อที่พูดถึงประเด็นนี้โดยตรง ผู้นำเสนอเป็นคนที่โลก Android คุ้นหน้ากันมานานอย่าง Romain Guy และ Chet Haase ใช้คำว่าตอนนี้เราเข้าสู่ "Android ยุคใหม่" (Modern Android) แล้ว ธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ ที่สอนกันมาในหมู่นักพัฒนาอาจใช้งานไม่ได้อีกต่อไป

No Description

จาก Timeline จะเห็นว่าในอายุขัย 10 ปีของ Android มีจุดเปลี่ยนที่ราวปี 2013 จากการเปิดตัว Android Studio ในฐานะเครื่องมือพัฒนาหลักตัวใหม่ (มาแทนปลั๊กอิน Eclipse ของเดิม) แต่กว่า Android Studio จะนิ่งก็ต้อง รอจนถึงปลายปี 2014 ในเวอร์ชัน 1.0

หลังจากนั้นเป็นต้นมา โลกของ Android ก็เกิดภาวะการ "ถอดเปลี่ยนชิ้นส่วน" เอาของเก่าล้าสมัยออก เอาของใหม่ใส่เข้าไป เรียกได้ว่าแทบทุกส่วนนับตั้งแต่ IDE, ภาษา, รันไทม์ ไปจนถึงส่วนยิบย่อยอื่นๆ ด้วย

No Description

Tools: Android Studio

เริ่มจากเครื่องมือพัฒนา เปลี่ยนจาก Eclipse Plugin มาเป็น IDE ของตัวเองอย่าง Android Studio ที่พัฒนาอยู่บน IntelliJ IDEA

มาถึงตอนนี้ต้องบอกว่า Android Studio ค่อนข้างเติบโตอย่างสมบูรณ์ มีเครื่องมืออำนวยความสะดวกพร้อมสรรพ ไม่ว่าจะเป็น visual layout editor, realtime profiler, APK analyzer เป็นต้น

No Description

Runtime: ART

การเปลี่ยนแปลงรันไทม์จาก Dalvik เป็น ART เกิดขึ้นตั้งแต่สมัย KitKat (เริ่มใช้จริงใน Lollipop) มาถึงตอนนี้ ART กลายเป็นมาตรฐานเดียวของรันไทม์ Android ไปเรียบร้อยแล้ว

ในแง่ของนักพัฒนาและผู้ใช้คงไม่มีอะไรต้องเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่การเปลี่ยนจาก Dalvik ที่ออกแบบมาบนมือถือทรัพยากรต่ำ (Android สมัยแรกๆ มีแรมไม่ถึง 64MB) มาสู่ ART ที่สร้างมาเพื่อสมาร์ทโฟนยุคใหม่ ก็ช่วยให้ประสิทธิภาพของ Android ดีขึ้นมาก

อ่านรายละเอียดในบทความ รู้จัก ART รันไทม์ตัวใหม่ของ Android L ที่จะถูกใช้แทน Dalvik, ประสิทธิภาพดีกว่าเดิม

Language: Kotlin

สถานะของ Android ตอนนี้รองรับสองภาษาคือ Java และ Kotlin อย่างเท่าเทียมกัน แต่ทิศทางของกูเกิลก็เห็นได้ชัดว่ามุ่งไปทาง Kotlin และในการบรรยาย Modern Android ทางทีมงานก็ยอมรับว่าซัพพอร์ต Java เวอร์ชันใหม่ๆ ได้ช้าเกินไป และแนะนำว่า Kotlin คืออนาคต

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านไม่จำเป็นต้องย้ายไปใช้ Kotlin ทั้งหมด 100% เพราะสามารถใช้ร่วมกับโค้ดเก่าที่เป็น Java ได้เช่นกัน รู้จักภาษา Kotlin ภาษาที่สองของโลก Android ใช้ทดแทน-ควบคู่กับ Java ได้ 100%

กูเกิลยังแนะนำว่าถ้าอยากเขียน Kotlin ให้ใช้ส่วนขยาย KTX ที่ช่วยให้โค้ดของ Kotlin สั้นลง

Support Library: Jetpack

ประกาศสำคัญอีกอย่างของ I/O 2018 คือ Android Jetpack ซึ่งเป็นการรวมไลบรารีสนับสนุนการเขียนแอพให้เป็นชุดเดียวกัน ใช้แบรนด์ใหม่ว่า Android Jetpack

Jetpack ไม่ใช่ของใหม่ 100% หลายอย่างเป็นสิ่งที่นักพัฒนา Android คุ้นเคยกันอยู่แล้ว (เช่น Fragment) และหลายส่วนนำมาจาก Android Architecture Components ที่ประกาศในงาน I/O 2017 เช่น Rooms (ฟีเจอร์เก็บข้อมูลที่ครอบบน SQLite) หรือส่วนของ Lifecycles, LiveData, ViewModel

No Description

ของใหม่ของ Jetpack ในปี 2018 ก็อย่างเช่น Paging (ตัวแบ่งหน้าโหลดข้อมูล) และ Slices

รายละเอียดอ่านเพิ่มเติมได้จาก Use Android Jetpack to Accelerate Your App Development

UI & Design: Material Theming

ของใหม่อีกอย่างใน Google I/O 2018 คือ Material Theming พัฒนาการขั้นกว่าของ Material Design

ในแง่หลักการออกแบบคงไม่ต่างจากเดิมมากนัก แต่ในแง่การสร้างสไตล์เฉพาะของแต่ละแอพให้เป็นที่จดจำได้มากขึ้น Material Theming จะเข้ามาช่วยผลักดันตรงนี้ ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งกว่าจะเริ่มเห็นผล เพราะแอพของกูเกิลเองก็เพิ่งเริ่มใช้เป็นบางตัวเช่นกัน

Distribution: Android App Bundle

นอกจากตัวแอพของเราแล้ว โลกของการกระจายแอพไปยังผู้ใช้ผ่าน Google Play ก็เปลี่ยนไปจากเดิม มีเทคนิคใหม่ๆ อย่าง Google Play Instant หรือ Android App Bundle เพิ่มเข้ามา

นักพัฒนา Android แทบทุกคนต้องใช้งาน Google Play อยู่แล้ว ก็ควรเรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ เหล่านี้เช่นกัน

No Description

สรุป: นักพัฒนา Android จงดูคลิปนี้

Modern Android ยังมีรายละเอียดเชิงลึกอีกมาก เช่น การใช้ fragment หรือการใช้ ContrainLayout นักพัฒนาสาย Android ควรอัพเดตความรู้ของตัวเองให้เป็นปัจจุบัน เพราะความรู้เดิมๆ บางส่วนอาจล้าสมัยไปแล้ว (โลกมันโหดร้าย) และคงไม่มีใครพูดเรื่องนี้ได้ดีเท่ากับทีมพัฒนา Android โดยตรง ในคลิปด้านล่าง

Get latest news from Blognone

Comments

By: adente
ContributorSUSESymbianWindows
on 20 May 2018 - 09:26 #1050495
adente's picture

แต่ก่อนแค่เตรียม env ไว้ dev ก็วันหนึ่งละ เดียวนี้ไม่ได้เขียนเลยไม่รู้เป็นไงบ้างแต่ดูจาก video แล้วอยากกลับไปเขียนอีกจริงๆ

By: PH41
ContributorAndroidUbuntuWindows
on 20 May 2018 - 10:42 #1050520
PH41's picture

แล้ว iOS...

By: KimoiEngineGuy
AndroidRed HatSUSEUbuntu
on 22 May 2018 - 07:19 #1050810 Reply to:1050520
KimoiEngineGuy's picture

¯\_(ツ)_/¯

By: akira on 20 May 2018 - 11:48 #1050537

หนีไปสนใจ Service อย่างเดียว ฝั่ง Client เดี๋ยวนี้อะไรก็ได้ไม่แคร์ ยิ่งเขียนง่ายยิ่งดี เอาเวลาไปคิดไอเดียทำโปรแกรมดีกว่า แนวโน้มโปรแกรมจะเขียนง่ายขึ้นเรื่อยๆ แข่งกันที่ไอเดียไปใช้งานมากกว่า หลังจากจับเครื่องมือเขียน AI ของ Google บอกได้เลยว่าต่อไปการเขียนโปรแกรมจะง่ายกว่าปัจจุบันอีกเยอะ เล่นกับข้อมูลอย่างเดียวหน้าจอให้ AI จัดการได้แน่นอน (ในอนาคต)

By: ti.krab
Android
on 23 May 2018 - 18:00 #1051151

เหมือนอีกเรื่องตอนนี้ ก็ 4 ปีเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ข่าวไอที

สงสัยคงเป็นเรื่องบังเอิญเวลาดัน 4 ปีเหมือนกัน
ไม่คิดลึกดีกว่า :)