Android One เป็นโครงการที่ Google แรกเริ่มเดิมทีตั้งใจสร้างขึ้นมาเพื่อเจาะตลาดสมาร์ทโฟนรุ่นเล็ก แต่ด้วยผลตอบรับที่ไม่ดีนัก ทำให้ Google มีการปรับเปลี่ยนเป้าหมายของโครงการไปมาพอสมควร จากเดิมที่เน้นขายมือถือรุ่นเล็กสำหรับผู้ที่ไม่เคยใช้สมาร์ทโฟนในประเทศกำลังพัฒนา กลายไปเป็นเน้นทำมือถือ Mid-range ที่เน้นเรื่องประสบการณ์ใช้งานแทน
ในบทความนี้ จะพาไปย้อนรอย Android One ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
โครงการ Android One ถูกพูดถึงครั้งแรกในงาน Google I/O เมื่อปี 2014 โดย Google จับมือกับเหล่า OEM สร้างสมาร์ทโฟน Android ที่จะได้รับอัพเดตซอฟแวร์โดยตรงจาก Google การันตีอยู่ที่ 2 ปี และจะกำหนดสเปกฮาร์ดแวร์บางอย่าง เพื่อให้ผู้ใช้ได้สมาร์ทโฟนที่มีคุณภาพ ในราคาจับที่ต้องได้
เดือนกันยายน Google เปิดตัวมือถือ Android One 3 รุ่นแรกในอินเดียคือ Micromax Canvas A1, Spice Dream UNO, Karbon Sparkle V ทั้งสามรุ่นเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นเล็ก ราคาย่อมเยา โดยสาเหตุที่เลือกอินเดียเป็นประเทศแรก เพราะยังมีประชากรเพียง 10% เท่านั้นที่เข้าถึงสมาร์ทโฟน รวมถึงยังเป็นตลาดสมาร์ทโฟนขนาดใหญ่
ก่อนที่ช่วงสิ้นปีจะเปิดตัว Symphony Roar A50 ในบังกลาเทศอีกรุ่น สรุปคือในปี 2014 มีมือถือในโครงการทั้งหมด 4 รุ่น
ปี 2015 มือถือ Android One เริ่มขยายตลาดในหลายประเทศมากขึ้น มีการเปิดตัวมือถือ Android One ทั้งหมด 12 รุ่นใน 10 กว่าประเทศ
ช่วงต้นปีมีการเปิดตัวมือถือ Android One 3 รุ่นแรกในประเทศอินโดนีเซีย และอีก 2 รุ่นในฟิลิปปินส์ ทั้ง 5 รุ่นยังคงสเปคเดิมกับรุ่นเมื่อปีที่แล้ว แต่มาพร้อมกับ Android Lollipop รุ่นใหม่ ก่อนจะตามมาด้วย General Mobile 4G ในตุรกีช่วงกลางปี ก่อนจะปล่อยInfinix Mobile Hot 2 X510 ที่เป็น Android One รุ่นแรกที่วางขายในแอฟริกาและ i-mobile IQ II สมาร์ทโฟน Android One รุ่นแรกที่ขายในไทย
เดือนมิถุนายน 2015 นับเป็นเวลา 9 เดือนแล้วที่มือถือ Android One วางขายในอินเดีย แต่รายงานจากบริษัทวิจัย Convergent Catalyst เผยว่ากลับมียอดขายไม่ถึง 1 ล้านเครื่อง คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดเพียง 2% - 2.5% เท่านั้น ซึ่งสาเหตุอาจเป็นเพราะช่องทางการขายที่ไม่สมเหตุสมผล (ต้องการเจาะผู้ที่ไม่มีอินเตอร์เน็ตแต่ขายออนไลน์เท่านั้น) อย่างไรก็ตาม Google ก็ยังยืนยันที่จะผลักดัน Android One ต่อไป i-mobile IQ II เปิดตัวเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2015
ปี 2016 มีมือถือ Android One เปิดตัวเพียง 2 รุ่น เริ่มจาก General Mobile 5 Plus ในตุรกีและ Sharp 507SH ในญี่ปุ่น
ไฮไลท์ของ Android One ปีนี้คือการปรับระดับสเปคให้ขยับขึ้นมาที่ Mid-Range มากขึ้น จากการปรับปรุงสเปคอย่างการขยายหน้าจอเป็น 5.5 นิ้ว (เดิมราว 4.5 นิ้ว) ใช้ชิปเซ็ตระดับสูงขึ้นอย่าง Snapdragon 617 (เดิมใช้ Mediatek ไม่ก็ Snapdragon 410)
Sharp 507SH ในญี่ปุ่น
ปีนี้ Google เริ่มได้แบรนด์สมาร์ทโฟนใหญ่ ๆ เข้าโครงการ Android One มากขึ้นอย่าง Motorola X4, HTC U11 life
ไฮไลท์ของปีนี้อยู่ที่การจับมือกับ Xiaomi เปิดตัว Mi A1 ที่เป็น Android One รุ่นแรกจากแบรนด์จีน วางขายใน 37 ประเทศใน 5 ทวีป นับเป็นครั้งแรกที่ Android One เข้าสู่ตลาดโลกผ่านแบรนด์ใหญ่
ปี 2017 ถือว่าเป็นปีที่ก้าวกระโดดของ Android One มีมือถือเปิดตัวในปีนี้ถึง 10 รุ่น และเป็นกลุ่ม Mid-range ถึง 3 รุ่น เรายังได้เห็นมือถือ Android One จากพาร์ทเนอร์รายใหญ่หลายราย ไม่ว่าจะเป็น Xiaomi, Motolora, HTC นอกจากนี้ Android One ก็เริ่มหันมาตีตลาดทั่วโลก หลังจากที่เน้นตีตลาดประเทศกำลังพัฒนามาตลอด 3 ปี (ไม่รวมญี่ปุ่น)
ในปีเดียวกันนี้ Google ก็เปิดตัว Android Go ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นสำหรับ Android ราคาถูก หลังเริ่มขยับ Android One ขึ้นไปในระดับ Mid-range มาตั้งแต่ปีที่แล้วทำให้เหลือพื้นที่สำหรับสมาร์ทโฟนระดับล่างให้ Android Go เข้ามาเติมเต็มแทน ทั้งในแง่การตลาดและการปรับแต่งของ Go ที่เหมาะกับสมาร์ทโฟนสเปคต่ำมากกว่า
Xiaomi Mi A1 Android One รุ่นแรกจาก Xiaomi
ปี 2018 นับเป็นอีกหนึ่งปีที่สำคัญสำหรับ Android One เพราะว่ามีสมาร์ทโฟนภายใต้โครงการปล่อยออกมาถึง 23 รุ่น มากที่สุดนับตั้งแต่เปิดโครงการนี้ ไฮไลต์สำคัญคือ Nokia 8 Sirocco ที่นับเป็นเรือธงรุ่นแรกภายใต้ Android One (Nokia 8 เวอร์ชันแรกเปิดตัวแบบไม่ได้อยู่ในโครงการ) โดย HMD Global ยังยืนยันว่าโทรศัพท์แอนดรอยด์หลังจากนี้ทั้งหมดจะเป็น Android One ทั้งหมด (ยกเว้นรุ่นเล็กที่เป็น Android Go)
New Nokia 6, Nokia 7 Plus, และ Nokia 8 Sirocco
ในช่วงกลางปี Xiaomi กลับมาอีกครั้งกับ Mi A2 สานต่อความสำเร็จจาก Mi A1 นอกจากนี้ยังปล่อยรุ่นเล็กอย่าง Mi A2 Lite ออกมาด้วย
หลังจากนั้น LG ก็ส่ง G7 One Android One รุ่นแรกของแบรนด์ ตามมาด้วย Motorola One และ Motorola One Power
LG G7 One Android One รุ่นแรกของแบรนด์
ปี 2018 เป็นปีที่มีสมาร์ทโฟน Android One ปล่อยออกมามากที่สุด นอกจากนี้ เรายังได้เห็นระดับสเปคตั้งแต่รุ่นเล็กไปจนถึงเรือธง แสดงให้เห็นว่าทิศทางของ Android One ได้เปลี่ยนจากเจตนารมณ์เมื่อตอนเปิดตัวไปอย่างสิ้นเชิง
ในปี 2019 มีมือถือ Android One ปล่อยออกมาทั้งหมด 13 รุ่น โดยมีรุ่นเด่นๆ ดังนี้
ในช่วงต้นปี Nokia กลับมาอีกครั้งในงาน MWC 2019 รอบนี้เปิดตัวสมาร์ทโฟน Android One 3 รุ่นได้แก่ Nokia 3.2, Nokia 4.2 ทั้งสองรุ่นมาพร้อมปุ่มเรียก Google Assistant ด้านข้างเครื่อง และเรือธงรุ่นใหม่ล่าสุด Nokia 9 Pureview ที่มาพร้อมกับกล้องหลัง 5 ตัว รุ่นแรกของโลก
Nokia 9 Pureview กล้อง 5 ตัวรุ่นแรกของโลก
ในช่วงปลายปีก็มี Xiaomi Mi A3 ตามมาด้วย Mara Z สมาร์ทโฟนรุ่นแรกที่พัฒนาและผลิตในทวีปแอฟริกาที่รันระบบ Android One (Infinix Mobile Hot 2 X510 ก่อนหน้านี้เป็นแบรนด์ฮ่องกง)
Mara Z สมาร์ทโฟนสัญชาติรวันดา
ในปี 2019 มีมือถือ Android One ปล่อยออกมาน้อยลงจากปี 2018 อยู่มาก นอกจากนี้ Android One แทบทุกรุ่นก็มาจากแบรนด์ใหญ่ๆ มีเพียงรุ่นเดียวเท่านั้นที่มาจากแบรนด์ท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ในเดือนกุมภาพันธ์ Google เผยว่า Android One มีอัตราการเติบโต (นับตามจำนวน activation ของเครื่อง) อยู่ที่ 250% ต่อปี
ในปี 2020 ข่าวคราวของ Android One กลับเงียบหายไป นับตั้งแต่เดือนมกราคมมาจนถึงเดือนมิถุนายน 2020 มีมือถือ Android One ออกมาเพียง 3 รุ่นเท่านั้น ประกอบไปด้วย Nokia 8.3, Nokia 5.3 และ Motorola Moto G Pro ทั้งสามรุ่นสเปคค่อนข้างคล้ายกัน มีเพียง Nokia 8.3 เท่านั้นใช้ชิป Snapdragon 765G รองรับ 5G ขณะที่ Xiaomi ยังไม่มีวี่แววปล่อย Mi A4 ออกมา
Android One ก็เหมือนกับหลาย ๆ โครงการที่มีสภาพลองผิดลองถูก ปรับเปลี่ยนเป้าหมายและสถานะไปตามสภาพตลาด รวมถึงเสียงตอบรับจากพาร์ทเนอร์
อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่าโครงการนี้ไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก (มี Nokia แบรนด์เดียวเท่านั้นที่ใช้ Android One อย่างจริงจังในทุกรุ่น) และแม้ปีนี้จะผ่านไปครึ่งปี แต่การที่มี Android One ออกมาเพียง 3 รุ่น เทียบกับช่วง 2018-2019 ที่พีค ๆ ครึ่งปีแรกที่ออกมา 9 และ 6 รุ่นตามลำดับ อาจเป็นภาพสะท้อนว่าถึงขาลงของ Android One แล้วก็ได้ (แม้จะไม่ได้ขึ้นสูงแต่แรกก็ตาม)
บทความต่อไป ผู้เขียนจะวิเคราะห์และพยายามหาคำตอบว่าทำไม Android One ถึงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
Comments
รูปทรงแบบไม่คิดเยอะ
ถูกและดีเท่าเรือธงไม่มีอยู่จริง :P
คงอธิบายได้แค่ว่าสาเหตุปี 2020 เป็นปีขาลงแทบทุกธุรกิจ
เพราะ โดน Covid-19 ระบาด
ในแง่การตลาด มือถือที่ตั้งราคาถูกไป ก็เหมือนได้มาร์จิ้นน้อยทั้งร้านค้า-เซลล์ขายมือถือ ได้กันไม่กี่บาทต่อเครื่อง เมื่อเทียบกับรุ่นหลักหมื่นหรือเรือธง
ต้องไปเน้นขายเอาปริมาณอย่าง ประเทศประชากรเยอะอย่าง จีน อินเดีย ได้แค่นั้น
ไหนจะกลุ่มที่ใช้จะเป็นคนที่มีกำลังทรัพย์น้อย=ยิ่งเปลี่ยนมือถือช้า
เพิ่มเงินอีกนิดก็ได้สเปคดีกว่า หรือ ของมือสองสเปคดีราคาลงมาใกล้เคียงกัน
ทำให้แต่ละยี่ห้อมองแล้วไม่คุ้มที่จะออกล็อตใหม่ๆหรืออยากมาเล่นตลาดที่ต้องการคนซื้อหมุนเวียนทุกปีต่ำ
มันไม่ได้รับการอัพเดตจริงป่ะครับ?
คือ ฟีเจอร์แย่กว่า แต่ตอนอัพเดตดันช้าพอกัน
ถ้าดูจากตัวที่ผมใช้ (Nokia 7 plus) ผมว่าอัพเร็วเลยนะ
ไม่นะ ผมใช้ 6.1 plus ก็อัพเดทตลอดนะครับ มาทุกเดือนเลย
+1
ที่ผมเห็นของ MI A2 lite อัพเดตจะมาช่วงปลาย ๆ เดือน แต่ตอนที่ Android 10 กำลังจะมา อัพเดตดีเลย์ 2-3 เดือนเลย ช่วงนี้ก็ยังเหมือนดีเลย์นิด ๆ
ผมใช้ Mi A1 อยู่ ยังได้อัพ security patch เดือนที่แล้วเลยครับ
Security Patch เร็วอยู่ แต่พอข้ามเลขรุ่นคือช้า และช้าพอ ๆ กับเรือธงในค่าย หรือ ช้ากว่าด้วยซ้ำ ที่สำคัญมันไม่ควรช้ากว่า Pixel เป็นเดือน ๆ ซึ่งหลายรุ่นเป็นแบบนั้น
แล้วแน่นอนว่า ฟีเจอร์บางอย่าง มาพร้อมกับฮาร์ดแวร์บางอย่างเช่นกัน เมื่อมองดู Pixel แล้วมอง Android One มันเลยเห็นว่าบางอย่างหายไป
สมัยเปิดตัวนั่นผมทำงานอยู่ที่ i-mobile ด้วยตำแหน่งต้องเอาเครื่องรุ่นใหม่ๆมาถือใช้เพื่อทดสอบฟังก์ชั่นต่างๆเผื่อเวลาลูกค้าถามจะได้ช่วยพนักงานขายตอบได้ แล้ว i-mobile ก็ออกมือถือมาเดือนนึง 4-5 รุ่น ไม่รู้จะเยอะไปไหน วันๆต้องพกมือถือ 3 เครื่องอย่างต่ำ เปลี่ยนมือถือใหม่ทุกเดือนๆ
แต่มี IQ II นี่แหละที่ได้ถือแล้วไม่ยอมเปลี่ยนเลย เพราะเครื่องใช้ดีกว่าพวกรุ่นที่บอกว่าตัวท๊อปๆ Snap 615 RAM 3GB อีก ทั้งๆที่สเปคเป็น Snap 410 RAM 1GB เอง ไม่รู้เป็นเพราะ software รุ่นอื่นมันกากจัดหรือรุ่นนี้มันดีจัด
ผมซื้อ i-mobile IQ II ให้คุณพ่อใช้ เพราะส่วนตัวแล้วชอบ Pure Android เนื่องจากมันเกลี้ยงดีและมีอัปเดตความปลอดภัย
คุณพ่อใช้มาจนถึงทุกวันนี้ แต่บอกว่ารำคาญที่ช่วงหลังต้องชาร์จบ่อย เพราะแบตเสื่อมแล้ว อยากให้ช่วยไปซื้อแบตมาเปลี่ยน แต่ผมไม่รู้จะไปหาแบตจากไหน เลยซื้อเครื่องใหม่เปลี่ยนให้เมื่อกลางเดือนที่แล้วนี่เอง ฮา
ตอนนี้เครื่องยังสภาพดีใช้งานได้ปกติทุกอย่าง (ยกเว้นแบตเสื่อม) (><)
~ HudchewMan's Station & @HudchewMan~
เพราะ Android One ไม่มีใน Flagship ที่แท้จริงๆเลย
ถ้าจำไม่ผิดมันไม่มีใน SD8XX รุ่นปัจจุบัน และบังเอิญว่า SD8XX มันเร็วกว่า SD6XX กับ 7XX มาก(ประมาณ 2 ปี)
ผมไม่รู้ว่าทำไม Google ถึงทำแบบนี้
หลังๆ เริ่มมองไม่ออกระหว่าง Pure Android กับใกล้ๆ Pure Android ซึ่ง Rom มือถือหลังๆก็ไม่ค่อยต่างจาก Pure Android มาก ทำให้ความจำเป็นของ Pure Android ลดลง
+ เรายังแทบไม่เห็นข่าวข้อเสียของการ Update ช้าสักเท่าไหร่นะ
Android one ก็เหมือนออกมาขัดตาทับ เพื่อเป็นพื้นฐานให้ android เวอชั่นของตัวเอง ว่าควรพัฒนาไปในทิศทางใหน ด้วยความเป็น opensource ยังไงบริษัทต่างก็อยากได้โอเอสที่มีความเฉพาะของตัวเองเพื่องสร้างความแตกต่างที่สามารถเป็นจุดขาย มากกว่าแค่ฮาดแวร์ หรือ หาประโยชน์เพิ่มเติม เช่น แอปเทิดปาตี้ หรือโฆศนา หรือดาต้าอื่นแล้วแต่นโยบายบริษัท
Android one มันก็ดีนะ เพียวๆ ไม่มีอะไร มาก ลื่นๆ แต่ Uiมัน ไม่สวยแบบ ค่ายอื่น กูเกิล ก้ไม่ออกแบบมาให้สวยๆ ลุกเล่นต่างก็สุ้ค่ายอื่นไม่ได้อีก
ผมชอบ android 1 นะครับ ใช้ง่ายดี เพราะผมไม่อยากได้ฟังก์ชั่นอะไรเยอะแยะ
อยากใช้มือถือลื่นๆสะอาดตามากกว่า
แต่ปัญหาคือ แบรนด์มือถือไม่ค่อยทำออกมาขาย
ทำแต่ spec กลางๆ
google ราคาสูง เจาะตลาดบนอย่างเดียว และไม่เข้าเอามาขายในไทย
ผมชอบ pure Android นะ เพราะมันโล่งดี เครื่องปัจจุบัน Moto G5 Plus (เกือบจะ pure) นี่ใช้มาเกือบ 4 ปีล่ะ
เสียดายที่พวก Android One ในไทยนี่มีตัวเลือกรุ่นไม่ค่อยมาก ^^'a
~ HudchewMan's Station & @HudchewMan~
มันดีตรงที่ถอดแอพพรีโหลดออกได้ ชื่นใจก็ตรงนี้
เข้าใจว่าราคาขายถูกเกินไป จะโดน overhead ด้าน marketing และการขนส่งกิน
จนอัตราต้นทุนตัวเครื่องต่ำจนไม่คุ้มค่าต่อผู้ซื้อ
ขณะที่ระดับเรือธงจะมีค่า feature/technology ใหม่ๆที่ยังแพงอยู่
ก็เลยทำให้ไม่ค่อยคุ้มค่าต่อผู้ซื้อ
ตลาดเลยอยู่กับมือถือรุ่นกลางๆ ที่คุ้มค่าต่อผู้ซื้อที่สุด
ใช้แต่เพียวแอนดรอยแอนดรอยวันไม่เคยใช้
เครื่องแรกก็moto z
เครื่องที่สองก็moto z2force
moto z2forceแกะหน้าจอง่ายดี
เปลี่ยนแบ็ตเองได้รุ่นใหม่ๆไม่มีหน้าจอกันแตกแล้ว
มันอยู่ที่การตลาดนะผมว่า แอนดรอยวัน ดีก็ดีแบบเงียบๆไม่มีใครกล่าวถึงเท่าไหร่ คือมันไม่มีจุดเด่นเรื่องกล้อง เรื่องจอ หรือเรื่องอื่นๆที่เอาไปคุยกับชาวบ้านเขาได้นอกจากเรื่องอัพเดพเพด
คือความสำคัญของการอัพเดพเพดมันมีน้อย จุดเด่นเลยไม่ได้ถูกกล่าวถึง
ไม่ใช่ทุกคนจะชื่นชอบ Android One
สังเกตได้เลยว่า คนส่วนใหญ่ที่เลือก Android One มักจะเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีพอสมควร ในขณะที่ส่วนใหญ่ของตลาดมักจะเลือกสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบ เช่น สีเครื่องสวย UI สวยงาม เหมือนไอโฟน ลง theme ได้ สเปกแรง และฟีเจอร์อื่น ๆ เช่น โคลนแอปฯ ได้ (หลายคนไม่รู้ว่าลงแอปสำหรับโคลนแอปเพิ่มได้) รับสายโทรออกขณะเล่นเกมได้ สามารถเปิดโหมดเล่นเกมได้ ในขณะที่ Android One ไม่มีอะไรพวกนี้เลย หลาย ๆ อย่างที่ไม่เกี่ยวกับฮาร์ดแวร์หรือเฟิร์มแวร์ดั้งเดิม ผู้ใช้คือผู้ตัดสินใจเลือกเอง
ถ้า Android One จะประสบความสำเร็จมากกว่านี้ Google ต้องรู้จักศึกษาความต้องการของตลาดให้มากขึ้นกว่านี้ เช่น มีตัวเลือกเปลี่ยน theme ระบุแนวทางการสร้าง theme สำหรับ Android, calling API, hardware boost API, มี session สำหรับแอปแยกจากกัน (โคลนแอป) แต่คิดว่ายังไงก็ไม่ทำ เพราะผู้ผลิตรายใหญ่จะประท้วงเอา เพราะรายเล็กจะขึ้นมาท้าชนได้ง่ายกว่าเดิมเพราะไม่ต้องพัฒนาเอง สิ่งที่ตัวเองเคยชูเป็นจุดขาย ถ้าไม่ใช่เรื่องของฮาร์ดแวร์ ก็จะใช้ไม่ได้อีกต่อไป
เห็นด้วยครับ
ผมว่าอีกส่วนคือ ผู้ผลิตหลายๆ เจ้าเอง ไม่ค่อยอยากลงตลาดกับ android one มาก เพราะใส่อะไรเข้าไปไม่ได้มาก
โดยเฉพาะ UI ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของ eco system เลย ที่จะทำให้ลูกค้า ติดและเคยชินกับแบรนของตัวเอง และใช้แบรนนั้นไปเรื่อยๆ
เมื่อไม่มีความต่างในการใช้งาน สิ่งที่เอามาสู้กันจริงๆ คงเหลือแค่หน้าตาและสเปก ซึ่งมันเหมือนหั่นกันที่ราคาแค่นั้น ซึ่งไม่เป็นผลตีต่อรายได้ประกอบการเลย และเมื่อลูกค้าจะซื้อใหม่ คงดูแค่หน้าตาและสเปก ไม่สนว่าจะแบรนเดิมมั้ย เพราะมันใช้งานเหมือนกัน ยิ่งกดให้ผู้ผลิตอยู่ยากขึ้นไปอีกในตลาด android one ผู้ผลิตส่วนใหญ่จึงเลี่ยง android one บางเจ้าลงบ้างเพื่อเติมเต็มในตลาดส่วนของ android one
ณ ตอนนี้ น่าจะมีแค่ Nokia และ google เอง ที่ลงสุดซอยกับ android one
จริงๆ Google น่าจะบังคับผู้ผลิตมากกว่า ใครอยากใช้ ui อะไร หรือปรับยังไงก็จัดไป แต่ว่าเมื่อมี update ต้อง update ภายในกี่วัน(หรือเดือน) และอัพให้เป็นเวลากี่ปี(นับจากวันวางจำหน่าย) แล้วมี certificate รองรับให้เป็นรุ่นๆ ไปเลย อย่างนี้น่าจะวินๆ ทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภคมากกว่า รุ่นไหนไม่อยากเข้ากฎนี้ก็แล้วแต่ คนใช้เลือกเอง
ส่วนตัว ณ ตอนนี้ การนิยามมือถือตกรุ่นของผมคือ หมดการอัพเดท ตราบใดที่ยังมี Major update(version update) มันคือยังไม่ตกรุ่น ซึ่ง Android ที่ไม่ใช่ android one หรือเรือธง หลายรุ่นในสายตาผม แทบจะตกรุ่นทันทีนับตั้งแต่วันที่ออก
Oneplus is doing Android better than Android One, Normal customer don't care about "Pure" Andorid.
คิดว่ามันไม่มีจุดเด่นอะไรเลย แถมราคาเท่านี้อาจซื้อแบรนด์จีนได้สเปคดีกว่า ถ้ามันราคาพอกับกับมือถือจีนได้ ก็คงจะแข่งขันได้มากกว่านี้ เพราะคงมีหลายคนที่น่าจะอยากใช้แบบคลีนๆบ้าง
ผมซื้อ Motorola One Vision มาใช้เมื่อปีที่แล้ว เดือน ก.ค.
นี่ใช้มาครบปีพอดี
ส่วนนึงที่ซื้อเพราะมันเป็น Android One
แต่ด้วย Spec ที่ให้มากับราคาต่ำหมี่น มันทำให้รู้สึกคุ้มค่า
และได้จอ 21:9 รุ่นแรกๆ เมื่อปีที่แล้ว (เวลานั้นมี Sony Xperia 10 ที่เป็นจอแบบเดียวกัน)
อ่านดูแล้วมีความสงสาร Nokia เล็กน้อยถึงปานกลาง
ใช้ pure andorid ใน zenfone max pro m1 มา 2 ปี รวมๆผมชอบนะ ลื่นไหล เบาเครื่องดี มีการอัพเดต Security patch ต่อเนื่องแม้ว่าจะออกมานาน
น่าเสียดาย asus ไม่ทำการตลาดในไทยสักเท่าไร
ผมเป็นอีกคนที่เลือกใช้ nokia เพราะ pure andriod