ไอบีเอ็มเปิดตัวซีพียู POWER10 ที่ใช้เวลาพัฒนานานกว่า 5 ปี มีประสิทธิภาพต่อพลังงานดีกว่า POWER9 สูงสุด 3 เท่าตัว และจุดน่าสนใจคือรอบนี้ไอบีเอ็มร่วมมือกับซัมซุงใช้ให้ผลิตชิปด้วยเทคโนโลยี 7nm ให้หลังจากวิจัยร่วมกันตั้งแต่ปี 2015 จุดเด่นสำคัญของ POWER10 ได้แก่
- รองรับหน่วยความจำระดับเพตาไบต์ โดยไอบีเอ็มเรียกว่าเทคโนโลยี Memory Inception เปิดทางให้โปรเซสเซอร์อ้างถึงหน่วยความจำของเครื่องอื่นในคลัสเตอร์เดียวกัน ทำให้อ้างอิงหน่วยความจำได้ขนาดใหญ่ระดับเพตาไบต์ รองรับงานที่ต้องใช้หน่วยความจำสูงๆ ทั้งระบบ ERP เช่น SAP และงานประมวลผลปัญญาประดิษฐ์
- ตัวเร่งความเร็วเข้ารหัส วงจรเร่งความเร็วเข้ารหัส AES เร็วขึ้น และเพิ่มจำนวนชุดเข้ารหัสต่อคอร์ขึ้นสี่เท่าตัวจาก POWER9
- รองรับข้อมูลแบบใหม่ เพิ่มวงจร Matrix Math Accelerator รองรับข้อมูลแบบแมททริกซ์ที่ใช้ในงานปัญญาประดิษฐ์ โดยชนิดข้อมูลก็รองรับทั้ง FP32, bfloat16, และ INT8 ที่นิยมใช้งานในปัญญาประดิษฐ์ทำให้พลังประมวลผลเพิ่มขึ้น 20 เท่าตัวสำหรับข้อมูลแบบ INT8
- ระบบป้องกันข้อมูลสำหรับคลาวด์ เพิ่มฟีเจอร์เข้ารหัสหน่วยความจำ, แยกส่วนคอนเทนเนอร์ที่ระดับฮาร์ดแวร์เพื่อป้องกันกรณีที่บางคอนเทนเนอร์ถูกแฮก ตัว registry ภายในซีพียูสามารถควบคุมการรันคำสั่งได้ เปิดทางสร้างระบบความปลอดภัยจำกัดความเสียหายเพิ่มเติม
ไอบีเอ็มยังคงอาศัยความเป็นเจ้าของ Red Hat ระบุว่า POWER10 ออปติไมซ์สำหรับ OpenShift มาแล้ว โดยซีพียูจะวางขายจริงครึ่งหลังของปี 2021 นี้
ที่มา - IBM
Comments
ความร้อนจะขนาดไหนนะ
หันกลับไปมองที่บางค่ายนั้น ยังคงคาอยู่ที่ 10 nm และยังบอกว่า 7 nm อาจล่าช้าไปอีก 6 เดือนจากกำหนดการเดิม
โครงสร้างข้างในเป็น ARM หรือ 86-64 หนอ
ไม่ใช้ทั้งสองแบบ เป็น PowerPC (Power ISA)
จะเรียกเป็น ppc ก็ได้ไม่เต็มปาก เพราะ ppc คือ power ที่ลดทอนความสามารถลงมา
ใช่ครับ วงแล็บไว้ว่าเป็น Power ISA