คณะกรรมาธิการยุโรปออกกฎใหม่ Digital Markets Act และ Digital Services Act เพื่อกำกับดูแลบริษัท tech เน้นเรื่องการใช้ข้อมูล, การผูกขาดกีดกันการค้า, การสร้างสังคมออนไลน์ที่ปลอดภัยและไม่กดทับการแสดงออก มีผลต่อบริษัทเช่น Facebook, Google, Amazon, Apple ทางสหภาพยุโรประบุว่าถ้าไม่ปฏิบัติตามกฎจะโดนโทษปรับสูง 10% ของรายได้ทั่วโลก
Digital Markets Act
Digital Markets Act มีการวางกรอบสิ่งที่บริษัทควรทำและไม่ควรทำกว้างๆ และหากบริษัทไม่ทำตามจะมีโทษปรับสูง 10% ของมูลค่าการซื้อขายทั่วโลก โดยคณะกรรมาธิการยุโรปมองบริษัท tech เป็นผู้รักษาประตู (gatekeeper) ในตลาดดิจิทัล จึงต้องมีการออกกฎให้แน่ใจว่า ผู้รักษาประตูทำสิ่งที่ถูกต้องและยุติธรรมกับทุกคน
ภายใต้กฎใหม่มีตัวอย่างสิ่งที่บริษัท tech ต้องทำคือ ให้บุคคลภายนอกเข้าไปดำเนินการภายในบริษัทในบางสถานการณ์ได้, อนุญาตให้ผู้ใช้งานทางธุรกิจเข้าถึงข้อมูลที่สร้างขึ้นบนแพลตฟอร์มของบริษัท, ผู้ลงโฆษณาต้องมีเครื่องมือตรวจสอบและควบคุมโฆษณาของตัวเอง, อนุญาตให้ผู้ใช้ทางธุรกิจโปรโมตข้อเสนอและทำสัญญากับลูกค้านอกแพลตฟอร์ม
ด้านสิ่งที่บริษัทห้ามทำคือ ปฏิบัติต่อผลิตภัณฑ์ของแพลตฟอร์มตัวเองดีกว่าผลิตภัณฑ์ของผู้ค้าภายนอก, กีดกันผู้บริโภคไม่ให้เข้าถึงธุรกิจนอกแพลตฟอร์มของตนเอง, ป้องกันไม่ให้ผู้ใช้ยกเลิกการติดตั้งซอฟต์แวร์หรือแอปที่ติดตั้งไว้ล่วงหน้า
Digital Services Act
เน้นการสร้างอีโคซิสเต็มบนอินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยกับผู้ใช้ และไม่กดทับการแสดงออก รวมถึงการจัดการเนื้อหาผิดกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น แอปโซเชียลมีเดียและแอปแชร์วิดีโอทุกขนาดจะต้องจัดลำดับความสำคัญของข้อร้องเรียนที่มาจากคนที่เชื่อถือได้ หรือ trusted flaggers
ร้านค้าออนไลน์ทั้งหมดต้องสามารถติดตามผู้ค้าที่ขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มของตนได้ ในกรณีที่มีค้าปลอมหรือสินค้าผิดกฎหมายอื่นๆ, ตรวจสอบตัวตนของผู้ขายก่อนที่จะได้รับอนุญาตบนแพลตฟอร์ม
แพลตฟอร์มรายใหญ่ต้องมีบุคคลภายนอกเข้ามาตรวจสอบว่าได้ทำตามกฎหรือไม่, ต้องเผยแพร่รายงานการจัดการความเสี่ยงรวมถึงการโพสต์เนื้อหาที่ผิดกฎหมายการบิดเบือนข้อมูลที่อาจส่งผลต่อการเลือกตั้ง และการกำหนดเป้าหมายที่ไม่ชอบธรรมแก่ชนกลุ่มน้อย เป็นต้น
โฆษก Facebook พูดถึงกฎหมายใหม่นี้ว่า มาถูกทางแล้วเพื่อช่วยรักษาสิ่งที่ดีเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต และหวังว่าตัว Digital Markets Act จะกำหนดขอบเขตสำหรับ Apple ด้วย เพราะ Apple ควบคุมระบบนิเวศน์ทั้งหมดตั้งแต่อุปกรณ์ไปจนถึงตลาดค้าแอปพลิเคชั่น และใช้พลังนี้ในการทำร้ายนักพัฒนาและผู้บริโภค ไม่เว้นแม้แต่แพลตฟอร์มใหญ่อย่าง Facebook
ด้าน Google แสดงความกังวล ว่ากฎหมายใหม่ดูเหมือนจะกำหนดเป้าหมายเฉพาะบริษัทเพียงไม่กี่แห่งและทำให้ยากต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อรองรับธุรกิจขนาดเล็กในยุโรป
ส่วน Apple ยังไม่ออกมาแสดงความเห็นใดๆ
Comments
กฎหมายนี้ แอปเปิลเละครับ...
Coder | Designer | Thinker | Blogger
Facebook กับ Google เองก็น่าจะเละด้วยครับ
แค่มนุษย์คนนึงที่อยากรู้เกี่ยวกับวงการไอที
นี่คือข้อดีของการรวมกันเป็นปึกแผ่น อาเซียนเรายังไม่แข็งแกร่งพอที่จะเรียกร้องแบบนี้ได้
ในยุโรปนี่การป้องการผูกขาดค่อนข้างเข้มงวดนะ คือพยายามป้องกันสุดๆเพื่อไม่ให้บริษัทใหญ่ๆมีอำนาจมากเกินไป
แต่ก็นะ Tech Giant นี่ก็อเมริกาทั้งนั้น ในมุมมองการเมืองถ้าปล่อยให้บริษัทพวกนี้มีอำนาจมากเกินไปมันก็ไม่ต่างอะไรจากการเสียอำนาจส่วนหนึ่งให้ต่างชาตินั่นแหละ เพราะงั้นยุโรปก็คงต้องกระตือรือร้นเรื่องพวกนี้หน่อย
มองอีกมุมก็คือ ทางยุโรปแอบกีดกัน บริษัทไอทีอเมริกา
บางทีก็สงสัยว่าทำไมผิดกฎยุโรปถึงสามารถปรับได้ 10% ของรายได้"ทั่วโลก"
มันกฏหมายของเขาครับ คือจะบังคับใช้สำหรับบริษัทที่จดทะเบียนใน EU ต้องทำตามกฏหมายของเขา
ซึ่งกฏข้อนี้คือ บ. ที่ทำผิดต้องโดนปรับคิดจากจากรายได้ทั่วโลก
ดังนั้นถ้าบ. ไม่อยากโดนปรับ ก็มีแค่ 2 ทางเลือก คือ
1. ไปเปิด บ.ในนอกเขต EU (แต่ก็จะทำตลาดใน EU ยากเพราะมีกฏข้ออื่นบังคับอยู่)
2. เลิกทำตลาดใน EU ไปเลย
มันเป็นกฏหมายแบบจำยอมครับ ไม่ได้หมายความว่า EU จะสามารถไปตามยึดเอาสินทรัพย์ที่อยู่นอก EU ได้
แต่ EU สามารถยึดทรัพย์ที่อยู่ใน EU ตามมูลค่าของข้างนอกที่กฏหมายกำหนดได้
อย่าง USA ก็มีกฏที่บังคับพลเมืองอเมริกันที่อยู่นอกประเทศได้ด้วย เช่น เวลาเราไปเปิดบัญชีธนาคาร
ธนาคารไทยก็จะมีคำถามให้เรากรอกเสมอคือเป็นพลเมืองอเมริกันหรือไม่ เพราะถ้าเป็น ทางธ.ต้องส่งข้อมูลการเงินให้ทางการสหรัฐหากถูกร้องขอด้วยเป็นต้น (กรณีนี้ไม่ได้หมายความว่าสหรัฐจะสั่งธนาคารในไทยได้ แต่เป็นภาวะจำยอมที่หากธนาคารไทยอยากทำธุรกรรมกับธ.ในสหรัฐก็ต้องปฏิบัติตามนี้ [ถ้าไม่อยากส่งข้อมูลก็ห้ามมาทำธุรกิจกับฉันนะ])
ผมคิดว่าคุณอาจจะเข้าใจผิด ปรับได้ 10% ของรายได้ทั่วโลก ไม่ได้แปลว่าปรับได้ทั่วโลกครับ
EU เองก็จับปรับได้แค่บริษัทที่ทำผิดใน EU หรือเกี่ยวกับ EU เองแค่นั้นแหละครับ ไม่ได้มีอำนาจไปไล่ปรับได้ทุกบริษัททั่วโลก แค่ปรับเป็นจำนวนเงิน 10% ของรายได้ทั่วโลกแค่นั้นเอง
ถ้าถามว่าทำไมถึงต้องเป็นรายได้ทั่วโลกก็เพราะผลประโยชน์จากการทำผิดมันอาจส่งผลไปถึงรายได้ทั่วโลกครับ เขาก็เลยปรับโดยคิดจากรายได้ทั่วโลก
ทำไมไม่เขียนปรับเป็น 50% หรือ 100% ของรายได้ทั่วโลกเลย
ก็ไม่คิดว่าปรับได้ทั่วโลก แต่สงสัยว่าทำไมไม่นับเฉพาะรายได้ที่เกิดในเขต EU ถ้ากลัวน้อยเกินไปจะปรับ 30% 50% ของรายได้ที่เกิดใน EU ก็ว่าไป คือประเด็นอยู่ที่ว่ารายได้ทั่วโลกอยู่นอกเหนืออาณาเขตความควมคุมของ EU
ทำไมถึงต้องเป็นทั่วโลกแทนที่จะเป็น EU? อย่างที่ผมบอกไปครับ ว่าผลประโยชน์ที่ได้จากการทำผิดเนี่ย มันอาจจะส่งผลถึงรายได้ทั้งโลกไม่ใช่แค่ใน EU อย่างเดียว เพราะงั้นหากปรับแค่รายได้จาก EU อาจจะไม่ใช่ตัวเลขที่เหมาะสมก็ได้
เช่น สมมติบริษัท G ทำโฆษณาขายของให้คนทั้งโลก โดยกีดกันโฆษณาของบริษัทหนึ่งใน EU ที่ตั้งใจจะทำตลาดทั้งโลกเหมือนกัน สมมติว่าการกีดกันครั้งนี้ส่งผลให้รายได้ของ G สูงขึ้นทั่วโลกยกเว้น EU เพราะงั้นถ้าหักแค่รายได้จาก EU ก็จะได้น้อยนิดเดียว ทั้งๆที่ผลประโยชน์ที่ได้จากการกีดกันมันได้มากกว่าแค่รายได้ใน EU
ส่วนรายได้ทั้งโลกเกินความควบคุมไหม? ต้องเข้าใจ 10% ของรายได้ทั้งโลกมันคือจำนวนเงิน ไม่ได้หมายถึงว่าให้หัก 10% จากรายได้ของทุกสาขามาจ่าย จะเอารายได้จาก EU อย่างเดียวมาจ่ายก็ได้ไม่มีใครว่า มันเป็นแค่ตัวเลขกำหนดจำนวนเงินเฉยๆ เพราะงั้นมันไม่อยู่นอกเหนือการควบคุมหรอกครับ เพียงแค่ว่าการกำหนดตัวเลขที่ว่ามันจะสมเหตุสมผลไหมมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง (แต่ส่วนตัวผมมองว่ารายได้จากทั่วโลกมันสมเหตุสมผลกว่ารายได้จาก EU ครับ)
บริษัทข้ามชาติ มีธุรกิจทั่วโลก การให้คิดเฉพาะรายได้แค่ EU ทำได้ยาก เพราะมันคำนวนยาก โยงใยกันซับซ้อน แถมมีโอกาสทำ transfer pricing โยกกำไร หรือ ไป recognize profit ใน tax haven นอกยุโรปได้อีก บริษัทอาจไม่ยอมเปิดเผยรายได้ในยุโปรที่แท้จริง
การกำหนดให้คิดจากรายได้ทั้งหมดทั่วโลก (ดูงบ consol.) จะทำให้ กม มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้มากกว่า ไม่ต้องตีความมาก
น่าแปลก
positive reaction ดันมาจาก Facebook ส่วน negative reaction มาจากบริษัทเมก้าเทค