เดือนที่ผ่านมา Blognone มีโอกาสได้สัมภาษณ์ Santhosh Viswanathan รองประธานและผู้จัดการทั่วไปของอินเทลเอเชียแปซิฟิก ถึงประเด็นการกระจายชิปในภูมิภาคนี้ โดยยืนยันว่ากระบวนการกระจายชิปยังเท่าเทียมกันทั่วโลก ไม่ได้ดึงชิปไว้กับภูมิภาคใดเป็นพิเศษ
การเปิดตัวซีพียูยุคใหม่ในช่วงหลังๆ มักเห็นพันธมิตรเช่นผู้ให้บริการคลาวด์รายใหญ่ อย่าง AWS, Azure, หรือ Google Cloud ได้รับชิปก่อนอยู่เสมอๆ และผู้ให้บริการเหล่านี้ก็มักจะนำชิปไปใช้งานในศูนย์ข้อมูลหลัก เช่น สหรัฐฯ หรือยุโรปก่อน
Santhosh ระบุว่าลูกค้าในกลุ่มคลาวด์ระดับ hyperscale นั้นเป็นเป็นผู้ใช้ชิปกลุ่มแรก (early adopter) เป็นเรื่องปกติ แนวทางนี้ก็ยังเหมือนเดิมในช่วงหลังๆ แต่ผู้ให้บริการแถบเอเชียก็ประกาศใช้ชิป Xeon Scalable รุ่นที่ 3 ตั้งแต่แรกเช่นกัน เช่น Reliance Jio, Wipro, CtrlS, และ Pi Datacenter ขณะที่ผู้ผลิตเซิร์ฟเวอร์นั้นน่าจะขายเซิร์ฟเวอร์ออกมาภายในไตรมาสสองของปี อย่างไรก็ดีเขายอมรับว่าความต้องการชิปรุ่นใหม่นั้นสูงมาก โดยเฉพาะตอนนี้ผู้ให้บริการโทรคมนาคม เช่น เครือข่ายโทรศัพท์มือถือนั้นกำลังอัพเดตอุปกรณ์เน็ตเวิร์คโดยใช้ Xeon รุ่นใหม่เช่นกัน
สำหรับปัญหาชิปขาดตลาด Santhosh ระบุว่าอินเทลนับอยู่ในจุดพิเศษสุด (unique position) ที่จะสามารถส่งมอบสินค้าตามคำสั่งได้แม้ความต้องการจะสูงขึ้นมากเหตุ COVID-19 ที่ผ่านมาอินเทลขยายกำลังผลิตไปมากและทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์เพื่อให้ขยายกำลังผลิตตามมาได้ ก่อนหน้านี้ซีอีโอของอินเทลก็เพิ่งประกาศขยายกำลังผลิตผ่านแนวทาง IDM 2.0 การลงทุนส่วนหนึ่งอยู่ในเอเชียแปซิฟิก เช่น ศูนย์ประกอบและทดสอบในเวียดนาม ที่อินเทลประกาศลงทุนเพิ่มเติมถึง 475 ล้าน หรือประมาณ 14,000 ล้านบาท
Pat Gelsinger ซีอีโออินเทลระบุในงาน Computex ว่าปัญหาชิปขาดตลาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะแก้ปัญหาได้หมด
ฟีเจอร์ที่อินเทลชูอย่างมากใน Xeon ช่วงหลังคือความสามารถในการรันโมเดลปัญญาประดิษฐ์ Santhosh ระบุว่าในความเป็นจริงแล้วมีผู้ใช้จำนวนมากรันโมเดลปัญญาประดิษฐ์บน Xeon โดยตรง เช่น SK Telecom ที่ทำนายการใช้งานเครือข่ายจากข้อมูลเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือกว่า 400,000 ต้นด้วยโมเดลที่รันบน Xeon ทั้งหมด และทำนายปัญหาเน็ตเวิร์คล่วงหน้าได้
ที่มา - การสัมภาษณ์ทางอีเมล
Comments
Santhosh
แอบเห็นด้วยนะ
ทั้งๆ ที่ปัญหาดูรุมเร้า และศัตรูแข่งแกร่งรอบด้าน แต่ก็ยังโตเอาๆ
นี่ถ้าไม่มีช่วง pandemic ความต้องการพุ่ง กับชิพขาดตลาด
อาจจะเริ่มได้เห็นสัญญานอะไรบ้าง
ฐานลุกค้ายังแน่นอยุ่ ต้องดูกันยาวๆ
แบ็ค Intel หนาพอสมควร เงินก็เยอะ ฐานลูกค้าก็แน่น แทบไม่กระทบอะไรเลย
ความล้มเหลว คือจุดเริ่มต้นสู่ความหายนะ มีผลกระทบมากกว่าแค่เสียเงิน เวลา อนาคต และทรัพยากรที่เสียไป - จงอย่าล้มเหลว
อ่านแล้วนึกถึงวลีในตลาดหุ้น
"งบดีให้ขาย งบเน่าให้ซื้อ"