สหรัฐฯและยุโรปบางประเทศ กำลับขับเคลื่อนทางกฎหมายให้เกิด Right to Repair หรือการที่ผู้บริโภคมีสิทธิ์นำอุปกรณ์มือถือไปซ่อมที่ไหนก็ได้ ไม่จำกัดเฉพาะศูนย์ซ่อมของผู้ผลิตเท่านั้น
ล่าสุด Kyle Wiens ซีอีโอ iFixit เว็บแนะนำการซ่อมอุปกรณ์ชื่อดังที่คอยจัดอันดับความยากง่ายของการซ่อมแซมอุปกรณ์ต่างๆ ออกมาวิจารณ์บริษัทเทคโนโลยีใหญ่อย่าง Apple, Samsung, Microsoft ว่าพยายามควบคุมการออกแบบผลิตภัณฑ์และห่วงโซ่อุปทาน เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคและผู้ซ่อมที่เป็นบริษัทภายนอกเข้าถึงเครื่องมือและชิ้นส่วนที่จำเป็นเพื่อซ่อมแซมผลิตภัณฑ์ได้
ภาพประกอบ Galaxy Buds Pro
Wiens ทำการวิจารณ์ระหว่างการพิจารณาเรื่อง Right to Repair โดย Productivity Commission เขาใช้โอกาสนี้ยกตัวอย่างให้เห็นภาพเพิ่มเติมบอกว่า มีผู้ผลิตแบตเตอรี่สัญชาติเยอรมันชื่อ Varta ขายแบตเตอรี่ให้กับบริษัทต่างๆ มากมาย รวมถึง Samsung นำไปใช้ในหูฟัง Galaxy แต่เมื่อคนอื่นอยากจะซื้อแบตเตอรี่จาก Varta บ้างกลับโดนปฏิเสธโดยอ้างว่าทำสัญญากับ Samsung ไว้แล้ว
ด้าน Apple เองก็มีชิปเฉพาะตัว ทำให้การซ่อมแซมต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของบริษัท และ Apple เลือกที่จะส่งอะไหล่เก่าของตัวเองไปรีไซเคิลมากกว่าที่จะขายสู่ตลาด ซึ่งอาจมีคนเอาไปทำประโยชน์ต่อได้ ส่วน Microsoft Surface นั้นได้คะแนนการซ่อมจาก iFixit เป็นศูนย์ คือซ่อมยากที่สุด และยังมีกาวในแบตเตอรี่ด้วย ทำให้เข้าถึงชิ้นส่วนด้านในยากมาก
ภาพ Surface Laptop 3 จาก Microsoft
ในการพิจารณา Right to Repair มีอ้างอิงถึงฝรั่งเศส ที่ผู้ผลิตติดฉลากเผยให้รู้ว่าผลิตภัณฑ์ซ่อมได้มากแค่ไหน ตัวฉลากใช้ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ สมาร์ทโฟน แล็ปท็อป โทรทัศน์ เครื่องซักผ้า และเครื่องตัดหญ้า ช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อได้ดีขึ้น
ที่มา - ZDNet
Comments
Surface เพิ่งรู้ว่ามันซ่อมยากสุด
บางคนลืมไปแล้วว่า ยุคหนึ่ง คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค หรือมือถือ สามารถเปลี่ยนแบตได้เอง อยากมีกี่ก้อนก็ซื้อมาเพิ่มเติมได้ มีแท่นชาร์จสำหรับแบตโดยเฉพาะก็มี แต่เดี่ยวนี้ทำตามๆ กันหมดแบตเสื่อมทีก็ลำบากเปลี่ยนมาก อีกอย่างแบตรุ่นใหม่ๆ ก็บวมง่ายกว่าเมื่อก่อนมากยิ่งไปกันใหญ่เลย
ดีนะครับ เป็นเรื่องที่ดี
อยากให้ได้แนวคิดการซ่อมได้กลับคืนมาเหมือนกัน
เดี๋ยวนี้เน้นทำผลิตภัฒฑ์เน้นความสวยพรีเมียมกันมาก พรีเมียมซะจนไม่เป็นมิตรกับการซ่อมหรือใช้ในระยะยาว ไม่แปลกใจทำไมขยะอิเล็กทรอนิกส์ถึงได้เยอะจนเกิดภาวะโลกร้อน แถมโทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เดียวที่ราคาตกเร็วที่สุดจากบรรดาอุปกรณ์สมาร์ตดีไวซ์ทั้งหมด (Notebook ผ่านไป 5 ราคายังขายตกไม่ถึง 1 เลย แต่มือถือ 3 ปีราคาก็ตกไป 3-4 เท่าแล้ว) น่าจะเพราะแข่งขันสูง มีสเปคใหม่ๆ ออกมาทุกปีหรือครึ่งปีทำให้รุ่นเก่าตกรุ่นแถมอัปเกรดชิ้นส่วนอะไรก็ไม่ได้อีก ไม่แปลกที่ราคาจะตกเร็วแหละ ..แต่เอาจริงๆ คนที่ใช้ยาวๆ ก็มีอยู่มากนะ
..คือผมเห็นบางคนนะ ใช้เครื่องแบบว่า คุ้มมากๆ คือใช้เครื่องรุ่นเดิม แต่ผ่านการแกะเครื่องบ่อย เช่น เปลี่ยนแบต เปลี่ยนเมนบอร์ด เปลี่ยนตูดชาร์จ คือสภาพภายนอกนี่ ดูเก่าเหมือนผ่านสนามรบมา กระจกร้าวทั้งหน้าและหลัง (ฟิล์มกระจก) ขอบเครื่องสีลอกและบิ่นตามมุม ..คือจากที่ดูก็เป็นคนมีเงินนะ จะซื้อเครื่องใหม่ก็ไม่มีปัญหาด้วยซ้ำ คือกลายเป็นว่า เขาชอบใช้เครื่องรุ่นนั้น เพราะเครื่องรุ่นใหม่กว่ามันไม่ตอบโจทย์ ถ้า OS เก่าเกินจนทำให้แอปใช้ต่อไม่ได้ หรือไม่มีอะไหล่ซัปพอร์ต ค่อยเปลี่ยน ..แต่ก็นะ การเปลี่ยนอะไหล่ เขาก็เปลี่ยนทั้งที่ศูนย์และเปลี่ยนที่ร้านตู้มือถือ แน่นอนว่าเปลี่ยนศูนย์ก็จะคิดราคาอะไหล่ราคาเดิมๆ ของมันโดยไม่มีการลดราคาตามยุคสมัยของโทรศัพท์รุ่นนั้นๆ เลย ทำให้เปลี่ยนอะไหล่ที แพงมาก จะเปลี่ยนร้านนอก ก็ต้องได้อะไหล่เทียบหรืออะไหล่มือสองจากเครื่องที่พังแล้วแต่ชิ้นส่วนอื่นยังใช้ได้แทน ไม่ใช่อะไหล่มือ 1 แกะกล่องแต่อย่างใด ..ถ้าอะไหล่มันกระจายมาร้านนอกได้โดยไม่ยึดที่ศูนย์อย่างเดียวก็คงดี ราคาจะได้มีการแข่งขันและสร้างอาชีพได้ด้วย
..ผมก็คิดเล่นๆ นะ ว่า OS มันสามารถลงได้อิสระจาก Device ที่รองรับ เหมือนกับที่เราลง Windows มันจะดีแค่ไหนนะ? เพราะนั่นเท่ากับว่า ข้อจำกัดเรื่อง Android เก่าตกรุ่นก็จะลดปัญหาไปได้เยอะ แถมอายุของเครื่องก็จะเยอะขึ้นด้วย แต่มันก็เป็นได้แค่คิดล่ะ เหอๆๆ
คอมมันตกรุ่นช้ากว่ามือถือ
ตอนนี้สเปคทั่วไปก็ใช้ยาวๆได้ เทคโนโลยีค่อนข้างนิ่ง ไม่คอขวดต่อการใช้งานกัน
แต่ มือถือ ตัว gpu/cpu/ram มันยังไม่อยู่ในจุด ที่นิ่งเท่าไหร่ ใช้มือถือ ไป 2 ปี 3 ปี มันเริ่มอืดแล้ว บางที app ก็ดับ
เทียบกับ cpu i5 gen 6, การ์ดจอ gtx 960,ssd ,ram 8 gb ยังใช้งานทั่วๆไปได้อยู่เลย
แต่มือถือก็น่าจะใกล้จะถึงจุดที่สเปคมันเกินความจำเป็นแล้วเหมือนกัน เพราะอย่างไอโฟน โดยเฉพาะ ipad เครื่อง 3 ปีมันก็ยังพอไปวัดไปวาได้อยู่
เดือนก่อนส่งมือถือเข้าศูนย์เปลี่ยนแบต
ค่าเปลี่ยนแบต+กาว เกือบจะเท่าราคาแบตเลย TT
นึกถึงเมื่อก่อน ซื้อมือถือก็ซื้อแบตสำรองมาก้อนละไม่กี่ร้อย
แบตหมด ถอดฝา เปลี่ยนลูกใหม่ ลูกเก่าก็เอาไปชาร์ต
"ให้ไปซ่อมเอง เดี๋ยวไปเจอช่างเจออะไหล่ไม่ได้คุณภาพพอมีปัญหาเดี๋ยวก็มาโวยวายไง เลยต้องตัดปัญหาด้วยการให้ไปซ่อมที่ศูนย์ให้หมด"
(เดี๋ยวต้องมีคนมาเม้นแนวนี้แน่ๆ ดักไว้ก่อน)
ส่วนตัวสนับสนุน Right to Repair เราควรเลือกได้ เพราะถ้าเลือกแล้วมันมีปัญหาก็สิทธิ์ของเราเอง ไม่ใช่ไม่มีให้เลือกแบบนี้
ถ้าซ่อมศูนย์มันราคาถูกมากๆ (ซึ่งมันไม่เคยเป็นไปได้) ก็จะดีกว่านะ
มือถือพอเข้าใจ แต่ Notebook จะดีเลิศแค่ไหนยังไงก็ต้องมีวันซ่อมอยู่ดี
เปลี่ยน Heatsink เปลี่ยนสายแพร์บ้าง พอร์ตเสียบ้าง ฯลฯ
ตัวไหนเปิดซ่อมไม่ได้ ไม่คิดจะซื้อเลย
ถึงแม้ Mainboard จะ Soldered ทุกอย่างไว้ในบอร์ด ผมก็รับได้นะ ขอแค่เปิด Case เพื่อเข้าไป Service Mainboard ได้ อะไหล่ Aliexpress ตัวไม่กี่ตัง
ถ้า notebook ยังอยากได้พวกอัพเกรด RAM , SSD งี้ ก็ยังดี ตอนซื้อยังพอ พอจะขยับขยายหน่อยซื้อใหม่อย่างเดียวก็ไม่ไหว
เห็นด้วยครับ โดยเฉพาะกับ Notebook อุปกรณ์สำคัญอย่างแบต, แรมหรือ HDD ถ้าเปลี่ยนได้ไม่ยาก ก็จะทำให้อายุการใช้งานของอุปกรณ์ยาวนานขึ้นอีกพักใหญ่เลย
..: เรื่อยไป