Richard Godfrey วิศวกรการบินชาวอังกฤษ สมาชิกของกลุ่ม MH370 Independent Group กลุ่มอิสระที่ค้นหาจุดตกของเครื่องบิน Malaysian Airlines เที่ยวบิน MH370 ที่สูญหายไปเมื่อปี 2014 ได้เสนอผลการวิเคราะห์หาจุดตกของ MH370 ที่เชื่อว่าแม่นยำกว่าเดิม และสอดคล้องกับหลักฐานบ่งชี้อื่นๆ
การวิเคราะห์ของ Godfrey ใช้ข้อมูล 4 ชุดประกอบกัน ได้แก่
แหล่งข้อมูลสำคัญของ Godfrey คือฐานข้อมูลคลื่นวิทยุ WSPR ที่บันทึกการรับและส่งคลื่นวิทยุในชั้นบรรยากาศทุก 2 นาที เขานำฐานข้อมูลนี้มาพัฒนาเป็นซอฟต์แวร์ชื่อ Global Detection and Tracking of Any Aircraft Anywhere (GDTAAA) เพื่อหาพิกัดของเครื่องบินในแต่ละช่วงเวลาโดยเฉพาะ
Godfrey บอกว่าตามปกติแล้ว การเทียบสัญญาณกับเครื่องบินเป็นเรื่องยาก เพราะอาจมีเครื่องบินหลายลำที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน มีความเป็นไปได้หลายทาง แต่ในกรณีของ MH370 บินไปตกในบริเวณทางใต้ของมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งแทบไม่มีเครื่องบินอยู่เลย จึงเจาะจงเครื่องบินได้ง่ายขึ้น
ภาพแสดงข้อมูลสัญญาณวิทยุจาก WSPR.net ในวันและเวลาที่คาดว่า MH370 ตกลงในทะเล
จากการคำนวณของ Godfrey ประเมินว่า MH370 ตกอยู่บริเวณพิกัด 33 องศาใต้ 95 องศาตะวันออก ซึ่งสอดคล้องกับพิกัดสุดท้ายจากดาวเทียม Inmarsat และการประเมินแหล่งที่มาของชิ้นส่วนเครื่องบินที่ลอยไปติดชายฝั่งแอฟริกา ว่าอยู่ระหว่างเส้นละติจูดที่ 32-33 องศาใต้
Godfrey ระบุว่าพื้นที่แถบนี้เป็นจุดที่มีหุบเหวและหน้าผาใต้น้ำอยู่มาก (อยู่ทางใต้ของพื้นที่ที่เรียกว่า Broken Ridge) ทำให้การค้นหาทำได้ยาก จากการประเมินคาดว่าความลึกของก้นทะเลคือ 4,000 เมตร
ในการค้นหาซากเครื่องบินปี 2015 โดยหน่วยงานความปลอดภัยของออสเตรเลีย Australian Transport Safety Bureau (ATSB) ไม่ได้ค้นหาในจุดนี้ แต่เรือค้นหาของออสเตรเลียและจีนในปี 2016 เคยแล่นผ่าน แต่ไม่ได้เจาะจงค้นหาที่บริเวณนี้โดยตรง ส่วนการค้นหาในปี 2018 เฉียดผ่านบริเวณนี้ไป เพราะถือว่าเคยมีเรือผ่านในปี 2016 แล้วแต่ไม่พบ เลยไม่ได้ค้นหาซ้ำ
ภาพแสดงพื้นที่การค้นหาในอดีต จุดตกใหม่ที่ Godfrey เสนอคือจุดตัดของเส้นประสีดำ
ตัวของ Godfrey นั้นถือเป็น "ผู้สนใจ" ค้นหาเครื่องบินในรูปอาสาสมัคร เหตุเพราะเขาเคยเกือบเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบิน Air France 447 ตกในมหาสมุทรแอตแลนติกปี 2009 แต่รอดมาได้เพราะมีเหตุต้องยกเลิกการเดินทาง เหตุการณ์นี้ทำให้เขากลายมาเป็นผู้สนใจในการค้นหาเครื่องบินที่สูญหายในทะเล
เว็บไซต์ BBC ชี้ว่าถึงแม้มีพิกัดที่ชัดเจนขึ้น แต่การออกค้นหาจริงๆ จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ขึ้นกับว่าใครออกค่าใช้จ่ายในการสำรวจด้วยหรือไม่ โดย BBC สอบถามไปทาง ATSB และได้รับคำตอบว่า ATSB จะไม่ออกปฏิบัติการค้นหาอีกแล้ว การค้นหาถัดจากนี้ถือเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลมาเลเซียเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลจีนจะสนใจช่วยค้นหาด้วย เพราะมีผู้โดยสารชาวจีนมากถึง 122 คนในเครื่องบินลำนี้ (รัฐบาลจีนเคยส่งเรือมาช่วยค้นหาในปี 2016)
ที่มา - MH370 Search, BBC
Comments
ถ้าเจอจริงๆ ถือว่าคุ้มค่าในหลายๆด้าน
และอาจจะได้ใช้แนวทางนี้ค้นหาในอนาคตได้อีก
ด้วยสถานการณ์การเมืองปัจจุบันผมว่าจีนสนแน่ๆ แล่นเรือโชว์ชาวโลกสักหน่อย
ใจก็อยากให้เจอนะครับ
ส่วนตัวเคยเชื่อว่า ยุคนี้สมัยนี้ จะมีหรอหายสาบสุญไปจากโลกหาไม่เจอ ดาวเทียมโคจรเยอะขนาดนี้
แต่มันก็ยังมีเกิดขึ้นได้จริง
เรื่องนี้ทำให้ตระหนักได้เลยว่าพื้นที่ทางทะเลนี่ยังลึกลับอยู่มากจริงๆ การค้นหาอะไรในทะเลนี่ยังยากมากขนาดมีสารพัดเรดาร์แล้วนะ
โห้ววว นี่ก็จะ 7 ปีแล้วนะครับที่เครื่องบินตก
ลุงแกกะจะอยู่ดูเขาเจอเลยเหรอถึงจะออก
พวกบริษัทขุดเจาะน้ำมัน น่าจะมี UAV ให้เช่าน่ะ
UAV ผมว่ามีหาได้ทั่วไป
แต่ใต้น้ำน่าจะใช้ UUV นะครับ ไปค้นๆ มาตอนเขาค้นหากันใช้ AUV
อ่อ มีคำเฉพาะด้วย นั่นแหละ แต่กลางมหาสมุทรแบบนั้น กระแสน้ำ เอย คลื่นเอย มอเตอร์จิ๋วๆ จะไปรอดมั๊ยไม่รู้
ขนาดไม่จิ๋วนะครับ ฮ่าๆ อารมณ์ขนาดโตปิโดที่ยิงถล่มใส่เรือกันเลยครับ