เมื่อช่วงเช้าวันอังคารที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา มีผู้คนมากกว่า 1 ล้านคนในย่าน Bay Area ของ San Francisco ได้รับข้อความแจ้งเตือนถึงเหตุแผ่นดินไหวขนาด 4.8 ผ่านทางสมาร์ทโฟน Android ของตนเอง ซึ่งระบุว่า "คุณอาจรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน" และในจำนวนนั้นมีหลายคนที่ได้เห็นข้อความก่อนที่จะรู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นจริง
ระบบการแจ้งเตือนแผ่นดินไหวนี้เป็นการทำงานร่วมกันของ Google และ United States Geological Survey (USGS) หน่วยงานด้านการสำรวจและเฝ้าระวังด้านภูมิศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา โดยอาศัยข้อมูลจากระบบ ShakeAlert ของ USGS ซึ่งใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับแรงสั่นสะเทือนแล้วประมวลผลก่อนส่งข้อมูลให้ Google กระจายข้อความแจ้งเตือนไปยังประชาชนผ่านอุปกรณ์ Android
ในปัจจุบันเครือข่ายเซ็นเซอร์ตรวจจับแผ่นดินไหวของ USGS นั้นมีอยู่ราว 1,300 ตัว (ในอนาคต USGS เตรียมจะเพิ่มจำนวนเซ็นเซอร์ตรวจจับแผ่นดินไหวเป็น 1,675 ตัวภายในปี 2025) ติดตั้งกระจายหลายที่โดยเน้นไปที่ชายฝั่งด้านตะวันตกของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวมากกว่าพื้นที่อื่นๆ เซ็นเซอร์เหล่านี้ไม่สามารถทำนายได้ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวเมื่อไหร่หรือที่ไหน แต่มันมีการตรวจจับที่ดีพอจนสามารถรับรู้การสั่นไหวได้ก่อนความรู้สึกของมนุษย์
การเกิดแผ่นไหวนั้นจะมีคลื่นสั่นสะเทือนแบ่งออกได้หลักๆ เป็น 2 ประเภท เรียกว่า "P-wave" (ย่อมาจาก Primary wave หรือ Pressure wave) กับ "S-wave" (ย่อมาจาก Secondary wave หรือ Shear wave) โดย P-wave นั้นเป็นคลื่นตามยาว (longitudinal wave) ที่มีการสั่นในแนวเดียวกับการเคลื่อนที่ของคลื่น เป็นคลื่นที่มีลักษณะของการอัดตัวและคลายตัวของตัวนำคลื่น (ในที่นี่ก็คือแผ่นดิน) ส่งแรงต่อๆ กัน ในขณะที่ S-wave นั้นเป็นคลื่นแนวขวาง (transverse wave) ที่ทิศทางของการสั่นนั้นตั้งฉากกับแนวการเคลื่อนที่ของคลื่น
โดยระหว่างคลื่นสั่นสะเทือน 2 ประเภทนี้ P-wave นั้นมีความเร็วในการเคลื่อนที่เร็วกว่า S-wave (จึงเป็นที่มาของชื่อที่เรียกว่า primary เพราะเป็นคลื่นที่จะถูกตรวจเจอได้ก่อน) ทว่าหลายครั้งมนุษย์เองกลับไม่ทันได้รู้สึกถึงการสั่นสะเทือนของคลื่น P-wave นี้ด้วยซ้ำ กลายเป็นว่าความรุนแรงและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุแผ่นดินไหวส่วนใหญ่นั้นมาจากคลื่น S-wave ที่เดินทางช้ากว่า ฉะนั้นแล้วหากเราสามารถตรวจพบคลื่น P-wave และเตรียมตัวรับมือได้ทันก่อนที่คลื่น S-wave จะเดินทางมาถึงย่อมช่วยลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากเหตุแผ่นดินไหวได้
ตัวเซ็นเซอร์ระบบ ShakeAlert ของ USGS ที่ถูกฝังอยู่ใต้ดินลึกราว 3 เมตร นั้นสามารถตรวจจับคลื่น P-wave ได้ (และแน่นอนว่าตรวจวัดแรงสั่นของคลื่น S-wave ได้เช่นกัน แต่ในการสร้างระบบแจ้งเตือนเหตุที่เน้นความรวดเร็ว ย่อมสนใจไปที่คลื่น P-wave ที่จะเดินทางมาถึงเซ็นเซอร์ก่อน) เมื่อใดก็ตามที่มีเซ็นเซอร์อย่างน้อย 4 ตัวตรวจพบแรงสั่นสะเทือนได้พร้อมกัน มันจะส่งข้อมูลไปยังศูนย์ประมวลผล ซึ่งหากประมวลแล้วเข้าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ก็จะเริ่มดำเนินการแจ้งเหตุแก่ประชาชน
ในการแจ้งเหตุนั้นจะมีการส่งข้อมูลไปหลายช่องทางด้วยกัน ทั้งการแจ้งเตือนประชาชนผ่านระบบต่างๆ ของหน่วยงานรัฐและภาคเอกชน และ Google เองก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมตรงจุดนี้
Google มีการพัฒนาระบบการแจ้งเตือน "Android Earthquake Alerts System" ที่อาศัยข้อมูลจากระบบเซ็นเซอร์ ShakeAlert ของ USGS มาแจ้งเตือนผู้ใช้งานอุปกรณ์ Android ให้รู้ถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวในพื้นที่ใกล้เคียง โดยที่ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องดาวน์โหลดหรือติดตั้งซอฟต์แวร์อื่นใดเพิ่มเติมเพื่อรับการแจ้งเตือน
อย่างไรก็ตามหากผู้ใช้อยู่ในตำแหน่งที่ใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหวมากก็มีโอกาสที่การแจ้งเตือนนั้นจะส่งไปถึงผู้ใช้ช้ากว่าคลื่น S-wave แต่สำหรับคนที่อยู่ห่างออกไปดังเช่นในเหตุการณ์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมานี้ หลายคนจะได้รับข้อความแจ้งเตือนก่อนที่คลื่น S-wave จะเดินทางไปถึงจุดที่ผู้ใช้งานอยู่ แม้ว่านั่นอาจจะเป็นเวลาเพียงไม่กี่วินาที แต่นั่นก็มากพอที่จะทำให้หลายคนมีโอกาสเตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์ได้อย่างปลอดภัย
นอกเหนือจากการอาศัยข้อมูลที่ประมวลผลจากระบบ ShakeAlert ของ USGS แล้ว Google ได้พัฒนาระบบเก็บข้อมูลจากอุปกรณ์ Android เพื่อใช้ประกอบในการตรวจจับเหตุการณ์แผ่นดินไหวด้วย โดยปกติแล้วอุปกรณ์พกพาเหล่านี้จะมีเซ็นเซอร์อัตราเร่งอยู่ในตัว หากเซิร์ฟเวอร์ของ Google ตรวจพบแรงสั่นสะเทือนได้จากอุปกรณ์หลายตัวในพื้นที่เดียวกันก็จะทำการประมวลผลเพื่อแจ้งเตือนผ่านระบบ Android Earthquake Alerts System ได้เช่นกัน ทั้งนี้ระบบจะใช้ข้อมูลการสั่นสะเทือนเฉพาะจากอุปกรณ์ที่อยู่ในสถานะล็อกเครื่องและถูกเสียบสายเอาไว้เท่านั้น (ซึ่งนั่นหมายถึงกำลังถูกเสียบสายชาร์จหรือต่อสายเพื่อใช้งานอย่างอื่นโดยวางนิ่งอยู่กับที่) เพื่อให้แน่ใจว่าการสั่นสะเทือนที่เซ็นเซอร์อัตราเร่งของอุปกรณ์ Android วัดได้นั้นมาจากเหตุแผ่นดินไหวจริงๆ ไม่ใช่การสั่นสะเทือนในระหว่างที่ผู้ใช้งานพกพาอุปกรณ์ติดตัวแล้วกำลังเคลื่อนไหวร่างกาย
Dave Burke รองประธานฝ่ายวิศวกรรมของ Google ได้ทวีตข้อความพร้อมภาพแผนที่แสดงจุดที่เกิดแผ่นดินไหวใน San Francisco เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (ดูข้อความทวีตได้ท้ายข่าว) ในภาพได้แสดงให้เห็นจุดสีเหลืองและจุดสีแดงที่เป็นตำแหน่งของอุปกรณ์ Android ที่ทำหน้าที่เป็นเซ็นเซอร์ช่วยตรวจจับการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวโดยอาศัยเซ็นเซอร์อัตราเร่งในตัวอุปกรณ์ ทำให้ระบบสามารถแจ้งเตือนผู้ใช้ได้ถึงการเกิดเหตุก่อนที่คลื่น P-wave และ S-wave (แนวเส้นวงกลมสีเหลืองและสีแดงที่ขยายตัวออกเป็นวงใหญ่) จะเดินทางไปถึงผู้ใช้รอบนอกจำนวนมาก
Google ตั้งเป้าว่าจะพัฒนาระบบการส่งข้อมูลแจ้งเตือน Android Earthquake Alerts System ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ด้วยตระหนักว่าการที่ผู้ใช้ได้รู้เหตุเร็วเท่าไหร่ย่อมหมายถึงโอกาสที่จะเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ใช้มากขึ้นเท่านั้น
ที่มา - Ars Technica
Earthquake in SF Bay Area today. Yellow/red represents shaking Android phones acting as seismometers. Circles are our inferred estimate of P & S waves. Earthquake alerts sent instantaneously to surrounding phones before the waves hit pic.twitter.com/8pumt19ReI
— Dave Burke (@davey_burke) October 26, 2022
Comments
ในไทยใช้งานจริงได้ไหม แต่ที่แน่ๆเปิดใน Setting ได้แน่นอนในไทย
ใช้ได้จริงครับ
ระบบนี้ Google คิดมาได้ฉลาดมากๆ ใช้มือถือ Android ที่มีเป็นพันล้านเครื่องเป็นตัวตรวจจับ ไม่ต้องใช้งบลงทุนมากในการใช้เครื่องมือเฉพาะทาง แถมมีความแม่นยำสูงด้วย
ขออภัย เข้าใจผิดพลาดครับ
ตามข่าวคือ ใช้เครื่องมือตรวจจับของ USGS ในการตรวจจับ และร่วมมือกับ Google ในการส่งข้อมูลแจ้งเตือนไปยังมือถือ Android นะครับ ไม่ได้ใช้มือถือ Android ในการตรวจจับ
อ้อครับ ผมอ่านข้ามไป
ของไทยไม่แน่ใจว่าต้องไป Co กับหน่วยงานราชการป่าวเพราะมันต้องใช้ค่าจากสถานีวัด หรือถ้าง่ายก็ ลิงค์ตรงเข้าระบบกลางของโลกเลย