สัปดาห์ที่ผ่านมาผู้ใช้จำนวนหนึ่งพบว่าโทรศัพท์แอนดรอยด์ของตนนั้นมีแอปพลิเคชั่นที่ไม่มีหน้าจอโผล่ขึ้นมา คือ Android System SafetyCore โดยแอปนี้เป็นส่วนเสริมทำให้ Google Messages สามารถแจ้งเตือนผู้ใช้เมื่อได้รับหรือกำลังส่งต่อภาพโป๊ ส่งผลให้ผู้ใช้จำนวนหนึ่งแสดงความไม่พอใจว่ากูเกิลกำลังพยายามสอดส่องการใช้งาน
ตัว SafetyCore ไม่ได้ไปสแกนภาพด้วยตัวเอง แต่ตัวมันนั้นเป็น machine learning จัดหมวดหมู่ภาพที่ว่าภาพนั้นเป็นภาพโป๊หรือไม่ กูเกิลระบุว่าการจัดหมวดหมู่ภาพนี้ทำในโทรศัพท์โดยตรง ไม่มีการส่งภาพกลับไปยังกูเกิลแต่อย่างใด
Google Messages เมื่อได้รับหรือส่งภาพ หากในเครื่องมี SafetyCore จะสามารถเบลอภาพพร้อมแจ้งเตือนผู้ใช้ว่าไม่ควรส่งต่อภาพโป๊ แต่ผู้ใช้สามารถปิดการทำงานของฟีเจอร์ sensitive content warnings นี้ด้วยตัวเอง ยกเว้นผู้ใช้เยาวชนที่ต้องให้ผู้ปกครองปิดการทำงานให้แทน
แนวทางของกูเกิลต่างจากของแอปเปิลที่พยายามสแกนภาพโป๊เด็กในเครื่องของผู้ใช้เมื่อปี 2021 โดยกูเกิลไม่ได้ระบุถึงการแจ้งหน่วยงานภายนอกแต่อย่างใด และโดยทั่วไปก็ยังปิดการใช้งานฟีเจอร์นี้ได้ รวมถึงอาจใช้บล็อคภาพโป๊ที่เพื่อนส่งมาแกล้งเวลางานได้ แต่หลังจากกูเกิลติดตั้งแอปนี้ในเครื่องของผู้ใช้โดยอัตโนมัติก็ถูกถล่มรีวิว 1 ดาวจำนวนมาก
Android System SafetyCore รองรับ Android 9.0 ขึ้นไป วันแรกที่ปล่อยแอปนี้ออกมาคือ 22 มกราคมที่ผ่านมา ตอนนี้มียอดดาวน์โหลดแล้วเกินพันล้านครั้ง
ที่มา - Forbes
Comments
ไม่ส่งข้อมูลกลับจริงเท็จแค่ไหน
ไม่ได้ส่งข้อมูลดิบกลับตรง ๆ อาจจะใช่ แต่ข้อมูลการ learn แล้วก็ result น่าจะส่งนะ
That is the way things are.
ถ้าเชื่อกูเกิล เขาระบุว่าไม่ส่งอะไรเลยครับ เป็น API ให้ App (เคสนี้คือ Google Message) เรียกแล้วก็เบลอรูปเฉยๆ เลย
lewcpe.com, @wasonliw
โอ้ งั้นก็พอได้อยู่นะ ขอบคุณครับคุณลิ่ว
That is the way things are.
แล้วก็ชอบไปว่า TikTok ว่าล้วงข้อมูลประเทศตัวเอง
แล้วเคสนี้มันล้วงข้อมูลยังไงนะฮะ
เคส TikTok ก็ไม่มีอะไรคอนเฟิร์มว่าล้วงข้อมูลฮะ ก็โดนกล่าวหาเหมือนกัน
อ๋าาา โอเคฮะ เก็ตละ 😂
ถ้าเคส TikTok นี่กับเคสนี้ตรงๆ นี่เทียบกันยากครับ Tiktok เก็บข้อมูลแน่นอน เป็นข้อมูลที่เราส่งไปจากเครื่องไปยังเซิร์ฟเวอร์แล้ว ทุกคนรู้ คำถามเป็นว่ามีการนำไปใช้อย่างอื่นนอกจาก social media ไหม ขณะที่โมดูล SafetyCore เป็นโค้ดรันในเครื่องเรา ถ้าใครไม่เชื่อ (ซึ่งน่าจะเยอะ) ก็สามารถตรวจสอบการทำงานของ APK ทำ decompile กลับมาไล่ดู (ไม่ง่าย แต่พอทำได้)
ถ้าไปเทียบกับ Tiktok อาจจะคล้ายกับเคส Cambridge Analytica ที่ข้อมูลที่เราส่งขึ้นเซิร์ฟเวอร์เฟซบุ๊ก (เรารู้ว่าส่ง ไม่ได้แอบส่ง) กลับถูกใช้งานอื่น คือวิเคราะห์แนวโน้มทางการเมืองด้วย
lewcpe.com, @wasonliw
ข้อมูลที่เป็น raw ส่วนใหญ่เค้าไม่ได้ส่งไปที่ server ตรงๆอยู่แล้วครับ แต่ข้อมูลที่เป็น Analytic น่าจะส่งไปเกือบทุกค่าย และบางทีไม่ได้ส่งตรงจากตัว App เองแต่เป็นตัว Agent สำหรับเคส Google เอาจริงๆยังสรุปไม่ได้หรอกว่ามีการส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ SafetyCore หรือเปล่า แต่ก็คิดว่าไม่ได้ส่งรูปขึ้น server ตรงๆ
ปัญหาคือการยัดเยียดมาให้แบบไม่ถามมากกว่า ถ้าเด้งมาให้กดตอบรับหรือปฏิเสธคงไม่มีคนด่าขนาดนี้ เรื่องส่งข้อมูลถ้าส่งจริงมีคนจับได้อยู่แล้ว ผมก็เพิ่งเห็นในเครื่องเนี่ย
ใช้ AI รันภายในเครื่องอย่างเดียว ไม่ส่งข้อมูลไปเซิร์ฟเวอร์ก็ถือว่าปลอดภัยพอสมควร แต่ควรจะบอกผู้ใข้ด้วยว่าเพิ่มอะไรเข้ามาให้ชัดเจนกว่านี้