การ์ด Intel Phi เป็นการ์ดคำนวณประสิทธิภาพสูง กระบวนการทำงานออกแบบสำหรับการคำนวณกับข้อมูลขนาดใหญ่ๆ ที่มีกระบวนการคำนวณเป็นแบบเดียวกันเป็นชุดๆ ตัว Intel Phi เองแม้จะราคาไม่แพงเกินไป (ต่ำกว่าแสน) แต่ก็ไม่ใช่ของที่เราจะเห็นกันได้ทั่วไปเหมือนการ์ดกราฟิก แนวทางของอินเทลจึงเป็นอาศัยการตั้งศูนย์ทดสอบเพื่อให้นักพัฒนาเข้าไปลองใช้งานการ์ดนี้กัน และตอนนี้การ์ดใบนี้ก็มาตั้งเป็นศูนย์ทดสอบในเมืองไทยแล้วที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ศูนย์ทดสอบนี้เพิ่งจัดสัมมนาไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยส่วนมากผู้เข้าร่วมจะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ แต่ศูนย์นี้ก็เปิดให้คนภายนอกเข้าไปทดลองใช้งานได้โดยเขียนข้อเสนอโครงการคร่าวๆ ว่าจะใช้ Phi เพื่อทำอะไรแล้วอีเมลเข้าไปยังโครงการ
การ์ด Phi เองเป็นเหมือนคอมพิวเตอร์แยกขาดจากเครื่องหลักที่การ์ดมันติดตั้งอยู่ ภายในการ์ดเป็นลินุกซ์และต้องคุยกับเครื่องแม่ผ่านทาง TCP/IP แม้จะเป็น x86 แต่ต้องการคอมไพล์เลอร์เฉพาะ (เท่าที่ทราบมีแต่คอมไพล์เลอร์ของอินเทลเท่านั้นที่รองรับ) เพราะฟอร์แมตไฟล์ต่างไปจากลินุกซ์ปกติ แต่เมื่อคอมไพล์แล้วก็สามารถนำไฟล์ executable ขึ้นไปรันได้เหมือนลินุกซ์ทั่วไป
ข้อได้เปรียบสำคัญของการใช้การ์ด Phi คือ การเชื่อมต่อกับตัวการ์ดนั้นกินเวลาต่ำกว่าการเชื่อมต่อผ่านเน็ตเวิร์คทั่วไปมาก ผมทดลอง ping ไปยังตัวการ์ดได้เวลาเพียง 0.3ms และยังคอมไพล์โปรแกรมแบบเดิมๆ เข้าใช้งานได้ (แต่ต้องคอมไพล์ใหม่) ดังนั้นหากมีแอพพลิเคชั่นที่เป็นคลัสเตอร์ลินุกซ์อยู่แล้ว ก็มีโอกาสจะย้ายงานมารันบน Phi ได้ทันที
ตัวคอมไพล์เลอร์ของอินเทลนั้นสามารถคอมไพล์เฟรมเวิร์คสำหรับการกระจายงานข้ามคอร์ เช่น OpenMP, OpenCL และ Cilk+ ให้กลายเป็นการส่งงานไปรันบนการ์ด MIC ได้เองโดยเราไม่ต้องสนใจกระบวนการเชื่อมต่อ หรือกระบวนการส่งข้อมูลแต่อย่างใด
ที่มา - Intel® Manycore Testing Lab
Comments
น่าสนใจมากครับ
อยากลอง render 3dmax จัง
ทีแรกแอบเศร้าที่รับแต่ Linux พออ่านดีๆเห็นรองรับ OpenCL ก็ใจชื้นขึ้นมาบ้างละ แล้วมันจะ cross platform มั๊ยเนี่ย
บนตัวการ์ดเป็น Linux เฉพาะของอินเทล (ปรับแต่งไปเยอะมาก แม้แต่ ELF ก็เข้ากันกับลินุกซ์ทั่วไปไม่ได้) การ cross platform ถ้าหมายถึงการทำงานร่วมกับเครื่องแม่ที่เป็นวินโดวส์ก็อาจจะพอเป็นไปได้ครับ แต่ถ้าหมายถึงใช้แพลตฟอร์มฃองไมโครซอฟท์ไปพัฒนาคงเป็นไปไม่ได้
lewcpe.com, @wasonliw
ผมก็คิดแบบนี้เหมือนกันครับ แต่พอผมไปดูใน SDK แล้ว ไปด้วยกันไม่ได้ครับ -*-
HD7970 หรือ GTX780 ดีกว่า งบน้อย + ขี้เกียจครับ
ลองคุ้ยๆ เพิ่มเจอตัว beta สำหรับ environment ที่ตัว host ใช้ windows .. software.intel.com/en-us/articles/windows-early-enabling-for-intelr-xeon-phitm-coprocessor
แล้วเจอว่ารุ่นถัดไปตัว Knights Landing จะเพิ่มโหมด CPU มาด้วยอีกแบบนึง ไม่แน่ใจว่าแค่ยุบแพคเกจหรือว่า os จะเรียกใช้ได้อย่างพวก multi-core เลย (ถ้าอย่างหลัง ต่อให้มี hyper-threading พ่วงมาด้วยแต่คงชิวๆ สำหรับ win8 เพราะรับได้ถึง 640LP ส่วน win7 อาจเฉียดฉิวไปหน่อยเพราะยังรองรับแค่ 256LP) ..
http://newsroom.intel.com/community/intel_newsroom/blog/2013/06/17/intel-powers-the-worlds-fastest-supercomputer-reveals-new-and-future-high-performance-computing-technologies
สำหรับตัว SCC เคยเจอคลิปนี้ แต่ไม่ชัวรว่าได้พัฒนาสำหรับเอามาใช้กับตัว xeon phi กันต่อมั้ย (ส่วนตัวคิดว่าน่าจะยังชายตามองอยู่บ้างแหละ เพราะโครงการ barrelfish os ที่ไมโครซอฟท์หนุนอยู่นั้นทุ่มเทเรื่องการรองรับ xeon phi อยู่ไม่น้อย การต่อยอดมาถึงส่วนที่เกี่ยวกับ dev platform น่าจะรวมอยู่ในนั้นด้วย แต่ขั้น product นี่ส่วนตัวแล้วยังยากเกินจะเดาเพราะไม่ค่อยมีข้อมูลไม่ได้ค่อยได้ตามแบบละเอียด)
http://www.intel.com/content/www/us/en/research/intel-labs-visual-studio-and-scc-message-passing-video.html
ตัวการ์ดรันได้ 2 TFlops นะครับ(ค่าสูงสุดตามทฤษฏี) ใครเขียน Parallel เก่งๆ มาลุยได้ครับ
ลองแว้บไปดูแผนที่ของ MARC [Many-Core Application Research Community] .. http://communities.intel.com/community/marc
ยังไม่เจอ มก. ในแผนที่.. เค้ายังไม่ได้ใส่ หรือว่าคือคนละส่วนกันเลยไม่ได้ใส่ลงไปอ่ะครับ ?