เมื่อคืนนี้ Apple ได้เปิดตัว Research Kit โดยโฆษณาว่ามันเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยนักวิจัยด้านการแพทย์ (Medical Research -- บางทีเราจะใช้คำว่า Clinical Research ในกรณีที่เก็บคนไข้ที่เป็นคนจริงๆ เพราะ Medical Research นี่รวมทดลองทางการแพทย์ที่ทำในห้องทดลองและสัตว์ทดลองด้วย) เพื่อนำไปในการเก็บข้อมูล และเพิ่มจำนวนคนไข้ที่สมัครใจเข้าร่วมงานวิจัย ผมในฐานะที่คลุกคลีอยู่กับวงการวิจัยทางการแพทย์ ขอแสดงความเห็นส่วนตัวจากคนที่เคยทำงานวิจัยมาบ้างเล็กน้อยดังนี้ครับ
แอปเปิลโฆษณาว่างานวิจัยส่วนใหญ่มักมีปัญหากับการหาผู้เข้าร่วมงานวิจัยใหม่ๆ โดยพยายามชี้ให้เห็นว่า Research Kit จะทำให้เราค้นหาผู้เข้าร่วมงานใหม่ๆ ได้มากกว่าเดิม เพราะเพียงแค่ดาวน์โหลดแอพ คุณก็สามารถเข้าให้ข้อมูลในงานวิจัยได้แล้ว
แต่โดยปกติแล้วงานวิจัยที่เป็น Clinical Research นี้ผู้เข้าร่วมวิจัยมักจะเป็นคนที่ผู้วิจัยกำหนดไว้อยู่แล้ว ว่าจะต้องเป็นโรคไหน อาการเป็นมากน้อยอย่างไร รวมถึงสถานที่เก็บงานวิจัยคือที่ไหนบ้าง ภาษาทางงานวิจัยเราเรียกว่ามี Population และ Sample ที่ชัดเจน คือเข้าทั้งเกณฑ์คัดเข้า (Inclusion Criteria) และเกณฑ์คัดออก (Exclusion Criteria) ที่แน่นอน ซึ่งตรงจุดนี้ หากเราเปิดกว้าง ให้ "ใครก็ได้" มาให้ข้อมูลงานวิจัย เราจะกำหนดกรอบการวิจัยอย่างไร ถ้าหากผมทำการศึกษาเรื่องเบาหวาน โดยผู้เข้าร่วมวิจัยเป็นใครก็ได้ กรอบงานวิจัยมันจะชัดเจนได้อย่างไรว่าจะเป็นคนไข้กลุ่มไหน คนไข้เบาหวานที่ใช้ไอโฟนเหรอ? นอกจากนี้จะรู้ได้อย่างไรว่าเขาเข้าเกณฑ์วิจัย คือเป็นเบาหวานจริงๆ ซึ่งถ้าเก็บจากในโรงพยาบาล เรามีความมั่นใจมากกว่าแน่ๆ ว่าเขาจะเป็นเบาหวานที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์
แน่นอนว่าตัวอย่างที่แอปเปิลโชว์ให้ดู คนไข้ในงานวิจัยส่วนใหญ่ยังพอมีแรงไหว แต่เอาเข้าจริงแล้วผู้เข้าร่วมงานวิจัยหลายกลุ่มยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีแบบนี้ได้ เช่น ถ้าจะศึกษาคนไข้ที่เป็นอัมพาต เขาจะยังมานั่งกดไอโฟนให้เราได้หรือ หรือผู้ป่วยสูงอายุที่มีปัญหาด้านสายตาหรือการเคลื่อนไหวนิ้ว จะทำการให้ข้อมูลได้อย่างไร
ภาพผู้ป่วยแบบนี้มานั่งกดไอโฟนยังเป็นไปได้ลำบาก
"Clinicians in Intensive Care Unit" by Calleamanecer - Own work. Licensed under CC BY-SA 3.0 via Wikimedia Commons.
เนื่องจากในแอพต่างๆ ที่แอปเปิลเอามายกตัวอย่างนั้น ผู้เข้าร่วมวิจัยหรือ Subject สามารถที่จะใส่ข้อมูลของตัวเองลงไปได้เองเลย ทีนี้ก็กลายเป็นว่ากระบวนการวัดต่างๆ มีความเป็นไปได้ที่จะเชื่อถือไม่ได้ (Measurement Bias) ยิ่งเท่าที่ผมดูจากแอพที่ปล่อยออกมา ส่วนมากเป็นข้อมูลที่คนไข้กรอกเองด้วย เช่น ให้วัดอัตราการหายใจเอง แล้วใส่ลงในแอพ ปัญหาคือเราจะเชื่อถือได้มากแค่ไหนว่าข้อมูลส่วนนี้มันถูกต้อง เพราะการวัด (Measurement) นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก (ผมว่าสำคัญที่สุดเลยครับ) ในงานวิจัย Clinical Research
นอกจากนี้แล้ว หากบอกว่าเป็น "แพลตฟอร์ม" ในการบันทึกผลการวิจัย เช่น อาจจะเอา Accelerometer มาวัดจำนวนก้าว หรือให้แท็ปหน้าจอสลับกันเพื่อดูว่ามือขยับได้ปกติหรือไม่นั้น เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า iPhone ที่ผู้ใช้งานใช้อยู่นั้น มีการเทียบกับมาตรฐาน (Calibration) แล้ว ไม่ใช่เป็นไอโฟนที่ Accelerometer กำลังจะพัง หรือให้ข้อมูลที่เพี้ยน ซึ่งตรงนี้ก็ยังไม่มีงานวิจัยอะไรที่จะมารองรับว่าการเก็บข้อมูลของเราจากไอโฟนนั้นมีมาตรฐานเพียงพอ และยิ่งถ้าบอกว่าเก็บข้อมูลจากอุปกรณ์อื่นได้หลายชนิด ปัญหาของมาตรฐานนี้ก็จะยิ่งยากเข้าไปอีก
แน่นอน คนที่จะซื้อไอโฟนได้ก็ต้องมีเงินอยู่ประมาณหนึ่ง หมายความว่าการที่เราจะเอาไอโฟนไปเก็บข้อมูลจากผู้เข้าร่วมงานวิจัยนั้น ผู้เข้าร่วมงานวิจัยที่ยินยอมจะเข้าร่วมงานวิจัยเราจะต้องมีไอโฟน ซึ่งก็อาจจะหมายความว่าเขามีความเป็นอยู่ที่ดีประมาณหนึ่ง (ไม่งั้นคงไม่มีไอโฟนใช้ ใช้โทรศัพท์คนอื่น หรือโทรศัพท์เครื่องละไม่กี่ร้อยบาทแทน) ทำให้ตัวอย่างที่เข้าร่วมงานวิจัยเรา อาจถูกเลือก (select) มาแล้วซึ่งอาจส่งผลต่อตัวแปรต่างๆ ที่เก็บในงานวิจัย ทำให้คนเหล่านี้มีลักษณะไม่เหมือนคนไข้ทั่วๆ ไปได้
ข้อนี้เป็นปัญหาอย่างมากเลยครับ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาอย่างเรา คืองานวิจัยส่วนใหญ่ปัญหาคือหาเงินมาสนับสนุนค่อนข้างยาก (โดยเฉพาะถ้าไม่มีเส้นสาย) เอาง่ายๆ อย่างงานวิจัยที่ทำๆ กันอยู่ค่าใช้จ่ายสี่ห้าแสนยังแทบจะไม่มีทุนมาให้ทำ บางทีคนทำต้องควักเนื้อออกเอง จะนับประสาอะไรกับงานวิจัยที่จะต้องทั้งซื้อไอโฟนให้ผู้เข้าร่วมวิจัย และทั้งพัฒนาแอพพลิเคชั่นมาให้ผู้เข้าร่วมวิจัยกรอก ไม่นับ "งานหลังบ้าน" ที่จะต้องตามเก็บข้อมูล ตามดูว่าผู้เข้าร่วมงานวิจัยมีปัญหาในการใช้แอพไหมอีก (ซึ่งงานหลังบ้านนี่ก็ค่าใช้จ่ายสูงไม่แตกต่างกัน เพราะข้อมูลก็ต้องเก็บอย่างมีมาตรฐานอีก) ผมว่างานวิจัยส่วนใหญ่แม้จะมี sponsor ผมว่าแค่ค่าไอโฟนนี่ก็อ้วกแล้วครับ
ผมเองคิดว่ามันเป็นการที่ดีที่เราจะมีอุปกรณ์ที่ช่วยเก็บข้อมูลในงานวิจัยจริงๆ แต่ปัญหาหลายๆ อย่างของงานวิจัยที่ไม่สามารถแก้ด้วยการพัฒนาอุปกรณ์เพียงอุปกรณ์เดียวขึ้นมาเก็บข้อมูลแบบนี้ เราคงจะต้องมีวิธีอะไรอย่างอื่นที่ทั้งเก็บข้อมูลแม่นยำ, สะดวก ที่สำคัญคือประหยัดและเอาไปใช้ในงานวิจัยจริงได้ดีกว่านี้ครับ ดังนั้น เราคงต้องดูต่อไปว่า Research Kit เป็นเครื่องมือเปลี่ยนไอโฟนเป็น Clinical Research Device ที่ใช้งานได้จริง หรือเป็นเพียงฟีเจอร์ขายของจากบริษัทเทคโนโลยีที่นักวิจัยส่วนใหญ่ไม่(มีเงิน)จะซื้อครับ...
ที่มา: ต้นฉบับผู้เขียนได้เขียนไว้บนบล็อกส่วนตัวครับ
Comments
เห็นด้วยตามนั้นเลยครับ
เมื่อวานตอนดูแรกๆนี่แบบ เจ๋งมากเอา IT มาช่วยวงการงานวิจัย
แต่พอดูไปได้สักพักก็เริ่มคิดว่า
- ถ้ามีคนมาเกรียนแกล้งกรอกข้อมูลมั่วๆละ
- กลุ่มตัวอย่างก็ต้องมาจากคนที่ใช้ iPhone เท่านั้นสิ
- สามารถเชื่อถือผลการทดสอบได้ดีแค่ไหน มั่นใจได้อย่างไรว่าแบบสอบถามที่ให้ไปผู้รับการทดสอบเข้าใจตรงกัน
- การทำแบบสอบถามควรมี Give and take แต่วิธีนี้ดูแล้วค่อนข้าง Take อย่างเดียว
- และเหตุผลอื่นแบบข้างบนที่กล่าวไว้แล้ว
สรุป ผมก็ยังไม่คิดว่า เทคโนโลยีนี้จะใช้ได้จริง (อย่างน้อยก็ในเร็วๆนี้) จนกว่า Apple จะสามารถควบคุมปัจจัยที่เกี่ยวข้องได้มากกว่านี้
อีกไม่นานจะล่มแบบ Google Health รึเปล่า
อ่านพาดหัวทีแรกนึกว่าเข้าผิดเว็บ 555
ผมไม่คิดว่า Apple ออก research kit มาเป็นของเล่นเพื่อเพิ่มมูลค่านะครับ (คงไม่ใช่ปัจจัยที่คนทั่วไปจะมาใช้ตัดสินใจในการซื้อมือถือ) แต่น่าจะมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มช่องทางสำหรับการช่วยเก็บข้อมูลจริงๆ (สังเกตจากดูมีความร่วมมือกับหลายมหาลัย และตัว framework เองก็ประกาศเป็น open source ไม่สน platform)
My iOS apps
My blog
ผมชื่นชมความตั้งใจของ Apple มากๆครับ สำหรับ research kit การเอาจริงเอาจังของ Apple ในการผลักดันให้ research kit เป็น open source นั้นมันหมายถึงประโยชน์ในทางการแพทย์ กับคนทั้วโลกเลย มันยอดเยี่ยมมากครับ จะว่าไปมันคือ Tools ในการช่วยในการวิจัยที่อำนวยความสะดวกได้เป็นอย่างดี
ผมว่าผู้วิจัยทางการแพทย์ จะมีวิธีลือก Population และ Sample ที่ชัดเจนได้โดยถ้ามีการใช้ research kit ตัวนี้ ที่แน่ๆไม่ใช่ใครก็ได้มาเกรียนให้ข้อมูลผ่าน research kit แน่นอน เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นปัญหาคือผู้วิจัยแล้วล่ะครับ
อยู่ในวงการวิจัย เลยรู้ว่าเค้าจะมีกระบวนการหนึ่งสำหรับกรองคนมั่วออกไปครับ เช่นการใช้เวลาเข้ามากำกับ(คนที่ทำแบบสอบถามได้เร็วหรือใช้เวลาสั้น จะไม่นับ) การใช้คำถามแบบ cross check กันเอง เพื่อกันคนตอบมั่วหรือลังเล รวมไปถึงเทคนิคการตัดข้อมูลหัวท้ายออก(ข้อมูลที่ดีสุด กับต่ำสุดทิ้ง เอาแต่ข้อมูลกลาง ตาม normal curve) ยังมีเทคนิคอื่นๆอีกมากมายครับ แล้วจึงนำข้อมูลไปประยุกต์กับสถิติขั้นสูงอีกที ถ้าผู้วิจัยยึดถือตามแบบฉบับ และมีเทคนิคในการวิจัยจริง เกรียนจะมาป่วนคงเป็นเรื่องยากครับ
เท่าที่โหลดมาดูนิดหนึ่งคือจะมีคำถามก่อนให้ทดสอบเป็นการคัดกรองเบื้องต้นเช่นถ้าไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นหืด แอปก็ไม่ได้ให้ทำการทดสอบ ผมไม่ทราบเหมือนกันว่า Apple วางตัวนี้ไว้เพื่อหาแนวโน้มโรคหรือตรวจแบบจริงจังเลย(ในใจคิดว่าอย่างแรกมากกว่า ยังไงสุดท้ายก็ต้องหาหมออยู่ดี)
ส่วนตัวการที่บอกว่าทำเพื่อเพิ่มมูลค่า iPhone อันนี้เห็นด้วยเลยครับ ที่จะทดสอบได้ เป็นการสร้างจุดเด่นที่ดีเลย ส่วนข้อจำกัดที่บอกว่าเฉพาะผู้ใช้ iOS หรอ ข้อมูลก็ไม่หลากหลายสิ ก็คงเป็นอย่างนั้นนอกจากจะเป็น open source จริงตามเม้นบนบอก แล้วข้อจำกัดผู้ร่วมวิจัยเช่นอัมพาตหรือตาบอด ก็คงต้องรอดูต้อไปว่าจะพัฒนาการทดสอบออกมาได้อย่างไร ตอนนี้ก็ใช้ได้ถึง 5 โรคก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเลย
เข้าใจว่าการใช้เซนเซอร์โทรศัพท์น่าจะเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันไม่น่าจะเอามาวิจัยได้นะครับความแม่นยำของมันสิบเครื่องยังตอบไม่ตรงกันสักเครื่อง ยกเว้นไอโฟรจะเกรดการแพทย์มาใส่จริงๆซึ่งไม่คิดว่าจะทำได้ในราคาเท่านั้น
ผมว่าปัญหามันอยู่ตรงนี้แหละ มาตรฐานข้อมูลแต่ละอันมันไม่เท่ากัน
ก็แค่ปูทางไว้เผื่อกินตลาดสุขภาพในอนาคตเท่านั้นแหละ
ยังใช้งานจริงไม่ได้หรอก เพราะปัจจัยที่มีคนพูดไว้ข้างต้น
ผมว่ามันเป็นก้าวแรกที่สำคัญครับ อย่างเช่นพ่อผมหูตึง ใช้ App นี้ตรวจสภาพหู ตรวจการได้ยิน, แล้วผมก็เลยเอาไปให้ผู้ใหญ่ที่มีอาการผิดปกติทางด้านหูได้ลองตรวจสอบดูบ้าง ถ้าเกิดมีการเก็บสถิติจากตรงนี้ก็ผมว่าก็น่าจะเป็นประโยชน์พอสมควรเลยนะครับ อย่างน้อย... อาจจะรู้ว่าจำนวนคนที่มีปัญหาผิดปกติทางด้านหูที่พบแล้วมีกี่คน อาการแย่ลงไหม? หรือคนป่วยที่ไม่สะดวกเข้ามาตรวจอาจจะส่งผลตรวจมาเองเป็นระยะๆ ถ้าเกิดพบความผิดปกติก็แนะนำให้เข้ามาพบแพทย์ได้ ผมว่าการมีแนวทางใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมามันดีไม่ใช่น้อยเหมือนกันนะครับ
ลองตอบคำความในมุมต่างออกไปดูนะครับ
App พวกนี้กว่าจะรู้จักบางทีก็นู่นแหละครับเข้าไปตรวจเลย ผมในมุมของคนปกติไม่มีความสนใจที่จะไปให้การทดสอบหรือให้การเก็บสถิติอยู่แล้ว แต่ว่าในมุมของผู้ป่วยนี่ผมก็ยินดีให้ความร่วมมือเต็มที่นะให้หมอได้มีข้อมูล รักษาคนป่วยที่มาทีหลังผม
จริงส่วนนึงแต่ไม่ทั้งหมด คนใช้ iPhone ทั่วบ้านทั่วเมืองต้องมีคนป่วยอยู่บ้างแหละ เว้นแต่บางโรคที่อาจจะใช้งานยากหรือผู้ที่อาการหนักแล้ว
จุดนี้ต้องพัฒนาอุปกรณ์กันไปเรื่อยๆ simple อย่างนับก้าวตอนนี้นี่ผมว่าแม่นยำมากเลยเหมือนกันครับ อีกอย่างการใช้พวกนี้นับอาจจะดีกว่าการใช้เครื่องวัดมาตรฐานขั้นสูงที่มีอุปกรณ์ติดเต็มตัว แล้วเวลาเดินหรือทำอะไรนี่เกรงไปหมดก็ได้ครับ เรื่องอุปกรณ์พังนั่นก็เป็นตัวแปรนึงแต่ว่ามันไม่น่าจะพังส่วนใหญ่หรอกครับ เดี๋ยวนี้หลายๆ App ก็ต้อง calibrate ก่อนเข้าอยู่แล้ว(เช่นพวกเกมส์แข่งรถ ถ้าเซ็นเซอร์พังนี่แหกโค้งกระจายครับ)
ผมว่ามันเป็นการเพิ่มตัวเลือกครับนอกจาก ผู้ป่วยทั่วไปที่เราทำการวิจัยอยู่แล้ว อาจจะเพิ่มตัวเลือกเป็นผู้ป่วยที่มี iPhone เพิ่มการวิจัยไปในระดับการใช้ชีวิตประจำวันของเค้า ที่ไม่ใช่แค่ช่วงที่มาเข้ารับการรักษา
ครับปกติก็ไม่ค่อยมีอยู่แล้ว ต้นทุนอาจจะเป็นการพัฒนา App มากกว่าเป็นการแจก iPhone มั้งครับ เลือกที่เค้ามีอยู่แล้วเป็นอาสาสมัครเข้ามาอีกกลุ่มจะดีกว่าครับ แต่ก็นั่นแหละครับทุนวิจัยบ้านเรา
ถ้าแอพที่ช่วยวัดการได้ยิน ผมแนะนำแอพนี้นะครับ uHear มีงานวิจัยรองรับด้วยครับ (ถึงจะมีแค่งานวิจัยเดียว แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีให้ตรวจสอบเลย) ดังนั้นผมว่าถ้าจะใช้ในการติดตามคนไข้จริงๆ เราควรจะมั่นใจก่อนนะครับ ว่ามันบอกค่าถูก
+1 เห็นด้วยครับ รู้สึกว่าบทควานี้จะมีอคติมากเกินไป
งานวิจัยที่เน้นความแม่นยำของสถิติ ต้องระวังเคสแบบนี้มากๆ (iOS เท่านั้น) เพราะจะเกิด bias ที่ทำให้ผลการวิเคราหะ์ผิดไปจากที่ควรจะเป็น ยังไม่เรื่อง Advert selection ที่ชัดเจนแน่นอน
แน่นอนมันแก้ไขได้ถ้า โครงการวิจัยแจก iOS Device ให้ผู้เข้าร่วม หรืออาสาสมัคร แต่เราก็ไม่อาจปฎิเสธปัญหาสำคัญที่ตามมาอย่างชัดเจนคือ มาตรฐานของเครื่องมือ
การกำหนดมาตรฐานก็มาจากสถิติอีกมนการ QC หรือการควบคุณภาพ
ลองคิดตามนะครับ ว่าความไม่แน่นอน จากเครื่องมือ ตามด้วยความไม่แน่นอนของ ผู้ใช้ ตามด้วยปัญหาข้างต้น ย่อมทำให้การนำไปใช้ในงานวิจัยเป็นไปได้ยาก อย่างแน่นอน
มันคือก้าวแรกครับ อย่างน้อยก็เป็นการเปิดศักราชใหม่แสดงให้เห็นวิสัยทัศและทิศทางของบริษัทที่ต้องการจะก้าวเดินต่อไป ซึ่งผมว่าเปิดตัวมาพร้อมกับแอพตัวอย่างหลายตัวโดยมีการร่วมมือกับโรงพยาบาลและมหาวิทยาลัยมาหลายตัวก็น่าจะพอทำให้เห็นอะไรลางๆ อยู่นะครับ คำตอบก็น่าจะราวๆ ที่หลายท่านเคยกล่าวไว้เวลามีการพูดถึงโปรเจ็คของ Google
ขอให้ความเห็นในฐานะคนที่มีงานวิจัยเล็กๆ มาบ้างนะครับ โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยตาม author เขียนไว้ครับ
พอใช้ mobile phone จริงๆ เจอปัญหาเยอะมากๆ
เช่น โปรแกรมวัดค่า Lux ของแสง อ่านค่าจาก Ambient light sensor เนี่ย โปรแกรมสำเร็จตัวนึง แนะนำให้ใช้กระดาษ A4 80 แกรม 1 แผ่นปิดช่องไว้ บอกว่าจะวัดได้ใกล้เคียง แต่ที่พบ กระดาษ A4 คนละยี่ห้อ มันก็ดูดกลืนแสงไม่เท่ากันแล้ว ค่าที่ได้ จากหลอดไฟจำนวนไม่เท่ากัน ไม่ต่างกันเท่ากระดาษคนละยี่ห้อ ...
หรือวัด Ambient sound นี่ก็ไม่เท่ากันครับ Sensitivity ของ mic ในแต่ละเครื่องมันไม่เท่ากัน แถมบางตัวมี function ตัดเสียงรบกวนออกด้วย
ตอนทำโปรเจคใช้กล้องถ่ายรูปประเมินขนาดอาหาร ขนาดจานแต่ละบ้านไม่เท่ากันเทียบ % พื้นที่ลำบากมาก
แล้วสุดท้าย ถ้าให้ผู้ใช้ใส่ข้อมูลลงไปเอง บางทีก็ใส่เกินจริงครับ ไม่เคยมีใครใส่น้ำหนัก เท่าตัวจริง มีแต่ใส่น้อยกว่าจริง หรือ ส่วนสูง ใส่มากกว่าจริง แบบนี้เจอบ่อยครับ จากที่เคยทำมา
ต่อให้ไม่เท่ากัน แต่ถ้าเก็บข้อมูลไปปริมาณมหาศาลได้มันก็ต้องดึงข้อมูลอะไรออกมาใช้ได้บ้างแหละครับ แม้ประสิทธิภาพจะต่ำแต่ปริมาณมากก็คงช่วยอะไรได้บ้าง
คุณจะยอมให้หมอสั่งการรักษา based on ข้อมูลที่ใครก็ไม่รู้ให้เอาไว้ และไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่า แต่ปริมาณมากไหมครับ
ผมอยู่ฝั่งไม่ค่อยเห็นด้วยนะครับ (คือเห็นด้วยกับบทความเป็นส่วนมาก) แต่จะบอกว่าไม่ได้อะไรออกมาเลยนี่มันก็ไม่น่าจะจริงน่ะครับ
ค่อนข้างเป็นไปได้นะครับที่จะไม่ได้อะไรเลย
เคยมีหลายครั้งแล้วที่การทดลองไม่ได้กำหนดลักษณะของคนไข้อย่างละเอียด ปรากฏว่าไม่ค่อยได้อะไร พออีกการทดลองหนึ่งทำการจัดกลุ่มคนไข้อย่างละเอียดและเป็นระบบขึ้น (คนไข้ชุดเดียวกัน) คราวนี้ได้ผลเลย..
แต่ผมเห็นแล้วคิดอย่างนึง คือ Apple บอกว่าเป็นเฟรมเวิร์กสำหรับสร้าง App เก็บข้อมูล ผมคิดว่าจะรอดูตรงนี้อีกทีนึงก่อนจะตัดสินว่าดีไม่ดี แต่ถ้าเท่าๆที่เขาโชว์ออกมา ผมเห็นว่างั้นๆ (เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ตรงนั้น)
ยังไงมันต้องมีข้อมูลตั้งต้น (ที่ได้จากสังกัดต่างๆใน keynote) ไว้เทียบอยู่แล้วครับ ข้อมูลมหาศาลมีประโยชน์มากนะครับ แม้มันจะมีมั่วๆมา สุดท้ายมันต้องมีตัวกรองครับ ได้รู้ทุกซอกทุกมุมเลย
ถ้างานวิจัยทั่วไป อย่างพวกงานวิจัยการตลาด หรือพฤติกรรมผู้บริโภคคงอย่างที่ว่าครับ
แต่ถ้า "medical research" อย่างที่แอปเปิลอ้าง ผมว่าอีกเรื่อง
lewcpe.com, @wasonliw
เห็นหลายท่านวิพากษ์วิจารณ์ว่าบทความมีอคติเกินไป แต่สำหรับผมมีความเห็นว่า ผู้เขียนมองตามความเป็นจริงในฐานะของบุคลากรทางการแพทย์นะครับ
ผมก็เป็นบุคลากรทางการแพทย์คนหนึ่ง อาจารย์ของผมท่านเน้นย้ำเสมอว่าการทำงานวิจัยทางการแพทย์ Sample และ Population สำคัญอย่างมากและเราจะไม่ปล่อยให้มีการให้ข้อมูลมั่วๆเพื่อเน้นปริมาณเด็ดขาด
กรณีของ ResearchKit ผมมองว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับแนวคิดสนับสนุนงานวิจัย แต่ยังไม่เพียงพอจะใช้ทำการทดลองจริงๆครับ
ในทางสถิติความถูกต้องของข้อมูลถือเป็นสำคัญ ขอแก้ไขความเข้าใจผิดของหลายๆ ท่านนะครับ
ข้อมูลเยอะ <> ดีในทางสถิติ
เพราะ error ที่เกิดขึ้นเพียงน้อยมากๆ ถ้าเกิดจาก sample จำนวนมากๆ ยิ่งส่งผลให้การทำวิจัยเกิด error ได้มากๆ เช่นกัน
เมื่องานวิจัยเกิดความไม่แน่นอนหรือความไม่ชัดเจน คุณกล้าไว้ใจหรือไม่
ในทางการแพทย์ต้องการทดสอบที่ระดับ 99% ขึ้นไป ถึงยอมรับให้เอามาใช้กับมนุษย์ได้
ผมว่าข้อ 5 เนี่ยไม่น่าจะเกี่ยวถึงขั้นว่าต้องชื้ไอโฟนเพื่อให้คนใช้แล้วมาทำงานวิจัยนะครับ
เพราะประเด็นของ Apple เค้าแค่คงหมายถึง
ส่วนความถูกต้อง และ พวก sensor ต่างๆในมือถือ อันนี้เห็นด้วยจริงๆครับว่ามันจะแม่นพอที่จะไม่ทำให้การวิจัยผิดเพี้ยนรึเปล่า
แต่ที่แน่ๆเป็นการปูทางไว้อย่างดีสำหรับแอปเปิลนะครับ น่าสนใจเหมือนกันว่าไอโฟนรุ่นหน้าจะเป็นยังไง
กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มาตรฐานปัจจุบันรัดกุมมากกว่านี้ ปัจจัยก็อย่างที่หลายคนพูดไป
1) selection bias เห็นอยู่ชัดๆว่าข้อมูลได้มาจากเฉพาะกลุ่ม ต่อให้เครื่องมือวัดได้ดีแค่ไหนก็ implies ได้เฉพาะกลุ่ม ไม่ได้ represent ประชากร
2) validity ของข้อมูล เพราะเครื่องมือเหล่านี้ก็ยังวัดอะไรไม่ได้มากมาย และไม่ได้รับการดูแลจากผู้เขี่ยวชาญโดยตรง(การติดตั้งถูกไหม calibrateถูกไหม ใช้ถูกวัตถุประสงค์หรือยัง) และเป็นไปได้ว่ามีคนแกล้งให้ข้อมูลผิดๆ
อย่างไรก็ดี ถึงมันจะไม่ได้มีมาตรฐานที่รัดกุม แต่อาจมี impact ในระดับนึง ผมรู้สึกว่ามันจะค่อนไปในทาง buisiness มากกว่าน่ะสิ เอาข้อมูลมาให้หลายคนวิตก เพื่อขายโฆษณายา ขายโฆษณา healthcare service ข้อมูลดิบappleไม่เปิดดูอาจจะใช่ แต่ข้อมูลที่รวบรวมแล้วอ่ะ ยังไงก็ต้องเปิด
เห็นด้วยกับเจ้าของบทความเป็นอย่างมากครับ