ให้หลังจากการเปิดตัวซีพียูรุ่นใหม่รหัส Skylake ไปเมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน เมื่อสัปดาห์ก่อนทางอินเทลประเทศไทยได้ส่งซีพียูรุ่นแรงสุดในปัจจุบันอย่าง Core i7-6700K มาให้ทาง Blognone ทดสอบ พร้อมกับชุดคิตอย่างเมนบอร์ด แรม DDR4 และ SSD ตัวแรงอย่าง 750 Series
ก่อนจะไปดูผลรีวิว ก็มาพูดถึงสเปค และฟีเจอร์ใหม่ที่มาพร้อมกับ Skylake กันก่อน โดยรุ่นนี้นับเป็นช่วง "tock" ที่จะเปลี่ยนสถาปัตยกรรมไปใช้แบบใหม่ แต่ยังคงขนาดไว้ที่ 14 นาโนเมตรเท่ากับ Broadwell โดยในรุ่นนี้ตัวซีพียู และจีพียูจะประหยัดไฟมากขึ้น, รองรับแรมทั้ง DDR3L และ DDR4, รองรับ PCIe 3.0 และ Thunderbolt 3 พร้อมฟีเจอร์ในการโอเวอร์คล็อกที่ละเอียดยิ่งขึ้น รวมถึงเปลี่ยนไปใช้บอร์ดใหม่รหัส Z170 ในซ็อกเก็ต LGA1151 อีกด้วย โดยรายละเอียดของชุดคิตที่รีวิวมีดังนี้ครับ
ก่อนไปดูรีวิว ก็เป็นเวลาโชว์อุปกรณ์ที่ได้มาครับ
เมนบอร์ด ASUS Z170-A รุ่นกลางๆ แต่ฟีเจอร์ครบครัน ตัวบอร์ดเป็น ATX ขนาดเต็ม
พระเอกของงานนี้ Core i7-6700K ก่อนทำความสะอาด
นี่คือหน้าตาของซ็อกเก็ตใหม่ LGA1151 แต่ไม่ใช่ OC Socket ที่จะมีขาพินมากกว่าปกติ ช่วยให้โอเวอร์คล็อกได้ดุดันยิ่งขึ้น
ทำความสะอาดและประกอบร่างเรียบร้อย สังเกตดีๆ จะเห็นว่าบอร์ดรุ่นนี้มีตัวช่วยสำหรับใส่ซีพียูลงสล็อตง่ายขึ้นด้วย (กรอบพลาสติกสีดำรอบๆ)
พัดลมระบายความร้อนที่ทางอินเทลส่งมาให้จะใหญ่กว่าพัดลมแบบมาตรฐานเล็กน้อย รวมถึงส่วนของฮีทซิงก์ก็ใหญ่กว่าเช่นกัน (อย่าลืมว่าซีพียูซีรีส์ K ไม่แถมฮีทซิงก์นะ!)
SSD 750 Series ตัวแรง ส่วนแรมนั้นลืมถ่ายรูปมาครับ :(
การทดสอบซีพียูในครั้งนี้จะเน้นไปที่กำลังประมวลผลของตัวซีพียูเป็นหลัก มีผลการทดสอบของ Intel HD 530 ที่บันเดิลมากับตัวซีพียูเล็กน้อย โดยจะเปรียบเทียบกับรุ่นก่อนหน้าในไลน์ใกล้เคียงกันอย่าง Core i7-4790K (Devil's Canyon) และ Core i7-3790K (Ivy Bridge) เป็นหลักว่าประสิทธิภาพเหนือกว่าแค่ไหนแบบไม่โอเวอร์คล็อก
เริ่มต้นกันที่ CINEBENCH R15 ชุดทดสอบสำหรับเรนเดอร์ภาพสามมิติด้วยซีพียู โดยแบ่งเป็นสองผลลัพธ์คือแบบใช้คอร์เดียวในการเรนเดอร์ และใช้หลายคอร์ ผลทดสอบแบบคอร์เดี่ยวแสดงศักยภาพของ Skylake ออกมาอย่างชัดเจนด้วยการทิ้งห่างรุ่นก่อนหน้าอย่าง Devil's Canyon ไปราว 10% ด้วยกัน ก่อนจะพ่ายให้กับ 3930X (Sandy Bridge-E) ที่มีจำนวนคอร์มากกว่า (6 คอร์/12 เธรด) ในผลการทดสอบแบบหลายคอร์
ชุดทดสอบต่อมาจะเป็น Super PI ยอดนิยมสำหรับทดสอบความเร็วในการคำนวณค่า π ด้วยคอร์เดียว ซึ่งในการทดสอบSuper PI 1M นี้ 6700K จะตามหลัง 4790K อยู่เล็กน้อย (เดี๋ยวนี้ซีพียูตัวแรงๆ ใช้เวลาไม่ถึง 10 วินาทีกันแล้ว)
ดูการประมวลผลไปแล้วก็ถึงการใช้งานในสถานการณ์จริงกันบ้างด้วย x264 HD Benchmark ที่จำลองการเข้ารหัสวิดีโอ 1080p ด้วย x264 หน่วยคะแนนจะเป็น MB/s เลขยิ่งเยอะยิ่งดี ตรงนี้ผลลัพธ์จะชัดเจนว่า 6700K ทำผลงานได้เหนือกว่ารุ่นก่อนหน้า แม้ว่าจะเทียบกับโมเดลที่จำนวนคอร์มากกว่าก็ตาม
ปิดท้ายผลการทดสอบซีพียูกันด้วย Intel XTU ชุดโปรแกรมสำหรับช่วยจูนตัวเครื่องและโอเวอร์คล็อก ซึ่งมาพร้อมกับฟีเจอร์วิเคราะห์ตัวเครื่องเพื่อวัดผลคะแนนด้วย โดยในผลการทดสอบนี้ 6700K ทำคะแนนแซงรุ่นก่อนหน้าไปอย่างชัดเจน
หมดส่วนของซีพียูก็ถึงคราวขยับไปทดสอบจีพียูอย่าง Intel HD 530 กันบ้างว่าประสิทธิภาพดีขึ้นแค่ไหน โดยทดสอบกับเกมเก่าตั้งแต่ปี 2013 ลงมา ที่ความละเอียด 1080p (เท่าที่มีใน Steam ของผู้ทดสอบ)
ของแถม Ashes of the Singularity ชุดทดสอบ DX12 (กดที่ภาพเพื่อดูภาพขนาดใหญ่)
ภาพรวมของฝั่งจีพียู Intel HD 530 ใช้เล่นเกมออนไลน์ดังๆ ทั้ง HON, LOL หรือแม้แต่ Dota 2 ได้ไม่มีปัญหา แถมยังสามารถปรับคุณภาพกราฟิกไปถึงระดับสูงสุดด้วยซ้ำ แต่ฝั่งเกมออฟไลน์ AAA ตอนนี้พอจะบอกว่าเล่นได้บ้างแล้ว ซึ่งเมื่อเทียบกับ Iris Pro ก็ยังประสิทธิภาพด้อยกว่าอยู่ดี
สำหรับคนที่กำลังลังเลว่าเปลี่ยนมาใช้ 6700K หรือซีพียูในรหัส Skylake จะดีหรือไม่ ให้ย้อนกลับไปดูรุ่นที่ใช้อยู่ก่อนครับ ถ้าหากยังใช้เป็น Haswell ขึ้นไป (ตั้งแต่ Haswell, Devil's Canyon ไปจนถึง Haswell-E) การอัพเกรดมาเป็น Skylake คงไม่ค่อยเห็นผลนัก แต่ถ้าเป็นรุ่นเก่ากว่านั้นตั้งแต่ Ivy Bridge ลงไปจะเห็นผลชัดเจนมาก แถมยังได้เข้าถึงของใหม่ๆ อย่าง M.2 จากบอร์ด Z170 รวมถึงแรม DDR4 ที่ราคาเริ่มถูกลงอีกด้วย
การพัฒนาฝั่งกราฟิกของอินเทลยังคงค่อยๆ ขยับ สำหรับคนที่เน้นทำงาน เล่นเกมออนไลน์เล็กน้อย แทบไม่มีความจำเป็นต้องซื้อการ์ดจอแยกแล้วในตอนนี้ ส่วนรายละเอียดอื่นๆ อย่างความร้อน อัตราการบริโภคพลังงานนั้นไม่ต่างจากรุ่นก่อนหน้ามากนัก
Comments
อีก 1 ปีเจอกัน . 4790 ยังไม่มีปัญหา ยังใช้เหลือเฟือ ฮ่า ๆ
รอ 1151 ถูกกว่านี้อีกหน่อย
CPU ยังรับราคาได้ เทียบกับประสิทธิภาพ แต่บอร์ดยังแพงเกินไปรุ่นต่ำสุดที่แทบไม่มีอะไรเลยยัง 3-4 พัน
ออกบ่อยจนลืมนับแล้วว่าอะไรติ๊กอะไรต๊อก ฮ่าๆ
อ่านแล้วงงครับ
คงหมายถึงในรูปคือ LGA1151 แบบมาตรฐานทั่วไปครับ
ซึ่งใน Mainboard Asus บางรุ่นจะเป็น LGA1151 แบบพิเศษซึ่งเรียกว่า OC Socket ซึ่งจะมีพินมาขึ้นเท่าๆ กับบนซีพียู (ใน Socket มาตรฐานจะมีพินน้อยกว่าที่มีบนซีพียู)
สมัยก่อนจะมีกราฟ intel เทียบ AMD. แต่สมัยนี้ AMD มิอาจเทียบรัศมีได้ จึงเหลือแค่ Intel เทียบกันเอง
รอดู Zen ปีหน้าครับ
จริง ๆ AMD ก็แรงน่ะครับ แต่ตามมาทีหลังแค่ 3 ปีเอง
ในส่วนบทความความนี้ เทียบแค่ CPU ในเครื่อของค่ายอินเทลอย่างเดียว ซึ่งเกิดจากผลของการโฆษณามากกว่าการเปรียบเทียบ
และที่น่าสงสัยที่สุดคือ เอาผลทดสอบของ Xeon X5650 มาเทียบด้วยทำไม ก็ไม่เข้าใจ นี้เป็นซีพียูที่ออกมานานแล้ว ปี 2010
ตั้งแต่สมัย Socket LGA 1366 และมันเป็นซีพียูสำหรับใช้งานกับเครื่อง Server,Workstation
รูป CINEBENCH R15 ในรูปเขียนว่าเทส i7-3930K แต่ในบทความบอก 3930X
จัดว่าเด็ด ^^
แต่ 4790K ยังทำงานได้เนียนๆอยู่
ช่วงนี้ลมปราณแตกซ่าน อยากได้คอมใหม่ แต่ลูกกำลังจะเข้าโรงเรียน เก็บตังค์ก่อน T-T
มาคอนเฟิร์มด้วยอีกคนครับ คุ้มค่า คุ้มราคามาก :)
แถมยังไงถ้าอนาคตไม่ไหวจริง ๆ OC ลากไปอีกนิด ๆ ยังได้ครับ
DRR3L => DDR3L
DRR4 => DDR4
คำนวน => คำนวณ
Skylak => Skylake
ไม่ต่างรุ่นก่อนหน้า => ไม่ต่างจากรุ่นก่อนหน้า
พวกเกมส์เช่น Bioshock Infinite นี่ทดสอบระดับ Mid หรือ High หรอครับ
ต่ำหมดครับ
เกมแคปคอมสองเกมข้างบนจริง ๆ ไม่ค่อยกินแรงเท่าไหร่นะ (แล้วก็แอบเก่าด้วย) แต่ผมก็คิดว่าคนที่จะเล่นชิพตัวนี้ก็คงจะใส่การ์ดจอเพิ่มกันหมดอยู่ดีล่ะครับ :-)
รู้สึกว่า PC เสียงพัดลมดังมาก มีแต่เก็บใส่กล่องไว้ เอาnotebookมาใช้งานหลัก เปิดทั้งวัน เงียบดี
ซื้อระบบระบายความร้อนด้วยน้ำมาใส่ หรือใช้ซิงค์ที่ซื้อแยกต่างหาก อาจจะช่วยลอดอาการดังของพันลมที่หมุน สัก 2500 ถึง 5600 รอบได้อยู่ครับ
Note.
1500 - 2500 RPM intel
2500 - 5600 RPM AMD
ทำไม AMD รอบสูงกว่าเยอะเลยน่ะครับนี่
ส่วนนึงผมว่าเป็นที่ design พัดลมมันอะครับ น้ำแหละดีระบบปิดพื้นๆตัวนึงสองพันเองสมัยนี้เงียบมากพัดลมหม้อน้ำมันหมุนชิลๆ
พวกตระกูล FX ครับ ถ้าปรับออโต มันอาจจะไม่ดังครับ แต่เวลาโหลดเกมส์หนัก ๆ อาจจะไม่ทันทำให้ CPU เสื่อมสภาพง่าย
เวลาเข้าหน้าร้อนช่วงเดือนมีนา เมษา พฤษภา มิถุนา กรกฏา สิงหา(กทม.) มันจะร้อนต้องบังคับให้มันหมุน Full load ครับ 5600 RPM
เกิดจาก ฮิทซิงค์ มันเล็กไปครับ เลยต้องใช้พัดลมรอบสูงช่วย
แต่ถ้าเล่นเกมส์หนัก ต้องปรับ Full load ครับ เช่น FX 8350 ไม่งั้นเครื่องรีสตาร์สแน่นอน (เช่นเล่นเกมส์ออนไล์เปิดสองแอคเค้าท์ เป็นต้น)
ส่วนพัดลมหม้อน้ำหล่อเย็น ราคา 1700 - 1900 บาทครับ ซื้อตามเว็บ สองใบพัด ก็ 2900 เองไม่แพงครับติดตั้งง่ายเงียบประหยัดไฟด้วยใช้ความเร็วรอบเพียง 1500 - 1900 RPM เองครับไม่ดังมาก
อ่อ หมายถึง Sink เดิมนี่เอง
เพราะตอนนี้ก็ FX เหมือนกัน แต่ใช้ Sink อันเท่าตึก
เลยไม่ทราบว่า Sink เดิมมันพัดกันโหดขนาดนั้น >.<
แต่มันก็สู่ไม่ได้อยู่ดีครับ สุดท้ายต้องพึ่งหม้อน้ำจึงจะเอาอยู่ ถ้าไม่ใส่ก็พาลทำให้ แรม การ์ดจอ นอทบริดก์(จุดเชื่อมเหนือ(สะพานเหนือ)) รวมทั้งชุดภาคไฟเลี้ยง คอยพาลร้อนกันไปด้วย คือทำให้ทั้งเคศร้อนไปหมดเหตุจาการใช้ รอบสูงทำให้การกินกระแสมากไปด้วย
ผมว่า Butterfly effect เกินไปหน่อยครับ
ถ้าใช้ Sink 3rd party ที่ดีในระดับหนึ่ง ถึงอุณหภูมิภายในสูงขึ้นจริง แต่ไม่น่ามีนัยสำคัญขนาดทำให้ร้อนแล้วมีผลกับทั้งบอร์ดได้แบบชัดเจนนะครับ
(ชัดเจนคือพังใน 2-3 ปี แทนที่จะเป็น 5-6 ปี)
ป.ล. หรืออย่าง Sink แยกของผมแค่ระดับกลางๆ ใช้กับ FX6300 นี่ idle 34-35c รอบ 14xx เท่านั้นเอง Full load ไม่เกิน 50c รอบ 2500 ครับ
ไปลองปรับมา Intel รอบสูงสุด ก็ 5000 กว่าๆ นะครับ
Cpu แรงช่วยให้ ท่อง web เร็วขึ้นไหมครับ
มีส่วนครับ
จำเป็นมากสำหรับเวปสมัยใหม่ครับ
โดยเฉพาะ Chrome
โขกสับ Core2Duo ต่อไปเถอะนะเรา Y Y
สั่งแล้วกับ MoBo Asus Z170-K, Hyper-X RAM 2666 16GB ตอนแรกกะจะเอา 6700 เฉยๆ แต่ของขาดเลยจำใจเอาแพงกว่านิดนุง =,=
ສະບາຍດີ :)
ตรง Cinebench R15 multi-core ตัว X5650 นั่นคือ 2 socket ใช่มั้ยครับ
งงๆ ว่าทำไมมันแรงกว่า i7 6 core
น่าจะตัวเดียวน่ะครับเพราะถ้าสอง socket มันก็น่าจะขึ้น Dual Xeon X5650 (LGA 1366) สมัย QPI ยุคแรกๆ 6 คอร์ 12 เทรด
เป็นการแข่งกันแบบ มัลติคอร์ หลายคอร์ ((หลายแกนรวมกัน) ไม่รวมมัลติเทรด)) เช่น 4 คอร์ 2 แกน (8 คอร์ 4 แกน) ประมาณนี้
คำว่า 2 แกน 4 แกน(Core) นี้เรียกว่า Multi core ซึ่งรวมอยู่ใน Ship เดียวกันใน 1 ซีพียู (พูดง่ายๆ คือ 1 แกนมีสองคอร์ ใช้ L2 รวมกัน จากกนั้น แกนที่ 2 ก็ใช้งาน L2 รวมกันอีก และจากนั้น L2 แกนที่ 1 กับ L2 แกนที่ 2 ก็ใช้งาน L3 ร่วมกัน รวมเรียกกว่า มัลติคอร์ (ดูภาพน่าจะง่ายกว่าไหม)
Note.
Single Socket 1 CPU Desktop Workstation Server (Low-Hi
Dual Socket 2 CPU Server Workstation (Medium-Hi
Quad Socket 4 CPU Server Motherboard (Hi-Hi
ลองแล้วเหมือนกันครับ ผมมือไม่เทพได้เท่านี้เอง
http://valid.x86.fr/e0e6kk
ตอนนี้ส่งบอร์ดเคลมไปหละ PCIE 16X รันได้แค่ 2X ซะงั้น
ไม่รู้บอร์ดกลับมาต้องเคลม CPU อีกหรือป่าว น่ากลัวจิน ๆ
ไปดูมาเหมือนกันครับ Z170-A ราคาราวๆ 6,000 บาท ผมถือว่า ค่อนข้างแพงนะครับ แต่..
งก USB 3.1 ให้มาแค่ 2 port เป็น A กะ C อย่างละ port
แต่ถ้าจะเอาแบบ ไฮไล้ ของ Z170 เลยคือมัน Support NVMe ครับ
ถ้าซื้อ Z170 แล้วไม่ซื้อ NVMe SSD มาเสียบลงไป ผมว่าเสียของ
แนะนำ NVMe Raid 0 ครับ
(PCI16x Raid กับ M.2 SSD วิ่งไปเลย 3000+ MB/Sec)
ขอแถมอีกนิดหนึ่งครับปิดท้าย
Core i7 6700K รุ่นใหม่สุด ก็จริง แต่กลับมาใช้ระบบ QPI เหมือนเดิมเพื่อแก้ปัญหาคอขวดที่บรรดา Intel Socket 1156 1155 1150 ได้เปลี่ยนมาใช้ระบบ I/O แบบ DMI (Direct Media Interface)แทนระบบ QPI ซึ่งมีอยู่เดิม แต่มาในรุ่น 1151(งงไหมครับ)กลับมาใช้ ระบบ I/O แบบ QPI (Quick Path Interconnect)ตามเดิมที่เคยใช้และใช้อยู่ในยุคของ LGA 1366 และ LGA 2011 V1,2,3 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นระบบคล้ายกับการทำงานของ HT Link ของค่าย AMD นั่นเอง (จบ)
Core i7 6700K QPI 8.0 GTps. ใหม่ในแง่ของสถาปัตยกรรมและเทคโนโลยี ตามยุคสมัย
Xeon X5650 QPI 6.4 GTps. เก่าตามยุคสมัยเหมือนกัน แล้วอะไรทำให้คุณปู่อายุแก่กว่า 5 ปีสามารถคว้ายชัยชนะเหนือ Core i7 6700K บนพื้นฐานการทดสอบระหว่าง ซิงเกิลคอร์ และมัลติคอร์ เพราะ X5650 ราคาแพงนั่นเองครับ ในสมัยนั้นมันมี Memory แบนดวิดท์ 32 Gbps. ส่วน 6700K ในปัจจุบัน 34.1 Gbps. ทั้งที่ X5650 ใช้แค่ DDR3 1333 เท่านั้นเอง ส่วน 6700k ใช้ DDR4 2133 อย่างนั้นหรือ คงไม่ใช่
เพราะจำนวนคอร์ ต่างกันนั่นเอง อีกอย่างหนึ่งขนาดจำนวนของ Transistors ก็ต่างกันด้วย และขนาดของ Socket ก็ต่างกัน 1151 กับ 1366(อันนี้เล่าให้ฟังเขียนให้่อ่านเฉยๆ ครับ)
Note.
QPI คือ ฝัง Memory Controller ไว้ที่ ซีพียู
DMI คือ ฝัง Memory Controller ไว้ที่ เมนบอร์ด
ไม่ใช่แล้วครับ Intel รุ่นใหม่ๆมีทั้ง QPI และ DMI ครับ ตัว series 100(mainstream) จะใช้ DMI 3.0 เท่านั้น ไม่มี QPI
ตัว DMI เป็นแค่ bus ที่เชื่อมต่อกับ PCH ซึ่งนับกลายๆได้ว่าเป็น Southbridge เท่านั้น ตรงส่วน memory controller และ Northbridge ทั้งหมด (PCI-E x16, RAM, etc) ยังอยู่ที่ตัว CPU เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงครับ
ทีนี้ทำไมปัจจุบัน Intel ถึงต้องขยาย bus DMI 2.0 > 3.0 ก็เป็นเพราะว่าความต้องการของอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับ PCH(SB) ในปัจจุบันครับ DMI 2.0 มี max bandwidth(x4) ที่ ~2GB/s เท่านั้น ดังนั้นเมื่อเอามาใช้กับอุปกรณ์ความเร็วสูงๆเช่น NVMe SSD, USB 3.1, etc. จะเกิดคอขวดขึ้น Intel จึงต้องขยาย bandwidth ของ bus ส่วนนี้ขึ้นครับเพื่อให้เครื่อง mainstream สามารถใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้ได้โดยไม่มีคอขวดครับ (มาพร้อมกับ HSIO ที่เป็น direct PCI-E 3.0 lanes ที่ไม่เชื่อมต่อผ่าน PCH ด้วย)
ส่วนตัว QPI ปัจจุบันจะมีเฉพาะในรุ่น server(E5+) ขึ้นไปเท่านั้น โดยมีไว้เพื่อสื่อสารตัว CPU+memory controller หลายๆตัวเข้าด้วยกันครับ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ memory controller ว่าอยู่นอกหรือใน CPU
ปล. series 100 ยังมี bus ตัว
Russia is just nazi who accuse the others for being nazi.
someone once said : ผมก็ด่าของผมอยู่นะ :)
เหอะ ๆ สี่เท้ายังรู้พลาดนักปราชญ์ยังรู้พลั้ง นับประสาอะไรกับ CPU หลาย ๆ รุ่น ของค่ายอินเทล ที่อาจจะทำให้ผมสับสนได้ชั่วขณะ
สรุปคอร์เจเนเรชั่น 6 ของอินเทลฝั่งเดสทอปใช้ DMI3 ครับ QPI ผิดครับ(เป็นอันว่าผมคงผิดพลาดในการอ่านค่า สรุป LGA 1151 ยังใช้ DMI เหมือนเดิมแต่เป็น DMI3
ส่วน LGA 2011 v3 ใช้ QPI เหมือน LGA 1366 เหมือนเดิม ทั้งฝั่ง Hi-end Desktop และ LGA 2011 v1,2,3 ฝั่งServer ครับ
ขอบคุณที่ทักท้วงไม่งั้นคงทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดได้ (และทำให้ผมต้องตามไปไล่ดูรุ่น CPU ของอินเทลใหม่อีกรอบ เหอะ ๆ )
LGA 2011 v3 ฝั่ง desktop ก็ยังไม่ใช้ QPI อยู่ดีครับ เพราะตัว CPU เองมันไม่รองรับ multi-CPU อยู่แล้วจึงตัด QPI ออกไป
Russia is just nazi who accuse the others for being nazi.
someone once said : ผมก็ด่าของผมอยู่นะ :)