ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ลูกค้าของธนาคาร ING ในโรมาเนียต้องเจอกับปัญหาบริการจ่ายบิลและเอทีเอ็มล่มไปนาน 10 ชั่วโมง ซึ่งมีสาเหตุมาจากฮาร์ดดิสก์เสียหายในระหว่างการทดสอบระบบป้องกันอัคคีภัยของศูนย์ข้อมูลใน Bucharest
การทดสอบระบบครั้งดังกล่าวมีการทดสอบระบบดับเพลิงอัตโนมัติด้วย โดยศูนย์ข้อมูลแห่งนี้ได้ติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิงอัตโนมัติแบบใช้ก๊าซเฉื่อย ซึ่งเป็นสารที่นิยมใช้สำหรับระบบดับเพลิงในศูนย์ข้อมูลและสถานที่ซึ่งมีอุปกรณ์ทางไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์กันโดยมาก เนื่องจากก๊าซเฉื่อยไม่ทำให้อุปกรณ์เสียหายเหมือนการใช้น้ำหรือสารเคมีแบบโฟมหรือแบบผง
ลักษณะของระบบดับเพลิงด้วยก๊าซเฉื่อยนี้ จะมีถังบรรจุก๊าซไว้ด้วยความดันสูงทำงานร่วมกับอุปกรณ์ตรวจจับไฟไหม้ (ซึ่งมีหลากหลายประเภท แต่สำหรับห้องไฟฟ้าหรือศูนย์ข้อมูลอาจใช้อุปกรณ์ตรวจจับควัน ร่วมกับอุปกรณ์ตรวจจับแสงแบบเฉพาะจุด) เมื่อใดที่ระบบตรวจพบสิ่งบ่งชี้ว่ามีไฟไหม้ ก๊าซเฉื่อยจะถูกปล่อยออกจากถังผ่านตามท่อไปยังหัวฉีดก๊าซที่ติดตั้งกระจายอยู่ทั่วทั้งบริเวณ โดยก๊าซที่ถูกปล่อยออกมาจะไปแทนที่ออกซิเจนทำให้การเผาไหม้ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้
แม้ในทางทฤษฎีดังที่กล่าวมา การทดสอบระบบดับเพลิงอัตโนมัติด้วยก๊าซเฉื่อยไม่ควรเป็นเหตุทำให้อุปกรณ์ในศูนย์ข้อมูลเกิดความเสียหายจนทำให้ระบบล่ม แต่ทว่าการทดสอบในศูนย์ข้อมูลของ ING ครั้งล่าสุดนี้กลับไม่เป็นเช่นนั้น โดยในระหว่างการทดสอบเมื่อก๊าซเฉื่อยถูกพ่นออกมาทางหัวฉีด ก๊าซที่ออกมาด้วยความเร็วสูงได้ก่อให้เกิดเสียงดังสนั่นกว่า 130 เดซิเบล (เมื่อวัดจากตำแหน่งของอุปกรณ์) และเสียงที่ว่าก็ส่งแรงสั่นสะเทือนผ่านอากาศไปทำให้อุปกรณ์ฮาร์ดดิสก์หลายสิบชิ้นเสียหาย
ผู้เชี่ยวชาญจาก Siemens ได้เผยแพร่ผลการทดสอบเรื่องเสียงกับฮาร์ดดิสก์ ซึ่งสรุปได้ว่าเสียงที่ดังเกินกว่า 110 เดซิเบล จะส่งผลให้อุปกรณ์ในศูนย์ข้อมูลทำงานได้ไม่เต็มที่ หากเสียงดังเกินกว่า 130 เดซิเบล จะทำให้ดิสก์ส่วนใหญ่หยุดส่งข้อมูล และหากเสียงที่เกิดขึ้นดังกว่า 140 เดซิเบล ก็จะทำให้อุปกรณ์ส่วนใหญ่เสียหายแบบถาวรและอาจมีความเสียหายอื่นที่ไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าเอาไว้ด้วย
ในขณะที่นักวิจัยจาก IBM เคยศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ของเสียงกับการทำงานของฮาร์ดดิสก์และเผยแพร่ผลการวิจัย ซึ่งชี้ว่าเสียงที่ดังมากจนสร้างการสั่นสะเทือนผ่านอากาศมีผลต่อการทำงานของฮาร์ดดิสก์ได้จริง เนื่องจากฮาร์ดดิสก์ในปัจจุบันมีความละเอียดอ่อนในการทำงานสูงมาก หากการสั่นสะเทือนของอากาศทำให้ตำแหน่งของหัวอ่านข้อมูลเกิดคลาดเคลื่อนจากตำแหน่งไปเกิน 1 ในล้านของ 1 นิ้ว ก็จะทำให้การเขียนและอ่านข้อมูลของดิสก์นั้นต้องหยุดลงทันที
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งแต่ก็ใช่ว่าจะไม่เคยปรากฏเป็นข่าวมาก่อน ในปี 2008 มีคลิปวิดีโอบน YouTube คลิปหนึ่งที่แสดงภาพของวิศวกรชื่อ Brendan Gregg ในระหว่างที่เขากำลังทำงานอยู่ในศูนย์ข้อมูลของ Sun โดยเขาได้สาธิตให้ดูว่าการตะโกนเสียงดังส่งผลต่อการทำงานของฮาร์ดดิสก์อย่างไร
ในปี 2013 สื่อฝรั่งเศสรายงานว่าซอฟต์แวร์ด้านบัญชีของหน่วยงานราชการมีปัญหาใช้การไม่ได้ชั่วคราว โดยมีสาเหตุมาจากความผิดพลาดของระบบดับเพลิงอัตโนมัติที่ตรวจจับเหตุไฟไหม้ผิดพลาด ทำให้อุปกรณ์ปล่อยก๊าซเฉื่อยออกมาในห้องศูนย์ข้อมูลและก่อให้เกิดเสียงดังลั่น
ถัดมาในปี 2014 ระบบดับเพลิงด้วยก๊าซเฉื่อยทำงานเพื่อดับเพลิงในศูนย์ข้อมูลที่ Sydney ประเทศออสเตรเลีย หลังจากนั้นมีผู้เชี่ยวชาญหลายรายออกมาให้ข้อมูลว่ามีดิสก์เสียหายเนื่องจากเสียงดังและการสั่นสะเทือนจากการทำงานของระบบดับเพลิงในครั้งนี้
สำหรับหลายคน นี่อาจเป็นข้อมูลใหม่ที่คาดไม่ถึงมาก่อนเลยว่าเสียงที่ดังเกินไป จะทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจได้มากขนาดไหน
ที่มา - Motherboard via ZDNet, BBC
Comments
งานเข้า ตั้ง External Storage ไว้ติดกับลำโพงมาหลายเดือนแล้ว
All Flash Storage น่าจะเป็นคำตอบของปัญหานี้
มีปัญหากับกระเป๋าเงินแทนครับ
ความรู้ใหม่เลยว่าเสียงดังมีผลต่อ HDD
แรงสั่นสะเทือนครับ
fb, gg ก็ติดพัดลมไว้หลัง rack แทนที่จะติดไว้บนบอร์ด
คราวหน้าหลังเดินผ่านเข้าประตูไปจะทำตัวสงบเสงี่ยมนะครับ เดินแรงเดี๋ยว HDD พัง
ชอบๆๆ 555
ต้องหาถาดไข่มาแต่งคอมสินะ
The Last Wizard Of Century.
ไอ้นั่นไม่ช่วยอะไรครับ ต้อง acoustic board
อนาคตคงมีเคสหน้าตาแปลก ๆ ออกมาละ 555 เอาวัสดุดูดซับเสียงมากันด้วย
ทำ rack gimbal ไว้วางharddisk แทน ?
ซวยล่ะ ที่ีทำงานก็ใช้ระบบดับเพลิงแบบเดียวกันเลย
ต้องให้ที่ทำงานซื้อ SSD มาเปลี่ยนแล้ว
ส่วนตู้ HDD ที่เป็น cold storage ก็ต้องบุผนังลดเสียงที่ตู้ Rack แล้วมั้ง
แต่แปลกที่การทำ HDD ตกพื้นผมก็ยังใช้งานได้ มันไม่ทำให้ตำแหน่งของแผ่นเคลื่อนเหรอครับ
ปล. นี่อาจจะเป็นอาวุธในการก่อการร้ายชิ้นใหม่ 555
The Dream hacker..
ตอนทำตกไม่ได้ทำงานอยู่รึเปล่าครับ
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
ปกติ HDD จังหวะจะหยุดทำงานจะมีกลไกพาหัวอ่านไปหยุดในตำแหน่งที่ไม่มีการใช้งานครับ (landing zone) ถ้ากระแทกไม่มากจะไม่มีผลกระทบถึงพื้นที่ใช้งานครับ
ถ้าปิดเครื่องถูกต้อง แขนอ่านมันจะพับเก็บเข้าไปครับ มันเลยเสี่ยงน้อยกว่าโดนกระแทกหรือสั่นสะเทือนตอนทำงาน
flash blank ลูกเดียว โยนเข้าไปหน้า datacenter คงให้ผลเหมือน EMP เลยสินะเนี่ย
หมายถึง flashbang?
Flashbang? ไม่จำเป็นครับ แค่ดอกไม่ไฟจีนกับระเบิดปิงปองก็เพียงพอแล้วมั้งครับ
Get ready to work from now on.
ต้องมีเสียงต่อเนื่องหน่อยเพื่อความแน่นอนครับ แนะนำประทัดพวงเลย พวงนึงนี่ไม่พังก็น่าจะระบบร่วงได้
นี่จะมาจัดงานงิ้วในห้องdata center รึไงเนี่ย 5555
น่าตกใจมากกับข่าวนี้เปิดโลกทัศน์เลยทีเดียว