Tags:
Node Thumbnail

คณะกรรมการด้านการค้าของสหรัฐ (Federal Trade Commission หรือ FTC) ยื่นฟ้อง Qualcomm ในข้อหาพยายามผูกขาดชิปสื่อสาร/โมเด็มสำหรับสมาร์ทโฟน โดยใช้เทคนิคด้านค่าสิทธิบัตรกีดกันผู้ผลิตสมาร์ทโฟนไม่ให้ใช้ชิปของคู่แข่ง

Qualcomm เป็นผู้นำตลาดชิปสื่อสาร (baseband processor) อยู่แล้ว และบริษัทมีสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารระบบ cellular เป็นจำนวนมาก ตามปกติแล้ว กรณีที่บริษัทใดๆ มีสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานขององค์กรกลาง เจ้าของสิทธิบัตรจะคิดค่าไลเซนส์ในราคาที่ยอมรับได้และเป็นธรรม (fair, reasonable, and non-discriminatory หรือ FRAND)

แต่สิ่งที่ Qualcomm ทำคือขายพ่วงชิปของตัวเองร่วมกับค่าไลเซนส์สิทธิบัตร เพื่อกีดกันไม่ให้ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนไปใช้ชิปของคู่แข่ง โดย FTC แจกแจงเป็นข้อหาดังนี้

  • Qualcomm มีนโยบาย "no license, no chips" ที่กำหนดว่าผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจะต้องยอมจ่ายค่าสิทธิบัตรในราคาที่ Qualcomm กำหนด (ซึ่งแพงกว่า FRAND) บริษัทจึงจะยอมขายชิปสื่อสารให้ และเนื่องจาก Qualcomm ครองตลาดชิปสื่อสารอยู่แล้ว มีส่วนแบ่งตลาดเยอะ ส่งผลให้ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนไม่มีทางเลือกอื่นมากนัก (เพราะถ้าไม่ยอมซื้อไลเซนส์สิทธิบัตรแพง ก็จะไม่มีชิป Qualcomm ให้ใช้เลย)
  • Qualcomm ไม่ยอมขายไลเซนส์สิทธิบัตรของตัวเองให้คู่แข่ง แม้เคยสัญญาว่าจะขายให้ตามหลัก FRAND ก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติบริษัทกลับปฏิเสธไม่ยอมขายให้
  • Qualcomm เซ็นสัญญากับแอปเปิล ห้ามไม่ให้แอปเปิลใช้ชิปสื่อสารใดๆ ของคู่แข่งเป็นเวลา 5 ปี ระหว่างปี 2011-2016 เพื่อป้องกันไม่ให้คู่แข่งสามารถเติบโตได้ จากการได้เป็นคู่สัญญากับแอปเปิลที่มียอดขายสมาร์ทโฟนสูง

FTC ขอให้ศาลสั่งห้าม Qualcomm กระทำการ 3 ข้อข้างต้น เพื่อให้ตลาดชิปสื่อสารกลับมามีสภาวะแข่งขันได้อีกครั้ง ที่เหลือก็เป็นขั้นตอนตามกระบวนการของศาลต่อไป

ฝั่ง Qualcomm ออกแถลงการณ์ตอบโต้ข้อหาของ FTC โดยระบุว่าเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่มีน้ำหนักและเหตุผลสนับสนุนที่ดีพอ บริษัทปฏิเสธว่าไม่เคยตั้งเงื่อนไขขายชิปพ่วงไลเซนส์ และจะต่อสู้คดีในศาล

ก่อนหน้านี้ไม่นาน รัฐบาลเกาหลีใต้ก็สั่งปรับ Qualcomm ในข้อหาผูกขาดชิปสื่อสารในลักษณะเดียวกันมาแล้ว โดย Qualcomm ระบุว่าจะยื่นอุทธรณ์ นอกจากนี้ Qualcomm ยังถูกสอบสวนจากข้อหาเดียวกันในสหภาพยุโรปและไต้หวันด้วย

ที่มา - FTC, Bloomberg, Qualcomm

Get latest news from Blognone