ความฝันของเครือข่าย AT&T ในการควบกิจการกับ T-Mobile USA อาจถึงคราวสะดุด เพราะกระทรวงยุติธรรมสหรัฐในฐานะผู้ดูแลการผูกขาดธุรกิจ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลเขต District of Columbia สั่งไม่อนุญาตให้ควบกิจการครั้งนี้เกิดขึ้น โดยให้เหตุผลว่าการควบกิจการจะส่งผลเสียต่อการแข่งขันในวงการโทรคมนาคม บริการคุณภาพตกลงและราคาแพงขึ้น
ในแถลงการณ์ของกระทรวงยุติธรรมระบุว่า ประชาชนสหรัฐโดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในชนบทและผู้ที่มีรายได้ต่ำ จะได้ประโยชน์จากการแข่งขันในวงการโทรคมนาคมโดยผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้ง 4 ราย (ได้แก่ Verizon, AT&T, Sprint, T-Mobile เรียงตามยอดผู้ใช้) การยื่นฟ้องครั้งนี้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนที่เกิดขึ้นจากสภาพการแข่งขันในปัจจุบัน
กระทรวงยุติธรรมสหรัฐยังบอกว่า T-Mobile สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับวงการโทรคมสหรัฐหลายอย่าง โดยเฉพาะการเปิดบริการเครือข่าย HSPA+ ได้เป็นรายแรกของประเทศ
กระทรวงยุติธรรมสหรัฐมีความเห็นว่า AT&T ไม่ได้แสดงให้เห็นว่า การควบกิจการจะส่งผลดีต่อสภาพตลาดโทรคมนาคมได้ทดแทนกับจำนวนผู้เล่นที่หายไปหนึ่งราย ดังนั้น ถ้าหากว่ายอมให้ AT&T ควบกิจการกับ T-Mobile ได้ สภาพการแข่งขันจะลดลง และผลเสียจะตกอยู่กับผู้บริโภค
ที่มา - แถลงการณ์ของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ
ข้อตกลงการซื้อ T-Mobile มีมูลค่า 39 พันล้านดอลลาร์ โดยครอบคลุมเฉพาะ T-Mobile ของสหรัฐเท่านั้น (บริษัทแม่คือ Deutsche Telekom ของเยอรมนี) ซึ่งพอมีข่าวนี้ออกมาเมื่อต้นปี ก็ได้รับเสียงคัดค้านจาก Sprint ซึ่งเป็นผู้เล่นอันดับสามของตลาด
ด้าน AT&T ได้ออกแถลงการณ์ตอบทันที โดยบอกว่า "แปลกใจและผิดหวัง" (surprised and disappointed) กับท่าทีของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ เพราะจากการที่ตัวแทนของ AT&T เข้าพบกระทรวงยุติธรรมหลายครั้ง ทางกระทรวงไม่ได้มีทีท่าว่าจะสกัดกั้นการควบกิจการอย่างนี้
AT&T ประกาศว่าพร้อมจะสู้คดีในชั้นศาล และยืนยันว่าการซื้อ T-Mobile จะช่วยให้บริษัทขยายโครงข่ายได้ครอบคลุมประชากรมากขึ้น แก้ปัญหาเรื่องคลื่นความถี่ขาดแคลน และช่วยการจ้างงานได้หลายหมื่นตำแหน่ง
ส่วน Sprint ซึ่งเป็นคู่กรณีแบบห่างๆ ออกมาแสดงความยินดีต่อบทบาทของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ โดยบอกว่าเป็นชัยชนะของผู้บริโภค ด้าน FCC หรือ กสทช. ของสหรัฐ ยังตรวจสอบเงื่อนไขการซื้อกิจการครั้งนี้ไม่จบ แต่โดนกระทรวงยุติธรรมตัดหน้าฟ้องไปก่อน ออกแถลงการณ์สั้นๆ ว่าจะนำปัจจัยเรื่องการฟ้องนี้ไปพิจารณาด้วย
ถ้าหากว่าการซื้อกิจการครั้งนี้ล้มเหลว AT&T จะต้องเสียเงินชดเชยให้กับ Deutsche Telekom เป็นมูลค่าถึง 3 พันล้านดอลลาร์
ที่มา - AllThingsD, Bloomberg
Comments
T-Mobile ไม่ได้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการคัดค้านของกระทรวงยุติธรรมบ้างเลยเหรอครับ....
...จะว่าไปกระทรวงยุติธรรมไทย.... ยังอยู่รึเปล่านะ...
ประเทศเขาสกัดเรื่องไม่ดี แต่ประเทศเรา สกัดแต่เรื่องดีๆ
ในไทยก็มีพรบ.การแข่งขันทางการค้า นะครับ ใครครองตลาดเกิน 75% จะถือว่าเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด และมีพรบ.เกี่ยวกับการทุ่มตลาด (ขายขาดทุน) ด้วยครับ
แต่ยังไม่เห็นมีใครเอามาใช้เลย
oxygen2.me, panithi's blog
Device: HP Zbook, iPad Pro, iPhone 15PM, iPhone 16+, Nothing Phone 1
ก็ผู้มีอำนาจเหนือตลาดมาเล่นการเมืองแล้วควบคุมกฏหมายหรือไม่ก็คุมผู้ใช้อำนาจมันจะไปทำอะไรได้ละครับ พอจะทำอะไรได้เดี๋ยวก็มีหน้าม้ามาเตะขัดขาอีก
เพราะกฎหมายของไทยไม่ครอบคลุม สัมปทาน เลยอิ่มหมีอยู่ทุกวันนี้ เช่น True Visions, CAT, TOT.
@TonsTweetings
เค้าเรียก poker face ใช่มั้ยครับ?
Lobby แทบตาย สุดท้าย จนท กระทรวงก็แค่ไปกินเลี้ยงฟรีเท่านั้น
@TonsTweetings
ค่าโง่ 9% เยอะนะนั่น O_o!
May the Force Close be with you. || @nuttyi
กระทรวงเขาทำงานเอาจริงเอาจังดีเนอะ
ตามประสบการณ์ที่เห็นจากหัวหน้าที่ทำงานที่เมกา ใช้ AT&T เวลาคุยโทรศัพท์บนรถ (ใช้ Bluetooth) คุยไป หลุดไป ขับรถครึ่งชั่วโมง หลุดไปสามสี่ครั้งได้ แถมสัญญาณแถบๆ นอกเมืองหน่อยนี่แทบไม่มีเลย
I will change the world, to the better day.