Google ประกาศความร่วมมือกับ Qualcomm ให้ชิปเซ็ต Snapdragon ที่จะออกหลังจากนี้ (เริ่มตั้งแต่ Snapdragon 888) รองรับการอัพเดตแอนดรอยด์ 3 ปี (ถ้ารวมเวอร์ชันที่เปิดตัวก็ 4 เวอร์ชัน) และแพตช์ความปลอดภัย 4 ปี ซึ่งช่วยลดความวุ่นวายทางฝั่ง Qualcomm ในการคอยตามอัพเดต BSP ที่แอนดรอยด์ใช้คุยกับ SoC ในการอัพเดตของแบรนด์สมาร์ทโฟนในแต่ละรุ่น
การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นผลมาจากการใช้าน Project Treble ที่แยกชั้นเฟรมเวิร์คแอนดรอยด์ออกจากชั้นฮาร์ดแวร์ ที่ทำให้ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนปล่อยอัพเดตง่ายขึ้น จากการที่ไม่ต้องสนใจชั้นฮาร์ดแวร์ (อย่าง HAL และเคอร์แนล ที่เรียกรวม ๆ ว่า Vendor Implementation) เพราะเฟรมเวิร์คแอนดรอยด์เวอร์ชันใหม่จะซัพพอร์ท Vendor Implementation เวอร์ชันเก่าให้ 3 รุ่น
อย่างไรก็ตามแม้จะง่ายกับผู้ผลิตสมาร์ทโฟน แต่ฝั่งผู้ผลิตชิปเซ็ตอย่าง Qualcomm กลับมีปัญหามากขึ้น เนื่องจากต้องคอยอัพเดต Board Support Package (BSP) ของชิปเซ็ตรุ่นต่าง ๆ ให้รองรับ Vendor Implementation และแอนดรอยด์เฟรมเวิร์คทั้งเก่าและใหม่ ซึ่งวุ่นวายมาก ทั้งในแง่จำนวนชิปเซ็ต, เวอร์ชันเฟรมเวิร์คและ Vendor Implementation
รูปแบบการอัพเดต SoC ให้รองรับ Vendor Implementation แบบเก่า
ความร่วมมือระหว่าง Google และ Qualcomm ทำให้ชิปเซ็ตเก่าไม่จำเป็นต้องอัพเดตให้รองรับ Vendor Implementation ใหม่ เช่น Snapdragon 888 ที่ออกพร้อม Android 11 ไม่จำเป็นต้องอัพเดตให้รองรับ Vendor Implementation ของ Android 12 ในปีหน้าแล้ว แต่สามารถทำงานร่วมกันได้เลย
ประกาศครั้งนี้มีผลกับชิปเซ็ตของ Qualcomm ที่เปิดตัวพร้อม Android 11 เป็นต้นไป
ที่มา - Android Dev Blog, XDA
รูปแบบใหม่
Comments
เหลือ MediaTek อีกราย อีกไม่นานก็มีรายอื่นๆ เข้ามาแจมด้วย
แต่ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ทำเป็นแบบ Plug & Play ไปเลย มี Driver ให้พร้อม เอาไปลงมือถือได้ทุกเครื่องทุกค่ายมือถือ ในเมื่อเปิดให้ค่ายมือถือหลายค่ายเอาไปใช้งานได้อยู่แล้ว แบบเดียวกับ PC
ไม่ต้องเสียเวลาทำ ROM แยก ส่วนที่เหลือ ค่ายมือถือก็ค่อยเอาไปดัดแปลง, ใส่ Theme หรือลงอะไรเพิ่มก็ตามสบาย หรือทำเป็นแม่พิมพ์แล้วใส่เครื่องอื่นในสายการผลิตไปก็ว่าไป
ความล้มเหลว คือจุดเริ่มต้นสู่ความหายนะ มีผลกระทบมากกว่าแค่เสียเงิน เวลา อนาคต และทรัพยากรที่เสียไป - จงอย่าล้มเหลว
จะรอดูผลลัพธ์อีกทีจ่ะพ่อ ให้แอปเปิ้ลเค้าทำเป็นจุดเด่นมานานเกินไปแล้ว
สรุปคือแค่ขยาย security patch จากสามปีเป็นสี่ปี เพราะ os ปกติมือถือตัวท็อปเช่น Pixel ก็อัพสามเวอร์ชั่นอยู่แล้ว
เลิกคาดหวังมาก ๆ กับเรื่องนี้แล้ว เพราะพยายามเข็นแนวทางอะไรต่าง ๆ มาหลายรอบ สุดท้ายก็เหมือนเดิม
ถ้าใช้เรือธงระยะซัพพอร์ตก็ถือว่าไม่แย่อยู่แล้วด้วย
ทำไมไม่ใช้แนวทางคล้ายกับ Windows ไปเลยน้อ คือออกซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการ ที่เป็นคอร์หลักมาให้ติดตั้งกันเอง ไว้แก้ไขกรณีเครื่องแต่ละยี่ห้อหมดระยะการซัพพอร์ตอย่างสมบูรณ์ ที่เหลือก็ออกไดรฟเวอร์ต่างๆ และซอฟต์แวร์แอปฯ เฉพาะทางของรุ่นต่างๆ มารองรับ เพียงแค่นี้ ก็จะทำให้คนที่มีเครื่องรุ่นเก่าที่หมดระยะซัพพอร์ตอย่างสมบูรณ์ สามารถติดตั้ง OS ล่าสุดจาก Google ได้ แม้จะเป็นเครื่องรุ่นเก่าเก็บขนาดไหนก็ตาม แถมลดขยะอิเล็กทรอนิกส์โลกไปได้มากโขเลยด้วย
ถ้าเป็น Windows แม้เครื่องจะมีสเปคเก่ากึ้กตั้งนับสิบๆ ปีอย่าง Intel Core 2 Duo สมัยปี 2551 ก็ยังใช้งานได้อยู่เลยครับ ไม่ต้องซื้อเครื่องใหม่ด้วยครับ ไว้งบอัปเดตเครื่องครั้งใหญ่ จึงค่อยซื้อเปลี่ยนที
ปัญหามันน่าจะอยู่ตรง kernel นี่ล่ะครับ คือ Linux Kernel มันไม่การันตี ABI Compatible หมายความว่า มีความเป็นไปได้ว่าถ้าอัพเกรด kernel แล้ว ตัว BLOB ไดรเวอร์อาจจะเจ๊งได้ (ซึ่ง BLOB เป็นสิ่งที่ฝั่ง Linux ไม่แคร์ตั้งแต่ต้นละ เค้าอยากให้ไดรเวอร์ทุกตัวเป็น Open Source มากกว่า)
แล้วทีนี้การอัพเกรด Android แต่ละเวอร์ชั่นมันจะไปโดนส่วน Kernel ด้วย
Project Treble ก็เลยถูกสร้างมาเพื่อแยกเอาส่วนของ Kernel ออกจากพวก System Software ต่าง ๆ ทำให้ยังสามารถอัพเกรดเฉพาะส่วนซอฟต์แวร์ประกอบโดยไม่กระทบ Kernel ได้
แต่สุดท้าย ผมก็ยังมองว่าสิ่งที่ทำให้ผู้ผลิต HW ไม่กล้าปล่อยให้อัพเกรดเองตามใจชอบ คือประสพการณ์โดยรวม และการทดสอบครับ คือมันต้องเทสต์ทุก device ก่อนที่จะปล่อยอัพเกรดได้น่ะครับ แล้วทีนี้ถ้าเกิด OS ใหม่มันดันสร้างประสพการณ์การใช้งานที่แย่ลงขึ้นมา ไอ้ผู้ผลิตนี่ล่ะจะโดนด่าก่อน ส่วน Google ก็ลอยลม มันจะต่างกับ Windows ที่ MS จะเป็นคนรับไปน่ะครับ เดาว่าเพราะเราประกอบมือถือใช้เองไม่ได้ (โดยง่าย) ติดตั้ง Android เองไม่ได้ (โดยง่าย) เหมือนกัน
ทั้งนี้ MacOS เอง ที่ใช้ Mach Kernel ก็เจอปัญหานี้เหมือนกัน ถ้าผมจำไม่ผิดนะ ถ้าสังเกตคืออัพเกรดทีก็จะมีปัญหาทีเหมือนกัน แต่ของ MacOS ตัว Hardware หลักเป็นของ Apple เองก็เลยไม่มีผลกระทบมากครับ