Meta เขียนบล็อกเล่าประสบการณ์ย้ายภาษาโปรแกรมที่ใช้เขียนแอพ Android จากเดิม Java มาเป็น Kotlin ซึ่งตอนนี้ย้ายไปแล้วเกิน 10 ล้านบรรทัด (ยังย้ายไม่เสร็จทั้งหมด)
Meta ระบุว่า Kotlin เป็นภาษาที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในโลกของ Android โดยมีข้อดีเหนือกว่า Java 11 (ที่ใช้ในวงการ Android) หลายด้าน เช่น nullability ที่ระดับของตัวภาษา, รองรับการทำ functional programming ดีกว่า Java, โค้ดสั้นกว่า และรองรับการทำ Domain-specific language (DSL)
ส่วนข้อด้อยของ Kotlin คือเรื่อง build times ระยะเวลาการคอมไพล์ที่นานกว่า Java เพราะเป็นภาษาใหม่ ตัวคอมไพเลอร์ยังไม่ได้ปรับแต่งมาดีเท่ากับ Java ที่อยู่มานานกว่า 20 ปีแล้ว รวมถึงมีฐานผู้ใช้น้อยกว่า Java แม้ได้รับความนิยมมากขึ้นมากแล้วก็ตาม
How does support for nullable types in Kotlin work? How does Kotlin process types from Java?Get answers to these and other questions in our brand-new “Nullability in Java and Kotlin” guide, and take a sneak peek at some highlights in the thread!👉 https://t.co/mU2O2ULCkS pic.twitter.com/mzSjWkDZl3
— Kotlin (@kotlin) October 5, 2022
แต่หลังจากหักลบข้อดีข้อเสีย บริษัทก็ตัดสินใจเลือกไป Kotlin โดยมีทางเลือก 2 แนวทางคือ เขียนโค้ดใหม่เป็น Kotlin แล้วเก็บโค้ดเดิมที่เป็น Java เอาไว้ หรือแปลงทุกอย่างไปเป็น Kotlin ให้หมด
แนวทางแรกใช้แรงน้อยกว่ามาก แต่การเก็บโค้ด Java ไว้ก็มีความยุ่งยากตามมา เพราะต้องไปสนใจเรื่องความเข้ากันได้ระหว่างฟีเจอร์ของสองภาษาที่แตกต่างกัน (โดยเฉพาะเรื่อง nullability) และงานของ Meta ส่วนใหญ่เป็นการปรับแก้โค้ดเดิม หากโค้ดเดิมส่วนใหญ่เป็น Java ก็แทบไม่มีโอกาสเขียน Kotlin กันอย่างเต็มที่อยู่ดี
Meta จึงตัดสินใจเลือกการแปลงโค้ดเก่าเป็น Kotlin ให้หมด แต่เนื่องจากโค้ดมีจำนวนมหาศาล (มีแอพหลายตัวมาก ตั้งแต่ Facebook, Instagram, Messenger, Portal, Quest) การย้ายภาษาจึงต้องใช้เวลาเตรียมตัวพอสมควร
สิ่งแรกที่ Meta ทำคือปรับแก้เครื่องมือภายใน เช่น Redex ที่เป็น Android Bytecode Optimizer ให้รองรับแพทเทิร์นของ Bytecode ที่เกิดจากภาษา Kotlin (ที่ไม่เคยเกิดใน Java มาก่อน) รวมถึงไลบรารีบางตัวที่ใช้เป็นการภายในด้วย
Meta ยังถึงขั้นสร้างเครื่องมือใหม่ๆ ขึ้นมา เช่น Ktfmt ที่ใช้จัดฟอร์แมตโค้ดของ Kotlin ให้สวยงามเป็นระเบียบ หรือเข้าไปช่วยแก้ Pygments ซอฟต์แวร์ syntax highlighter ให้รองรับภาษา Kotlin เพิ่มเติม
เมื่อเครื่องมือพร้อม Meta จึงเริ่มแปลงโค้ด Java เดิมเป็น Kotlin ด้วยเครื่องมือ J2K ของ JetBrains ผู้สร้างภาษา Kotlin แต่ก็ยังมีบางเคสที่ต้องแก้โค้ดด้วยมืออยู่ดี เช่น JUnit testing rules ซึ่งทีมงานใช้วิธีสร้างสคริปต์แก้ไข (ชื่อ Kotlinator) มารันต่อจาก J2K อีกรอบ
หลังจากเริ่มกระบวนการแปลงโค้ดมาแล้วระยะหนึ่ง ตอนนี้ Meta มีโค้ดที่เป็นภาษา Kotlin รวมกันมากกว่า 10 ล้านบรรทัด และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
บทเรียนที่ได้คือโค้ดสั้นลง (เฉลี่ย 11%), ประสิทธิภาพของแอพเท่าเดิม (เพราะแปลงเป็น Bytecode เหมือนกัน) ส่วนประเด็นเรื่อง build times นานขึ้นนั้นเป็นจริงดังที่คาด ซึ่งวิศวกรของ Meta กำลังหาวิธี optimize ในระบบการคอมไพล์กันต่อไป (Meta ใช้ Buck ที่พัฒนาขึ้นเอง)
ที่มา - Meta Engineering
Comments
เรื่องเทคนี่ ค่าย Meta ไม่เป็นสองรองใครเลย แต่เรื่องทิศทางของธุรกิจ การเดินเกม พักหลังนี่เป๋กว่าใครเพื่อน
..: เรื่อยไป
ติดใจตัว corutines หลังจากเขียน Kotlin ผมก็ไม่กลับไป java อีกเลย แม้แต่ระบบ api บางตัวตอนนี้ก็แปลงเป็น Kotlin พยายามแยกโค้ดส่วนที่เป็น common ไว้
โค้ดระดับนั้นคงทำ Manual ไม่ได้จริงแหละ ยังไงก็ต้องใช้ Script ช่วย แต่ก็แอบสงสัยนะว่าโค้ด Kotlin ที่ได้ออกมาจะเป็นยังไง เพราะทุกวันนี้ Convert ผ่าน Android Studio แล้วคือโค้ดที่แปลงออกมาค่อนข้างแย่ ต้องนังเช็คแล้วเขียนใหม่เองบางจุดอยู่ดี (แต่ส่วนใหญ่ก็พวกไม่ใส่ @Nullable ใน Java ตั้งแต่แรก)
ที่ออฟฟิศ หลายๆคนยังเข้าใจว่า kotlin นี่เอาไว้เขียน แอนดรอยแอพ(แค่นั้นเลยจริงๆ)
ปล...ฟังวิศวกรกูเกิลพูดเรื่อง ย้ายไปใช้ kotlin อยู่เหมือนกันวันก่อนจากงาน devoxxx มั้ง ยังมีบางจุดที่ kotlin ยังเอาไปแทนจาวาทั้งหมดเลยไม่ได้ ไม่แน่ใจว่าเรื่อง reflection หรืออะไรนี่แหละ
10 ล้านบรรทัดนี่มัน app อะไร
ถ้าเป็นสัก 5-6 games อาจจะถึง
ถ้าไม่ใช่นี่พี่แก implement พวก HTTP protocol เองหรือไง
โค๊ดติดตามผู้ใช้งานก็ 9 ล้านบรรทัดแล้วครับ 😂
CMS eCommerce อันนึง ที่ usecase มากกว่า Facebook app อันเดียวผมว่า code ยังไม่ถึง 1 ล้านบรรทัดเลยครับ
ถ้าไม่ implement low-level API (พวก graphic, protocol, server-client) เองนะ
นอกจากจะมี hidden usecase ที่เราไม่รู้อยู่อีกเยอะ 😂
CMS eCommerce ที่ว่าคืออะไรครับ ผมกำลังศึกษาระบบพวกนี้อยู่จึงสนใจครับ
https://www.shopware.com
ใช้ Symfony framework เป็นหลักครับ
ไอเดียหลายอย่างดี
แต่ design database, API, document ห่วยไปหน่อย
ใช้ของดีอย่าง Symfony แท้ๆ
ขอบคุณครับ
Facebook นี่เจ้าพ่อแห่งการ custom เลยนะครับ
Meta เป็นอะไรกับ MG
ทำไมต้องมีคำว่า "ล้าน" มาเกี่ยวข้อง ???
LoC (line of code) เป็นหน่วยวัดปริมาณโค๊ดหยาบ ๆ ที่ใช้กันอยู่แล้วครับ
พอเติม M prefix ไปก็กลายเป็น MLoC (Million Line of Code) ซึ่งเป็นหน่วยวัดเดียวกับข้างบนแหละ แต่เขียนให้สั้น ๆ ไม่ต้องใส่ตัวเลขเยอะๆ
เปลี่ยนภาษาที่ใช้เขียนแล้ว อย่าลืมแก้บัคด้วยเยอะแยะไปหมด