Tags:
Node Thumbnail

Parisa Tabriz ผู้จัดการธุรกิจ Chrome ของกูเกิล ให้การในชั้นศาลในคดีกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ฟ้องกูเกิลผูกขาด Search และเสนอให้แยก Chrome เป็นบริษัทใหม่ ซึ่งมีผู้สนใจซื้อหลายราย

ข้อโต้แย้งของ Tabriz คือ Chrome ไม่ได้มีแต่ตัวเบราว์เซอร์ แต่ยังผูกกับบริการอื่นของกูเกิล เช่น Safe Browsing, ระบบแจ้งเตือนหากพบว่ารหัสผ่านถูกเจาะ ฯลฯ ซึ่ง Tabriz บอกว่ามีแต่กูเกิลเท่านั้นที่สามารถสร้างบริการในระดับนี้ได้

คำให้การของ Tabriz ขัดแย้งกับ James Mickens ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ที่มองว่ากูเกิลสามารถขายธุรกิจ Chrome ให้บริษัทอื่น แล้ว Chrome ยังให้บริการฟีเจอร์ต่างๆ ได้เหมือนเดิมตอนอยู่กับกูเกิล และกูเกิลสามารถร่วมพัฒนา Chromium ต่อไปได้

ประเด็นนี้ Tabriz เห็นแย้งเช่นกัน โดยบอกว่า 90% ของซอร์สโค้ดในโครงการ Chromium เขียนโดยกูเกิล มีวิศวกรมากกว่า 1,000 คนทำงานให้ Chromium ซึ่งไม่มีบริษัทอื่นที่เข้าร่วมพัฒนา Chromium ในระดับเดียวกัน

เธอยังยอมรับว่ากูเกิลกำลังเชื่อม Chrome กับ Gemini อย่างแนบแน่น แต่ก็บอกว่าบริษัทอื่นก็ทำแบบเดียวกันได้ โดยยกตัวอย่าง Microsoft Edge ที่ผูกเข้ากับ Bing และ Copilot เช่นกัน

ที่มา - Bloomberg

No Description

Get latest news from Blognone

Comments

By: suriyan2538
Contributor
on 27 April 2025 - 11:49 #1338999
suriyan2538's picture

ความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการก็สำคัญนะ ถ้า Chrome เปลี่ยนเจ้าของ คนใช้ส่วนใหญ่ก็คงเลิกใช้ ความสามารถหลายอย่างที่ Chrome ทำได้ ก็ผูกอยู่กับบริการของ Google จริงๆ


สาวก Drupal และ Backdrop CMS ไม่ใช่ใคร ก็ผมนี่แหละ

By: btoy
ContributorAndroidWindows
on 27 April 2025 - 12:06 #1339000 Reply to:1338999
btoy's picture

คิดคล้ายๆกัน ส่วนตัวรู้ว่า Google เก็บข้อมูลไปใช้เพื่อการยิงโฆษณาแต่ส่วนตัวก็ยินยอม เพราะชีวิตสะดวกสบายจากบริการที่ Google ทำหลายๆอย่าง เป็นการแลกเปลี่ยนกัน บนระดับความน่าเชื่อถือที่ยังเชื่อใจกันอยู่


..: เรื่อยไป

By: specimen
Windows PhoneAndroid
on 27 April 2025 - 14:06 #1339003 Reply to:1338999
specimen's picture

มันจะไม่ใช่แค่นั้นด้วยซ้ำไป
เพราะ chrome ก็เป็นอีกร่างหนึ่งของโครเมียม
แล้วโครเมี่ยมก็ถูกใช้ใน browser ใหม่ๆเกือบจะทุกเจ้าในโลก
ถ้า chrome ไม่ได้มีการพัฒนาในระดับเดียวกันกับแบบเดิม นั่นก็แทบจะเรียกได้ว่าเป็นการก้าวถอยหลังของวงการบราวเซอร์ทุกตัวทั่วโลกไปเลย
เพราะบราวเซอร์ยุคใหม่มีมาตรฐานคนเขียนเว็บทำงานง่ายขึ้นไม่ต้องมาเหมือนยุคเก่าที่ browser แต่ละตัวใช้ engine คนละตัว ทำงานออกมาแล้วแสดงผลบนบราวเซอร์ตัวนั้นได้บ้างไม่ได้บ้าง

การจะขายโครมให้บริษัทอื่น ก็อย่างที่เขาบอกแหละว่ามีบริษัทไหนที่มีทรัพยากรพอที่จะทำได้อย่างที่ google ทำทุกวันนี้

การทำแบบนั้นมีแต่จะทำให้วงการ browser ถอยหลังลง

By: sirbom on 27 April 2025 - 12:38 #1339001

การที่บริษัทของเราจะทำโพรดักส์นึงข้นมาให้ลูกค้าใช้ได้ดี แต่จากนั้นวันนึงทำดีเกินไป สิ่งเราสร้างขึ้นและลูกค้าชอบ เจ้าของดันถูกบังคับให้ขายเพราะผูกขาดหรอ

By: Iamz
AndroidWindows
on 27 April 2025 - 14:09 #1339005 Reply to:1339001

ผูกขาดหรือไม่ไม่ได้ตัดสินจากว่าดีจนไม่มีคู่แข่งหรือก็คนอื่นไม่มีใครทำแข่งแล้วเท่ากับผูกขาดครับ เค้าดูจากพฤติกรรมเป็นหลัก เช่นพอเริ่มมมีคนอื่นเกิดขึ้นมาก็ไปซื้อมาก่อนทั้ง ๆ ที่ไม่มีเหตุผลอื่นเลยว่าจะซื้อมาทำไมนอกจากซื้อเพื่อให้เลิกทำ หรือการไปจ่ายเงินให้คนอื่นเพื่อจะบอกว่าห้ามใช้ของใครให้ใช้แต่ของตัวเอง

By: paween_a
Android
on 27 April 2025 - 14:32 #1339006 Reply to:1339001
paween_a's picture

ผูกขาดมันมองด้วยมุมมองที่ยากครับ เมื่อไรก็ตามเจ้าอื่นเริ่มตามไม่ได้มันจะขาดการแข่งขัน ไม่ว่าจะมาจากเจ้าหนึ่งเก่งเกินไปหรือเจ้าอื่น ๆ ห่วยเกินไปก็ตาม มันไม่ใช่มองแค่ 1 บริษัท มันต้องมองภาพรวมทั้งตลาด

By: iqsk131 on 27 April 2025 - 15:12 #1339007 Reply to:1339001

คดีผูกขาดมันมีความซับซ้อน เพราะมันคือการป้องกัน การจะเข้าใจมันได้มันต้องวิเคราะห์ไปถึงอนาคต ก็ไม่แปลกที่หลายคนจะดูแต่ผลลัพท์และเข้าใจไปแบบนั้นครับ

ก่อนอื่น... คดีผูกขาด กับ สถานะผูกขาด ไม่เหมือนกันครับ ถ้าคุณทำของตัวเองให้มันดีมากๆอย่างเดียว จนทุกคนบนโลกหันมาใช้หมด นั่นคือสถานะผูกขาด แต่คดีผูกขาดจะพูดถึง "การกระทำ" ที่อาจจะนำไปสู่การผูกขาดได้ครับ

ด้วยเหตุนั้น ถ้าแค่ทำของตัวเองให้ดีมากๆจนคนหันมาใช้กันหมดเฉยๆ มันไม่โดนคดีผูกขาดครับ

มันจะโดนก็ต่อเมื่อมี "การกระทำ" ที่นำไปสู่การผูกขาด เช่น การกีดกันคู่แข่ง การใช้สงครามราคา เป็นต้น ซึ่งการจะทำแบบนั้นได้ต้องมีสิ่งที่เรียกว่า "อำนาจเหนือตลาด" ครับ เช่น อำนาจจากการเป็นเจ้าของเดียวกัน ทำให้สามารถควบคุมให้เอื้อหรือกีดกันได้ (นี่คือสิ่งที่บริษัทเทคโนโลยีในปัจจุบันมักจะโดนกันในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ รวมถึงเคสนี้ด้วย ทางแก้จึงมักจะเป็นให้แยกออกจากกัน) อำนาจจากการเป็นผู้ครองตลาด ทำให้สามารถกดดันคู่ค้าต่างๆได้ อำนาจจากการที่มีสายป่านยาวกว่า ทำให้สามารถทำสงครามราคาได้ เป็นต้นครับ

ยกตัวอย่างเช่น คุณทำมือถือยี่ห้อหนึ่งมาออกมา และคนก็นิยมมือถือยี่ห้อนั้นมากๆ จากนั้นคุณก็ออกหูฟังยี่ห้อเดียวกันออกมา ซึ่งฟีเจอร์พื้นฐานหรือเสียงก็ไม่ได้ดีไปกว่าคู่แข่งในตลาดอะไร แต่คุณเปิดช่องให้มือถือนั้นสามารถทำงานร่วมกับหูฟังได้อย่างดีมากๆ (เช่น สามารถเรียกใช้ฟังชั่นหรือเซนเซอร์บางอย่างจากมือถือได้ ทำให้มีฟีเจอร์พิเศษต่างๆ) โดยเปิดให้ใช้ได้แค่เฉพาะหูฟังยี่ห้อของคุณอย่างเดียวเท่านั้น หูฟังยี่ห้ออื่นไม่สามารถเรียกใช้ได้เลย

นั่นเลยส่งผลให้หูฟังของคุณมีสิ่งที่ดีกว่าหูฟังยี่ห้ออื่นเมื่อใช้กับมือถือยี่ห้อของคุณ และด้วยความที่มือถือของคุณเป็นที่นิยมมาก มันจึงส่งผลให้หูฟังอาศัยความนิยมของมือถือ และเป็นที่นิยมตามมาได้ครับ

ปล. ผมแค่ยกตัวอย่างเฉยๆนะ ไม่ได้พูดถึงยี่ห้อไหนเป็นพิเศษ

By: Jacktonic on 27 April 2025 - 13:14 #1339002

ลองใช้ Microsoft Edge หรือยังครับ Chromium-based browser เหมือนกัน ใช้ extension google ได้เหมือนกัน แต่ กิน ram น้อยว่า Chrome เยอะ

By: K. on 27 April 2025 - 14:07 #1339004 Reply to:1339002

ตอนแรกยังแหยงๆมาจากสมัย ie อยู่ แต่พอเปิดใจใช้นี่ผมลืม chrome ไปเลยครับ ทำได้เหมือนกันทุกอย่างแต่กินทรัพยากรเครื่องน้อยกว่าเยอะ edge+google นี่คือครบจบเลย

By: peakna
Android
on 27 April 2025 - 16:19 #1339008 Reply to:1339002
peakna's picture

ความน่าเชื่อถือจากสมัย IE เนี่ยมันพังยับเลยไวรัสสารพัดจนไม่กล้ากลับไปใช้เจ้าของเดิม