เมื่อวันอังคารที่ผ่านมามีงานเกี่ยวกับ Cloud สองงานคืองาน Red Hat Forum 2012 กับงาน Intel APAC Cloud Summit 2012 จัดพร้อมๆ กัน โดยเป็นการอธิบายรายละเอียดของเทคโนโลยีหลายตัวที่เปิดตัวไปแล้วก่อนหน้านี้ ในส่วนของอินเทลเองเป็นส่วนของเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับ Xeon รุ่นใหม่ๆ และการเปิดตัว Open Data Center Alliance
ในส่วนของแพลตฟอร์มของอินเทลเองนั้น อินเทลแสดงความพร้อมในการบุกตลาดการประมวลผลแบบกลุ่มเมฆด้วยชิป Xeon, Phi (ชิปช่วยประมวลผลพิเศษ), และ Atom
ส่วนที่หลายคนจับตามากที่สุดคงเป็นไมโครเซิร์ฟเวอร์ (micro server) ที่ฝั่ง ARM นั้นประกาศตัวเต็มที่ว่าจะบุกตลาดนี้ ส่วนเอเอ็มดีเองก็ซื้อ SeaMicro ผู้ผลิตไมโครเซิร์ฟเวอร์รายสำคัญไปแล้ว อินเทลระบุว่าตลาดเซิร์ฟเวอร์ประเภทนี้น่าจะกินส่วนแบ่งตลาดได้ถึง 33% ในปีหน้า ฝั่งอินเทลเองก็มี Xeon ตัวใหม่ที่เป็น Ivy Bridge ที่กินพลังงานเพียง 17 วัตต์ และ Atom Centerton ที่กินพลังงานเพียง 6 วัตต์รอทำตลาดนี้อยู่แล้ว โดยตอนนี้มีผู้ผลิตประกาศตัวผลิตเครื่องเหล่านี้ให้กับอินเทลแล้วมากว่า 10 เจ้า
ในฝั่งเครื่องประสิทธิภาพสูงเอง อินเทลพูดถึง Phi ว่ามันได้รับคำชมจากนักวิจัยมาก เพราะซอฟต์แวร์หลายประเภทที่ไม่สามารถรันบนชิปเฉพาะทางอย่างชิปกราฟิกได้ การใช้ Phi เข้ามาเป็นตัวเสริมทำให้นักพัฒนาสามารถใช้โค้ดเดิมบนสถาปัตยกรรมใหม่ได้
สุดท้ายคือฝั่งสถาปัตยกรรมในตัวชิป อินเทลระบุถึง Xeon E5 ว่ารองรับการประมวลผลแบบกลุ่มเมฆได้ดีขึ้นด้วยการรองรับ I/O จำนวนมหาศาลผ่านเทคโนโลยี Data Direct I/O ซึ่งมันคือแคชพิเศษสำหรับการ์ดแลนความเร็วสูง ทำให้เมื่อได้รับข้อมูลจากการ์ดก็ไม่ต้องเขียนลงหน่วยความจำหลักอีกต่อไป แต่สามารถประมวลผลจากแคชที่อยู่ติดกับซีพียูได้โดยตรงเลย
ในงานอินเทลยังประกาศถึงการรวมตัวของกลุ่ม Open Data Center Alliance (ODCA) ที่เป็นการกำหนดมาตรฐานศูนย์ข้อมูลร่วมกัน โดยมาตรฐานแต่ละรุ่นจะกำหนดความสามารถที่ศูนย์ข้อมูลต้องรองรับไว้เพื่อให้ลูกค้าสามารถเลือกใช้งานศูนย์ข้อมูลได้ง่าย
ตัวมาตรฐาน ODCA ในตอนนี้ยังเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบบไอทีแบบเดิมๆ ดังนั้นจะเป็นเรื่องของการให้บริการ IaaS หรือการย้ายเครื่องจากเครื่องจริงมาเป็นเครื่องเสมือนที่มีการจัดการเป็นส่วนมาก แต่ในมาตรฐานรุ่นต่อๆ ไป จะเริ่มมีการกำหนดมาตรฐานอื่นๆ เช่น PaaS (ตัวอย่างคือ Google Apps Engine) ที่ผู้ให้บริการต้องมีการสร้างแพลตฟอร์มที่ใช้งานร่วมกันได้ และลูกค้าสามารถเลือกใช้ผู้ให้บริการรายใดๆ ก็ได้
การให้บริการของศูนย์ข้อมูลจะก้าวไปสู่รูปแบบที่เรียกว่า Hybrid IaaS ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกวางข้อมูลไว้ในศูนย์ข้อมูลของตัวเอง ร่วมกับการวางบริการบางตัวไว้ในศูนย์ข้อมูลภายนอก โดยสามารถโยกย้ายไปมาได้ตามสภาพการใช้งานจริง เช่น เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ หรือแอพพลิเคชั่นบางตัวที่ย้ายจากการให้บริการเฉพาะภายใน ไปสู่การให้บริการต่อสาธารณะ
ซอฟต์แวร์เป็นเรื่องที่เราไม่ค่อยได้ยินข่าวจากอินเทลนัก แต่จริงๆ แล้วอินเทลเป็นหน่วยงานที่มีขนาดของทีมซอฟต์แวร์ที่ใหญ่มาก แต่ส่วนมากจะเป็นเครื่องมือพื้นฐาน เช่น คอมไพล์เลอร์, ไลบรารี, หรือซอฟต์แวร์จัดการเซิร์ฟเวอร์
ในแง่ของการบริการกลุ่มเมฆนั้น อินเทลแนะนำ Intel Node Manager และ Intel Data Center Manager ซอฟต์แวร์และ SDK ของอินเทลเอง
Intel Node Manager นั้นเป็นซอฟต์แวร์ที่รันอยู่บนเครื่องคอยตรวจสอบสถานะ เช่น ความร้อน และพลังงานที่แต่ละเครื่องใช้ การรายงานสถานะเช่นนี้ทำให้ศูนย์ข้อมูลสามารถรองรับโหลดงานได้ดีขึ้นภายใต้ต้นทุนที่ต่ำลง เช่น เมื่อมีงานเข้ามามาก และศูนย์ข้อมูลกำลังกินพลังงานมากขึ้น ระบบมอนิเตอร์สามารถแจ้งไปยังระบบทำความเย็นให้ทำความเย็นมากขึ้นเพื่อให้พอดีกับสภาพการใช้งานจริงได้ หรือศูนย์ข้อมูลเองสามารถสั่งการเพื่อให้เครื่องบางส่วนทำงานภายใต้ข้อกำหนด เช่น ต้องปล่อยความร้อนไม่เกินเพดาน สั่งให้ทุกเครื่องเข้าสู่โหมดประหยัดไฟในกรณีที่ทำงานอยู่ด้วยระบบไฟสำรอง เป็นต้น
ในส่วนของ Big Data หรือการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ อินเทลชูธง Lustre ระบบไฟล์สำหรับกลุ่มเมฆแบบโอเพนซอร์สที่เคยพัฒนาโดยซันและตอนนี้ซัพพอร์ตโดยออราเคิล พร้อมๆ กับการชูงธง Amplidata ซอฟต์แวร์เก็บข้อมูลแบบออปเจกต์สำหรับการประมวลข้อมูลขนาดใหญ่
เรื่องน่าสนใจในส่วนของข้อมูลขนาดใหญ่ คือ อินเทลแนะนำซอฟต์แวร์ Intel AIM ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์จับวัตถุจากกล้องเองด้วย AIM นั้นจะช่วยประมวลผลว่า คนที่อยู่ในภาพนั้นเป็นเพศใด, อายุประมาณเท่าใด, และมีความสนใจต่อจอภาพที่มองอยู่หรือไม่ การประมวลผลเช่นนี้ทำให้เกิดการวิเคราะห์ข้อมูลแบบใหม่ที่เรียกว่า Anonymous Video Analytics (AVA) สามารถนำไปใช้้ในวงการโฆษณา ที่ป้ายโฆษณาต่างๆ จะถูกวิเคราัะห์ข้อมูลอย่างรวดเร็ว ทำให้นักการตลาดสามารถเลือกโฆษณาไปลงยังป้ายต่างๆ ได้ตรงตามสภาพตลาดของพื้นที่นั้นๆ
Comments
(แซวนอกเรื่อง) ภาพที่ 3 กรอบด้านซ้ายมือนั่นประเทศไทยเรานี่นา ? 555
+1 555555
Coder | Designer | Thinker | Blogger
งั้นผมคงจะหวังได้สินะ ว่าในอนาคตประเทศไทยจะเป็นดั่งกรอบทางขวามือ
ช่างสังเกตุจริงๆครับ
ใช้้ใน => ใช้ใน
วิเคราัะห์ => วิเคราะห์
ชื่องานน่าจะเป็น Intel APAC Cloud Summit 2012 ไม่ใช่เหรอครับ หรือผมเข้าใจอะไรผิด?