มีรายงานว่า ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok ได้ทำข้อตกลงเพื่อลงทุนในส่วนธุรกิจของกลุ่มบริษัท GoTo ในอินโดนีเซีย และเตรียมร่วมมือพัฒนาบริการช้อปปิ้งภายในแอป Tokopedia โดยจะมีรายละเอียดเปิดเผยออกมาอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
คาดว่าข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจาก TikTik Shop ถูกแบนในอินโดนีเซีย ตั้งแต่ 4 ตุลาคม ที่ผ่านมา ตามข้อกำหนดของทางการที่ห้ามแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ให้บริการซื้อขายสินค้า ซึ่งกระทบกับ TikTok โดยตรง
ถึงแม้ ByteDance และ GoTo จะทำข้อตกลงร่วมมือกันแล้ว ก็ต้องรอขั้นตอนอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลในอินโดนีเซียต่อไป ทั้งนี้ตัวเลขส่วนแบ่งการตลาดของ TikTok Shop ที่เพิ่งให้บริการไม่นาน เพิ่มขึ้นเป็น 5% ในอินโดนีเซีย
Bloomberg, CNBC และ Reuters รายงานข่าวว่า ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok เตรียมถอนตัวจากธุรกิจเกม โดยจะปิดบริษัทลูก Nuverse, ปลดพนักงานออกหลายร้อยคน และอาจขายเกมที่มีอยู่ในปัจจุบันให้บริษัทอื่นด้วย
โฆษกของ ByteDance ยอมรับว่าต้องปรับโครงสร้างของธุรกิจเกมจริง เป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก แต่ยังไม่ยืนยันเรื่องการปลดพนักงานว่ามีจำนวนเท่าไร
รัฐบาลเนปาลประกาศแบน TikTok ให้มีผลทันที โดยระบุว่าแพลตฟอร์มนี้สร้างผลกระทบต่อความสามัคคีในสังคม (Social harmony)
รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของเนปาลบอกว่า แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียรวมถึง TikTok ต้องถูกกำกับดูแล ทั้งผลกระทบต่อสังคม คุณค่า ตลอดจนการให้ความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐหากเกิดเหตุ แพลตฟอร์มต้องจดทะเบียนบริษัทในประเทศเพื่อให้เกิดการเสียภาษี
ยังไม่มีข้อมูลว่าเหตุการณ์ที่ทำให้รัฐบาลเนปาลออกคำสั่งดังกล่าว ส่วนตัวแทนของ ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok ยังไม่ได้ออกมาให้ความเห็นต่อคำสั่งนี้
ที่มา: AP
มีรายงานว่า Pico ผู้ผลิตเฮดเซต VR ได้แจ้งปลดพนักงานจำนวนมากกว่า 1 พันคน ซึ่งทำให้จำนวนพนักงานของบริษัทมีจำนวนเหลือในระดับหลายร้อยคนเท่านั้น
ตัวแทนของ Pico ยืนยันข่าวการปลดพนักงานโดยบอกว่าบริษัทมีการปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อโฟกัสที่การพัฒนาฮาร์ดแวร์และเทคโนโลยีที่สำคัญ แต่ไม่ยืนยันตัวเลขจำนวนพนักงานที่ได้รับผลกระทบ
ปัจจุบัน Pico มี ByteDance บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่เจ้าของ TikTok เป็นเจ้าของ จากการซื้อกิจการในปี 2021
ที่มา: UploadVR
ByteDance เปิดตัว TikTok Music แอปฟังเพลงสตรีมมิ่งแบบโซเชียล หลังจากมีข่าวลือมาก่อนหน้านี้ โดยเริ่มต้นให้บริการในอินโดนีเซียและบราซิล 2 ประเทศแรก
TikTok บอกว่าที่ผ่านมาแพลตฟอร์มมีส่วนในการผลักดันเพลงและศิลปินให้เป็นที่รู้จัก มีส่วนในการสร้างเพลงฮิต และช่วยให้ผู้คนค้นพบเพลงใหม่ การเปิดตัว TikTok Music ช่วยเสริมให้ผู้ใช้งานค้นพบเพลงใหม่ ๆ ได้มากยิ่งกว่าเดิม
แพลตฟอร์ม TikTok Music มีฟีเจอร์เชื่อมต่อกับบัญชี TikTok ที่ซิงก์ข้อมูลช่วยในการค้นหาเพลงที่น่าสนใจ รวมถึงฟีเจอร์พื้นฐานเช่น เนื้อเพลงเรียลไทม์ เพลย์ลิสต์แชร์กับเพื่อน ค้นหาเพลงจากเนื้อร้อง ดาวน์โหลดเพื่อฟังแบบออฟไลน์ และอื่น ๆ
Yintao Yu อดีตผู้บริหารของ Bytedance ยื่นฟ้องบริษัทเก่าตัวเองที่ศาลชั้นต้นของซานฟรานซิสโก ฐานการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม โดยส่วนหนึ่งในเอกสารคำฟ้อง Yu เปิดเผยว่าพรรคคอมมิวนิสต์ของจีน มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้ในระดับสูง (superuser) สามารถดูข้อมูลของผู้ใช้งานได้ทั้งหมด ซึ่งเรียกกันเป็นการภายในว่า god user ซึ่งรวมถึงผู้ใช้ในสหรัฐด้วย
Yu ระบุว่าข้อมูลที่พรรคเข้าถึงได้ เช่นเลข IP, ไอดีของซิม, จนถึงข้อมูลการสื่อสารต่างๆ ซึ่งพรรคใช้สิทธิ god user เพื่อค้นหา ติดตามตัวและจับตา นักกิจกรรม ผู้ประท้วงหรือผู้สนับสนุนการประท้วง ในช่วงการประท้วงฮ่องกงเมื่อปี 2018
หลังมีข่าวเรื่องการแยก TikTok ออกจากบริษัทแม่ ซึ่งกลายเป็นว่าถูกบีบมาจากรัฐบาลสหรัฐด้วย
ล่าสุด Shou Zi Chew ซีอีโอของ TikTok (เป็นคนสิงคโปร์) ออกมาแสดงความเห็นว่าต่อให้ Bytedance ตัดสินใจยอมขายและแยกบริษัทจริงๆ ก็ไม่น่าสร้างความพอใจให้กับรัฐบาลสหรัฐไปมากกว่านี้ เพราะปัจจุบัน TikTok ก็มีแนวทางเพิ่มความปลอดภัยเรื่องข้อมูลมาซักพักแล้ว ไม่ว่าจะการไปเก็บข้อมูลกับ Oracle หรือมีหน่วยงานจากภายนอกที่คอยดูแลเรื่องอัลกอริทึม แต่ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องความเชื่อมั่น
ที่มา - WSJ
TikTok ที่มีปัญหาเรื่องภัยความมั่นคงกับสหรัฐและชาติตะวันตกมาหลายปี ล่าสุดผู้บริหารมีไอเดียจะแยก TikTok ออกมาเป็นอิสระจาก Bytedance ของจีน ไม่ว่าจะผ่านการขายบริษัทหรือ IPO
อย่างไรก็ตามไอเดียนี้เป็นทางเลือกสุดท้าย หากข้อเสนอของ TikTok ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาจากรัฐบาลสหรัฐ เพื่อแก้ปัญหาความมั่นคงถูกปัดตก ทั้งนี้ทั้งนั้น การแยกตัวจาก Bytedance ยังคงต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลจีนด้วย
ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok เปิดเผยว่าบริษัทเริ่มทดสอบบริการส่งอาหารในจีนแล้ว โดยเริ่มที่เมืองปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเฉิงตูก่อน โดยรูปแบบการสั่งอาหารจะทำผ่านแอป Douyin หรือแอป TikTok เวอร์ชันจีน
อย่างไรก็ตามโมเดลการให้บริการ จะแตกต่างไปจากแอปสั่งอาหารที่เราคุ้นเคยซึ่งเป็นแบบออนดีมานด์ โดยวิธีของ Douyin จะให้ร้านอาหารไลฟ์ในแอปทำการตลาด จากนั้นเปิดการขาย พร้อมโปรโมชันในการสั่ง ผู้ใช้งานจึงสั่งอาหารผ่านไลฟ์และกำหนดเวลาส่งแทน รวมทั้งให้ข้อเสนอแบบซื้อรวมกลุ่มไปส่งที่เดียวกันจำนวนมาก ก็จะได้ส่วนลดที่มากขึ้น
ปัจจุบันผู้ให้บริการเดลิเวอรีรายใหญ่ในจีนคือ Meituan และ Ele.me ซึ่งเป็นส่วนธุรกิจของ Alibaba
Douyin หรือแอป TikTok ในเวอร์ชันภาษาจีนของ ByteDance ได้ออกโปรแกรม Douyin Chat ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ทำงานบน Windows และ macOS เมื่อสิ้นปี 2022 ซึ่งเป็นการขยายไปสู่บริการแชตที่มากขึ้นในฝั่ง TikTok ของจีน
การล็อกอินใช้งานต้องใช้บัญชี Douyin และสามารถเริ่มบทสนทนากับเพื่อนที่มีอยู่แล้วใน Douyin ได้เลย
Pandaily รวบรวมความพยายามของ Douyin ที่จะขยายคุณสมบัติของแอปจากวิดีโอสั้น ไปสู่เครื่องมือโซเชียลที่มากขึ้น ซึ่งทำมาตั้งแต่ 4 ปีก่อน ทั้งแอปชื่อ Duoshan สำหรับส่งวิดีโอสั้นหากัน, แอปโซเชียลชื่อ Feiliao, การเพิ่มฟีเจอร์คุยวิดีโอใน Douyin เอง ไปจนถึงการตั้งห้องแชตกลุ่ม แต่ทั้งหมดยังไม่ประสบความสำเร็จในวงกว้าง จึงอาจบอกได้ว่า Douyin Chat คือความพยายามล่าสุดของ ByteDance นั่นเอง
แหล่งข่าวของ South China Morning Post ระบุว่า ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok ได้ปลดพนักงานออกหลายร้อยคนจากหลายฝ่ายในช่วงปลายปี 2022 ที่ผ่านมาตามแผนเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบริษัท
พนักงานที่ถูกปลดออกมีทั้งจากฝั่ง Douyin ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันแบบเดียวกับ TikTok ของจีน ฝั่งเกมและฝั่งการดำเนินงานด้านอสังหาริมทรัพย์ ฝ่ายพัฒนาเครื่องมือโซลูชัน Feishu ก็เป็นฝ่ายหนึ่งที่โดนปลดออกมากที่สุดราว 10% ของพนักงานในฝ่ายทั้งหมด
ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok ยอมรับว่ามีพนักงานของตัวเองตามรอยนักข่าวหลายคนจากหลายสำนักจริงๆ ตามที่ Forbes เคยรายงานเรื่องนี้เมื่อเดือนตุลาคม แต่คราวนั้น ByteDance ปฏิเสธ
จากข้อมูลของ Forbes ระบุว่า ByteDance ตามรอยนักข่าวของ Forbes เพื่อตรวจหาว่าข้อมูลภายในของบริษัทรั่วไปยังนักข่าวได้อย่างไร โดยทีมตามรอยของ ByteDance ใช้วิธีตามดูหมายเลข IP และข้อมูลการใช้งานของนักข่าวโดยไม่ได้รับอนุญาต
นอกจาก Forbes แล้ว ยังมีนักข่าวของ Financial Times และ BuzzFeed ที่ถูกสะกดรอยด้วย ซึ่งตัวแทนฝ่ายกฎหมายของ ByteDance ยอมรับว่าเกิดขึ้นจริง
The Wall Street Journal อ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้อง เผยว่า ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok เริ่มหารือกับค่ายเพลงรายใหญ่ เพื่อเตรียมเปิดให้บริการสตรีมมิ่งเพลงแบบเดียวกับ Spotify โดยขยายไปยังผู้ใช้งานทั่วโลก ซึ่งบริการนี้มีข้อแตกต่างคือเชื่อมต่อเพลงเข้ากับแพลตฟอร์ม TikTok ด้วย ทำให้ผู้ใช้งานสามารถค้นพบเพลงเริ่มต้นได้จากคลิปวิดีโอสั้นนั่นเอง
ปัจจุบัน ByteDance มีแอปสตรีมเพลงอยู่แล้วชื่อ Resso แต่เปิดให้บริการเฉพาะบางประเทศเท่านั้นเช่น อินเดีย อินโดนีเซีย และบราซิล โดยมีแผนงานนี้จะขยายประเทศที่ให้บริการ Resso เพิ่มเติม แต่ยังไม่มีอเมริการวมอยู่ด้วย
The Wall Street Journal อ้างเอกสารภายใน เกี่ยวกับผลการดำเนินงานของ ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok ที่ปัจจุบันยังไม่อยู่ในตลาดหุ้น ซึ่งเป็นตัวเลขการเงินของปี 2020, 2021 และไตรมาสที่ 1 ปี 2022
รายได้ ByteDance ในปี 2021 อยู่ที่ 6.17 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 80% จากปี 2020 แต่ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็เพิ่มสูงด้วย ทำให้ขาดทุนจากการดำเนินงาน 7.15 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มจากปี 2020 ที่ขาดทุน 2.14 พันล้านดอลลาร์ ส่วนไตรมาส 1 ปี 2022 มีรายได้ 1.83 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 54% และเริ่มมีกำไรจากการดำเนินงาน แม้สุทธิแล้วยังขาดทุน
Pico ผู้ผลิตเฮดเซต VR ที่ปัจจุบันมี ByteDance เป็นเจ้าของ เปิดตัวเฮดเซต VR รุ่นใหม่ Pico 4 ราคาเริ่มต้นที่ 429 ยูโร หรือประมาณ 16,000 บาท วางขายในยุโรปและเอเชียบางประเทศ เริ่มส่งมอบสินค้า 18 ตุลาคม เป็นต้นไป
จุดเด่นของ Pico 4 คือขนาดที่เล็กลงและน้ำหนักที่เบาลงกว่า Pico Neo 3 รุ่นก่อนหน้านี้ โดยมีน้ำหนัก 295 กรัม ถ้ารวมสายรัดจะเป็น 586 กรัม ซีพียู Snapdragon XR2 แรม 8GB จอภาพความละเอียดข้างละ 2160x2160 พิกเซล มีสองตัวเลือกความจุคือ 128GB และ 256GB แบตเตอรี่ใช้งานได้นาน 3 ชั่วโมง
การเปิดตัวเฮดเซต VR ของ Pico นี้ ออกมาก่อนงาน Meta Connect ที่คาดว่าจะเปิดตัวเฮดเซต Meta Quest Pro ตัวใหม่ในเดือนหน้า
แหล่งข่าวของ South China Morning Post รายงานว่า ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok ได้ปลดพนักงานทางฝั่งดูแลวิดีโอเกมออกหลายร้อยคน โดยได้ปลดและโยกย้ายพนักงานส่วนใหญ่ใน Washuang Studio ในเซี่ยงไฮ้หลังจากปิด 101 Studio ไปแต่จะยังคงดำเนินงานโปรเจคที่เริ่มไปแล้วในเมืองเซี่ยงไฮ้อยู่ นอกจากนี้ บริษัทยังปลดพนักงานใน Jiangnan Studio ซึ่งเป็นสตูดิโอพัฒนาเกมที่อยู่ในเมืองหางโจวออกด้วย
นักวิเคราะห์บางคนมองว่า อุตสาหกรรมเกมของจีนได้เติบโตผ่านจุดสูงสุดไปแล้วหลังจากหน่วยงานเซนเซอร์ของรัฐบาลจีนได้ตรวจสอบเกมใหม่ ๆ อย่างละเอียดเพื่อแก้ปัญหาการติดเกมและเกมมีเนื้อหาไม่เหมาะสม ที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้ลดการออกใบอนุญาตสำหรับเกมใหม่ทำให้นักพัฒนาเกมต่างไม่มั่นใจว่าเกมที่พัฒนาขึ้นจะได้ปล่อยออกมาหรือไม่
ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok ได้เข้าซื้อกิจการ Amcare เครือโรงพยาบาลเอกชนในจีน โดยตัวแทนของ Xiaohe Health กลุ่มธุรกิจด้านสุขภาพในเครือ ByteDance ยืนยันดีลดังกล่าว แต่ไม่เปิดเผยมูลค่าที่เข้าซื้อ อย่างไรก็ตาม Bloomberg อ้างตัวเลขว่าอยู่ที่ราว 1,500 ล้านดอลลาร์
Amcare เป็นเครือโรงพยาบาลระดับกลาง-สูง ที่เน้นด้านสูตินรีเวช และกุมารเวช จับกลุ่มลูกค้าแม่และเด็ก โดย ByteDance จะเพียงเข้ามาถือหุ้น แล้วให้ทีมบริหารโรงพยาบาลชุดเดิมดำเนินงานต่อไป
ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok ยื่นจดเครื่องหมายการค้า "TikTok Music" ในสหรัฐอเมริกา ทำให้เกิดประเด็นว่า ByteDance สนใจเข้ามาทำตลาดเพลงแบบสตรีมมิ่งแข่งกับ Sportify, Apple Music หรือไม่
ในช่วงที่ผ่านมา TikTok เริ่มมีอิทธิพลกับวงการเพลงมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น เพลงที่นิยมใน TikTok อาจทำให้เกิดการฟังเพลงนั้นเพิ่มขึ้นจนกลับมาติดชาร์ทเพลงยอดฮิต และจริงๆ แล้ว ByteDance เองก็มีแอพฟังเพลง Resso ที่ทำตลาดในประเทศกำลังพัฒนาบางแห่ง เช่น อินเดีย บราซิล อินโดนีเซีย จึงเป็นไปได้ว่าอาจใช้เอนจิน Resso มารีแบรนด์เป็น TikTok Music ที่น่าจะเจาะตลาดได้ดีกว่า
ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok ระบุว่ากำลังสนใจออกแบบชิปของตัวเอง หลังไม่สามารถหาชิปในท้องตลาดที่ตรงกับความต้องการของบริษัท ที่เน้นบริการด้านวิดีโอและความบันเทิง
แนวทางการออกแบบชิปเองของ ByteDance ไม่ใช่เรื่องใหม่ของบริษัทไอทีจากจีน ก่อนหน้านี้เราเห็นบริษัทรายอื่น เช่น Alibaba ออกแบบชิปเซิร์ฟเวอร์ Arm, RISC-V, ชิปประมวลผล AI ของตัวเอง, Tencent ทำชิปเองหลายตัว หรือ Baidu ก็มีเช่นกัน
มีรายงานว่า ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok ได้เข้าซื้อกิจการเพิ่ม 2 บริษัท ด้านธุรกิจบันเทิงเพื่อนำมาต่อยอดกับบริการเดิมที่มีอยู่ รายละเอียดดังนี้
บริษัทแรกคือ Yingtuobang สตาร์ทอัพจำหน่ายบัตรเข้าชมภาพยนตร์และการแสดงในจีน โดย ByteDance จะช่วยในการใช้ Douyin (TikTok ในจีน) มาส่งเสริมการขาย ทำให้ครอบคลุมบริการ O2O มากขึ้น
อีกบริษัทคือ Yizhikan Comics ผู้ให้บริการมาร์เก็ตเพลสสำหรับซื้อขายเว็บตูนและอีคอมมิกของจีน ซึ่งดีลนี้ ByteDance ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมถึงแผนงานในอนาคต
ที่มา: TechNode
Hurun Report รายงานการจัดอันดับสตาร์ทอัพยูนิคอร์น (มูลค่ากิจการมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์) โดย ByteDance ขึ้นมาเป็นยูนิคอร์นที่มีมูลค่ากิจการสูงที่สุดในโลก แทนที่ Ant Group ซึ่งตกลงไปอยู่อันดับที่ 2
มูลค่ากิจการ ByteDance ซึ่งเป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม TikTok อยู่ที่ 3.5 แสนล้านดอลลาร์ ส่วน Ant Group ฟินเทคในเครือ Alibaba มีมูลค่ากิจการ 1.5 แสนล้านดอลลาร์ อันดับ 3-5 ได้แก่ SpaceX (1 แสนล้านดอลลาร์), Stripe (9.5 หมื่นล้านดอลลาร์) และ Klarna (4.6 หมื่นล้านดอลลาร์) ตามลำดับ
TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่มีการเติบโตสูงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา จำนวนผู้ใช้งาน active ต่อเดือนมีมากกว่า 1 พันล้านบัญชีแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นรองเพียง Facebook เท่านั้น
มีรายงานว่า ByteDance เตรียมแยกธุรกิจแพลตฟอร์มอสังหาริมทรัพย์ Xingfuli ออกมา โดยตอนนี้อยู่ในขั้นตอนเจรจาหาผู้ลงทุน รวมทั้งแผนการดำเนินงานบริษัทนี้ที่เป็นอิสระจาก ByteDance เอง
Xingfuli ก่อตั้งในปี 2018 ในฐานะธุรกิจหนึ่งในเครือ ByteDance โดยเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ทั้งมือหนึ่ง โดยร่วมมือกับผู้พัฒนาโครงการ และมือสอง ซึ่งร่วมมือกับบริษัทนายหน้า
รายงานบอกว่า ByteDance ต้องการปรับโครงสร้างธุรกิจในเครือ โดยเน้นไปที่ออนไลน์เป็นหลัก ซึ่งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์พึ่งพากิจกรรมในออฟไลน์สูง ซึ่งไม่ตรงกับธุรกิจหลักของบริษัท
ที่มา: Pandaily
ByteDance เจ้าของแอป TikTok ที่ถูกแบนในอินเดีย และปลดคนไปเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังแอบเปิดแอปการศึกษา SnapSolve ช่วยแก้โจทย์คณิตศาสตร์ด้วยการถ่ายภาพแล้วอัพโหลด กับแอปฟังเพลงสตรีมมิ่ง Resso อยู่ แต่ล่าสุด ดูเหมือนว่า ByteDance จะถอดใจกับแอปการศึกษาแล้วด้วยเช่นกัน
เว็บไซต์ TechCrunch รายงานว่า ByteDance สั่งปิดธุรกิจเทคโนโลยีการศึกษา (EdTech) ในอินเดียแล้ว โดยเพิ่งแจ้งกับทีมในท้องถิ่นในวันนี้
วัฒนธรรมการทำงานหนักในวงการเทคโนโลยีจีนหรือ 996 (ทำงานตั้งแต่ 9.00 – 21.00 น. 12 ชั่วโมงต่อวัน และ 6 วันต่อสัปดาห์) กำลังถูกตั้งคำถามเรื่องสิทธิแรงงาน หนึ่งในประเด็นที่รัฐบาลพยายามควบคุมบริษัทเทคโนโลยีจีน มีเรื่องการทำงานหนักนี้ด้วย
ล่าสุด ByteDance เจ้าของแอป TikTok เริ่มกำหนดนโยบาย ห้ามพนักงานทำงานเกินวันละ 9 ชั่วโมง และหากต้องทำงานล่วงเวลา ต้องขออนุญาตล่วงหน้าอย่างน้อยหนึ่งวัน และจะได้รับค่าชดเชยสูงสุดสามเท่าของค่าจ้างปกติสำหรับการทำงานล่วงเวลาโดย ByteDance ถือเป็นบริษัทเทคโนโลยีจีนรายแรกๆ ที่ออกมาประกาศนโยบายลดเวลาการทำงาน
มีรายงานว่า ByteDance เจ้าของ TikTok กำลังทดสอบแอปแยก ที่เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสำหรับขายสินค้าส่งออกจากผู้ผลิตในจีน โดยเตรียมเปิดตัวในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งรูปแบบของแพลตฟอร์มจะคล้ายกับ AliExpress ของ Alibaba
ก่อนหน้านี้ผู้บริหารของ ByteDance เคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาไม่ต้องการใส่ฟีเจอร์อีคอมเมิร์ซเข้าไปในแอป Douyin หรือ TikTok เวอร์ชันจีนโดยตรง แต่มองว่าน่าจะทำแอปแยกต่างหาก นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ByteDance ได้พัฒนาโครงการริเริ่มธุรกิจใหม่ในชื่อ Magellan XYZ โดยมองไปที่สามโอกาสคือ อีคอมเมิร์ซที่เน้นการส่งออกสินค้าจากจีนไปต่างประเทศ, บริการสำหรับลูกค้าองค์กร และอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์สำนักงาน