Tags:
Node Thumbnail

Android One แรกเริ่มเดิมทีเป็นโครงการที่ Google หมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็นโครงการ Nexus สำหรับสมาร์ทโฟนราคาถูก เพื่อเจาะตลาดที่สมาร์ทโฟนราคาถูกกำลังเติบโตอย่างอินเดีย

ในบทความที่แล้ว เราได้เห็นพัฒนาการของ Android One ตลอดระยะเวลา 6 ปีไปบ้างแล้ว ซึ่งก็สามารถพูดได้ว่า Android One เป็นหนึ่งในโครงการที่ไม่ประสบความสำเร็จมากนักของ Google

บทความนี้จะพาไปวิเคราะห์และสำรวจว่าทำไม Android One ถึงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

No Description

1. วางหมากแรกพลาด เท่ากับพลาดไปตลอด

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2014 Google ได้รับคำชมอย่างล้นหลามจากการเปิดตัวโปรเจค Android One ในอินเดีย เนื่องจากสร้างขึ้นมาเพื่อตีตลาดกลุ่มคนที่ไม่เคยใช้อินเทอร์เน็ต และไม่เคยมีสมาร์ทโฟนเป็นของตัวเองมาก่อน แต่ในช่วงแรก Google กลับเลือกขาย Android One ในอินเดียผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้น ทำให้กลุ่มผู้ใช้งานที่ Google ต้องการเจาะตลาดไม่สามารถหาซื้อได้ บวกกับ ตลาดสมาร์ทโฟนในอินเดียยังคงพึ่งการขายจากหน้าร้านเป็นหลัก ส่งผลให้มือถือ Android One ไม่ติดตลาดเท่าที่ควร

ยอดขาย Android One ปีแรกในอินเดียอยู่ที่ 1.2 ล้านเครื่อง คิดเป็น 3.5% ของส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนในระดับราคา 50-100 เหรียญ ในขณะที่มือถือราคาใกล้กันอย่าง Xiaomi Redmi กลับมีส่วนแบ่งตลาดมากถึง 7.5% ของสมาร์ทโฟนในระดับราคาเดียวกัน

แม้ในภายหลัง Android One จะวางขายหน้าร้านบ้างแล้ว แต่อัตรากำไร (margin) ที่ Google เสนอให้กับร้านค้าอยู่ที่ 3 - 4% เท่านั้น ต่ำกว่าท้องตลาด (ปกติเฉลี่ยอยู่ที่ 9 -10%) ทำให้ร้านค้าไม่ต้องการสต๊อกมือถือ Android One เมื่อเป็นเช่นนี้ยิ่งทำให้ Android One หาซื้อได้ยากขึ้นไปอีก

พอยอดขายไม่เป็นไปตามที่หวัง OEM หลายเจ้าที่ออกสินค้า Android One ก็ไม่อยากทำต่อ เพราะการขายสมาร์ทโฟนราคาถูกต้องขายให้ได้จำนวนมากๆ เมื่อขายได้น้อย กำไรที่ได้ก็น้อยตาม ไม่คุ้มค่าแก่การลงทุน ทำให้ OEM ที่ร่วมเปิดตัวอย่าง Karbonn และ Spice จึงไม่มีแผนที่จะผลิตสมาร์ทโฟนในโครงการอีก ส่วน Micromax ก็หันไปเน้นขายมือถือราคาประหยัดที่ไม่ได้ร่วมโครงการ Android One และกลับมียอดขายพุ่งกว่ามาก

2. สเปกไม่ดึงดูดทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค

ในช่วงแรก Google จับมือกับ OEM 3 เจ้า ปล่อยมือถือในกลุ่ม Android One ออกมา 3 รุ่น ได้แก่ Canvas A1, Karbonn Sparkle V และ Spice Dream Uno แต่ Google กลับบังคับให้ OEM ใช้สเปกตามที่ตัวเองกำหนด ทั้งยังสั่งซื้อชิ้นส่วนให้ OEM ด้วย เพื่อจะสะดวกในการปล่อยอัพเดต (เพราะในช่วงแรก มือถือ Android One ยังได้อัพเดตสายตรงจาก Google อยู่)

ข้อเสียที่ตามมาคือมือถือ Android One แต่ละยี่ห้อแทบไม่มีความต่างแตกกัน ขาดจุดเด่นด้านสเปก และการที่ OEM ไม่สามารถเลือกชิ้นส่วนฮาร์ดแวร์เองได้ จึงเป็นไม่ได้เลยที่จะปรับลดสเปกเพื่อประหยัดต้นทุน

เมื่อยอดขายในปีแรกที่ไม่ดีนัก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราเห็น OEM ทั้ง 3 เจ้า พับโครงการผลิตมือถือ Android One ทันทีหลังจากปล่อยออกมาได้เพียงรุ่นเดียว

แม้แต่ในปี 2015 ที่ Google เริ่มปรับทิศทางของ Android One หันมาออกมือถือตลาดกลาง Mid-Range โดยรอบนี้ตั้งใจเจาะตลาดกลุ่มคนที่ใช้สมาร์ทโฟนอยู่แล้ว ด้วยการออก Lava Pixel V1 สเปกดีกว่าเดิม ในราคา 11,349 รูปี (ประมาณ 6,200 บาท) แพงขึ้นกว่าสามรุ่นแรกที่ออกมาสองเท่า (สามรุ่นแรกราคาอยู่ที่ 6,399 รูปี หรือประมาณ 3,500 บาท) ด้วยหวังว่าจะสามารถจุดประกายให้กับ Android One ได้อีกครั้ง

แต่ Lava Pixel V1 กลับไม่รองรับสัญญาณ 4G ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ของสมาร์ทโฟนในเวลานั้น ทำให้ยอดขายไม่เป็นไปตามหวังอีก โดยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2015 Lava Pixel V1 ทำยอดขายในอินเดียไปเพียง 100,000 เครื่องเท่านั้น

3. จุดเด่นเรื่องอัพเดตก็ไม่เด่นอีกต่อไป

ในระยะแรก จุดเด่นของ Android One คือการได้อัพเดต Android สายตรงจาก Google เป็นเวลาสองปี ทำให้ได้อัพเดตที่รวดเร็วกว่ามือถือรุ่นอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ด้วยสเปกที่เคร่งทำให้เหล่า OEM ไม่อยากทำ

ในระยะที่สอง Google จึงให้อิสระ OEM ในด้านปรับแต่งสเปก แต่ด้วยสเปกที่หลากหลาย ผลที่ตามมาคือ Android One ไม่ได้รับอัพเดตโดยตรงจาก Google อีกต่อไป ขึ้นอยู่กับ OEM ว่าจะเอา Android ไปปรับแต่งและปล่อยอัพเดตให้เมื่อไร ดังนั้น Android One รุ่นหลังๆ จึงได้รับอัพเดตไม่พร้อมกัน

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ Xiaomi ที่ถูกวิจารณ์มาโดยตลอดว่าไม่ค่อยจริงจังกับการทำรอม Android One เท่าไรนัก โดยเฉพาะกรณี Mi A3 ที่ได้อัพเดต Android 10 ช้ากว่า Mi 9T ที่ไม่ได้อยู่ในโครงการ และ ผู้ใช้งานหลายรายก็พบบั๊กหลังอัพเดท หรือกรณีของ Nokia ที่มือถือทุกรุ่นจะเข้าร่วมโครงการ Android One แต่กลับได้อัพเดตไม่พร้อมกัน ดังนั้น การให้อิสระแก่ OEM จึงทำให้ Android One สูญเสียจุดขายด้านความเร็วในอัพเดตไป เหลือเพียงแต่การรับประกันว่าจะได้อัพเดตเป็นเวลาสองปีเท่านั้น

นอกจากเรื่องการการันตีอัพเดต 2 ปีแล้ว มือถือ Android One แทบไม่มีจุดเด่นด้านอื่นๆ เหลือเลย ไม่ว่าจะเป็นในด้านฟีเจอร์ แบรนด์ หรือดีไซน์ เพราะส่วนใหญ่เป็นมือถือในกลุ่ม Mid-range สเปกกลางๆ ราคาไม่ได้ถูกที่สุด ส่วนการได้อัพเดต 2 ปี ก็ไม่ใช่ปัจจัยหลักในการเลือกซื้อสมาร์ทโฟนสำหรับผู้บริโภคทั่วไป ที่อาจไม่ได้เห็นความสำคัญของการอัพเดตเวอร์ชั่น Android มากนัก

4. จุดขายไม่มี มีแต่คู่แข่ง

การปรับระดับราคามาเป็น mid-range อาจช่วยให้สเปกยืดหยุ่นขึ้น แต่ก็สูญเสียจุดเด่นเรื่องราคาไปเช่นกัน ยกอย่างเช่น GM 5 Plus ที่ออกมาในราคาประมาณ 7,800 บาท แพงกว่าสามรุ่นแรกที่เปิดตัวในปี 2014 (ราคาประมาณ 3,500 บาท) ถึงสองเท่า หรืออย่าง Xiaomi Mi A1 ที่วางขายในไทย 7,990 บาท แพงกว่า Android One รุ่นที่เคยขายในไทยไปก่อนหน้านี้ i-mobile IQ II ที่ราคา 4,444 บาทเกือบสองเท่า

ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงเวลาใกล้ๆ กัน เราเริ่มเห็นมือถือราคาถูกจากจีนเข้ามาเจาะตลาดนี้มากขึ้น การแข่งขันเริ่มสูงขึ้น ตัวเลือกผู้บริโภคเริ่มเยอะมากขึ้น เมื่อมือถือช่วงราคานี้แทบจะไม่ได้แตกต่างกันเรื่องสเปกหลัก แต่ละเจ้าจึงพยายามหาความโดดเด่นจากฟีเจอร์ ลูกเล่นต่างๆ

คู่แข่งของ Android One ยิ่งเข้มข้นมากขึ้น เมื่อราคาขยับขึ้นมาในช่วง 10,000 บาท อย่าง HTC U11 Life หรือ Moto X4 ที่ใช้ Snapdragon 630 และขายในราคา 349 เหรียญและ 399 เหรียญตามลำดับ ต้องมาเจอกับนักฆ่าเรือธงในปี 2017 อย่าง OnePlus 5 ที่มาพร้อมกับชิปรุ่นท็อป Snapdragon 835 แรมมากกว่าที่ตัวเลือก 6GB และ 8GB (HTC กับ Moto แค่ 3GB) แถมด้วยฟีเจอร์หรือลูกเล่นต่างๆ บน OxygenOS ที่ Android One ไม่มี ในราคาที่บวกขึ้นมาแบบพอนำมาพิจารณาได้ที่ 479 เหรียญ ทำให้ได้รับความสนใจากผู้บริโภคไปเต็มๆ

นอกจากคู่แข่งจากฝั่ง Android แล้ว ฝั่ง iOS ก็ปล่อย iPhone SE ออกมา ถึงแม้ว่าราคาอาจจะแพงกว่า Android One (iPhone SE เริ่มต้น 16,800 บาท) แต่ก็ยังมีจุดขายคือฮาร์ดแวร์ แบรนด์และอีโคซิสเต็ม Apple ยิ่งทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกหลากหลายมากขึ้นไปอีก

5. ขาดแบรนด์ดังๆ โอกาสจะปังก็ยาก

เราไม่เห็นแบรนด์มือถือเจ้าใหญ่ที่ครองตลาดอย่าง Samsung, Huawei, Oppo เข้ามาทำมือถือในโครงการ Android One เลย เป็นเพราะแบรนด์เหล่านี้ต่างมี ecosystem เป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น UI แอปพลิเคชั่นหรือฟีเจอร์ต่างๆ ที่ใส่มาในมือถือ ล้วนเป็นกลไกสำคัญให้ผู้ใช้คุ้นชินกับแบรนด์ และต้องการใช้งาน ecosystem อย่างต่อเนื่อง

การออกมือถือมาร่วมโครงการเท่ากับต้องทิ้ง ecosystem ของตัวเองนี้ไป ทำให้ไม่สามารถใส่อะไรฟีเจอร์อะไรลงไปได้มาก ขาดอิสระด้านซอฟต์แวร์ นอกจากนี้ ecosystem ของแต่ละแบรนด์ก็ยังขายได้ปกติ จึงไม่มีเหตุผลที่จะต้องเข้าโครงการ

No Description

การขยับมา mid-range มีจุดที่ทำให้ Android One ขึ้นมาหายใจเหนือน้ำและเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์เล็กๆ คือ Xiaomi Mi A1 ที่นับเป็นหนึ่งในรุ่นที่ประสบความสำเร็จที่สุดและทำให้ Android One บุกตลาดโลกอย่างเต็มตัว แต่สุดท้าย Mi A1 หรือแม้แต่ Mi A2 ก็ประสบปัญหาเรื่องการอัพเดตอย่างที่กล่าวไป แถมยังมีปัญหาเรื่องการควบคุมคุณภาพฮาร์ดแวร์ใน Mi A2 และการลดต้นทุนใน Mi A3 ที่ใช้จอแค่ความละเอียด 720p จนทำให้แสงสว่างปลายอุโมงค์ของ Android One ดับวูบลงไปในที่สุด

หาก Android One ประสบความสำเร็จ เราอาจเห็นแบรนด์ใหญ่ๆ ยอมทิ้ง ecosystem แล้วหันมาทำ Android One อยู่บ้าง อย่างเช่น Xiaomi แต่จากยอดขายตลอดหลายปีที่ผ่านมายิ่งทำให้แบรนด์ใหญ่ๆ มองข้าม Android One ไปอย่างไม่ต้องสงสัย

เมื่อแบรนด์ใหญ่ๆ เลือกที่จะไม่ร่วมโครงการ ชื่อของ Android One ก็ยากที่จะไปถึงหูของผู้บริโภค

No Description

สรุป

ถ้าจะให้กล่าวโดยสรุป การที่ Android One ไม่ประสบความสำเร็จ สาเหตุหลักๆ มาจากการที่ Google ยังขาดการวางแผนที่ดีพอ เห็นได้จากการเลือกที่ช่องทางการขายโดยไม่สนใจสภาพตลาด เลือกปรับทิศทางและชูจุดเด่นโดยไม่ได้คำนึงถึงความต้องการของผู้บริโภค ผลลัพธ์ที่ได้จึงกลายมาเป็นโปรเจคไม่มีจุดขายที่แน่นอน

ในระยะหลังๆ มานี้ Google เองก็ไม่ได้จริงจังกับการโปรโมท Android One เท่าไหร่นัก ล่าสุดที่พูดถึง Android One ก็คือช่วงต้นปี 2019 นอกจากนี้ นับตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2020 มาจนถึงปัจุบัน มีมือถือ Android One ออกมาเพียงสามรุ่นเท่านั้น ได้แก่ Nokia 8.3 5G, Nokia 5.3, Moto G Pro และด้วยสถานะที่เป็นอยู่ในปัจจุบันยิ่งแสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่า จุดจบของ Android One คงจะอยู่อีกไม่ไกล แต่บทเรียนในครั้งนี้จะจารึกในประวัติศาสตร์ของ Google ไปอีกนาน

อ้างอิง

Get latest news from Blognone

Comments

By: luna777
AndroidWindows
on 3 August 2020 - 12:59 #1169787

ตอนนี้ใช้มือถือ Android go version 8.0 ราคา 1500 บาทอยู่ แบตอึด ชาร์ต 1 ครั้ง sleep ได้ 4 วัน ตัวเก่ามือถือจีน Android 6.0 ซื้อมา 11k บาท ชาร์ต 1 ครั้ง sleep ได้แค่ 26 ชม. แบตหมด

By: GyG on 3 August 2020 - 18:39 #1169842 Reply to:1169787
GyG's picture

รุ่นไหนครับ กำลังหามือถือแบตอึด เน้นโทร กับรับ OTP อย่างเดียวอยู่พอดีครับ

By: luna777
AndroidWindows
on 3 August 2020 - 18:59 #1169848 Reply to:1169842

https://shopee.co.th/Neffos-C5Plus-Grey-%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B2-%E0%B9%82%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B1%E0%B8%9E%E0%B8%97%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%9F%E0%B8%9F%E0%B8%AD%E0%B8%AA--NF-C5plus--%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A8%E0%B8%B9%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B9%8C-2%E0%B8%9B%E0%B8%B5-i.65786296.2199360121?gclid=Cj0KCQjw6575BRCQARIsAMp-ksPnBlW8taQcldghCFnR8LlSoShRo1IsyN3wCnZs9VrL6UOAT4rKr2IaAt6sEALw_wcB

By: paween_a
Android
on 3 August 2020 - 14:31 #1169806
paween_a's picture

เดาว่าน่าจะเหลือแค่เจ้าเดียวที่จำเป็นต้องใช้คือ Nokia

By: Wang_Peter
iPhoneAndroid
on 3 August 2020 - 15:25 #1169814 Reply to:1169806
Wang_Peter's picture

มี Motorola อีก 1 ราย ครับ

By: api on 3 August 2020 - 15:25 #1169813

ตอนนั้นเคยคิดว่าเพราะ CEO google แกเป็นคนอินเดีย เลยเกิดการเลือกปฎิบัติไปเน้นที่อินเดียก่อน
แทนที่จะมองไปที่ประเทศที่ตรงตลาดกว่าอย่างทางแถบแอฟริกา

By: Nolim
AndroidWindows
on 3 August 2020 - 15:57 #1169820

สรุปง่ายๆคือ ทีมการตลาดของ Google มีแต่ Geek ไม่เข้าใจผู้บริโภคทั่วไป เค้าไม่สนหรอกเรื่อง pure android หรือเรื่อง อัพเดท 2 ปี เค้าอยากได้เรื่อง ใช้งานลื่น กล้องดี จอสวย ฯลฯ มากกว่า

By: nrml
ContributorIn Love
on 3 August 2020 - 16:21 #1169823 Reply to:1169820
nrml's picture

อีกอย่างคือคงมีอีโก้ในการที่จะเค้นประสิทธิภาพของฮาร์ดแวร์ที่จำกัดจนไม่สนใจโลกความเป็นจริงว่าเขาไปถึงไหนต่อไหนแล้ว

By: dasmotto on 3 August 2020 - 16:30 #1169824

น่าเสียดายนะ ผมใช้ Nokia 7+ มาสองปี อัพผ่านมาจาก andriod 8->9->10 ใช้งานได้ไม่มีปัญหา

By: jokerxsi on 3 August 2020 - 17:03 #1169829 Reply to:1169824

ใช้เหมือนกัน แต่เปลี่ยนมาเป็น 1+ 7T ในราคาแทบจะเท่ากับตอนซื้อ N7+
ก็น่าตกใจเพราะมันเป็นมือถือคนละระดับกันเลย 1+ 7T เป็น Flagship ส่วน N7+ เป็น Midrange

หลังจากใช้ได้สักพักก็ไม่ค่อยให้ราคา Android One มากเหมือนเดิมแล้วละ

By: naja_return
AndroidWindows
on 4 August 2020 - 10:50 #1169941 Reply to:1169824

ผมใช้แล้วมีปัญหานะ มันช้าาาเอามากๆเลย

ตอนนี้มา OP7Pro แล้ว ไม่ Happy กับ Software เท่าไหร่ แต่ก็ทำใจรับไป ทนความช้าของ midrange phone ไม่ไหวจริง

By: GodPapa
iPhoneWindows PhoneAndroidBlackberry
on 3 August 2020 - 16:46 #1169825
GodPapa's picture

จะไปได้สวยกว่านี้ถ้าออก android camera
คนส่วนใหญ่พูดแต่เรื่องกล้อง เน้นแต่ถ่ายรูป

By: jokerxsi on 3 August 2020 - 17:00 #1169828

Android One ไม่มีเครื่อง Flagship แบบล่าสุดเลย
Rom ที่ปรับแต่งน้อย แทบไม่แตกต่างจาก Android One แล้ว
Android Version ใหม่ ก็มันเริ่มไม่ค่อยต่างจาก Version เดิม นอกจากทำงานช้าลง เลยกิน Spec มากขึ้น

By: 255BB
Android
on 3 August 2020 - 18:20 #1169840 Reply to:1169828

ถ้าใช้ pure android สเป็กเรือธง ผมว่ามันจะทับกับตลาด nexus เอ้ย pixel นะ
อย่าว่าแต่ android one กูเกิลเองไม่ค่อยสนใจทำตลาด pixel ในบ้านเราแบบออฟิเชียลเลย ส่วนตัวเคยติ่ง nexus อยู่ช่วงนึง ใช้ galaxy nexus, nexus 4 แต่เดี๋ยวนี้ก็เฉยๆ กับ pure android แล้ว ใช้งานธรรมดาๆ ซัมซุงก็ตอบโจทย์ ซื้อทีก็ผ่อน 0% ได้

By: iDan
ContributorAndroidSUSEUbuntu
on 3 August 2020 - 18:16 #1169838

Android One จะไม่จำเป็นเลย ถ้า Google ทำ Pixel ลงทุกประเทศ และทำทุกช่วงราคา อย่างผมที่ซื้อ Nokia 6.1+ สาเหตุหลัก ๆ คือ 1.ไม่ต้องการแอปขยะ หรือ bloatware 2.อัพเดทระบบปฏิบัติการและเรื่องความปลอดภัยให้ตลอด 3.ต้องการความเป็นส่วนตัว(ให้เฉพาะกูเกิลกับโนเกียเท่านั้น) และ 4. สเปคกลาง ๆ

ซึ่งถ้าโนเกียไม่ทำตลาดรุ่นกลางในไทยแล้ว เหมือนอย่างเช่นตอนนี้ที่ทำอยู่ ผมก็คงไปย้ายไป iOS แล้วนะ Samsung และ มือถือแบรนด์จีนทั้งหลาย คงไม่ผ่านทั้ง 3 ข้อเหมือนกัน

By: ryudia
AndroidWindows
on 4 August 2020 - 06:27 #1169895 Reply to:1169838
ryudia's picture

+6.1 โดยเฉพาะ ข้อ 1 ที่ทำให้ผมตัดสินใจเลือก nokia 6.1+ แต่ใช้มายังไม่ถึง 2 ปีดันเจอแบตบวมไป 2 ครั้ง นอกนั้นก็ยังไม่เจอปัญหาอะไร

By: sonexo_tic
Blackberry
on 3 August 2020 - 18:47 #1169845

Mi A3 เป็นฝาแฝดของ Mi CC9e รึเปล่าครับ มันคนละตัวกับ Mi9T / Redmi K20 เลย

By: qweret
AndroidWindowsIn Love
on 3 August 2020 - 22:51 #1169869 Reply to:1169845
qweret's picture

ผู้เขียนน่าจะสื่อว่า mi อับเดตให้เครื่องที่เป็น miui ไวกว่า android one

By: K_AViar
Windows PhoneUbuntuWindowsIn Love
on 3 August 2020 - 19:10 #1169849

อุตส่าเชื่อใน Android one

By: qweret
AndroidWindowsIn Love
on 3 August 2020 - 22:54 #1169870
qweret's picture

เปลี่ยนมาหลายเครื่องมาก แต่เครื่องสำรองก็ยังเป็น Mi A1 แต่ลงรอม Pixel experience ยังใช้งานพื้นฐานได้สบายๆอยู่

By: amba5555
AndroidWindows
on 4 August 2020 - 07:32 #1169903
amba5555's picture

บทความดีมากครับ
ข้อมูลแน่น เรียบเรียงดี
ทำให้เห็นภาพชัด ๆ เลยว่าทำไมมันถึงเจ๊ง
แล้วยิ่งตลาดปัจจุบันที่มือถือจีนแข่งกันอัดสเปค แถมดั๊มราคาขนาดนี้
รวมไปถึง rom ผู้ผลิตก็ไม่ได้แย่เหมือนเมื่อก่อนแล้ว
android one คงหนีไม่พ้นจุดจบในเร็ว ๆ นี้
แล้วก็จะยิ่งไปเสริม meme ล้อ google ไปอีกว่าไม่เคยทำอะไรได้ยืดยาวจริง ๆ

By: redondo16
Android
on 4 August 2020 - 08:34 #1169909

หลักๆก็ rom ผู้ผลิตเจ้าต่างๆก็ไม่ได้แย่เหมือนแต่ก่อนด้วยน่ะครับ ผมใช้ asus zenfone max pro m1 เป็นกึ่งๆ pure android มาสองปี ชอบความลื่นของ ui นะ มี app ขยะนิดหน่อยแต่ก็ปิดมันได้ เทียบกับ realme 5 ของแม่ที่ cpu แรงกว่าแต่ยังรู้สึกว่า m1 ผมลื่นกว่าแฮะ

By: whitebigbird
Contributor
on 4 August 2020 - 09:17 #1169916
whitebigbird's picture

มันไม่ใช่ราคาถูกแต่มันกากกิ๊กก๊อก แบรนด์จีนอ่ะเรียกว่าราคาถูก ให้สเปคมาตูมตามในราคาต่ำมากๆ

By: raindrop
ContributoriPhoneWindows PhoneWindows
on 13 August 2020 - 18:46 #1171276 Reply to:1169916

+1 เคยไปลองยืนเล่นอยู่ครั้งนึง Android One น่าจะรุ่นล่างๆ เลย ฝืดมาาาาากก ฮาร์ดแวร์ก็งั้นๆ คือดูรู้เลยว่ามันไม่ได้รับการใส่ใจ

ก็เลยหันไปมองข้างๆ เจอเครื่องแบรนด์จีนที่ราคาไม่ต่างกัน แต่ลื่นกว่าเยอะ และดีไซน์ก็ดีกว่า ชอบ pure android นะ แต่วินาทีนั้นก็ต้องเอาการใช้งานไว้ก่อน จัดแบรนด์จีนไปสิครับรออะไร

By: Architec
ContributorWindows PhoneAndroidWindows
on 4 August 2020 - 09:33 #1169919

ยังไงก็รอยันรุ่น MI A5 ครับ เน้นไขมันแทรกเยอะๆ

By: Nozomi
ContributorWindows PhoneAndroidSymbian
on 5 August 2020 - 04:58 #1170070 Reply to:1169919
Nozomi's picture

เห็นว่าไม่ทำแล้วครับ

https://www.notebookcheck.net/New-reports-suggest-Xiaomi-has-ditched-Android-One-and-will-not-release-the-Mi-A4.484050.0.html

By: akira on 4 August 2020 - 10:50 #1169937

ส่วนตัวมองว่า Google ประสบความสำเร็จในการกำหนดมาตรฐานให้ Brand อื่นๆ ที่ไม่ใช่ Brand หลัก ทำ Rom ให้ตรงมาตรฐานขั้นต่ำ ซึ่งนั่นก็คือ Android One นะ ถ้าจุดประสงค์ในการสร้าง Android One ถูกทำขึ้นมาเพื่อกำหนดมาตรฐาน

ที่เห็นต่างอย่างนี้เพราะ Google ไม่ได้เหมือน Apple ที่ผลิต HW ออกมาเพื่อทำยอดขาย แต่เน้นการสร้างสภาวะแวดล้อมให้บริการของ Google เข้าถึงอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยมาตรฐานเดียวกันโดยให้คนใช้งานเยอะสุด ซึ่งปัจจัยที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีมาตรฐานตรงกัน เพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่กระทบบริการหลัก

แนวทางแบบนี้สุดท้ายทุกอย่างที่ Google สร้างจะถูกหลอมรวมเข้าเป็นระบบปฏิบัติการเดียวกัน โดยที่ผู้ผลิตที่มี Resource ไม่มาก ก็ยังอยู่ในมาตรฐานในระบบปฏิบัติที่พัฒนาขึ้นมาได้ โดยที่ไม่ต้องแบกภาระมากมายในช่วงแรก

แนวทางคล้ายๆ Microsoft ช่วงนี้แหล่ะ มีสารพัด xxx Core ตัวอักษรตัวหลังก็บอกอะไรบางอย่างในแนวทางของ Microsoft เหมือนกัน มันเป็นแนวทางแบบ Modular เพื่อให้นำสินค้าออกมาให้เร็วที่สุด โดยไม่ต้องรอให้สมบูรณ์แบบ แต่ค่อยเก็บความต้องการของผู้บริโภค และปรับไปตามความต้องการ จากนั้นก็ค่อยๆ ประกอบให้เป็นผลิตภัณฑ์ตาม Roadmap อันไหนได้รับการตอบรับดีก็พัฒนาต่อ อันไหนที่ไม่ Work ก็ตัดทิ้ง อันไหนไม่รีบ ก็ใช้แบบเดิมไปก่อน สุดท้าย Microsoft ก็จะตัดคำว่า Core ออก เมื่อได้ผลิตตามที่ต้องการแล้ว เดาเอา

By: nrml
ContributorIn Love
on 4 August 2020 - 11:20 #1169949 Reply to:1169937
nrml's picture

ถ้าบอกว่าเป็นการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำ หลายข้อผมว่ามันก็ยังไม่ผ่านนะ เช่นเรื่องการอัพเดต

By: xenatt
ContributorWindows PhoneRed HatSymbian
on 5 August 2020 - 04:47 #1170069
xenatt's picture

ตอนนี้ใช้ Android 10 Beta อยู่ คือ Vanilla Android เลย
เมื่อไม่กี่วันก่อนลองมือถือ Vivo คือ ขยะมาก ROM มี App ขยะมากมาย แถม Disable ก็ไม่ได้


Opensource - Hackintosh - Graphic Design - Scriptkiddie - Xenlism Project