กูเกิลประกาศปฏิบัติตามกฎหมาย Digital Markets Act (DMA) ของสหภาพยุโรป ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในสัปดาห์นี้
ประเด็นเรื่อง third-party app store บนระบบปฏิบัติการ Android นั้น กูเกิลบอกว่าไม่ต้องปรับแก้อะไรเลย เพราะทุกวันนี้ก็เปิดให้มี third-party app store รวมถึงการติดตั้งแอพแบบ sideloading อยู่แล้ว แถม Android 14 ยังปรับเพิ่มฟีเจอร์ให้ third-party app store อัพเดตแอพที่ติดตั้งในเครื่องได้ง่ายขึ้นอีกต่างหาก
ส่วนเรื่อง alternative billing นั้น กูเกิลยินยอมให้ใช้งานมาตั้งแต่ปี 2022 และบอกว่าจะเปิดให้แอพกลุ่มเกมสามารถโชว์วิธีการจ่ายเงิน 2 แบบเทียบกันได้เลย (user-choice billing) ในสัปดาห์นี้
เรื่องการประชาสัมพันธ์ช่องทางจ่ายเงินอื่นในแอพ กูเกิลยินยอมให้ทำได้อยู่แล้ว แต่จะไปไกลถึงขั้นเปิดให้แอพที่แจกจ่ายบน Play Store สามารถโปรโมทตัวเลือกจ่ายเงินอื่นๆ เพิ่มจากปกติได้ด้วย
ส่วนผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ไม่ใช่ Google Play Store ที่ปรับแก้ตาม DMA ได้แก่
Android ปรับหน้าจอเลือก search engine/browser ตอนเปิดเครื่องครั้งแรก (choice screen) ให้ใช้งานง่ายขึ้น หลังจากเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2019
Search การแสดงผลการค้นหาบางประเภท เช่น โรงแรม หรือ สินค้า จะแสดงรายการจากเว็บไซต์เทียบราคา (comparison sites) เป็นกลุ่มมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาที่ถูกสหภาพยุโรปสั่งปรับเงินในปี 2017 ว่ากูเกิลมักแสดงผลการค้นหาจากเว็บเทียบราคาของตัวเอง สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือกูเกิลจะถอดข้อมูลราคาจากบริการของตัวเอง เช่น Google Flights ออกจากหน้าผลการค้นหา
Google Account เปิดให้ผู้ใช้สามารถยกเลิกการ "เชื่อมต่อ" ข้อมูลระหว่างบริการในเครือกูเกิลด้วยกันเอง เช่น Search, YouTube, Google Play, Chrome, Google Maps, Google Shopping ได้ ส่งผลให้บริการแต่ละตัวของกูเกิลไม่รู้จักข้อมูลของเราจากบริการตัวอื่น (เช่น ค้นหาข้อมูลใน Search ก็จะแยกจากประวัติใน YouTube) การยิงโฆษณาข้ามกันก็ทำไม่ได้
ที่มา - Google
Comments
อันนี้เห็นด้วย Samsung Store เป็นตัวอย่างที่ดี App บางตัว เช่น App ของ Huawei หาใน Google store ไม่ได้ หรือหาได้ ก็เป็น version ไม่สมประกอบ แต่หาใน Samsung Store ซึ่งเป็นคู่แข่งได้ ไม่ต้องไปติดตั้ง App Gallery ของ Huawei ให้วุ่นวาย
ควรมีตัวเลือกดาวน์โหลดสโตร์นอก ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้ใช้รับความเสี่ยง/ลุ้นกับ Play Protect
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า Store นอกไม่เสี่ยง
Apple AppStore, Google Play Store ไม่เสี่ยงเลยว่างั้น?
สาระสำคัญคือ Trustworthy ของการติดต้้งสโตร์จากภายนอก มีการยืนยันการมีตัวตนของเจ้าของสโตร์จริง และเปิดเป็นทางเลือกอื่น ๆ ถ้าเกิดเรื่องจากสโตร์ไหนจะได้ตามถูกตัว ความเสี่ยงไม่เสี่ยงของการติดตั้งแอปจากสโตร์นอกไม่เกี่ยวเลย ในเมื่อสโตร์ภายในเองก็ยังปกป้องผู้ใช้ไม่ได้ด้วยซ้ำ