Dileep Bhandarkar วิศวกรระดับสูงในฝ่าย Global Foundation Services ซึ่งทำหน้าที่ดูแลระบบเซิร์ฟเวอร์ทั้งหมดของไมโครซอฟท์ ไปบรรยายที่งาน The Linley Group Data Center Conference โดยพูดถึงสถาปัตยกรรมซีพียูสำหรับงานเซิร์ฟเวอร์ขนาดใหญ่ที่กำลังเปลี่ยนไปจากเดิม
Bhandarkar พูดถึงการนำซีพียูประหยัดพลังงานอย่าง Atom หรือ Bobcat มาทำเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งมีข้อดีกว่าซีพียูสำหรับเซิร์ฟเวอร์แบบเดิมๆ อย่างพวก Xeon หรือ Opteron ในแง่ประสิทธิภาพต่อวัตต์ต่อราคา เขายังบอกว่าไมโครซอฟท์ได้ "ร้องขอ" ไปยังอินเทลและเอเอ็มดีให้ผลิตซีพียูประหยัดพลังงานที่มีจำนวนคอร์เยอะๆ เพื่อให้ไมโครซอฟท์นำมาใช้ทำเซิร์ฟเวอร์ด้วย
นอกจากเรื่องจำนวนคอร์แล้ว Bhandarkar ยังมองว่า Atom/Bobcat สำหรับเซิร์ฟเวอร์ควรผลิตมาเป็นแบบ SoC (system-on-chip) เพื่อประสิทธิภาพรวมของระบบ เขาบอกว่า Atom เล็กมากอยู่แล้ว เราไม่ควรเอาชิ้นส่วนอื่นๆ อย่างเซาธ์บริดจ์หรือคอนโทรลเลอร์ควบคุมระบบเครือข่ายไปวางล้อมมันไว้ ทำมาเป็น SoC แผ่นเดียวเลยดีกว่า
Linley Gwennap ผู้ก่อตั้ง The Linley Group ซึ่งเป็นผู้จัดงานนี้ ให้ความเห็นว่าไมโครซอฟท์มีกำลังซื้อเซิร์ฟเวอร์พวกนี้ในปริมาณมากๆ และอินเทลคงผลิตให้ตามคำร้องขอ ถ้าผลออกมาดี อินเทลอาจทำออกมาขายคนทั่วไปด้วยเลย
Bhandarkar ยังพูดถึง ARM ว่าถ้าสามารถสร้างหน่วยประมวลผลที่มีสมรรถนะต่อวัตต์ต่อดอลลาร์ได้สูงกว่าหน่วยประมวลผลจากค่าย x86 ประมาณ 2 เท่าขึ้นไปได้ ไมโครซอฟท์ก็ยินดีจะนำ ARM ไปใช้ในระบบเซิร์ฟเวอร์ของตัวเอง (ไม่เกี่ยวกับเรื่องไมโครซอฟท์ประกาศว่า Windows รุ่นหน้าจะรองรับ ARM นะครับ)
Bhandarkar ให้ภาพรวมทิศทางของตลาดเซิร์ฟเวอร์ขนาดใหญ่ว่า แนวทางของซีพียูที่มีคอร์เยอะๆ สัญญาณนาฬิกาสูงๆ เริ่มตันแล้ว เพราะไม่สามารถทวีคูณประสิทธิภาพขึ้นไปได้เท่ากับพลังงานที่เสียไป และช่วงหลังไมโครซอฟท์หันมาเน้นแนวทางประหยัดพลังงานแทน ตัวอย่างคือ เซิร์ฟเวอร์ของไมโครซอฟท์รุ่นหลังๆ ใช้แบบ 1 ซีพียู 4 คอร์ต่อเครื่องเท่านั้น
ที่มา - PC World
Comments
"สูงกว่าหน่วยประมวลผลจากค่าย x86 ประมาณ 2 เท่าขึ้นไป"
โห! ถ้าทำได้ขนาดนี้จริงล่ะก็สิ้นยุค Intel แน่ๆ ครับ
ผมชอบทาง ARM มากกว่านะ ประหยัดไฟดีครับ
ยุคของกลุ่มเมฆสินะ
Xeon หรือ Opteron ต้นทุนที่ไม่รวมค่าพัฒนามันสูงกว่า CPU บ้านๆนิดเดียว จะให้เอา CPU ราคาต่ำมาขายสำหรับ Server ผมว่ากำไรหดแบบสุดๆล่ะครับงานนี้
ราคาขายสินค้าไม่จำเป็นต้องผันแปรตามต้นทุนครับ..
(ยืมประโยคมาจากคนแถวๆนี้หน่ะครับ)
เรื่องกินไฟนี่เห็นด้วยครับ server ควรลดปริมาณการกินไฟลงได้แล้ว ความร้อนในห้อง server ก็ลดลงตามไปด้วย
arm ดูดีกว่า
ตัวเลขการวัดประสิทธิภาพต่อวัตต์นี่ ATOM ยังเป็นที่หนึ่งของโลกอยู่ ถ้าไม่นับเรื่อง idle power (ที่ ARM เก่งกว่า) ATOM ยังคงได้เปรียบอยู่
lewcpe.com, @wasonliw
นับ Chipset ด้วยยังครับ เพราะว่า chipset ของ intel กินพลังงานสูงพอตัว
นับรวมนะครับ ใช้ SortBenchmark วัดประสิทธิภาพรวม (ข่าวเก่า)
lewcpe.com, @wasonliw
Cool!
เขาก็พูดในสิ่งที่คิดว่า arm ไม่น่าจะทำได้ หมายถึงปฏิเสธทางอ้อมดีๆ นี่เอง ถ้า arm ดีจริง ไมโครซอฟต์คงไม่ไปขออินเทลกับ amd หรอก
คงต้องดูที่ความคุ้มค่าล่ะครับ
เป็นตัวอย่างที่ดีของการเอาแนวคิด soc ไปประยุกต์ใช้ในรูปแบบอื่น
ออกแบบ ชิปให้ optimize ตาม ธรรมชาติของงาน
เข้าใจว่า งาน server ที่พูดถึงในข่าวน่าจะเป็น
งาน server แบบ รับ request จำนวนมาก แบบ พวก web farm ขนาดใหญ่ๆ
เหมือนที่เคยได้เห็นข่าวว่า เครื่องของกูเกิ้ล มีลักษณะเป็น unit แบบ self-complete ขนาดเล็ก
เน้นให้เชื่อมต่อขนานเข้าไปได้ง่าย
ส่วนงานลักษณะเน้นการคำนวณ ที่เน้น gpu แยกอยู่ขณะนี้
ถ้ามองวิธีแบบนี้ว่า เอา gpu ใส่เข้าไปหลาย คอร์แทน ?