DMM Bitcoin บริษัทให้บริการกระดานซื้อขายเงินคริปโตของญี่ปุ่น เปิดเผยว่าระบบได้ถูกเจาะและบิตคอยน์ถูกนำออกไปจำนวน 4,502.9 BTC คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4.8 หมื่นล้านเยน หรือกว่า 11,000 ล้านบาท
ข้อมูลการโอนบิตคอยน์ออกจาก Blocksec พบว่าคนร้ายได้กระจายบิตคอยน์ชุดนี้ออกไปยัง 10 กระเป๋าเงิน คราวละ 500 BTC
DMM Bitcoin บอกว่าลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ บริษัทจะชดเชยค่าเสียหายทั้งหมดด้วยมูลค่า BTC ที่เท่ากัน โดยตอนนี้บริษัทได้เพิ่มมาตรการเพื่อป้องกันปัญหาเกิดขึ้นอีกในอนาคต ส่วนตอนนี้ได้จำกัดการซื้อขาย Spot รวมทั้งการถอนเงินเยนออกจากแพลตฟอร์มอาจล่าช้ากว่าปกติ
ก.ล.ต. สหรัฐ หรือ SEC ได้อนุมัติเอกสารไฟลิ่งที่เกี่ยวข้องกับการขอจัดตั้งกองทุน ETF ที่อิงกับราคาของ Ethereum (ETH) แล้ว โดยมีกองทุนที่ได้รับอนุมัติ 8 แห่ง ได้แก่ BlackRock, Fidelity, Grayscale, VanEck, Franklin Templeton, Ark/21Shares, Invesco/Galaxy และ Bitwise
อย่างไรก็ตาม SEC อนุมัติเอกสาร 19b-4 สำหรับการจัดตั้งกองทุนเท่านั้น แต่ยังไม่ได้อนุมัติเอกสาร S-1 ซึ่งเป็นการขอนำสินทรัพย์นี้ให้นักลงทุนสามารถซื้อขายได้ในตลาด แต่ถือเป็นสัญญาณแรกว่า ETH น่าจะถูกซื้อขายในรูปแบบ ETF เร็ว ๆ นี้
ความร้อนแรงในวงการคริปโตช่วงสัปดาห์นี้คงไม่พ้น Ethereum (ETH) สกุลเงินคริปโตที่มีมูลค่าตลาดเป็นอันดับ 2 รองจากบิตคอยน์ ซึ่งมีราคาปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา โดยราคาล่าสุดอยู่ที่ 3,779 ดอลลาร์ต่อ ETH
ปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อราคา ETH คือการที่บริษัทการลงทุนหลายแห่ง ได้ยื่นขอตั้งกองทุน ETF โดยมี Ethereum เป็นสินทรัพย์อ้างอิง ในรูปแบบเดียวกับกองทุน ETF บนบิตคอยน์ที่ได้รับการอนุมัติเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยมีรายงานว่า SEC หรือ ก.ล.ต. สหรัฐ อาจอนุมัติ ETF นี้
ศาลรัฐบาลกลางซีแอตเทิลตัดสินจำคุก Changpeng Zhao หรือ CZ ผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอ Binance เป็นเวลา 4 เดือน ในข้อหาให้บริการแพลตฟอร์มที่เอื้อต่อการฟอกเงิน โดยศาลระบุว่า Binance ไม่ได้จัดทำระบบตรวจสอบและป้องกันการฟอกเงิน ซึ่งเป็นข้อกำหนดของการให้บริการทางการเงินในสหรัฐอเมริกา
ก่อนหน้านี้ CZ ได้เจรจายอมรับข้อกล่าวหาหลายอย่างจากหน่วยงานกำกับดูแลในสหรัฐ ทั้งยอมจ่ายค่าปรับ 4.3 พันล้านดอลลาร์ และลาออกจากตำแหน่งซีอีโอ
เว็บไซต์ Nikkei Asia รายงานบทสัมภาษณ์คุณจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Bitkub เปิดเผยว่ากลุ่ม Bitkub Capital มีแผนนำบริษัทไอพีโอเข้าตลาดหุ้นภายในปี 2025 โดยมีเป้าหมายคือตลาดหุ้นของประเทศไทย ส่วนการนำบริษัทจดทะเบียนคู่ (Dual Listing) ในฮ่องกงและสหรัฐอเมริกานั้น เป็นเรื่องในอนาคต
ส่วนแผนการขยายตลาดนั้น คุณจิรายุสบอกว่ามองตลาดอาเซียนในบางประเทศที่ยังมีโอกาสเริ่มต้นพัฒนาการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น กัมพูชา เวียดนาม ลาว เพื่อเสริมความแข็งแกร่งสู่การเป็นผู้นำตลาดในภูมิภาค ส่วนอินโดนีเซียกับฟิลิปปินส์นั้น ไม่มีแผนเข้าไปลงทุน เนื่องจากตลาดมีผู้เล่นรายใหญ่อยู่แล้ว โดยอินโดนีเซียมี Indodax และ Tokocrypt ส่วนฟิลิปปินส์มี Coins.ph
Tether บริษัทผู้ออกเหรียญ stablecoin USDT ประกาศนำเหรียญ USDT และ XAUT เหรียญที่ใช้ทองคำเป็นสินทรัพย์ค้ำมูลค่า เพิ่มมาให้ซื้อขายได้บนบล็อกเชน TON ที่สร้างโดย Telegram (แต่ปัจจุบันแยกบริษัทแล้ว)
Tether มองว่านี่เป็นโอกาสที่ทำให้ทั้ง USDT และ XAUT เข้าถึงเป็นเครื่องมือในการรับ-จ่ายเงิน ของผู้ใช้งาน Telegram ที่มีมากกว่า 900 ล้านบัญชีทั่วโลก
ปัจจุบัน USDT รองรับการใช้งานบนเชนต่าง ๆ 15 เชน รวมทั้ง Ethereum, Near, Polygon, Solana, Tezos และ Tron
ที่มา: Tether
บิตคอยน์เสร็จสิ้นการเข้าสู่รอบลดอัตราค่าขุดครั้งที่ 4 หรือ Halving เป็นที่เรียบร้อย หลังผ่านการขุดบล็อคที่ 840,000 ทำให้จากนี้อัตราค่าขุดอยู่ที่ 3.125 BTC ต่อบล็อค ลดลงจากก่อนหน้านี้ที่ 6.25 BTC
การออกแบบบิตคอยน์นั้นกำหนดให้จำนวนบิตคอยน์มีจำกัดที่ 21 ล้าน BTC และใช้การปรับอัตราคืนค่าขุดบิตคอยน์ให้ลดลงครึ่งหนึ่ง ทุกการขุด 210,000 บล็อค เรียกว่า Halving ซึ่งเหตุการณ์ Halving ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 แล้ว โดยครั้งแรกเกิดขึ้นปี 2012, ครั้งที่สองปี 2016 และครั้งที่สามในปี 2020
ศาลสูงสุดของมอนเตเนโกรยกเลิกคำสั่งของศาลชั้นต้น ที่ให้ส่งตัว Do Kwon ผู้ก่อตั้ง Terraform Labs และสร้างเหรียญ Terra/Luna ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งมีสองประเทศคือสหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ที่ยื่นขอตัว โดยการเลือกประเทศส่งกลับนั้นอยู่ที่รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมมอนเตเนโกร
คำสั่งศาลสูงสุดระบุว่า อำนาจการตัดสินใจว่าจะส่งตัว Do Kwon ที่ถูกร้องขอจากสองประเทศพร้อมกันนั้น ต้องเป็นการตัดสินใจของศาล ขั้นตอนการตัดสินที่เกิดขึ้นจึงไม่เป็นไปตามขั้นตอน ตามที่ทนายของ Do Kwon ร้องเรียน โดยให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาคดีนี้ใหม่อีกครั้งว่าจะส่ง Do Kwon ไปประเทศใด
Ripple บริษัทผู้พัฒนาบล็อกเชนและโซลูชันเงินคริปโต ประกาศออกเงินคริปโตคงมูลค่าหรือ Stablecoin ที่ผูกกับเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) แบบ 1:1 โดย Stablecoin ของ Ripple จะมีสินทรัพย์ค้ำคือ เงินฝากสกุลดอลลาร์สหรัฐ, ตั๋วเงินคลังระยะสั้นของสหรัฐ และสินทรัพย์อื่นที่เทียบเท่าเงินสด มีการตรวจสอบโดยบริษัทผู้ตรวจภายนอก และออกรายงานทุกเดือน
Ripple บอกว่าตลาด Stablecoin ตอนนี้มีมูลค่าประมาณ 1.5 แสนล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะเพิ่มถึง 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2028 เนื่องจากมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น Ripple มองเห็นโอกาสนี้ในการเชื่อมระหว่างสถาบันการเงินแบบเดิม และคริปโต บน XRP Ledger จึงมีแผนออกเหรียญ Stablecoin นี้
Google Search เพิ่มเครื่องมือใหม่ คราวนี้เป็นวอลเลตเงินคริปโต โดยผู้ใช้งานสามารถเสิร์ชด้วยเลขที่อยู่ (Address) ของกระเป๋าบิตคอยน์ และกูเกิลจะแสดงผลลัพธ์เป็น Card ระบุจำนวนบิตคอยน์ที่มีในกระเป๋านั้น
ข้อมูลการเคลื่อนไหวของบิตคอยน์ทั้งหมดเป็นสาธารณะบนบล็อกเชน จึงสามารถตรวจสอบได้ แต่ไม่สามารถระบุเจ้าของได้
นอกจากบิตคอยน์แล้ว Google Search ยังสามารถค้นหาข้อมูลของบล็อกเชนที่ทำงานบน Ethereum ด้วย ซึ่งเชนที่รองรับตอนนี้ได้แก่ Arbitrum, Avalanche, Fantom, Optimism และ Polygon
ที่มา: 9to5Google
ศาลแมนฮัตตันออกคำตัดสินความผิดของ Sam Bankman-Fried หรือ SBF ผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอของ FTX แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตรายใหญ่ ให้จำคุกเป็นเวลา 25 ปี ในประเด็นฉ้อโกง ฟอกเงิน และหลอกลวงนักลงทุน จากก่อนหน้านี้คณะลูกขุนลงมติให้นับรวมทุกความผิด และจำคุกเป็นเวลา 115 ปี
นอกจากโทษจำคุกแล้ว ผู้พิพากษา Lewis Kaplan ยังออกคำสั่งให้ SBF จ่ายเงินค่าปรับอีก 11,000 ล้านดอลลาร์ ด้วย โดยบอกว่ามีความเสี่ยงสูงที่คน ๆ นี้ จะทำให้ตัวเองอยู่ในจุดซึ่งสร้างเรื่องที่แย่มากได้อีกในอนาคต
MicroStrategy รายงานการซื้อบิตคอยน์เพิ่มเติมในช่วงวันที่ 11-18 มีนาคม 2024 อีก 9,245 BTC ด้วยเงินรวมประมาณ 623.0 ล้านดอลลาร์ ต้นทุนเฉลี่ยที่ 67,382 ดอลลาร์ต่อ 1 BTC
การซื้อบิตคอยน์เพิ่มนี้ทำให้ MicroStrategy มีบิตคอยน์รวม 214,246 BTC ที่ต้นทุนเฉลี่ย 35,160 ดอลลาร์ต่อ 1 BTC คิดเป็นต้นทุนรวมประมาณ 7.53 พันล้านดอลลาร์ และเป็นจำนวนที่มากกว่า 1% ของจำนวนบิตคอยน์รวมทั้งหมดซึ่งมีอยู่ 21 ล้าน BTC โดยตอนนี้มีการขุดออกมาแล้ว 19.6 ล้าน BTC
หลังราคาเงินคริปโตกลับมาพุ่งอีกครั้งในช่วงนี้ ทำให้เกิดกระแสคาดเดาว่าจะส่งผลกระทบต่อราคาจีพียูหรือไม่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นว่า "ซีพียูขาดตลาดแทน"
ซึพียูรุ่นที่ว่านี้คือ AMD Ryzen 9 7950X รุ่นท็อปสุดของ Ryzen 7000 เหตุผลเป็นเพราะมันคือซีพียูยุคใหม่ที่มีชุดคำสั่ง AVX512 สำหรับประมวลผลเวกเตอร์ ซึ่งถูกนำไปใช้ขุดเหรียญคริปโตบางประเภท (เช่น Qubic/QBIC) ได้ดีกว่าการใช้จีพียู NVIDIA GeForce RTX 4090 ด้วยซ้ำ
วันนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการว่าด้วยมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนด้วยโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
สาระสำคัญคือการยกเว้นภาษีเงินได้ จากการทำกำไรจากโทเคน (เงินปันผล) หากมีการชำระภาษี ณ ที่จ่าย (15%) ไปเรียบร้อยแล้ว โดยจะต้องไม่มีการขอรับภาษีคืนหรือไม่ขอภาษีเครดิตที่ถูกหักไว้ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 (ปีนี้) เป็นต้นไป
เบื้องต้นกระทรวงการคลังคาดว่ามาตรการนี้ จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีละประมาณ 50 ล้านบาท แต่มองว่ามาตรการนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีทางเลือกในการระดมทุนด้วยโทเคนดิจิทัล เพิ่มเติมจากวิธีเดิมๆ อย่างตราสารหนี้หรือตราสารทุนมากขึ้น
ราคาซื้อขายบิตคอยน์เมื่อคืนได้ผ่านหลักสำคัญอีกครั้ง โดยราคาปรับเพิ่มสูงกว่า 70,000 ดอลลาร์ต่อ 1 BTC เป็นครั้งแรก ซึ่งคาดว่าสาเหตุมาจากการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร ที่มีอัตราว่างงานปรับเพิ่มสูง จึงคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย
ราคาบิตคอยน์ปรับเพิ่มสูงสุดที่ 70,184 ดอลลาร์ ก่อนจะปรับลดลงมา โดยราคาล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 68,000 ดอลลาร์
ที่มา: Coin Telegraph
ราคาซื้อขายบิตคอยน์เมื่อคืนทำสถิติสูงสุดใหม่ (All-time high) โดยราคาปรับขึ้นไปสูงสุดที่ 69,325 ดอลลาร์ต่อ 1 BTC สูงกว่าสถิติเดิมที่ 69,045 ดอลลาร์ ในเดือนพฤศจิกายน 2021 หลังจากราคาปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา
ส่วนราคาซื้อขายบิตคอยน์ในไทยที่แปลงเป็นสกุลเงินบาท ทำสถิติใหม่สูงสุดไปแล้วตั้งแต่เมื่อวาน โดยราคาสูงกว่า 2.3 ล้านบาทต่อ 1 BTC และทำสถิติสูงสุดที่ 2,458,000 บาทต่อ 1 BTC
อย่างไรก็ตามหลังจากราคาบิตคอยน์ทำสถิติใหม่ได้ไม่นาน ก็มีการขายออกมาจนทำราคาลดลงถึงเกือบ 10% ราคาล่าสุดตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 64,000 ดอลลาร์
ราคาซื้อขายล่าสุดของบิตคอยน์ ปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่า 60,000 ดอลลาร์ต่อ 1 BTC แล้ว หลังจากราคาเพิ่มขึ้นมาสูงกว่า 50,000 ดอลลาร์ เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งครั้งสุดท้ายที่บิตคอยน์มีราคาสูงกว่า 60,000 ดอลลาร์ คือเดือนพฤศจิกายน 2021 ราคาล่าสุด ณ ขณะเขียนข่าวนี้ ราคาบิตคอยน์อยู่ที่ 60,442 ดอลลาร์
ทั้งนี้สำหรับนักลงทุนในบิตคอยน์ที่ซื้อขายใน exchange ของไทยสกุลเงินบาท ราคาบิตคอยน์ก็ผ่านหลักสำคัญคือมากกว่า 2 ล้านบาท ไปตั้งแต่วันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
คาดว่าสาเหตุหลักที่ทำให้บิตคอยน์ราคาเพิ่มสูงในสัปดาห์นี้ มาจากคำสั่งซื้อที่มาจากกองทุน ETF ที่อิงราคาบิตคอยน์
Circle บริษัทผู้ออกเหรียญ stablecoin USDC ประกาศหยุดสนับสนุน USDC บนบล็อกเชน TRON โดยสิ่งที่มีผลทันทีคือจะไม่มีการออกเหรียญ (mint) USDC บน TRON อีก และเริ่มแผนให้ลูกค้าของ Circle โอนย้าย USDC จาก TRON ไปอยู่บล็อกเชนอื่น ภายในกุมภาพันธ์ 2025 ส่วนคนที่มี USDC บน TRON ที่ไม่ใช่ลูกค้าของ Circle ให้ติดต่อกับผู้ให้บริการกระดานซื้อขายถึงแผนการย้ายเชนเอง ซึ่งคำแนะนำคือ Circle คือให้แลกคืนเป็นสกุลเงินหลัก (fiat) ออกมา
Circle ไม่ได้อธิบายสาเหตุตรง ๆ ของการหยุดสนับสนุน USDC บน TRON แต่บอกว่าบริษัทได้ประเมินการจัดการความเสี่ยงหลายอย่าง เพื่อให้ USDC เป็น stablecoin ที่เชื่อถือได้ โปร่งใส และปลอดภัย จึงนำมาสู่การตัดสินใจหยุดสนับสนุน USDC บน TRON นี้
MicroStrategy บริษัทของ Michael Saylor ที่มีธุรกิจหลักคือการพัฒนาซอฟต์แวร์ แต่เป็นที่รู้จักดีในกลุ่มผู้ลงทุนคริปโตว่าเป็นบริษัทที่ทยอยสะสมบิตคอยน์มาต่อเนื่อง ล่าสุดบริษัทรายงานผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 4 ปี 2023 ระบุว่าได้ซื้อบิตคอยน์เพิ่ม 31,755 BTC เป็นมูลค่ารวม 1.25 พันล้านดอลลาร์ ต้นทุนเฉลี่ย 39,411 ดอลลาร์ต่อ 1 BTC
นอกจากนี้ MicroStrategy บอกว่าจำนวนบิตคอยน์ที่บริษัทถือครอง ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ มีจำนวนรวม 190,000 BTC ที่ต้นทุนเฉลี่ย 31,224 ดอลลาร์ต่อ 1 BTC โดย Saylor บอกว่าในเดือนมกราคม บริษัทซื้อเพิ่มอีก 850 BTC
Binance TH แพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเปิดให้บริการในประเทศไทยอย่างเป็นทางการแล้ว โดยบริการดังกล่าวเป็นของบริษัทร่วมทุน Gulf Binance ของ Binance และ Gulf Innova บริษัทในเครือ กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์
Gulf Binance ได้รับใบอนุญาตในการดำเนินงานธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และธุรกิจนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ตั้งแต่พฤษภาคมปีที่แล้ว
คุณนิรันดร์ ฟูวัฒนานุกูล ซีอีโอ Gulf Binance กล่าวว่า Binance TH ตอนนี้ได้เปิดให้บริการใช้งานเทคโนโลยีที่ได้รับการรับรองและมีความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้ในไทย ตามความมุ่งมั่นที่ต้องการสร้างบรรยากาศของความไว้วางใจ และผลักดันนวัตกรรมให้กับชุมชมบล็อกเชนในประเทศ
ร้านขายเกม GameStop ปิดธุรกิจซื้อขาย NFT ของตัวเองแล้ว นับตั้งแต่เปิดบริการในเดือนกรกฎาคม 2022 โดยให้เหตุผลว่าสภาพการกำกับดูแลในตลาดคริปโตเปลี่ยนไปจากเดิม ลูกค้าจะไม่สามารถซื้อ ขาย สร้าง NFT ได้อีกในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2024 เป็นต้นไป ส่วนตัวโทเคน NFT ยังอยู่บนบล็อคเชนและสามารถนำไปซื้อขายบนแพลตฟอร์มอื่นได้
ทิศทางของ GameStop ยังถอนตัวจากตลาดคริปโตอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่งประกาศปิดบริการกระเป๋าเงินคริปโตไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2023
ที่มา - VGC
Circle บริษัทผู้ออกเหรียญ stablecoin USDC ประกาศยื่นเอกสารไฟลิ่งแบบ confidential S-1 กับ SEC เพื่อเตรียมนำบริษัทเข้าซื้อขายในตลาดหุ้น ทั้งนี้บริษัทยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติม ทั้งผลประกอบการ มูลค่ากิจการ และราคาหุ้นที่เสนอขาย
ปัจจุบัน USDC เป็นเหรียญ stablecoin ที่มีมูลค่าตลาดรวมเป็นอันดับสองที่ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ รองจาก Tether ซึ่งมีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์
ก่อนหน้านี้ Circle เคยมีแผนนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นด้วยวิธี SPAC แต่ต่อมาก็ยกเลิกเนื่องจากไม่สามารถดำเนินงานตามแผนได้ทันกำหนดเวลา
คณะกรรมการของ SEC หรือ ก.ล.ต. สหรัฐ ได้ลงมติเมื่อคืนที่ผ่านมา อนุมัติให้นักลงทุนสามารถซื้อขายสินทรัพย์แลกเปลี่ยนที่อ้างอิงราคา Bitcoin ได้บนกระดานซื้อขายสินทรัพย์ทั่วไปแล้ว ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้ลงทุน Bitcoin รอคอยผลกันมาหลายสัปดาห์
ตอนนี้มีกองทุนที่ยื่นขอรอจัดตั้ง ETF ที่อ้างอิงราคา Bitcoin แล้ว 11 ราย ซึ่งมีทั้งกองทุนของ BlackRock, Fidelity Investments, ARK Investment, Invesco, WisdomTree และ Grayscale โดยทั้งหมดน่าจะเริ่มซื้อขายกองทุนผ่านกระดานซื้อขายหลักได้เร็วที่สุดในวันพรุ่งนี้
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา กฎหมาย Infrastructure Investment and Jobs Act ของสหรัฐฯ เริ่มมีผลบังคับ ทำให้การทำธุรกรรมการโอนคริปโต "เพื่อทำธุรกิจหรือการซื้อขาย" (business or trade) ที่มีมูลค่าเกิน 10,000 ดอลลาร์ต้องแจ้งสรรพากรทั้งหมด จากเดิมที่บังคับเฉพาะเงินสดหรือสิ่งเทียบเท่า เช่น เงินสกุลต่างประเทศ หรือแคชเชียร์เช็ค
แนวทางนี้นับเป็นการผลักดันของรัฐบาลโจ ไบเดนตั้งแต่แรกๆ โดยกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เสนอกฎนี้ตั้งแต่กลางปี 2021
หน่วยงานด้านข้อมูลข่าวกรองทางการเงินของอินเดีย (FIU) ระบุว่าผู้ให้บริการกระดานซื้อขายคริปโต 9 ราย มีการดำเนินงานในอินเดียที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ในส่วนของกฎหมายป้องกันการฟอกเงิน และได้ร้องขอให้กระทรวงไอทีของอินเดียบล็อกเว็บไซต์ของผู้ให้บริการทั้ง 9 ราย
ผู้ให้บริการกระดานซื้อขายคริปโต 9 ราย ที่ถูกระบุมีผู้ให้บริการรายใหญ่เช่น Binance, Kraken, Kucoin และ Mexc รวมอยู่ด้วย ทั้งนี้ FIU บอกว่าได้แจ้งผู้ให้บริการไปแล้วเช่นกัน ให้ปรับแก้ไขการให้บริการเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ปัจจุบันมีผู้ให้บริการกระดานซื้อขายคริปโตที่จดทะเบียนในอินเดีย 31 ราย