เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในที่ประชุมคณะกรรมอำนวยการกำหนดนโยบายการป้องกันและปราบปรามการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ผิดกฎหมายหรือไม่เหมาะสมผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารว่า ได้เสนอสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเพื่อให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจัดงบซื้อเครื่อง "ตัดสัญญาณ" เว็บไซต์ต่างประเทศ มูลค่าประมาณ 400 ล้านบาท ตามคำแนะนำของตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีนายหนึ่ง หลังพบว่าเว็บไซต์จากต่างประเทศจำนวนมากที่เนื้อหาที่อาจผิดกฎหมายเพราะดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันกษัตริย์
หลังจากที่เป็นข่าวว่าปุ่ม Facebook Like นั้นเข้าข่ายผิดกฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวในรัฐ Schleswig-Holstein ประเทศเยอรมนี เพราะเป็นการส่งข้อมูลไปยัง server ของ Facebook โดยผู้เข้าชมเว็บไซต์ไม่มีทางเลือก เว็บไซต์ข่าวเทคโนโลยีเยอรมัน heise online (ชื่อเว็บไซต์ตัวพิมพ์เล็ก) ก็หาทางให้ผู้เข้าชมเว็บไซต์ยังสามารถเลือกที่จะกด Like ข่าวต่าง ๆ ได้โดยไม่ผิดกฎหมายจนได้
ต่อเนื่องจากข่าวที่แล้ว Wikileaks ได้ออกมากล่าวหาผ่านทาง Twitter ว่า หนังสือพิมพ์ The Guardian ได้เปิดเผยรหัสที่ใช้สำหรับเปิดดูไฟล์โทรเลขฉบับที่ไม่มีการเซ็นเซอร์ และกำลังจะดำเนินการทางกฎหมายต่อไป (ทวีตดังกล่าวถูกลบไปแล้ว แต่เว็บไซต์ WLCentral ได้บันทึกเอาไว้) ซึ่งเป็นที่เชื่อกันว่า ไฟล์ดังกล่าวคือไฟล์ชื่อ Wikileaks_insurance ขนาด 1.4 GB ที่ถูกเผยแพร่บน The Pirate Bay ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว
จำหน้าเว็บ What do you love? หรือรวมมิตรบริการของ Google กันได้หรือเปล่าครับ ถ้าเราพิมพ์คำหยาบเช่น fuck หรือ shit เข้าไป มันจะส่งเราไปหน้าของคำว่า kittens แทน (น่ารักซะไม่มี) ทีนี้ก็มีคนลองดูในโค้ด แล้วพบรายการ “คำหยาบ” อยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งก็ครอบคลุมทั้งคำธรรมดา ๆ ไปจนถึงคำประหลาดอย่าง rimjaw หรือ titwank (ช่างคิดกันจริง ๆ)
ดูรายการคำได้ในที่มาครับ
ที่มา - F.A.T.
Bitcoin สกุลเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กำลังถูกเพ่งเล็งโดยสมาชิกวุฒิสภาและหน่วยงานปราบปรามยาเสพติดสหรัฐฯ หลังจากที่มันถูกใช้เป็นสกุลเงินหลักในการซื้อขายยาเสพติดจากเว็บไซต์ลับ
เว็บไซต์ Silk Road ที่ไม่ปรากฏบนอินเทอร์เน็ตธรรมดา แต่เข้าถึงได้จากเครือข่าย TOR เท่านั้น เป็นแหล่งซื้อขายสินค้าต่าง ๆ รวมถึงยาเสพติด โดยหลังจากที่ลูกค้าโอน bitcoin ให้แล้ว พ่อค้าก็จะบรรจุยาใส่ซองสุญญากาศส่งทางไปรษณีย์ ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถตรวจสอบได้
Google ตรวจพบว่ามีการพยายามขโมยรหัสผ่าน Gmail ของผู้ใช้จำนวนมากด้วยวิธี phishing โดยผู้ได้รับผลกระทบนั้นมีทั้งข้าราชการสหรัฐฯ ข้าราชการเกาหลีใต้ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวจีน และนักข่าว เป็นต้น ซึ่ง Google ก็ได้แจ้งเตือนผู้เสียหายทั้งหมดแล้ว
ทั้งนี้ Google พบว่าต้นตอของหน้าเว็บปลอมนั้นมาจากเมืองจี่หนาน มณฑลซานตง ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนอาชีวะซึ่งเคยเป็นข่าวว่าอาจจะเป็นต้นตอการโจมตี Google เมื่อปีที่แล้ว
นักเรียนชายวัย 17 ปีในชิคาโกถูกจับกุมด้วยข้อหาประพฤติตนไม่เหมาะสม (disorderly conduct) หลังจากที่สร้างรายชื่ออันดับนักเรียนหญิงในโรงเรียนเดียวกัน ที่มีการเรียงตามการให้คะแนนหน้าตา รูปร่าง พร้อมฉายาและความเห็นเกี่ยวกับเชื้อชาติ และยังกล่าวหาเรื่องพฤติกรรมทางเพศ รายชื่อนี้ถูกโพสต์บน Facebook และพิมพ์แจกจ่ายในโรงเรียน
นักเรียนหญิงคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่านักเรียนในรายชื่อนั้น ต่างก็เป็นคนที่โดดเด่นกว่าคนอื่น ในด้านรูปร่างหน้าตาหรือความสามารถ
ทั้งนี้ หลักฐานอีกอย่างประกอบข้อกล่าวหาเป็นคลิปวิดีโอจากโทรศัพท์ ที่ถ่ายภาพนักเรียนคนนี้กำลังตะโกนว่า “ผู้หญิงคืออนาคต นอกจากพวกเราจะหยุดพวกเธอซะตอนนี้”
นักพัฒนาซอฟต์แวร์ Alasdair Allan และ Pete Warden ค้นพบว่าในไฟล์แบ็กอัปของ iPhone นั้นมีบันทึกตำแหน่งเครื่องและเวลาที่ค่อนข้างละเอียด พวกเขาจึงลองเอาข้อมูลมาปักลงแผนที่ให้ดูกันครับว่ามันเก็บข้อมูลเราไว้แค่ไหน
รายงานข่าวบอกว่าการเก็บข้อมูลประเภทนี้ถูกระบุไว้ในเงื่อนไขการใช้งาน (ความยาวกว่า 15,000 คำ) อยู่แล้ว อย่างไรก็ตามยังไม่พบหลักฐานว่าข้อมูลชุดนี้ถูกเข้าถึงได้โดย Apple เองหรือผู้อื่นหรือเปล่าครับ
ถึงตอนนี้หลายท่านคงเห็นแบนเนอร์ "ร่วมกันหยุดร่าง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์" ด้านบนนะครับ สำหรับท่านที่ยังไม่ทราบ มันเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ต่อต้านร่าง พ.ร.บ. ฉบับของกระทรวงไอซีที ที่มีการเพิ่มโทษและกลไกทางกฎหมายต่าง ๆ มากมาย ซึ่งสร้างความกังวลต่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบางกลุ่มว่ามันจะยิ่งกลายเป็นเครื่องมือแสนสะดวกของรัฐบาลในการปราบปรามผู้ต่อต้านมากขึ้นไปกว่านี้หรือเปล่า
แต่คุณยายชาวจอร์เจียคนนี้ไม่ใช่แฮกเกอร์แต่อย่างใดครับ เมื่อเย็นวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมาเธอแค่กำลังหาเก็บทองแดงไปขาย แล้วบังเอิญไปเจอสายเคเบิลที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศจอร์เจียและอาร์เมเนีย จึงตัดโดยที่ไม่รู้ว่าทำให้อินเทอร์เน็ตประเทศเพื่อนบ้านดับไปหลายชั่วโมง
ถ้าถูกตัดสินว่าผิด เธออาจจะต้องโทษจำคุกสามปี แต่ก็โชคดีที่เธอได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างที่คดียังไม่สิ้นสุดครับ
ว่าแต่มันหาเจอและตัดทิ้งง่ายขนาดนั้นจริง ๆ เหรอเนี่ย
ที่มา - BBC
หน่วยข่าวกรองออสเตรเลียได้รับแจ้งจาก CIA และ FBI ว่าคอมพิวเตอร์ของ Julia Gillard นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ รวมทั้งกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหม อาจจะถูกแฮ็ก และอีเมลนับพันฉบับอาจจะรั่วไหลไปแล้ว ซึ่งตอนนี้หน่วยข่าวกรองฯ ก็กำลังสอบสวนอยู่ครับ
ข่าวบอกว่าการโจมตีนั้นเกิดขึ้นที่คอมพิวเตอร์ในรัฐสภาและที่ระบบอีเมลของรัฐสภา ซึ่งมีความปลอดภัยน้อยกว่าระบบอีเมลระหว่างกระทรวง และเป้าหมายอาจจะอยู่ที่ข้อมูลอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของออสเตรเลีย
ผมกำลังพยายามไม่นึกถึงท่าน ๆ ในรัฐสภาไทยนะ
ที่มา - BBC
ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้รัฐบาลของประเทศอย่างบาห์เรน ซาอุดิอาระเบีย หรือเยเมน สามารถเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นไม่ใช่อะไรอื่นครับ เทคโนโลยีจากโลกตะวันตกนี่เอง
ข่าวบอกว่าบริษัทด้านความปลอดภัยดัง ๆ ในสหรัฐฯ และแคนาดา เช่น McAfee, Blue Coat, Netsweeper และ Websense ต่างก็มีลูกค้าเป็นรัฐบาลที่มีการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตอย่างเข้มงวดทั้งนั้น ซึ่งก็ดูขัดกับที่ Hilary Clinton เคยกล่าวประณามการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตไว้เมื่อปีที่แล้ว
ว่าแต่ ISP บ้านเราใช้ผลิตภัณฑ์ของเจ้าไหนครับ
ที่มา - The Wall Street Journal
ช่างอู่ซ่อมเรือชาวรัสเซียมีอันต้องติดคุกหนึ่งปีหกเดือน เนื่องจากอัปโหลดภาพยนตร์โป๊เปลือยขึ้นป้ายโฆษณาขนาด 6 x 9 ตารางเมตรกลางกรุงมอสโคว์ จนทำให้การจราจรติดขัด
ข่าวบอกว่านายคนนี้แฮ็กป้ายโฆษณาจากบ้านตนเองที่อยู่ห่างออกไปกว่า 1,200 กิโลเมตร โดยเจ้าตัวบอกว่าตนเองทำไปแค่เพราะ "อยากหาอะไรทำ" และไม่ได้เปิดเผยต่อนักข่าวถึงวิธีทำเพราะว่า "คงต้องอธิบายยาว"
ที่มา - BBC
ซูดานก็เป็นอีกประเทศหนึ่งในแอฟริกาเหนือที่ประชาชนกำลังประท้วงต่อต้านรัฐบาล ซึ่งก็รวมถึงการรณรงค์ออนไลน์ด้วย ล่าสุดสมาชิกรัฐสภาระดับสูงได้ออกมาประกาศเตือนว่า "กองกำลังไซเบอร์" ของรัฐบาลจะใช้ "นักรบไซเบอร์" (cyber jihadist) กวาดล้างผู้ต่อต้านให้หมด
ทั้งนี้ (ต่างจากประเทศใกล้เคียงอย่างอียิปต์และตูนิเซีย) ยังไม่เคยมีรายงานการติดตามจับกุมผู้ต่อต้านบนอินเทอร์เน็ตในซูดานแต่อย่างใด
ที่มา - Sudan Tribune
สำนักข่าวอังกฤษชื่อดัง The Guardian ออกมาเปิดเผยถึงโครงการของกองทัพสหรัฐฯ ในการสร้างระบบที่จะทำให้เจ้าหน้าที่สามารถควบคุม "ตัวตน" ออนไลน์ได้คราวละเป็นจำนวนมาก เพื่อสร้างอิทธิพลต่อการสนทนาออนไลน์ และเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อในทางสนับสนุนสหรัฐฯ (ดูรายละเอียดโครงการ)
ไม่บ่อยนักครับที่ Julian Assange จะปรากฎตัวต่อสาธารณะ ล่าสุดเขาไปบรรยายที่มหาวิทยาลัย Cambridge และได้เตือนให้คนระวังการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพื่อเคลื่อนไหวทางสังคม
Assange กล่าวว่าแม้อินเทอร์เน็ตจะช่วยอำนวยความสะดวกในการสื่อสาร แต่มันก็อำนวยความสะดวกให้รัฐจับกุมผู้ต่อต้านได้ไม่แพ้กัน โดยอ้างกรณีที่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ นักเคลื่อนไหวในอียิปต์ถูกจับกุมเพราะทิ้งร่องรอยบน Facebook
Assange ยังกล่าวอีกว่าบทบาทของ Twitter และ Facebook ในการลุกฮือของประชาชนตะวันออกกลาง มีน้อยกว่าสำนักข่าว Al Jazeera ด้วยซ้ำ
ที่มา - The Guardian
[update] มีคนท้วงมาเรื่องคำว่า น่าเชื่อถือ ขอแทรกหมายเหตุว่าต้นฉบับใช้คำว่า authenticity นะครับ ประมาณน่าเชื่อถือว่าเป็นของจริง
Christopher Poole หรือ "Moot" ผู้ก่อตั้งชุมชนออนไลน์นิรนามชื่อดัง 4Chan.org พูดใน keynote ที่งาน SXSW 2011 ถึงความเป็นนิรนามของการแสดงความคิดเห็นว่า ความคิดเห็นที่คนแสดงออกมาโดยที่ไม่ต้องเปิดเผยตัวตนนั่นแหละ คือความเห็นที่จริงใจและน่าเชื่อถือ
Poole ยังกล่าวอีกว่าการต้องเปิดเผยตัวตนนั้นเป็น "ราคาที่สูง" ของการแสดงความคิดเห็น
Dan Summers บุรุษไปรษณีย์ชาวอังกฤษที่เคยทำงานบริษัทไอทีมาก่อน เข้าร่วมการแข่งขันรักษาความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์ที่จัดโดยรัฐบาลอังกฤษ และได้รับรางวัลชนะเลิศมูลค่า 37,000 ปอนด์ครับ
การแข่งขันนี้ถูกจัดขึ้นเพื่อค้นหาผู้เชี่ยวชาญสมัครเล่น และเพื่อกระตุ้นตลาดแรงงานด้านนี้ที่ข่าวบอกว่าซบเซาลงกว่า 50% ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา
ส่วนอันดับสองของการแข่งขันนั้น เป็นเด็กนักเรียนอายุ 17 ปีครับ
แถวนี้มีใครที่เป็นทั้งบุรุษไปรษณีย์และโปรแกรมเมอร์ไหมหว่า :P
ที่มา - BBC
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว การประมูลต้นฉบับเอกสารงานวิจัยที่ Alan Turing ผลิตขึ้นช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ก็สิ้นสุดลง โดยพิพิธภัณฑ์ Bletchley Park ที่เคยเป็นศูนย์ถอดรหัสซึ่งที่ทำงานของ Turing ประมูลได้ไปด้วยเงินกว่า 300,000 ปอนด์
ก่อนหน้านี้ทางพิพิธภัณฑ์นั้นมีเงินไม่พอ (ชุดเอกสารถูกตั้งราคาที่ 300,000 - 500,000 ปอนด์) จึงมีการรณรงค์ให้บริจาคเงินช่วยเหลือ ก็ได้กลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตนำโดยนักข่าว Gareth Halfacree รวบรวมเงินกันได้ 23,000 ปอนด์ ได้ Google บริจาคอีก 100,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 61,000 ปอนด์) และสุดท้ายกองทุนสมบัติชาติ (National Heritage Memorial Fund) ก็ช่วยสมทบในนาทีสุดท้ายอีก 200,000 ปอนด์ จึงสามารถประมูลแย่งมาได้
ดร. Fang Binxing ผู้ที่ได้รับฉายาว่าเป็นบิดาแห่ง "กำแพง(ไฟ)เมืองจีน" (The Great Firewall of China) อันโด่งดัง ให้สัมภาษณ์ว่าการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตในจีนนั้นยังต้องพัฒนาขึ้นไปอีก เพราะปัจจุบันประชาชนใช้เครื่องมืออย่าง VPN เพื่อดูเว็บไซต์ที่ถูกแบน
ก่อนหน้านี้ ดร. Fang เคยเปิดบัญชี microblog ที่เว็บไซต์ Sina Weibo แต่ก็ต้องปิดไปในไม่กี่วันเพราะถูกคนเข้ามารุมวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่ทำงานให้รัฐบาลครับ
Michael Anti นักข่าวและบล็อกเกอร์ชาวจีนชื่อดัง ก็ให้สัมภาษณ์ว่า ดร. Fang นั้น "อยู่คนละโลก" และการที่เขาภูมิใจกับผลงานนั้นเป็นเรื่องที่แย่กว่าตัวระบบเองเสียอีก
สารวัตร James Batelli จากรัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐฯ แนะนำให้ผู้ปกครองหาวิธีแอบเข้าไปตรวจดูการใช้งาน Facebook ของลูกให้ได้ โดยอ้างถึงอาชญากรรมต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ในการใช้อินเทอร์เน็ต
นอกจากนี้ สารวัตร Batelli และลูกน้องยังจัดอบรมการใช้ spyware ให้กับผู้ปกครองเพื่อเอาไปใช้ที่บ้านอีกด้วย
ผู้อ่านที่มีลูกแล้วคิดว่าไงบ้างครับ
ที่มา - CNet
วันนี้ Radiohead วง alternative rock โคตรดังจากอังกฤษ ประกาศทาง Twitter ว่าแฟน ๆ สามารถซื้อและดาวน์โหลดอัลบั้มใหม่จากเว็บไซต์ของวงได้แล้ว
อัลบั้มใหม่ "The King of Limbs" เป็นอัลบั้มที่สองของวงต่อจาก "In Rainbows" ที่มีการจำหน่ายทางเว็บไซต์แบบไม่พึ่งค่ายเพลง โดยคราวนี้ไม่มีการเปิดให้แฟนเพลงจ่ายเงินเท่าไรก็ได้เหมือนคราวที่แล้ว แต่เป็นการเปิดให้ดาวน์โหลดอัลบั้มและสั่งซื้อชุดแผ่นเสียงพร้อมงานศิลป์ครับ (ทางวงเรียกว่า "newspaper album")
ก่อนหน้านี้มีข่าวบริษัทด้านความปลอดภัย HBGary ที่ทำงานร่วมกับรัฐบาลสหรัฐฯ ในการสืบหาผู้ร่วมขบวนการกลุ่ม Anonymous ถูกทางกลุ่มโจมตีและเอาอีเมลจำนวนมากมาเปิดเผย ปรากฏว่ามีข้อมูลการวางแผนดิสเครดิต Wikileaks อยู่ในนั้นครับ
มีการพบสไลด์ข้อเสนอโครงการชื่อ "The Wikileaks Threat" ที่ร่างโดยบริษัท HBGary และอีกสามบริษัท ที่บรรยายแนวทางทำลายความน่าเชื่อถือของ Wikileaks เช่น การส่งข้อมูลปลอมให้ การสร้างกระแสความไม่ไว้ใจในการรักษาความลับ ไปจนถึงการโจมตีทางอินเทอร์เน็ตไปที่แหล่งเก็บข้อมูล
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการยืนยันว่าแผนเหล่านี้จะถูกนำไปใช้จริง หรือแม้แต่ว่าเป็นของจริงหรือไม่ ก็ต้องรอดูกันต่อไปครับ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติอังกฤษออกมาเปิดเผยว่าจะให้ความสำคัญกับสื่อออนไลน์อย่าง Twitter มากขึ้นในการติดตามการเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงของผู้คน โดยยกตัวอย่างกลุ่ม UK Uncut ที่รวมตัวกันทาง Twitter เพื่อออกมาประท้วงการลดค่าบำรุงสาธารณะของรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม เคยมีการศึกษาพบว่า ตำรวจอังกฤษจำนวนมากยังใช้ Twitter กันไม่เป็น เช่น สมัครแล้วไม่ทวีต ทวีตความคิดเห็นส่วนตัวในเรื่องคดี หรือไม่ก็ทวีตทำนองเหยียดผิวครับ
ตำรวจไทยว่าไงเอ่ย
คณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนสื่อที่อังกฤษ (น่าจะประมาณสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติบ้านเรา) ได้มีคำตัดสินว่าหนังสือพิมพ์สองฉบับไม่ผิด ในกรณีข้าราชการคนหนึ่งเข้าร้องเรียนว่าถูกหนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับละเมิดความเป็นส่วนตัว โดยนำทวีตของตนที่นินทาผู้ฝึกอบรมและทวีตที่วิจารณ์รัฐบาลไปลงข่าว
หนังสือพิมพ์ทั้งสองก็ออกมาโต้ว่าบัญชี Twitter ของข้าราชการคนดังกล่าวไม่ได้มีการปกปิดแต่อย่างใด ด้านคณะกรรมการรับเรื่องฯ ก็ให้เหตุผลว่าเนื่องจากทวีตดังกล่าวถูกเข้าถึงได้โดยสาธารณะ การกระทำของหนังสือพิมพ์จึงไม่ถือว่าเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัว
ว่าแต่เคยมีกรณีประมาณนี้กับเหล่า "เซเล็บฯ" เมืองไทยบ้างหรือยังครับ