ถึงแม้ว่าโลกจะหมุนไปในทาง Dual Core แต่ซีพียูที่แรงสุดในตอนนี้ยังเป็น Single Core ครับ
ยังไม่ลืมชื่อ Athlon FX ใช่มั้ยครับ ซีพียูของแรงสำหรับเกมเมอร์โดยเฉพาะ (แรงสุดก็แพงสุดนะอย่าเพิ่งลืม) โดย Athlon FX-57 ตัวใหม่จาก AMD เป็นซีพียูที่แรงที่สุดในตอนนี้ ใช้คอร์ San Diego ทำงานที่ 2.8 GHz กับซ็อกเก็ต 939 ผมอ่านประสิทธิภาพใน Anadtech แล้ว ด้านเกมทำคะแนนทิ้ง P4EE คู่แข่งโดยตรงไกลโขอยู่ ส่วนเรื่อง Multimedia Encoding ที่สาย P4 ใช้เป็นจุดขายมาตลอด FX-57 ก็ยังชนะอยู่ดีครับ (แต่อันนี้เฉียดๆ)
สำนักข่าวบลูมเบิร์ค (Bloomberg) รายงานว่าในวันนี้เอเอ็มดี ผู้ผลิตชิปในตลาดพีซีอันดับสองของโลก ประกาศฟ้องอินเทล ด้วยข้อกล่าวหาที่ว่าอินเทลพยายามผูกขาดตลาดพีซี อย่างไม่เป็นธรรม
มีข่าวลือถึงการฟ้องครั้งนี้มาก่อนนี้นี้สองสัปดาห์แล้ว โดยก่อนหน้านี้อินเทลก็ถูกฟ้องในญี่ปุ่น โดยคณะกรรมการการค้าเสรีของญี่ปุ่นด้วยข้อกล่าวหาเดียวกัน โดยมีการระบุว่าอินเทลทำข้อตกลงกับผู้ผลิตให้จำกัดปริมาณการใช้ชิปของเอเอ็มดี หรือกระทั่งบังคับให้ใช้ชิปของอินเทลทั้งหมด ตลอดจนมีการเสนอการลดราคาให้กับผู้ผลิตที่ใช้ชิปอินเทลทั้งหมด
หน้าเว็บของบลูมเบิร์คนั้น โฆษณาหลักคือโฆษณาของเอเอ็มดีและซัน..... :p
อีกบริการจากกูเกิลก็มาอีกครั้ง ด้วยการเปิดให้ดาวน์โหลดโปรแกรมดูหนังของกูเกิลเอง โดยเข้ามาเป็นตัวเสริมของบริการค้นหาอย่างของกูเกิลเดิม
กูเกิลให้สัญญาว่าโปรแกรมนี้จะไม่ไปรบกวนการทำงานของโปรแกรมอื่นๆ อย่าง วินโดว์มีเดีย หรือเรียลเพลย์เยอร์แต่อย่างใด
อีกหน่อยก็มี google office......................
ไมโครซอฟท์และโตชิบาได้กล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน 2548 ที่ผ่านมาว่าทั้งสองจะร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับดีวีดียุคหน้าที่สามารถเก็บข้อมูลได้มากขึ้น ความละเอียดของการแสดงผลวีดีโอสูงขึ้น
ไมโครซอฟท์บริษัทซอฟต์แวร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกกล่าวว่า จะทำให้การร่วมมือพัฒนาการผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กับโตชิบา ซึ่งเป็นบริษัทผลิตคอมพิวเตอร์โน้ตบุกอันดับสามของโลกมีความแข็งแกร่งขึ้น
หลังจากวนเวียนอยู่แต่ในตลาดระดับองค์กร ในวันนี้ซันก็ประกาศวางตลาดเครื่องแลปท็อปเครื่องแรกนับแต่เปิดบริษัทมาแล้ว โดยเครื่อง Ultra 3 Mobile Workstation ใช้ซีพียู UltraSPARC ของซันเองโดยใส่แรม 512 เมกกะไบต์ และฮาร์ดดิสก์ 40 กิกะไบต์ ราคาอยู่ที่เครื่องละ 3,400 ดอลล่าห์
ข่าวนี้มาพร้อมกับการลดราคาเครื่องเดสก์ท็อปของซันไปพร้อมกัน โดยช่วงห้าปีหลังมานี้ ซันพบกับยอดขายที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงต้องปรับกลยุทธมาเล่นสงครามราคาโดยใช้เอเอ็มดีเป็นพันธมิตร
จริงๆ ออกมาได้หลายวันแล้ว
KOffice เป็นชุดโปรแกรมสำนักงานตัวแรก ที่สนับสนุนฟอร์แมทมาตรฐานสำนักงาน OpenDocument เป็นเจ้าแรก ผมเคยเขียนเรื่อง OpenDocument ไว้หลายที่ ไว้จะรวบรวมมาลงให้อ่านกันนะครับ เอาเป็นว่ามันเป็นฟอร์แมตเปิดที่เก็บในรูป XML และมีองค์กรกลางควบคุม โปรแกรมที่สนับสนุนตอนนี้มี KOffice 1.4, OpenOffice.org 2.0, OpenOffice.org 1.1.5 (ยังไม่ออก) และ Workplace ของ IBM ก็สนับสนุน
ถ้ามาใช้เจ้า OpenDocument กันเยอะๆ ต่อไปเราก็ใช้โปรแกรมออฟฟิศอะไรก็ได้ที่ชอบ เพราะตัวฟอร์แมทมีมาตรฐานกลางใช้ร่วมกัน
หลังจากกว่าสี่เดือนที่กูเกิลประกาศให้ความช่วยเหลือกับวิกิพีเดีย ยาฮูก็ออกมาตัดหน้าโดยประกาศว่าได้สั่งเครื่องเซิร์ฟเวอร์บริจาคให้กับวิกิพีเดียไปแล้วถึง 23 เครื่อง โดย 3 เครื่องแรกคือเซิร์ฟเวอร์ดาต้าเบสนั้นเป็นเครื่อง HP DL385 2 ซีพียู แรม 8 กิกะไบต์ ฮาร์ดดิสก์ 146 กิกะไบต์ 15000 รอบต่อนาที 6 ลูกต่อเครื่อง ส่วนอีก 20 เครื่องที่เหลือคือ HP DL140 ที่มีแรมครึ่งเดียวและฮาร์ดดิสก์ที่น้อยกว่า
ทางวิกิพีเดียวางแผนจะใช้ RedHat Enterprise Linux เป็นระบบปฏิบัติการในเครื่องทั้งหมด
ผู้บริหารของซัมซุง ซึ่งเป็นผู้ผลิตแฟลชไดร์วอันดับหนึ่งของโลก ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ในอนาคตแฟลชไดร์วน่าจะเข้ามาแทนที่ฮาร์ดดิสก์ในโน้ตบุ๊คได้ ถ้าทำได้จริงเราจะมีโน้ตบุ๊คที่เบาขึ้น เงียบขึ้นกับกินพลังงานน้อยลง (ไม่มีส่วนเคลื่อนไหว) และอ่านข้อมูลได้เร็วขึ้น (ไม่ต้องหมุนจานก่อนอ่าน)
ที่ NewsForge มีการเปรียบมวยระหว่าง 2 โปรแกรมเวิร์ดโปรเซสเซอร์ คือ Writer 2.0 กับ Word 2003 ในแง่มุมที่ผู้ใช้ทั่วๆ ไปใช้ เช่น การใส่ตาราง การทำดัชนี (แต่บางฟีเจอร์ผมอ่านแล้วก็ไม่รู้ว่ามันทำอะไรอยู่ดีนะ แหะๆ ใช้ไม่ค่อยจะเป็นน่ะครับ)
ผลลัพธ์ก็คือ Writer ชนะเยอะกว่า และชนะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสไตล์ซะมาก ส่วน Word ชนะในเรื่องที่โดดเด่นกว่าจริงๆ เช่น ตาราง เป็นต้น
Bink.nu มีภาพแอบถ่ายหน้าจอ (แอบถ่ายหน้าจอ) ของ IE7 บน Longhorn ครับ จะเห็นว่ามี Tab แล้วก็ Search bar แล้ว และเพิ่มความสามารถในการอ่าน RSS ด้วย แต่ผมดูยังไงมันก็เหมือน Safari เบราวเซอร์ของ OSX มากกว่า Firefox อีก
ไมโครซอฟท์แถลงความสำเร็จในการเข้าซื้อบริษัท Sybari ู้ผลิตซอฟท์แวร์ป้องกันไวรัสบนหลายแพลตฟอร์ม พร้อมกับประกาศว่าจะไม่พัฒนาผลิตภัณฑ์บนเครื่อง Unix และ Linux อีกต่อไป
ไมโครซอฟท์ระบุว่าเทคโนโลยีของ Sybari นั้นจะถูกรวมเข้าไปในโปรแกรมต้านไวรัสของไมโครซอฟท์ ซึ่งจะออกมาในเร็ววัน
หลังๆ เห็น ClamAV แล้วผมว่าก็น่าเล่นดีนะ...
ที่่มา Sybari acquisition completed by Microsoft - update 2 | newratings.com
หลังจากที่โซนี่ระบุว่าต้องการให้ UMD เป็นดิสก์มาตรฐานที่ใช้งานกันทั่วไปนอกจากการใช้ใน PSP อย่างในวันนี้ ในวันนี้ ECMA ซึ่งเป็นองค์กรณ์รับรองมาตรฐานของยุโรปได้ประกาศรับรอง UMD แล้ว
โดยแผ่น UMD เป็นแผ่นความจุ 1.8 กิกะไบต์ ซึ่งได้รับการแนะนำในครั้งแรกพร้อมกับการเปิดตัวเครื่อง PSP
ไอ้เครื่องที่จ็อบส์เอาไปโชว์ในงาน WWDC ส่งถึงมือลูกค้าแล้วครับ (พวกนี้เป็น Developer Kit น่ะนะ) ไม่ว่าจะข้างในข้างนอกมันก็เป็นพีซีธรรมดา เพราะยังไม่สนเรื่องดีไซน์ ทีนี้มาถึงเรื่องที่ทุกคนอยากรู้ สรุปว่าเอาวินโดวส์ไปลงได้สบายๆ ในแหล่งข่าวมีปัญหาเรื่องความละเอียด แต่ก็รันขึ้น ส่วนการเอาแผ่น MacOSX ที่มากะชุดไปลองลงบนพีซี ปรากฎว่าได้ข้อความ Error บอกว่าไม่สนับสนุนฮาร์ดแวร์นี้ (แอบเศร้ากันล่ะสิ)
คาดว่าแอปเปิลคงใส่ชิปอะไรลงไปบนบอร์ด ซึ่งในทางทฤษฎีแล้วมันก็เป็นไปได้ที่จะแก้ได้ครับ รอลุ้นกันละ
Fedora Core 4 ออกยังไม่ทันไร ทางโครงการ Fedora ได้เตรียมแผนการสำหรับ FC5 แล้ว
แนวทางของโครงการก็เริ่มจะเปลี่ยนไปแล้วครับ จากที่ Red Hat เคยมีบทบาทสำคัญในการพัฒนา ก็เริ่มย้ายโครงการออกมาให้มีลักษณะเป็น Community มากขึ้น (เหมือนอย่าง Mozilla หรือ Gentoo ที่ตั้ง Foundation ของตัวเองมารองรับ)
ZDNET Australia มีบทความน่าอ่านเกี่ยวกับการแข่งขันของ Google และ Yahoo! ครับ
สรุปคร่าวๆ ว่ารายรับ รายจ่าย มูลค่าหุ้น ของทั้งคู่นั้นไม่แตกต่างกันมากนัก (คืออยู่ในเลขหลักเดียวกันเกือบทั้งหมด) แต่วิธีการทำธุรกิจนั้นแตกต่างออกไป Yahoo! ใต้การนำของซีอีโอ ซึ่งเคยทำงานที่ Time Warner มาก่อน วางตัวเป็นบริษัทเกี่ยวกับสื่อ และการโฆษณาออนไลน์ ที่วัฒนธรรมองค์กรค่อนข้างจะซีเรียสจริงจังกว่า Yahoo! สมัยก่อน มีโปสเตอร์แปะข้างฝาเชิญชวนให้พนักงานส่งไอเดียใหม่ๆ ให้บริษัท
เรื่องนี้ค่อนข้างยาวครับ ผมเขียนรวมในข่าวเดียวเลยละกัน
Good Morning Silicon Valley มีสัมภาษณ์ Linus Torvalds โดยเกี่ยวกับไมโครซอฟท์ซะเยอะครับ ส่วนมากก็เป็นแนวคิดว่าโอเพ่นซอร์สมีบทบาทในตลาดอย่างไร และในอนาคตสภาพของแวดวงไอทีจะเป็นอย่างไร
การขายเพลงออนไลน์แบบถูกกฎหมาย ที่รู้จักกันดีก็อย่างเช่น iTunes Music Store, Real Rhapsody หรือ Napster (ยุคใหม่) กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และแชร์ตลาดเพลงออนไลน์ทั้งหมดไปแล้ว 35% (ที่เหลือก็คือผิดกฎหมายน่ะนะ) นักวิเคราะห์คาดว่าจะแซงปริมาณเพลงผิดกฏหมายได้ในเร็ววัน
ผมคิดว่าการที่เพลงออนไลน์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น (หมายถึงเมืองนอกนะครับ) คงเป็นเพราะคุณภาพโดยรวมที่ดีกว่า (เช่น มีปกอัลบั้มมาให้ด้วย) ปลอดภัยจากภัยแอบแฝงที่มาตาม P2P และราคาก็อยู่ในระดับที่รับได้เมื่อเทียบกับความสะดวกในการซื้อ ใครอ่านบล็อกนี้จากตึก GMM ก็รบกวนส่งให้อากู๋ด้วยนะครับ
เมนบอร์ดมาจากไหน?
Hexus.net มีรายการตามไปดูการสร้างเมนบอร์ดตั้งกะ PCB ที่โรงงานของ ECS ครับ (ผมมี ECS ตั้งสองตัวแน่ะ) บทความก็ยาวนิดหน่อย แต่ดูแค่รูปก็พอเข้าใจครับ ไหนๆ ใช้คอมกันอยู่ทุกวันก็น่าจะรู้ไว้บ้างว่าบอร์ดของเรา มันสร้างยังไง
ไม่ว่าเครื่องเกมตัวไหนออกมา ต้องมีข่าวเกี่ยวกับการนำเอาลินุกซ์ไปรันทั้งนั้นเลยครับ ทั้งแบบเจ้าของค่ายสนับสนุนเอง (PS2) หรือแบบแฮกเอาตามมีตามเกิด แต่มันก็ทำให้บรรดาแฟนๆ ทั้งหลายตื่นเต้นกันได้เรื่อยๆ
ล่าสุดถึงคิวของเกมมือถืออย่าง Nintendo DS รายละเอียดดูเอาที่เว็บ DSLinux กันดีกว่า ที่ผมตื่นเต้นคือ อาศัยการที่ DS มีสองจอ และเป็นจอแบบ touchscreen จอนึง ทำให้ทีม DSLinux สามารถใส่คีย์บอร์ดแบบ touchscreen ลงไปได้แล้ว (ถ้านึกไม่ออกก็คล้ายๆ กับบน Palm หรือ PocketPC น่ะครับ)
รอคิวของ PSP บ้าง
Mandriva หรืออดีต Mandrake ที่รวมกับ Conectiva (ล่าสุดเพิ่งรวมเอา Lycoris ไปอีกราย) หวังโตในตลาดเดสก์ท็อปลินุกซ์เต็มตัว
ดูกลุ่มเป้าหมายจากสามบริษัทที่มารวมตัวกันแล้ว ก็มาจากสายเดสก์ท็อปด้วยกันทั้งนั้น จึงไม่แปลกที่ Mandriva จะยังมุ่งตลาดเดสก์ท็อปลินุกซ์เหมือนเดิม นักวิเคราะห์จาก IDC ตั้งข้อสังเกตว่าการรวมตัวนี้ จุดประสงค์หลักคือลดความเสี่ยงด้านการเงิน เพราะทั้งสามเคยมีประวัติด้านการเงินมาแล้ว (Mandrake ถึงขั้นถูกฟ้องล้มละลายเลยนะ ส่วน Lycoris ก็ปลดพนักงานออกจนหมด)
Michael Robertson อดีตผู้ก่อตั้ง MP3.com และ CEO ของ Linspire (หรือที่เราเคยได้ยินในชื่อ Lindows) ได้ยุติบทบาทในการบริหารงาน Linspire แล้ว โดยเขาให้เหตุผลว่าต้องแบ่งเวลาไปดูแลอีก 2 บริษัทในครอบครอง คือ Mp3tunes.com และ Sipphone.com
โดย Robertson จะขยับขึ้นมาเป็นประธานที่ให้คำปรึกษากลยุทธกับ Linspire และงานบริหารจะเป็นหน้าที่ของ Kevin Carmony ผู้ก่อตั้ง Lindows ตั้งแต่เริ่มแทน
หลังจากออกข่าวแต่ WiMax ไปพักใหญ่ อินเทลก็กลับมาดูทางฝั่งแลนแล้วโดยโชว์ชิปต้นแบบ ของไวร์เลสแลนมาตรฐานใหม่ที่มีความเร็วถึง 100 เมกกะบิต ภายใต้มาตรฐาน IEEE 802.11n
อินเทลระบุว่าเทคโนโลยีใหม่นี้จะทำให้สามารถส่งสัญญาณภาพไปยังเครื่องจำนวนมากในแบบไร้สาย ทำให้ระบบบันเทิงแบบไร้สายในบ้านน่าจะเป็นจริงในเร็ววันนี้
ยังไม่วางขาย แต่ถ้าอยากเล่น Linksys วางขายมาระยะหนึ่งแล้ว
หลังจากเหมางานจากแอปเปิลมาหลายต่อหลายครั้ง ล่าสุดเอซัสเทคก็รับงานล่าสุดจากแอปเปิลไปอีกแล้ว โดยครั้งนี้คือ iBook G5 ที่ชาวแมครอคอยกันมานานนั่นเอง
โดยข่าวระบุว่า iBook G5 ที่เอซัสเทคเป็นผู้ผลิตนี้จะเป็นรุ่นจอกว้าง และวางจำหน่ายในปลายปีนี้
โดยบริษัทที่ร่วมประมูลงานครั้งนี้มีสองบริษัทคือ เอซัสเทค และควันต้า (Quanta) ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในตลาดแลบทอปทั้งคู่
อย่างไรก็ตาม แม้ข่าวนี้จะออกมากว้างขวางแล้ว แต่ทางแอปเปิลและเอซัสเทคก็ยังไม่ได้ออกมายืนยันแต่อย่างใด
แม้จะเป็นผู้ผลิตเทคโนโลยีอย่าง Janus ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมเพลงออนไลน์กันอย่างกว้างขวาง ห้องวิจัยของไมโครซอฟท์ก็ได้ตีพิมพ์ผลการวิจัย ในการพัฒนาระบบ P2P ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
Avalanche คือชื่อของระบบดังกล่าว ซึ่งมุ่งที่จะแก้ปัญหาระบบที่ช้าลงเมื่อมีผู้ใช้จำนวนมากๆ ในระบบไฟล์แชร์ริ่ง ที่ความเร็วจะตกลงเพราะศูนย์กลางไม่สามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เชื่อว่าอนาคตไมโครซอฟท์อาจส่งแพทซ์ผ่านทางวิธีนี้หรือ พัฒนาการควบคุมลิขสิทธ์เพื่อนำมาใช้ในเทคโนโลยีเพลงของตนต่อไป
แต่หลายๆ คนคงอยากเอามาโหลด XViD กันมากกว่า