ไต้หวันเพิ่งผ่านร่างแก้ไขกฎหมายภาษี เปิดทางให้บริษัทอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ สามารถนำงบ 25% ที่ใช้ลงทุนใน R&D ไปใช้ลดหย่อนภาษีได้
การเคลื่อนไหวครั้งนี้ชัดเจนว่ารัฐบาลไต้หวัน ต้องการรักษาความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการผลิตชิป ซึ่งไม่ใช่แค่ในแง่การมีคู่แข่งอย่างจีน แต่รวมถึงการที่ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศเช่นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐหรือแม้แต่สหภาพยุโรป ออกนโยบายผลักดันหรือส่งเสริมการผลิตและพัฒนาชิปภายในประเทศ (หรือภูมิภาค) ของตัวเอง ซึงตรงนี้รัฐบาลไต้หวันก็ต้องหาทางรักษาความเป็นผู้นำในแง่เทคโนโลยีและต้นตอของเทคโนโลยีเอาไว้ในประเทศ
บริษัทผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ Foxconn และบริษัทผลิตชิป NVIDIA ประกาศร่วมมือกันเพื่อพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับ โดย Foxconn จะเป็นผู้ผลิตชิปคอนโทรลเลอร์ (ECUs) สำหรับรถยนต์ที่ใช้ชิป DRIVE Orin และ DRIVE Hyperion ของ NVIDIA ที่ผลิตขึ้นมาสำหรับรถยนต์ขับขี่อัตโนมัติโดยเฉพาะ
NVIDIA กล่าวว่าเทคโนโลยีของบริษัทรวมถึงชิปจะทำให้สามารถประมวลผลข้อมูลเซนเซอร์แบบเรียลไทม์ได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อ Foxconn หลังบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไร้คนขับหลายแห่งประสบปัญหาต้นทุนราคาสูงและปัญหาการเพิ่มกำลังการผลิตทำให้การป้อนรถยนต์เข้าสู่ตลาดเป็นไปได้ยากขึ้น
รัฐบาลเกาหลีใต้เตรียมแก้ไขกฎหมาย K-Chips Act เพื่อลดหย่อนภาษีให้บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ โดยจะเพิ่มเงินการลดหย่อนภาษีให้กับบริษัททั้งรายใหญ่และรายเล็กตามนโยบายกระตุ้นภาคส่วนผลิตชิปของประธานาธิบดี Yoon Suk Yeol เพื่อแข่งขันกับสหรัฐอเมริกาและจีน
แหล่งข่าวของ Reuters ระบุว่า รัฐบาลจีนกำลังดำเนินโครงการสนับสนุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศโดยใช้เงินมูลค่าราว 1.43 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้หลังจากที่สหรัฐอเมริกามีนโยบายจำกัดการนำเข้าเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามายังจีน
แหล่งข่าวเผยว่า โครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการอุดหนุนที่ใหญ่ที่สุดในจีน โดยใช้ระยะเวลาจัดสรรงบประมาณกว่า 5 ปี และจะช่วยเหลือเซมิคอนดักเตอร์ในรูปแบบเงินอุดหนุนและการลดหย่อนภาษี งบประมาณส่วนใหญ่จะใช้ในการอุดหนุนการซื้ออุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ โดยบริษัทต่าง ๆ จะได้รับเงินอุดหนุน 20%
Tim Cook เปิดเผยในงานที่จัดขึ้นในรัฐแอริโซนา ว่าแอปเปิลจะสั่งซื้อชิปที่ผลิตจากโรงงานตั้งขึ้นใหม่ในรัฐนี้ ซึ่งทำให้แอปเปิลสามารถพูดได้ว่าใช้ชิปซึ่งผลิตในอเมริกา ตามรายงานข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้
โรงงานดังกล่าวเป็นของ TSMC ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลกจากไต้หวัน ซึ่งปัจจุบันก็ผลิตชิปส่งให้กับแอปเปิลอยู่แล้ว โดยโรงงานในรัฐแอริโซนานี้ จะรองรับทั้งการผลิตชิประดับ 4 และ 3 นาโนเมตร ที่มีลูกค้ายืนยันแล้วคือแอปเปิล สำหรับการผลิตชิปตระกูล A และ M นอกจากนี้ยังมี AMD และ NVIDIA ที่ยืนยันว่าจะสั่งผลิตชิปจากโรงงานนี้
Morris Chang ผู้ก่อตั้งบริษัทเซมิคอนดักเตอร์สัญชาติไต้หวัน TSMC เผยในที่ประชุมในนครไทเปว่า บริษัทได้วางแผนผลิตชิปด้วยเทคโนโลยี 3 นาโนเมตรแล้วที่โรงงานในรัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา ที่กำลังสร้างและจะเริ่มผลิตชิปในปี 2024 Chang เผยว่าตอนนี้แผนยังไม่เสร็จสิ้นแต่ก็ใกล้จะได้ข้อสรุปแล้ว
บนหน้าเว็บไซต์ของ TSMC เผยว่าชิป 3 นาโนเมตรนี้จะใช้ชื่อว่า N3 เมื่อเปรียบเทียบกับชิป 5 นาโนเมตรแล้ว จะมีความหนาแน่นเพิ่มขึ้นสูงสุด 70% เร็วกว่าเดิมสูงสุด 15% เมื่อใช้พลังงานในระดับเดียวกันและจะลดการใช้พลังงานสูงสุด 30% เมื่อมีความเร็วอยู่ในระดับเดียวกัน
Chang เผยว่า TSMC จะเริ่มผลิตชิป 3 นาโนเมตรในเฟส 2 หลังจากที่ผลิตชิป 5 นาโนเมตรในเฟสแรกแล้ว
Tim Cook ซีอีโอของ Apple เผยในที่ประชุมภายในบริษัทในเยอรมนีว่า บริษัทเตรียมใช้ชิปที่ผลิตในสหรัฐอเมริกา ซึ่งน่าจะหมายถึงจากโรงงานผลิตชิปของซัพพลายเออร์รายใหญ่อย่าง TSMC ที่กำลังก่อสร้างในรัฐแอริโซนา รวมทั้งจะใช้ชิปจากโรงงานในยุโรปเพิ่มมากขึ้น
โรงงานของ TSMC ในรัฐแอริโซนาคาดว่าจะเริ่มการผลิตได้ในปี 2024 นอกจากนี้ ยังมีข่าวว่าบริษัทวางแผนตั้งโรงงานเพิ่มอีกแห่งในรัฐเดียวกัน ปกติแล้ว Apple จะใช้ชิปจากโรงงานของ TSMC ที่อยู่ในไต้หวัน โดย Cook เผยว่าชิป 60% ของ Apple มาจากไต้หวัน
8 บริษัทผู้ผลิตชิปในญี่ปุ่นผนึกกำลังกันร่วมก่อตั้งบริษัทใหม่เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาชิปยุคใหม่ภายในประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกและลดการพึ่งพาการสั่งซื้อชิ้นส่วนจากบริษัทต่างชาติ
บริษัทดังกล่าวประกอบไปด้วย Toyota Motor, NTT, Sony, NEC, SoftBank, Denso, KIOXIA (เดิมคือ Toshiba Memory) และ MUFG (กลุ่มบริษัททางการเงินในเครือของ Mitsubishi) โดยจะร่วมกันตั้งบริษัทใหม่ชื่อว่า Rapidus (มาจากคำว่า rapid ที่แปลว่ารวดเร็วในภาษาละติน) โดยจะใช้เงินลงทุนร่วมกันมากกว่า 7 พันล้านเยน (ประมาณ 1.8 พันล้านบาท)
แหล่งข่าวของ Wall Street Journal ระบุว่าบริษัทเซมิคอนดักเตอร์สัญชาติไต้หวัน TSMC เตรียมประกาศแผนสร้างโรงงานผลิตชิปแห่งใหม่ในเมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา ใกล้กับโรงงานอีกแห่งที่กำลังสร้างอยู่ในเมืองเดียวกัน
หาก TSMC สร้างโรงงานแห่งใหม่จริงก็ถือว่าเป็นไปตามความต้องการของรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดนที่ต้องการสนับสนุนให้มีการลงทุนตั้งโรงงานผลิตชิปภายในสหรัฐอเมริกามากขึ้นเพื่อแข่งขันกับจีน รวมทั้งเพื่อป้องกันการขาดแคลนชิปเหมือนที่เกิดขึ้นในปี 2020 และ 2021
สหรัฐฯ ยังผ่านกฎหมายอุดหนุนเงิน 5 หมื่นล้านเหรียญให้กับบริษัทผู้ผลิตชิปที่เข้ามาตั้งโรงงานในสหรัฐฯ ด้วย รวมทั้งมีการออกข้อบังคับห้างส่งออกเทคโนโลยีผลิตชิปขั้นสูงไปยังจีน
Toyota ขอปรับลดจำนวนกุญแจรีโมทที่จะส่งมอบให้กับลูกค้าผู้ซื้อรถใหม่ในญี่ปุ่นจากที่ปกติจะให้กุญแจรีโมท 2 ดอกต่อรถ 1 คัน เหลือเพียงแค่ดอกเดียว โดยจะให้กุญแจแบบธรรมดาเป็นกุญแจสำรองไปทดแทน ซึ่งที่มาของนโยบายใหม่นี้ก็มาจากภาวะขาดแคลนชิปอิเล็กทรอนิกส์ในอุตสาหกรรมยานยนต์
รถใหม่ที่ว่านี้มีด้วยกัน 14 รุ่น ซึ่งรวมถึง Crown, Prius และ bZ4X ที่ผลิตในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ นอกจากนี้รถยนต์ Lexus ที่ผลิตใหม่ในช่วงนี้ก็ต้องลดจำนวนกุญแจรีโมทเช่นกัน
อย่างไรก็ตามมาตรการลดกุญแจรีโมทนี้จะถูกนำมาใช้เป็นการชั่วคราวเฉพาะในตอนนี้เท่านั้น โดย Toyota ระบุว่าจะรีบส่งมอบกุญแจรีโมทดอกที่ 2 ไปให้ลูกค้าโดยเร็วที่สุดเมื่อสามารถทำได้
นักวิจัยจาก Technical University of Denmark สร้างชิปที่สามารถส่งข้อมูลผ่านสายใยแก้วได้เร็ว 1.84 Pbps (ประมาณ 1.84 ล้าน Gbps) หรือเปรียบเทียบง่ายๆ ว่าหากไฟล์รูปภาพมีขนาด 1MB ก็เท่ากับว่าสามารถส่งไฟล์รูปได้วินาทีละ 230 ล้านรูป
การส่งข้อมูลนี้ใช้ชิปโฟโตนิกซึ่งเป็นชิปที่ส่งข้อมูลด้วยแสงแตกต่างจากชิปทั่วไปที่ส่งด้วยสัญญาณไฟฟ้า โดยชิปแบบโฟโตนิกนี้สามารถตรวจจับ, สร้าง, ส่ง และปรับแต่งสัญญาณแสงเพื่อแบ่งการโอนถ่ายข้อมูลออกเป็นหลายพันช่องสามารถส่งข้อมูลด้วยแสงเป็นระยะทางไกลกว่า 7.9 กิโลเมตร
กลุ่มบริษัทผู้ผลิตชิปเอเชียหุ้นตก หลังรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศข้อบังคับใหม่ว่าจะแบนบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ พร้อมทั้งบริษัทของประเทศอื่นที่ใช้เทคโนโลยีของสหรัฐฯ หากส่งออกเทคโนโลยีสำคัญในการผลิตชิปขั้นสูงบางอย่างที่ใช้สำหรับซุปเปอร์คอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ไปยังจีน
บริษัทเซมิคอนดักเตอร์สัญชาติไต้หวัน TSMC หุ้นร่วงลง 8% ส่วน Samsung Electronics ของเกาหลีและบริษัทญี่ปุ่น Tokyo Electron หุ้นตกลง 1.4% และ 5.5% ตามลำดับ หุ้นของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่อย่าง Intel, Nvidia, Qualcomm และ AMD ก็ตกลงเช่นเดียวกัน นอกจากนี้หุ้นของบริษัทผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของจีนอย่าง SMIC ก็ร่วงลงด้วย 4%
Samsung เผยแผน 5 ปี ตั้งเป้าผลิตทรานซิสเตอร์ขนาด 1.4 นาโนเมตรภายในปี 2027 หวังดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐอเมริกาเพื่อแข่งกับบริษัทเซมิคอนดักเตอร์เจ้าใหญ่อย่าง TSMC
Moonsoo Kang รองประธานบริหารของบริษัทเผยว่า บริษัทตั้งเป้าเป็นผู้นำการผลิตชิปให้ได้ โดยตั้งเป้าผลิตชิปขนาด 3 นาโนเมตรรุ่นที่ 2 ให้ได้ภายในปี 2024 หลังจากเป็นเจ้าแรกที่เริ่มผลิตชิป 3 นาโนเมตรไปแล้ว รวมทั้งจะผลิตชิป 2 นาโนเมตรให้ได้ภายในปี 2025 และชิป 1.4 นาโนเมตรภายในปี 2027
Samsung ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูงเป็น 3 เท่าภายในปี 2027 และจะเพิ่มรายได้ของธุรกิจรับจ้างผลิตชิปให้ได้ 3 เท่าเมื่อเทียบกับรายได้ของปีที่แล้ว โดยการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตชิปและขยายตลาดในสหรัฐฯ
แหล่งข่าวของ Nikkei Asia เปิดเผยว่า Apple จะใช้เทคโนโลยีผลิตชิป 3 นาโนเมตรล่าสุดที่ใช้ชื่อว่า N3E ใน iPhone และ Mac ที่จะเปิดตัวในปีหน้า โดย N3E เป็นเทคโนโลยีของบริษัท TSMC ซึ่งเป็นบริษัทเซมิคอนดักเตอร์สัญชาติไต้หวันที่เป็นซัพพลายเออร์สำคัญของ Apple
N3E เป็นเวอร์ชันอัปเกรดจากเทคโนโลยีผลิตชิป 3 นาโนเมตรรุ่นแรกของ TSMC โดยรุ่นแรกเพิ่งจะใช้ได้ในปีนี้และ Apple จะเป็นบริษัทแรกที่ใช้ โดยจะใช้กับ iPad ที่จะเปิดตัวเร็ว ๆ นี้ ส่วน N3E จะใช้ได้ในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า ซึ่ง Apple จะใช้ในการผลิตชิป A17 สำหรับ iPhone รุ่นพรีเมี่ยม (ซึ่งคาดว่าเป็น iPhone 15 Pro และ iPhone 15 Pro Max) และใช้ผลิตชิป M3 สำหรับ Mac ที่จะเปิดตัวในปีหน้า
บริษัทสัญชาติอินเดีย Vedanta และ Foxconn ประกาศร่วมลงทุนมูลค่า 19.4 พันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อสร้างโรงงานเซมิคอนดักเตอร์แห่งแรกในอินเดียในรัฐคุชราต โรงงานจะเริ่มผลิตได้ภายในปี 2024
บริษัททั้ง 2 ได้ลงนามกับรัฐบาลรัฐคุชราตเพื่อโรงงานเพื่อผลิตชิปและหน้าจอ โดย Vedanta ถือหุ้น 63% และ Foxconn ถือหุ้น 37% ในส่วนการผลิตชิป ส่วนฝั่งการผลิตกระจกสำหรับหน้าจอ Vedanta เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด
ก่อนหน้านี้ สหรัฐอเมริกาได้ผ่านร่างกฎหมาย CHIPS and Science Act เพื่อให้เงินสนับสนุนราว 52,000 ล้านเหรียญกับการลงทุนและวิจัยในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศรวมถึงการลดหย่อนภาษีให้กับบริษัทที่ตั้งโรงงานผลิตชิปในสหรัฐ โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดการพึ่งพาประเทศอื่นโดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นแหล่งที่ตั้งของโรงงานจำนวนมาก ภายหลังจากที่บริษัทต่าง ๆ ประสบปัญหาการขาดแคลนชิปจากการหยุดชะงักของซัพพลายเชนจากมาตรการ Zero-COVID ของจีน รวมถึงการแข่งขันกันเพื่อเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐและจีนด้วย
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา สำนักงานอุตสาหกรรมและความมั่นคงของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้สั่งแบนการส่งออกสินค้า 4 ประเภทที่เกี่ยวข้องกับด้านเทคโนโลยีและสงคราม
สินค้าที่ถูกสั่งแบนได้แก่ ซอฟต์แวร์กลุ่ม ECAD ที่ใช้เทคโนโลยี Gate-AllAround Field-Effect Transistor (GAAFET) ที่ใช้ในการออกแบบชิปขนาด 3 นาโนเมตรหรือต่ำกว่า, เทคโนโลยี Pressure Gain Combustion (PCG) ซึ่งใช้ในยานอวกาศ, และวัสดุตั้งต้นสำหรับผลิต semiconductor แบบ ultra-wide bandgap 2 ชนิด อย่างแกลเลียมออกไซด์หรือเพชร
Washington Post รายงานอ้างอิงแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยตัว ระบุว่า Nancy Pelosi ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกาเตรียมเข้าพบนาย Mark Liu ประธานบริษัท TSMC ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดแห่งไต้หวัน เพื่อหารือเรื่องการลงทุนตั้งโรงงานในสหรัฐ จากการเดินทางเยือนไต้หวันอย่างเป็นทางการครั้งนี้
เนื่องจากกฎหมาย Chips and Science Act เพิ่งผ่านสภา ทำให้รัฐบาลสหรัฐสามารถอุดหนุนเงินจำนวน 52 พันล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับโรงงานผลิตชิปภายในประเทศ ซึ่ง TSMC ได้ตั้งโรงงานในเมือง Phoenix รัฐแอริโซนา มูลค่า 1.2 หมื่นล้านเหรียญไปแล้วด้วย
Mercedes-Benz รายงานว่าบริษัทได้สั่งหยุดการผลิตในโรงงานสองแห่งที่บราซิล คือโรงงานใน Sao Bernardo do Campo และใน Juiz de Fora ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน ถึงวันที่ 3 พฤษภาคม เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนชิปในซัพพลายเชน
โรงงานของ Mercedes-Benz ในบราซิล เป็นส่วนการผลิตหัวรถบรรทุก ตัวรถบรรทุก และรถบัส ตลอดจนชิ้นส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง ผลกระทบจากคำสั่งนี้ ทำให้พนักงานรวม 5,600 คน ถูกให้พักร้อนในช่วงเวลาดังกล่าว
ก่อนหน้านี้โรงงาน Mercedes-Benz ในบราซิลเคยหยุดการผลิตไปครั้งหนึ่งในเดือนมีนาคม ซึ่งกระทบกับพนักงานประมาณ 1,200 คน
ที่มา: Reuters
กลายเป็นปัญหาระดับชาติไปแล้วสำหรับภาวะชิปเซมิคอนดักเตอร์ขาดแคลน กระทบอุตสาหกรรมเทคโนโลยี, รถยนต์, เครื่องใช้ไฟฟ้า จนรัฐบาลโจ ไบเดน ต้องวางแผนแก้ไขปัญหานี้ ล่าสุดทำเนียบขาวออกมาประกาศว่าจะมีการลงนามคำสั่งบริหารแก้ปัญหาอย่างเป็นทางการ
ในคำสั่งระบุต้องมีการตรวจสอบทันที 100 วันในหน่วยงานของรัฐบาลกลาง เพื่อแก้ไขช่องโหว่ห่วงโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์หลัก 4 รายการ คือ Active pharmaceutical ingredients หรือ APIs ส่วนประกอบสำคัญในการผลิตยา, แร่ธาตุที่ใช้ในการผลิตเครื่องกำเนิดไฟฟ้า, แบตเตอรี่ความจุสูง และชิปเซมิคอนดักเตอร์
Jen Psaki เลขาธิการสำนักข่าวทำเนียบขาว เผยว่ารัฐบาล โจ ไบเดน วางแผนจะดำเนินการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนชิปทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตรถยนต์, ผู้ผลิตแล็ปท็อป และอุตสาหกรรม semiconductor ต่างๆ ซึ่งเป็นปัญหาที่ยิ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเกิดโรคระบาด และคนต้องทำงานและเรียนที่บ้าน
แม้ชิป Kirin จะเป็นชิปแบรนด์ Huawei เอง แต่เพราะ Huawei ไม่มีโรงงาน จึงต้องพึ่งการผลิตจาก TSMC แต่ข้อกำหนดใหม่ของสหรัฐ ทำให้ TSMC ไม่สามารถผลิตชิปให้กับ Huawei ได้อีกต่อไป และจากข่าวล่าสุด ดูเหมือนว่า Samsung ก็จะไม่ผลิตชิปให้กับ Huawei เช่นกัน โดยสำนักข่าว DigiTimes อ้างผู้สังเกตุการณ์ในอุตสาหกรรมว่าซัมซุงไม่น่าจะเสี่ยงเข้ามารับงานนี้ แม้จะเป็นผู้ผลิตหน้าจอ OLED และชิปหน่วยความจำให้กับ Huawei อยู่แล้วก็ตาม และอาจจะยังผลิตชิปโมเด็มให้กับมือถือรุ่นกลางถึงล่างของ Huawei อีกด้วย
Huawei เปิดตัวชิปโมเด็ม 5G ในชื่อ TIANGANG โดยระบุว่าจะทำให้สถานีฐานใช้พลังงานน้อยลง 21%,ขนาดเล็กลง 50%, น้ำหนักเบาขึ้น 23% และใช้เวลาติดตั้งเพียงครึ่งเดียวเมื่อเทียบกับสถานีฐานแบบ 4G
แม้ขนาดเล็กลง แต่ชิป TIANGANG มีพลังประมวลผลสูงกว่ารุ่นก่อนหน้า 2.5 เท่าตัว รองรับช่องสัญญาณ 64 ช่อง และแถบคลื่นความถี่ถึง 200MHz
Qualcomm เปิดตัวชิปรุ่นใหม่ Snapdragon Wear 3100 สำหรับสมาร์ทวอทช์ มาพร้อมโหมด Ultra-low power ใช้พลังงานลดลง 67% ยืดอายุของแบตเตอรี่ให้อยู่ได้นาน 2 วัน ใช้ได้กับนาฬิกา Wear OS
Elon Musk นายใหญ่แห่ง Tesla ได้เปิดเผยว่าบริษัทรถยนต์ของเขาได้ซุ่มพัฒนาชิปสำหรับปัญญาประดิษฐ์เพื่อติดตั้งใช้งานในรถยนต์มา 2 - 3 ปีแล้ว โดยชิปนี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบคอมพิวเตอร์สำหรับรถยนต์ที่ Tesla เรียกว่า "Hardware 3"
ชิปที่พัฒนาเองนี้จะเพิ่มพลังประมวลผลให้กับระบบปัญญาประดิษฐ์ของรถยนต์ Tesla โดย Pete Bannon ผู้อำนวยการของ Tesla ระบุว่าตอนนี้อยู่ในช่วงการทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานจริงบนท้องถนน ทั้งนี้ชิปตัวใหม่จะรองรับการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์วิทัศน์ทำให้ประมวลผลภาพได้ราว 2,000 เฟรมต่อวินาที เหนือกว่า GPU บนแพลตฟอร์ม NVIDIA DRIVE ที่ Tesla เคยใช้งานมาตลอดประมาณ 10 เท่า