Intuit บริษัทซอฟต์แวร์การเงินและภาษีรายใหญ่ ประกาศซื้อกิจการ Mailchimp แพลตฟอร์มบริหารจัดการการตลาดออนไลน์ ที่มูลค่าดีลรวม 12,000 ล้านดอลลาร์ โดยจ่ายเป็นเงินสดและหุ้นของบริษัท ซึ่งมูลค่าของดีลแบบเป็นทางการนั้นสูงกว่าข่าวลือก่อนหน้านี้ที่ 10,000 ล้านดอลลาร์
Intuit บอกว่าดีลนี้จะช่วยให้บริษัทบรรลุสองเป้าหมายใหญ่ที่บริษัทวางไว้ นั่นคือ เป็นศูนย์กลางของการเติบโตในธุรกิจขนาดเล็ก และเปลี่ยนแปลงกระบวนการทางธุรกิจของกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก
ไมโครซอฟท์ประกาศซื้อกิจการ TakeLessons แพลตฟอร์มสำหรับให้นักเรียนค้นหาและนัดหมายการเรียนกับติวเตอร์ ทั้งในวิชาอย่างดนตรี ภาษา วิชาการตามหลักสูตร ไปจนถึงกิจกรรมงานอดิเรกต่าง ๆ ทั้งการเรียนแบบตัวต่อตัวที่พบปะกัน หรือแบบออนไลน์
ดีลดังกล่าวไม่มีการเปิดเผยมูลค่า โดย TakeLessons ได้รับเงินลงทุนรวมอย่างน้อย 20 ล้านดอลลาร์ มีผู้ลงทุนอาทิ LightBank, Uncork Capital และ Crosslink Capital ทั้งนี้ TakeLessons บอกว่าบริการต่าง ๆ จะยังคงดำเนินการต่อไปตามเดิมและภายใต้แบรนด์เดิม ซึ่งการร่วมมือกับไมโครซอฟท์จะได้เทคโนโลยีใหม่ ๆ มาเสริมในบริการ ขยายตลาดไปต่างประเทศ และเพิ่มเนื้อหาวิชาได้มากขึ้น
PayPal ประกาศบรรลุข้อตกลงเพื่อซื้อกิจการ Paidy แพลตฟอร์มการเงินจากญี่ปุ่น สำหรับการซื้อก่อนจ่ายทีหลัง (Buy now, pay later - BNPL) ที่มูลค่า 3 แสนล้านเยน หรือราว 8.9 หมื่นล้านบาท โดยจ่ายด้วยเงินสดเป็นหลัก คาดว่าดีลจะเสร็จสิ้นในไตรมาสที่ 4 ของปี 2021 โดย Paidy จะยังดำเนินธุรกิจภายใต้แบรนด์เดิมต่อไป
Paidy เป็นบริการจ่ายเงินสำหรับการซื้อสินค้าออนไลน์ในแบรนด์ 3-Pay ที่ให้ผู้ซื้อสามารถแบ่งจ่ายรายเดือนได้ โดยนำบิลไปจ่ายที่ร้านสะดวกซื้อหรือโอนผ่านบัญชีธนาคาร มีการจัดระบบให้คะแนนเครดิตผู้ใช้งาน รวมทั้งการันตีการจ่ายเงินให้กับทางร้านค้า วิธีการของ BNPL ทำให้ผู้ซื้อสบายใจในการจับจ่ายออนไลน์มากขึ้น เพิ่มยอดซื้อ และความถี่ในการซื้อ
Stan Pavlovsky ซีอีโอ Shutterstock กล่าวว่าบริการของ PicMonkey สามารถใช้งานได้ง่ายทั้งสำหรับผู้ใช้มือใหม่และมืออาชีพ นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์ต่าง ๆ ตลอดจนเทมเพลตให้เลือกมากมาย จึงสามารถนำมาต่อยอดกับบริการของ Shutterstock ได้
PicMonkey ระบุว่าจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ สำหรับบริการที่ให้กับลูกค้าปัจจุบัน ยกเว้นบริการคลังรูปภาพที่จะเหลือเฉพาะของ Shutterstock เท่านั้น
ที่มา: Shutterstock และ PicMoney
โซนี่ประกาศซื้อกิจการสตูดิโอ Firesprite เข้าเป็นส่วนหนึ่งของ PlayStation Studios นับเป็นสตูดิโอรายที่ 14 ในสังกัด
Firesprite เป็นสตูดิโอเกมจากเมืองลิเวอร์พูล สหราชอาณาจักร ก่อตั้งในปี 2012 โดยอดีตทีมงาน Studio Liverpool ของโซนี่เองที่ถูกยุบไปในปีเดียวกัน (ผลงานในยุคก่อนคือซีรีส์ Wipeout)
ที่ผ่านมาสตูดิโอ Firesprite ก็ทำงานกับโซนี่อย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว ทำเกม The Playroom และ The Playroom VR ในยุค PS4 และผลงานล่าสุดคือเกม The Persistence ซึ่งเป็นเกม VR เอ็กซ์คลูซีฟของ PS VR ในช่วงแรก (ช่วงหลังถึงลงแพลตฟอร์มอื่นที่ไม่ใช่ VR ด้วย)
ไมโครซอฟท์ประกาศซื้อกิจการ Clipchamp ผู้พัฒนาแอปตัดต่อวิดีโอ โดยใช้การประมวลผลบนคลาวด์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ของไมโครซอฟท์ ดีลดังกล่าวไม่มีการเปิดเผยมูลค่าอย่างเป็นทางการ
ตัวแทนของไมโครซอฟท์บอกว่าบริการของ Clipchamp จะยังไม่รวมอยู่ในแผนสำหรับลูกค้า Microsoft 365 ตอนนี้ จนกว่าจะนำมารวมเข้าด้วยกันเสร็จสิ้น
Clipchamp มีผู้สมัครใช้งานแล้วมากกว่า 17 ล้านคน สตาร์ทอัพนี้มีสำนักงานใหญ่ที่เมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย มีผู้ลงทุนรายสำคัญคือ Ten13 และ Tola Capital
เมื่อสัปดาห์ก่อน Adobe ก็เพิ่งประกาศซื้อกิจการแพลตฟอร์มตัดต่อวิดีโอ Frame.io ไป
กูเกิลได้เข้าซื้อกิจการ Playspace แพลตฟอร์มเครื่องมือสำหรับการทำงานร่วมกันแบบออนไลน์ ซึ่งมีทั้งการจัดประชุมออนไลน์, ระดมความคิด และสังสรรค์ โดยเครื่องมือใน Playspace จะถูกนำเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ Google Workspace ซึ่งกูเกิลพยายามปรับปรุงคุณสมบัติให้รองรับการทำงานแบบไฮบริดมากขึ้น
เครื่องมือของ Playspace มีคุณสมบัติทำงานคล้ายกับ Google Meet แต่เน้นไปที่รองรับการทำงานร่วมกัน เช่นมีแถบแสดงสถานะ ปฏิทิน รายชื่อผู้ติดต่อ ห้องย่อย กระดานไวท์บอร์ด กระดาษทด ปุ่มเปิดเพลงฟัง ระบบแชร์หน้าจอที่สามารถแก้ไขเนื้อหาร่วมกันได้
Playspace ระบุว่าบริการทั้งหมดจะปิดให้บริการตั้งแต่ 9 กันยา และลบข้อมูลทั้งหมด โดยผู้ใช้เดิมสามารถดาวน์โหลดข้อมูลออกมาก่อนได้
สำนักข่าว Bloomberg อ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้อง รายงานว่า Intuit บริษัทซอฟต์แวร์ด้านการเงินและภาษีรายใหญ่ เจ้าของ TurboTax, QuickBooks และ Mint กำลังเจรจาเพื่อซื้อกิจการ Mailchimp บริษัทการตลาดผ่านอีเมล โดยมูลค่าดีลอาจสูงถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์
หากดีลนี้เกิดขึ้นจริง จะเป็นดีลซื้อกิจการขนาดใหญ่ที่สุดของ Intuit โดยมีดีลซื้อกิจการก่อนหน้านี้คือ Credit Karma แพลตฟอร์มให้คะแนนเครดิตส่วนบุคคล
ก่อนหน้านี้มีข้อมูลว่า Mailchimp ก็พยายามหาผู้มาซื้อกิจการ ซึ่งมีผู้สนใจทั้งกองทุนและบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ ซึ่งรวมถึง Intuit ด้วย
แอปเปิลประกาศซื้อกิจการ Primephonic บริการสตรีมเพลงคลาสสิก โดยไม่มีการเปิดเผยมูลค่าของดีลนี้ ทั้งนี้เพลย์ลิสต์เพลงคลาสสิกของ Primephonic ตลอดจนคอนเทนต์เฉพาะ และข้อมูลประวัติเพลง จะถูกนำมารวมเข้ากับบริการ Apple Music ในอนาคต
แอปเปิลยังระบุว่ามีแผนจะเปิดตัวแอปสำหรับฟังเพลงคลาสสิกโดยเฉพาะในปีหน้า โดยจะใช้อินเทอร์เฟซแบบเดิมของแอป Primephonic
Thomas Steffens ซีอีโอ Primephonic กล่าวว่า การร่วมมือกับแอปเปิล ก็เพื่อส่งมอบประสบการณ์ดนตรีคลาสสิกกับผู้ฟังหลายล้านคน ทำให้ดนตรีคลาสสิกเป็นที่แพร่หลาย เชื่อมโยงนักดนตรีรุ่นใหม่กับผู้ฟังรุ่นใหม่ได้
ByteDance ประกาศซื้อกิจการ Pico สตาร์ทอัพผู้พัฒนาอุปกรณ์เฮดเซต VR อย่างเป็นทางการแล้ว ตามที่มีข่าวลือออกมาก่อนหน้านี้ โดยดีลดังกล่าวไม่มีการเปิดเผยมูลค่า Bytedance บอกว่าเทคโนโลยีของ Pico นั้นมีครบทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ ทีมงานก็มีประสบการณ์เชิงลึกในด้าน VR
โฆษกของ Bytedance ซึ่งเป็นเจ้าของแอป TikTok ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า บริษัทมีมุมมองที่ดีกับอนาคตของ VR และเทคโนโลยีนี้ก็สอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัท
ข้อมูลจาก IDC ระบุว่า Pico เป็นผู้ผลิตเฮดเซต VR ที่มีส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 3 ของโลก จำนวนส่งมอบในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 44.7%
Bloomberg รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้อง ว่า Bytedance บริษัทเจ้าของแอป TikTok กำลังอยู่ในขั้นตอนหารือเพื่อซื้อกิจการ Pico ผู้ผลิตเฮดเซต VR จากจีน เพื่อนำมาเสริมการเติบโตของธุรกิจ
Pico เป็นบริษัทจากเมืองปักกิ่ง มีพนักงานอยู่ราว 300 คน มี 110 สิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี VR บริษัทจัดจำหน่ายเฮดเซต VR โดยมีช่องทางออฟไลน์ครอบคลุมมากกว่า 40 เมืองทั่วทุกทวีป
แหล่งระบุว่าการเจรจายังไม่มีข้อสรุป แต่ข่าวนี้ช่วยสะท้อนว่า VR กำลังเป็นที่สนใจจากบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่มากขึ้น ก่อนหน้านี้ Facebook ก็ซื้อกิจการ Oculus ไป ขณะที่แอปเปิลก็มีข่าวจะผลักดัน VR อยู่ตลอด
Wall Street Journal รายงานข่าววงในว่า Western Digital กำลังเจรจาเพื่อควบรวมกับ Kioxia บริษัทหน่วยความจำของญี่ปุ่นที่รีแบรนด์มาจาก Toshiba Memory เดิม ปัจจุบัน Toshiba ถือหุ้นราว 40% ส่วนที่เหลือเป็นของบริษัทลงทุน Bain Capital
หากการเจรจาสำเร็จ บริษัทใหม่จะมีมูลค่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ โดย David Goeckeler ซีอีโอของ Western Digital จะนั่งเป็นซีอีโอของบริษัทใหม่
ผู้นำตลาดหน่วยความจำในปัจจุบันคือซัมซุง มีส่วนแบ่งตลาด NAND ประมาณ 1/3 ส่วน Kioxia มี 19% และ Western Digital มี 15% ซึ่งถ้าสองบริษัทนี้ควบรวมกันได้ก็จะมีส่วนแบ่งตลาดแซงหน้าซัมซุง
Wang Xiang ประธาน Xiaomi ได้เปิดเผยข้อมูลในช่วงแถลงผลประกอบการประจำไตรมาส ว่าบริษัทเตรียมซื้อกิจการ DeepMotion สตาร์ทอัพพัฒนารถยนต์ไร้คนขับ ที่มูลค่า 77.4 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะช่วยให้บริษัทบรรลุเป้าหมายในการสร้างรถยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะ ออกสู่ตลาดได้รวดเร็วมากขึ้น
กลยุทธ์ที่ Wang ระบุเพิ่ม คือบริษัทจะเปิดรับสมัครงานด้านนี้ 500 อัตรา และมีเป้าหมายคือการพัฒนารถยนต์ไร้คนขับในระดับที่ 4 (L4)
Xiaomi เป็นบริษัทเทคโนโลยีของจีนรายล่าสุดที่ประกาศเข้าสู่ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะ โดยก่อนหน้านี้มีทั้ง Baidu, Alibaba และ Didi
Unity ยังเดินหน้าซื้อกิจการอย่างต่อเนื่อง หลังซื้อซอฟต์แวร์สร้างต้นไม้ SpeedTree และรีโมทเดสก์ท็อป Parsec ล่าสุดประกาศซื้อ OTO บริษัทวิเคราะห์เสียงคุยแชทด้วย AI เพื่อแก้ปัญหาการกลั่นแกล้ง ดูถูกเหยียดหยามในหมู่เกมเมอร์
Adobe ประกาศบรรลุข้อตกลงเพื่อซื้อกิจการ Frame.io แพลตฟอร์มสำหรับการทำงานร่วมกัน (collaboration) ของวิดีโอบนคลาวด์ ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถแก้ไขวิดีโอ และตรวจดูตลอดเวิร์กโฟลว์ร่วมกันได้
อาจอธิบายได้ว่าเครื่องมือของ Frame.io ก็คือ Google Workspace เวอร์ชันวิดีโอ ซึ่ง Adobe เองก็ได้พัฒนาเครื่องมือนี้ออกมาเช่นกัน แต่มีรายงานจาก Bloomberg ว่า Adobe พบว่าลูกค้าจำนวนมากได้ใช้ Frame.io บนเวิร์กโฟลว์การทำงานอยู่แล้ว จึงตัดสินใจซื้อกิจการเข้ามาเลย ทั้งนี้เครื่องมือของ Frame.io จะถูกนำมารวมเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ Adobe Creative Cloud
Roblox ผู้พัฒนาเกมต่อบล็อกดิจิทัล รายงานผลประกอบการของไตรมาสที่ 2 ปี 2021 รายได้โต 127% จากช่วงเดียวกันในปีก่อนเป็น 454.1 ล้านดอลลาร์ และขาดทุนสุทธิ 140.1 ล้านดอลลาร์ กระแสเงินสดอิสระเพิ่มขึ้นเป็น 168.0 ล้านดอลลาร์
จำนวนผู้เล่นเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 29% เป็น 43.2 ล้านคนต่อวัน เป็นส่วนของผู้เล่นนอกอเมริกา-แคนาดาเพิ่มขึ้นมา 42% จำนวนชั่วโมงที่มีการเล่นรวม 9,700 ล้านชั่วโมง มีการจ่ายเงินต่อผู้เล่นเฉลี่ย 15.41 ดอลลาร์ต่อคน
Roblox ยังประกาศซื้อกิจการ Guilded ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับเชื่อมต่อชุมชนผู้เล่นเกม โดยไม่ได้เปิดเผยมูลค่าของดีล เพื่อนำมาต่อยอดกับบริการปัจจบันเสริมความแข็งแกร่งของชุมชนผู้เล่นเกม
Cisco ประกาศซื้อกิจการ Epsagon ผู้พัฒนาเครื่องมือตรวจสอบการทำงานของแอพพลิเคชัน ที่โดดเด่นเรื่องแอพพลิเคชันบนสภาพแวดล้อมทั้งคอนเทนเนอร์ และเซิร์ฟเวอร์เลส เพื่อนำมาเสริมกับบริการแพลตฟอร์ม Full-Stack Observability ของ Cisco เอง
ดีลดังกล่าวไม่มีการเปิดเผยมูลค่าอย่างเป็นทางการ แต่ทาง CRN ให้ข้อมูลว่าอยู่ที่ราว 500 ล้านดอลลาร์
Cisco อธิบายว่าแอพพลิเคชันเข้ามามีบทบาทในชีวิตผู้คนมากขึ้น องค์กรต้องการเครื่องมือที่ช่วยทั้งการพัฒนา ตรวจสอบ สเกล แอพพลิเคชันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมาพร้อมกับความซับซ้อนของระบบที่มากขึ้น เครื่องมือตรวจสอบที่สามารถเข้าถึง เชื่อมโยงข้อมูลได้ในทุกจุดจึงมีบทบาทสำคัญ
ไมโครซอฟท์ประกาศซื้อกิจการ Peer5 บริษัทจากอิสราเอลผู้พัฒนาระบบวิดีโอสตรีมมิ่งสำหรับลูกค้าองค์กร โดยไม่ได้เปิดเผยมูลค่าของดีลนี้ ซึ่งไมโครซอฟท์จะนำเทคโนโลยีของ Peer5 มาใช้กับ Microsoft Teams
ServiceNow แพลตฟอร์มบริหารจัดการ Workflow ประกาศซื้อกิจการ Mapwize บริษัทผู้พัฒนาแผนที่ และระบบค้นหาเส้นทางภายในอาคารจากฝรั่งเศส โดยดีลนี้ไม่มีการเปิดเผยมูลค่า
Blake McConnell ผู้บริหารของ ServiceNow อธิบายสาเหตุของดีลนี้ว่าในโลกยุคการทำงานแบบไฮบริด สถานที่ทำงานมีบทบาทที่สำคัญมากยิ่งขึ้น ต่อประสบการณ์ของพนักงาน การนำบริการของ Mapwize จะช่วยเรื่องการจองที่นั่ง ห้องประชุม ทรัพยากรในสถานที่ทำงานได้สะดวกมากขึ้น และยังสามารถประเมินความถี่ในการใช้งานได้อีกด้วย
ServiceNow จะนำฟีเจอร์แผนที่ในอาคารของ Mapwize มาใส่ใน Now Platform และ Workplace Service Delivery Suite
NortonLifeLock เตรียมควบรวมกับ Avast ด้วยดีลมูลค่าประมาณ 8.1-8.6 พันล้านดอลลาร์ (ตามแต่การลงคะแนนของผู้ถือหุ้น Avast) ดีลนี้จะทำให้ NortonLifeLock กลายเป็นเจ้าของหุ้นทั้งหมดของ Avast และผนวกรวมกันกลายเป็นอาณาจักรแอนตี้ไวรัสขนาดยักษ์ที่มีผู้ใช้รวมกันกว่า 500 ล้านคน หลัง Norton ซื้อ Avira ช่วงเดือนธันวาคม 2020
Vincent Pilette ซีอีโอของ NortonLifeLock ระบุว่าการควบรวมครั้งนี้จะเสริมความแข็งแกร่งของบริการให้กับผู้ใช้มากกว่า 500 ล้านคนได้ในอนาคต และทำให้บริษัทสามารถเร่งนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะมาเปลี่ยนแปลงโลกความปลอดภัยไซเบอร์ได้ดียิ่งขึ้น
Unity ประกาศซื้อกิจการ Parsec เจ้าของเทคโนโลยีสตรีมหน้าจอ-รีโมทเดสก์ท็อป ที่รองรับการเล่นเกมความละเอียดสูงๆ (UHD 60fps) ที่ latency ต่ำมากๆ เพียง 7ms ในวงแลนเดียวกัน มูลค่าการซื้อกิจการอยู่ที่ 320 ล้านดอลลาร์
เทคโนโลยีของ Parsec รองรับทั้งการรีโมทหน้าจอไปทำงานและการเล่นเกม บริษัทใช้วิธีเขียนเทคโนโลยีระดับล่างเอง (เช่น networking protocol และ peer-to-peer NAT traversal) เพื่อให้ได้ค่า latency ต่ำที่สุด
ลูกค้าของ Parsec มีทั้งฝั่งองค์กรที่นำไปใช้เพื่อการทำงานในทีม และลูกค้าฝั่งคอนซูเมอร์ที่ใช้เล่นเกมร่วมกับเพื่อน ตัวอย่างลูกค้าองค์กรได้แก่ EA, Blizzard, Ubisoft, Square Enix
Robinhood แอปเทรดหุ้นชื่อดังในอเมริกา ที่เพิ่งไอพีโอไปไม่รอช้า ประกาศซื้อกิจการ Say Technologies ด้วยเงิน 140 ล้านดอลลาร์ โดยดีลนี้จ่ายเป็นเงินสด
Say Technologies เป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับบริษัทจดทะเบียน ในงานด้านนักลงทุนสัมพันธ์ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยสามารถจัดการใช้สิทธิออกเสียงผ่านตัวแทน และส่งคำถามเพื่อสอบถามผู้บริหารบริษัทเมื่อมีการแถลงข่าวหรือนำเสนอข้อมูล ได้อย่างสะดวกมากขึ้น
Niantic ผู้พัฒนา Pokemon Go ประกาศเข้าซื้อ Scaniverse แอปสแกนสามมิติความละเอียดสูงบนอุปกรณ์พกพา เพื่อเสริมทัพเทคโนโลยี AR ของบริษัท
Scaniverse เป็นแอปที่สร้างมาเพื่อจุดประสงค์หลักคือผู้ใช้ทั่วไปสามารถสร้างและแชร์ภาพสามมิติได้ ซึ่ง Keith Ito ผู้สร้างแอปเชื่อมั่นว่าภาพสามมิติจะกลายเป็นส่วนสำคัญในการติดต่อสื่อสารในอนาคต
ภายใต้ดีลนี้ Keith Ito ผู้สร้าง Scaniverse จะเข้ามาร่วมกับทีม AR ของ Niantic และ Scaniverse จะยังคงเป็นแอปแยกบน App Store ต่อไป รวมถึงตัวแอปจะยังคงพัฒนาต่อไปเหมือนเดิม และจะปรับให้ Scaniverse Pro เป็นแอปฟรี ผู้ใช้สามารถใช้งานได้ทุกฟีเจอร์ เริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
Sony Pictures Entertainment (SPE) ประกาศว่าการเข้าซื้อกิจการ Crunchyroll เว็บบริการสตรีมมิ่งอนิเมะ ได้เสร็จสิ้นขั้นตอนทั้งหมดแล้ว โดยจากนี้ Crunchyroll จะเป็นบริการในเครือของ Funimation บริษัทที่มี SPE และ Aniplex ที่เป็นส่วนธุรกิจของ Sony Music (Japan) ถือหุ้นอยู่
Crunchyroll เป็นบริการสตรีมมิ่งอนิเมะ มีผู้ลงทะเบียนใช้งานมากกว่า 120 ล้านคนในกว่า 200 ประเทศ บริการมีทั้งแบบรับชมโดยติดโฆษณา และแบบเสียเงินรายเดือน ซึ่งตอนนี้มีผู้ใช้งานแบบจ่ายเงินประมาณ 5 ล้านคน
ดีลนี้โซนี่ประกาศเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดยเป็นการซื้อกิจการจาก WarnerMedia บริษัทในเครือของ AT&T มีมูลค่าดีล 1,175 ล้านดอลลาร์
SpaceX ได้เข้าซื้อกิจการ Swarm Technologies สตาร์ทอัพผู้ให้บริการระบบดาวเทียมขนาดเล็กแบบกลุ่ม (constellation) สำหรับอุปกรณ์ IoT โดยข้อมูลนี้มีการเปิดเผยจากเอกสารที่ทาง Swarm ยื่นขอคำอนุมัติต่อ FCC หน่วยงานกำกับดูแลในสหรัฐ เนื่องจากต้องโอนย้ายดาวเทียมและสถานีฐานให้กับ SpaceX
ดีลนี้มีความน่าสนใจเพราะปกติ SpaceX มักไม่ซื้อกิจการเพื่อขยายธุรกิจ แต่เลือกพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาเอง ทั้งนี้เอกสารระบุว่าดีลนี้เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยไม่มีการเปิดเผยมูลค่าของดีล
ปัจจุบัน Swarm มีดาวเทียมขนาดเล็กทั้งหมด 120 ดวง ให้บริการรับส่งข้อมูลขนาดเล็ก เน้นกลุ่มลูกค้าทั้งภาคการเกษตร พลังงาน และขนส่ง ผ่าน IoT ซึ่งบริษัทมองว่าจะสามารถแย่งส่วนแบ่งจากบริการดาวเทียมแบบเดิมได้