ทีมวิจัยนำโดย Global Fishing Watch วิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมช่วงปี 2017-2021 ทำให้ได้ข้อมูลการเดินเรือของเรือขนาดใหญ่อย่างละเอียดโดยไม่เคยมีมาก่อน และทำให้รู้ว่าน่านน้ำแต่ละแห่งถูกใช้งานอย่างไรบ้าง
แม้เรือขนส่งจะมีการถ่ายทอดสัญญาณรหัสประจำเรือและตำแหน่งแต่หลายลำก็ไม่ได้เปิดวิทยุเอาไว้ รวมถึงเรือจำนวนมากเป็นการประมงผิดกฎหมาย งานวิจัยใหม่นี้จับภาพถ่ายดาวเทียมและแยกประเภทของเรือแต่ละลำโดยตรงผ่านระบบ machine learning ทำให้เห็นชุดข้อมูลละเอียดและครบถ้วนมากขึ้น
Longdo Map เทคโนโลยีแผนที่ออนไลน์สัญชาติไทย ได้จัดงานสัมมนาออนไลน์ฟรี ในวันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน 2566 เวลา 13.00 – 16.00 น.
“หัวข้อ Exploring the Future of Online Map: Longdo Map 2024”
ลงชื่อรับลิงก์ได้ที่ https://forms.gle/zt4S1Q8TwfLu3UgH6
เรารู้จักเทคโนโลยี GIS (Geographic Information System) ในฐานะระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลแผนที่ ภาพถ่ายดาวเทียม และการระบุพิกัด ส่วนใหญ่หน่วยงานที่นำ GIS ไปใช้งาน มักเป็นหน่วยงานภาครัฐ เช่น การวางผังเมือง การจัดการสาธารณูปโภค และการจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งนำ GIS มาช่วยวิเคราะห์การจัดการพื้นที่ เปรียบเทียบข้อมูลระหว่างอดีตและปัจจุบัน รวมทั้งคาดคะเนเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
นี่อาจนับเป็นบริการอีกตัวของกูเกิลที่ล้มเหลวจนต้องปิดบริการไป
กูเกิลเคยเพิ่มฟีเจอร์การค้นหาอสังหาริมทรัพย์ใน Google Maps ซึ่งมีจุดเด่นตรงมีแผนที่ประกอบในตัว ช่วยให้ผู้ใช้เลือกบ้าน-อพารท์เมนต์ได้เหมาะกับตัวเอง (บริการนี้มีในบางประเทศเท่านั้น ได้แก่ สหรัฐ อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น) แต่ปรากฎว่าฟีเจอร์นี้คนใช้น้อยมาก บวกกับภายหลังมีเว็บไซต์ค้นหาที่อยู่อาศัยเกิดขึ้นมาเยอะ และเว็บไซต์เหล่านี้ก็เรียกใช้ Google Maps อีกทีหนึ่ง ทำให้กูเกิลตัดสินใจปิดบริการนี้ลง
ในงานเดียวกับที่ Andy Rubin โชว์แท็บเล็ต Android Honeycomb เขาก็โชว์โปรแกรม Google Maps รุ่นใหม่สำหรับ Android ที่จะเปิดตัวเร็วๆ นี้
Google Maps ตัวนี้จะต่างจากรุ่นก่อนๆ ทั้งหมด เพราะใช้ข้อมูลแผนที่ถนนแบบเวกเตอร์ และวาดแผนที่ใหม่ทุกครั้งเมื่อเรนเดอร์
Google Maps และ Google Earth ได้เริ่มใช้ภาพที่ถ่ายได้จากว่าว นอกเหนือจากข้อมูลภาพถ่ายที่ได้จากดาวเทียม
ภายเกาะ Manihi ที่ถ่ายโดย Frank Taylor นักภูมิศาสตร์ผู้ที่อยู่ระหว่างการเดินทางรอบโลกโดยทางเรือ ได้ทำข้อตกลงกับ Google ไว้ตั้งแต่ปี 2008 โดย Frank Tyalor จะมอบภาพถ่ายของเขาแก่ Google เพื่อเผยแพร่ผ่านผลิตภันฑ์ Google Maps และ Google Earth
โครงการ OpenStreetMap (มักย่อว่า OSM) เป็นโครงการแบบเดียวกับวิกิพีเดีย แต่เปลี่ยนสารานุกรมเป็นแผนที่ถนน หลักการคือสร้างแผนที่แบบเสรีที่ใครๆ ก็นำไปใช้ได้ (เพราะแผนที่พวก Google Maps มีลิขสิทธิ์คุ้มครอง) โดยอาสาสมัครทั่วโลกจะช่วยกันวาดแผนที่ถนนหนทางในท้องถิ่นของตนผ่าน GPS (รายละเอียดของ OpenStreetMap อ่านได้จากบล็อกของคุณ Thepitak)
ส่วนข่าวนี้คือ Bing Maps บริการแผนที่ออนไลน์ของไมโครซอฟท์ ได้นำข้อมูลจาก OpenStreetMap มาใช้เช่นกัน โดยสร้างเป็นเลเยอร์ทางเลือกอีกอันหนึ่งที่สามารถเปิดปิดได้ตามชอบ เนื้อข่าวสั้นๆ แค่นี้ แต่ประเด็นสำคัญคือข้อมูลใน OpenStreetMap บางพื้นที่ดีพอที่จะใช้งานได้จริงแล้ว
กูเกิลนั้นมีความร่วมมือกับสายการบิน Virgin America มาตั้งแต่ปี 2007 ในการใส่ Google Maps ให้ผู้โดยสารดูว่าขณะนี้เราอยู่ตรงไหน (ภาพและข่าวใน Engadget, วิดีโอ) แต่ความสามารถของ Google Maps บนเครื่องบินยังไม่มีอะไรพิสดารมากนัก
ล่าสุดกูเกิลประกาศอัพเดตข้อมูลของ Google Maps เวอร์ชันเครื่องบิน พร้อมยกเครื่องอินเทอร์เฟซใหม่หมด ซูมเข้าออกได้ละเอียด แสดงภูมิประเทศ และสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจได้อีกด้วย (ภาพประกอบ)
การที่ Google Maps (รวมถึง Google Earth) ได้รับความนิยมสูง มันจึงถูกนำไปใช้อ้างอิงเยอะตามมา ซึ่งหลายครั้งกลับนำมาสู่ปัญหา เพราะพื้นที่หลายแห่งบนโลกยังไม่มีเส้นพรมแดนที่ตกลงกันชัดเจน การที่กูเกิลวาดเส้นพรมแดนไม่ถูกใจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จึงได้รับเสียงร้องเรียนกลับมาเป็นอย่างมาก
กูเกิลจึงได้ปรับปรุงข้อมูลแผนที่บริเวณพรมแดนใหม่ใน 60 ประเทศ โดยปรับเส้นพรมแดนให้ละเอียดและแม่นยำมากขึ้น (เช่น กรณีของพรมแดนที่เป็นสันปันน้ำของเทือกเขา ก็จะตรงกับสันปันน้ำมากขึ้น) ส่วนพื้นที่หรือเส้นพรมแดนที่ยังตกลงกันไม่ได้ กูเกิลได้เปลี่ยนสัญลักษณ์จากเส้นทึบเป็นเส้นประ เพื่อบ่งชี้ว่าตรงนี้ยังไม่ใช่เส้นพรมแดนอย่างเป็นทางการ
หลายคนคงรู้จักโปรแกรมลักษณะนี้อย่าง Find My Phone ของแอปเปิลมาแล้ว ตอนนี้บนคอมพิวเตอร์มีโปรแกรม Prey สำหรับทำงานแบบเดียวกัน
Prey เป็นโปรแกรมโอเพนซอร์ส ทำงานได้บน 3 แพลตฟอร์มหลัก มันสามารถส่งข้อมูลของคอมพิวเตอร์เครื่องใดๆ เช่น ตำแหน่ง ภาพหน้าจอ รายชื่อโปรแกรม ฯลฯ กลับมายังเจ้าของได้ ไม่ว่าจะผ่าน Wi-Fi หรือ Ethernet (ค้นหาตำแหน่งด้วย Google Location API) และถ้าคอมเครื่องนั้นมีเว็บแคม ก็สามารถถ่ายภาพซึ่งอาจจะติดหน้าของขโมยได้ด้วย
ที่มา - OMG Ubuntu
ในที่สุด ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับระบบภูมิสารสนเทศ (GIS) ของกูเกิลทั้งสองตัวจะได้พบกันเสียที เพราะกูเกิลออกปลั๊กอินที่ช่วยให้เราแสดงโลกของ Google Earth ภายใน Google Maps ได้
การทำงานตรงไปตรงมา เมื่อเราติดตั้งปลั๊กอินตัวนี้ไว้ และเข้าหน้า Google Maps จะมีปุ่ม Earth View โผล่ขึ้นมาใหม่ พอกดแล้วมันจะพาเราเข้าสู่โลก 3 มิติของ Google Earth ให้อัตโนมัติ (แน่นอนว่าต้องมี Google Earth อยู่ในเครื่องก่อนนะครับ) (โดยไม่จำเป็นต้องติดตั้ง Google Earth ด้วยซ้ำ)
คนที่เคยลงปลั๊กอินตัวเก่าของ Google Earth ไว้แล้วไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม ถ้ายังไม่เคยก็ดาวน์โหลดได้จาก Earth View
เจ็ดปีหลังจากกูเกิลพยายามขอสิทธิบัตรในการกระจายโฆษณาโดยอาศัยตำแหน่งของผู้ชมโฆษณา เมื่อสัปดาห์ที่แล้วสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ ก็ได้อนุมัติสิทธิบัตรดังกล่าวแล้ว
คำถามคือจะเกิดอะไรขึ้นกับวงการโฆษณาผ่านโทรศัพท์มือถือ เนื่องจากเป้าหมายของวงการนี้ทุกคนล้วนพยายามทำโฆษณาตามตำแหน่งของผู้ชมแทบทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็น AdMob ที่กูเกิลเข้าซื้อ หรือ Quattro Wireless ที่แอปเปิลซื้อไป ถ้าเกิดคดีฟ้องกันขึ้นมางานนี้คงได้เกิดมหาสงครามสิทธิบัตรกันรอบใหญ่พอสมควร
ระหว่างนี้เราก็เขียนโปรแกรมรอส่วนแบ่งค่าโฆษณากันไปก่อนน่าจะง่ายดี
หลายๆ คนอาจบ่นกับภาพหลุดคราวที่แล้วของหน้าจอรายชื่อผู้ติดต่อของ Windows Live Messenger Wave 4 (ดูข่าวเก่า) ที่ดูใหญ่เทอะทะและรกรุงรัง แต่น่าจะใจชื้นขึ้นเล็กน้อยกับข่าวนี้นะครับ
เมื่อสัปดาห์ก่อนก็มีภาพหลุดหน้าจอ Windows Live Messenger (อีกแล้ว) พร้อมกับรายละเอียด ดังนี้
สำนักข่าว AFP รายงานอ้างข้อความในจดหมายที่กูเกิลให้สัญญาต่อรัฐบาลกัมพูชาว่า จะตรวจสอบแผนที่ตั้งของปราสาทพระวิหาร ที่เป็นข้อพิพาทชายแดนระหว่างกัมพูชากับไทยใหม่ หลังจากรัฐบาลกัมพูชาได้กล่าวหากูเกิลในจดหมายที่ส่งไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ขาดความรับผิดชอบอย่างมืออาชีพ เนื่องจากบริการ Google Earth, Maps แสดงภาพให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พื้นที่เกือบครึ่งหนึ่งของปราสาทพระวิหารที่สร้างขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 11 อยู่ในดินแดนของประเทศไทย
กูเกิลได้ระบุในจดหมายว่า เราจะตรวจสอบอย่างระมัดระวังต่อคำคัดค้านของทางกัมพูชา เกี่ยวกับพรมแดนของกัมพูชาใน Google Earth และจะตอบกลับในอนาคตอันใกล้ นอกจากนั้นกูเกิลยังระบุเพิ่มเติมด้วยว่า ข้อมูลในแผนที่ได้อาศัยอ้างอิงจาก เทเล แอตลาส ซึ่งเป็นบริษัทจัดทำแผนที่สากล
ขอรวบ 2 ข่าวเป็นข่าวเดียวกันเลยนะครับ
ข่าวแรก โนเกียปล่อยเกมแข่งรถชื่อ Nokia Ovi Maps Racing ที่เปลี่ยนแผนที่ถนนบน Ovi Maps ให้เป็นเส้นทางการแข่งขัน โดยผู้เล่นจะสามารถเลือกบริเวณและกำหนดเส้นทางการแข่งขันได้จากเมืองใหญ่ๆ อย่างเบอร์ลิน อัมสเตอร์ดัม ลอนดอน เป็นต้น สำหรับสมาร์ทโฟนที่สามารถเล่นเกมนี้ได้ต้องติดตั้งซิมเบียน S60 เวอร์ชัน 5 ขึ้นไป (Symbian^1) อย่างเช่น N97 mini หรือ 5800 Navigation Edition ลองดูคลิปเดโมได้จากที่มา - Engadget
บริการแบบที่เรียกว่า location-based service กำลังเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่ผู้ใช้สมาร์ทโฟน บริการที่เป็นเจ้าตลาดในตอนนี้ ไม่น่าจะมีใครเกิน Foursquare (ถ้าไม่รู้จัก อ่านรายละเอียดได้จาก ตะโกนบอกโลกให้รู้ว่าคุณอยู่ไหนกับ foursquare.com - Social Network สายพันธุ์ใหม่ โดย @pawoot)
แม้ว่าช่วงหลัง Foursquare จะเริ่มมีคู่แข่ง ทั้งบริษัทหน้าใหม่ และบริการที่มีลักษณะใกล้เคียงกันอย่าง Yelp แต่คงไม่มีคู่แข่งรายไหนน่ากลัวเท่ายักษ์ใหญ่อย่าง Facebook
เมื่อวันที่ 21 ม.ค. ที่ผ่านมา ในงาน Nokia Ovi โนเกียได้ประกาศว่าจะให้บริการแนะนำเส้นทางสำหรับคนเดินเท้า (Walk navigation) และผู้ขับรถยนต์ (Drive navigation) ของ Ovi Maps กับผู้ใช้งานทั่วโลกฟรี ไม่คิดเงินแล้ว
จุดเด่นที่สำคัญคือ แผนที่จะถูกเก็บไว้ในโทรศัพท์ ไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตตลอดเวลา ทำให้สามารถใช้งานได้เสมือน GPS จริงๆ
โทรศัพท์ที่รองรับโปรโมชันดังกล่าวคือ X6, N97 mini, E72, E55, E52, 6730 Classic, 6710 Navigator, 5800 Xpress Music, 5800 Navigation Edition และ 5230 ดาวน์โหลดโปรแกรมได้ที่นี่
หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ประเทศเฮติ กูเกิลได้ประสานงานกับดาวเทียม GeoEye เพื่อถ่ายภาพทางอากาศของเฮติที่เป็นปัจจุบันที่สุด ซึ่งน่าจะช่วยในการค้นหาหรือประเมินความเสียหายได้พอสมควร ดูภาพก่อน-หลังของทำเนียบประธานาธิบดีเฮติได้ด้านใน
แผนที่นี้เป็นไฟล์ KML สำหรับ Google Earth ดาวน์โหลดไปใช้ได้ทันที กูเกิลสัญญาว่าจะพยายามอัพเดตแผนที่นี้ให้บ่อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
นอกจากนี้ กูเกิลยังเปิดหน้าเว็บสำหรับส่งความช่วยเหลือไปยังเฮติ โดยเป็นการบริจาคเงินผ่านองค์กรด้านมนุษยธรรม เช่น UNICEF และ CARE อีกทอดหนึ่ง
บริษัท Mixer Labs เป็นเจ้าของบริการ GeoAPI ซึ่งเป็นบริการออนไลน์สำหรับแปลงพิกัดภูมิศาสตร์เป็นที่อยู่ไปรษณีย์ (หรือแปลงกลับก็ได้) GeoAPI ให้บริการด้านพิกัดภูมิศาสตร์แก่โปรแกรม social network client หลายตัว เช่น Twidroid และ Foursquare จากชื่อบริษัทจะเห็นว่ามันเป็น API ซึ่งโปรแกรมเหล่านี้จะใช้ GeoAPI ควบคู่ไปกับ Twitter API
เมื่อ GeoAPI ได้รับความนิยมในหมู่โปรแกรม Twitter และ Twitter เองก็ลงมาลุยในตลาด geolocation ทางออกก็ง่ายนิดเดียวให้ Twitter ซื้อ GeoAPI มาใช้เสียเลย
ก่อนหน้านี้เคยมีข่าว Twitter เตรียมเปิด Location API เป็นอีกหนึ่งในฟีเจอร์ใหม่ของ Twitter (ควบคู่ไปกับ Lists และ Retweet) ตอนนี้มันถูกเปิดใช้แล้ว ในชื่ออย่างเป็นทางการว่า Geotagging API ครับ
กูเกิลประกาศความเปลี่ยนแปลงสำคัญของ Google Maps สองอย่าง
อย่างแรกคือกูเกิลได้เพิ่มข้อมูลแผนที่จากหน่วยงานต่างๆ ของสหรัฐ ที่เก็บข้อมูลด้านสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) อยู่แล้ว เช่น หน่วยงานด้านอุทยาน ฯลฯ ทำให้แผนที่ของกูเกิลละเอียดและข้อมูลแม่นยำขึ้นมาก รายละเอียดอ่านใน Base Map Partner Program
อย่างที่สอง กูเกิลเริ่มเปิดให้ผู้ใช้ Google Maps ทั่วไป สามารถรายงานจุดผิดพลาดในแผนที่ได้แล้ว โดยทีมงานของกูเกิลจะนำข้อมูลนี้ไปพิจารณาในการแก้ไขแผนที่ต่อไป (ยังแก้โดยตรงแบบ OpenStreetMap หรือ Wikimapia ไม่ได้)
ทั้งสองอย่างนี้ใช้ได้เฉพาะ Google Maps ภาคอเมริกาเท่านั้นครับ เมืองไทยต้องรอต่อไปเหมือนเดิม
พัฒนาการต่อเนื่องจาก ทวิตเตอร์เตรียมเปิดตัว Retweet API
ความสามารถด้าน geolocation อย่างเป็นทางการของ Twitter มีแค่ช่อง Location ในหน้า Profile ของเราซึ่งเป็นแค่ข้อความธรรมดา ใครจะใส่อะไรลงไปก็ได้ แต่ทาง Twitter กำลังจะพัฒนาให้เราสามารถใส่ค่าละติจูดและลองจิจูดลงในข้อความ tweet ได้ การเพิ่มฟีเจอร์นี้เข้ามาจะทำให้นำ Twitter ไปประยุกต์ใช้ในแง่มุมใหม่ๆ ได้อีกมาก เช่น เลือกอ่านเฉพาะ tweet ของคนที่อยู่ในบริเวณเดียวกับเรา แม้ว่าจะไม่ได้ follow กันก็ตาม ช่วยให้การรายงานสถานการณ์เฉพาะช่วงเวลา เช่น คอนเสิร์ต หรือภัยธรรมชาติ ทำได้ง่ายขึ้น
นาย Tom Berge ช่างก่อสร้างชาวอังกฤษวัย 27 ปี ใช้ Google Earth ช่วยวางแผนการขโมยสิ่งมีค่าบนหลังคาของสิ่งก่อสร้างจำพวกโบสถ์ พิพิธภัณฑ์ และโรงเรียน ทางตอนใต้ของลอนดอน
สิ่งมีค่าที่ว่าหมายถึงวัสดุตกแต่งหลังคาที่ทำจากตะกั่ว (ซึ่งนำไปขายต่อได้) เพื่อนของเขาให้สัมภาษณ์ว่า Berge สามารถแยกแยะหลังคาที่เป็นตะกั่วออกจากหลังคาทั่วไปได้ด้วยสี โดยสีของตะกั่วจะเข้มกว่าหลังคาทั่วไป
ตำรวจจับ Berge ได้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และเขาโดนโทษจำคุก 8 เดือน ตำรวจให้สัมภาษณ์ว่าหลังจากจับหมอนี่ได้ คดีโจรกรรมหลังคาลดลงไปมาก
ที่มา - Telegraph
ข่าวสนุกๆ วันนี้คือ Bernie Bamford วิศวกรการบินจากประเทศอังกฤษ ค้นพบตารางสี่เหลี่ยมที่ดูเหมือนผังเมือง อยู่นอกชายฝั่งแอฟริกาตอนเหนือ ในมหาสมุทรแอตแลนติก
การค้นพบครั้งนี้อยู่ในโปรแกรม Google Earth เวอร์ชัน 5.0 พิกัดของตำแหน่งนี้คือ 31 15'15.53N 24 15'30.53W ผมลองใน Google Maps แล้วเห็นเหมือนกัน ภาพอยู่ด้านใน
แน่นอนว่าการค้นพบครั้งนี้ทำให้ข้อสงสัยว่ามันคือซากของทวีปแอตแลนติส ถูกนำมาพูดถึงกันอีกครั้งหนึ่ง ต้นฉบับของทวีปแอตแลนติสคือเพลโตเคยพูดไว้ว่า
For the ocean there was at that time navigable; for in front of the mouth which you Greeks call, as you say, 'the pillars of Heracles,' there lay an island which was larger than Libya and Asia together
The pillars of Heracles ในปัจจุบันคือปากทางเข้าช่องแคบยิบรอลตาร์ (สเปนกับแอฟริกาเหนือ) ในปัจจุบัน ซึ่งก็สอดคล้องกับตำแหน่งของร่องรอยที่พบในครั้งนี้ ตามคำของเพลโต อาณาจักรแอตแลนติสเคยรุ่งเรืองอยู่สมัย 9000 ปีก่อนคริสตกาล
ขนาดของตารางสี่เหลี่ยมใกล้เคียงกับเวลส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแอตแลนติสบอกว่ามันเป็นการค้นพบที่น่าสนใจมาก ถึงแม้ว่าสุดท้ายแล้วมันจะเกิดจากธรรมชาติล้วนๆ ก็ตาม
ข่าวสั้นสองข่าวเกี่ยวกับฟีเจอร์ของ Mac OS X 10.6 Snow Leopard
อันแรกมีนักพัฒนาที่ได้รับ Snow Leopard รุ่นทดสอบ ค้นพบว่ามีเฟรมเวิร์ค CoreLocation เพิ่มเข้ามาสำหรับการค้นหาว่าพิกัดของคอมพิวเตอร์ที่ใช้อยู่ตรงไหน ฟีเจอร์นี้อยู่ใน iPhone SDK อยู่แล้ว แต่พอมาอยู่ในแมคที่ไม่มี GPS ก็ใช้วิธีการตำแหน่งคร่าวๆ จากสถานีของโทรศัพท์มือถือที่ต่อเชื่อมกับคอมพิวเตอร์แทน คาดได้ว่าโน้ตบุ๊กของแอปเปิลในอนาคตอาจจะมี GPS เพิ่มเข้ามา
ข่าวที่สองคือฟีเจอร์มัลติทัช ซึ่งตอนนี้โปรแกรมบางตัวของแอปเปิลอย่างเช่น Safari หรือ Preview มีให้ใช้แล้ว กำลังจะกลายเป็นเฟรมเวิร์คใหม่อีกตัว เพื่อให้โปรแกรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่ของแอปเปิลเรียกใช้ได้เหมือนกัน