คำว่า "ศัตรูของศัตรูอาจเป็นมิตร" อาจใช้กับวงการไอทีได้ดีที่สุดในช่วงนี้ เราเห็นความเคลื่อนไหวของคู่ Google/Adobe กันไปแล้ว คราวนี้อาจเป็นคิวของ Apple/Microsoft บ้าง
เว็บไซต์ TechCrunch อ้างแหล่งข่าวในวงการ บอกว่า iPhone รุ่นสี่ที่จะเปิดตัวเดือนมิถุนายนนี้ จะเปลี่ยนมาใช้ Bing เป็นเครื่องมือค้นหาหลักแทนกูเกิล อย่างไรก็ตามมีแหล่งข่าวอีกสายแจ้งมาว่า กูเกิลจะยังอยู่บน iPhone เช่นกัน และ "เรื่องราวมันซับซ้อนกว่าที่เห็นมาก"
เดี๋ยวก็รู้ครับว่าข่าวนี้จริงแค่ไหน
ที่มา - TechCrunch
AllThingsD รายงานว่า ในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ (ตามเวลาในสหรัฐฯ) โนเกียและยาฮูจะประกาศจับมือเป็นพันธมิตรกันใน Project Nike โดยโครงการดังกล่าวโนเกียจะเพิ่มแอพพลิเคชั่นและบริการของยาฮูลงมือถือ
ยาฮูนั้นเป็นบริษัทเดียวในบรรดาสามบริษัทชั้นนำอย่างไมโครซอฟท์และกูเกิลที่ไม่ได้เน้นทำแอพพลิเคชั่นและบริการเข้าสู่ตลาดมือถือมากนัก หากข่าวนี้เป็นจริงก็ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญครั้งหนึ่งของยาฮูเลยก็ว่าได้
ที่มา: AllThingsD
comScore ได้เปิดเผยส่วนแบ่งตลาดผู้ใช้การค้นหาทางอินเทอร์เน็ตในสหรัฐฯ ประจำเดือนเมษายน พบว่ายอดผู้ใช้ยาฮูเพิ่มขึ้นจาก 16.9% เป็น 17.7% และ Bing ก็เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 11.7% เป็น 11.8% ส่วนกูเกิลตกลงเล็กน้อยจาก 65.1% เป็น 64.4%
comScore ได้ระบุว่าที่ยอดผู้ใช้ยาฮูและ Bing เพิ่มขึ้นเนื่องมาจาก site navigation แบบใหม่ที่ผูกคอนเทนต์และผลลัพธ์การค้นหาที่เกี่ยวข้องจากหลายช่องทางเข้าด้วยกัน ทำให้สามารถนำเสนอผลลัพธ์การค้นหากับผู้ใช้ขณะที่ผู้ใช้เข้าถึงคอนเทนต์ต่างๆ ได้ และการนำเสนอผลัพธ์ดังกล่าวยังตรงกับเงื่อนไขใการนับการค้นคืน (query) การค้นหาข้อมูลต่างๆ ของ comScore อีกด้วย
เมื่อปีที่แล้ว โลกของ search engine ได้ตื่นเต้นไปกับ Wolfram Alpha เครื่องมือค้นหาแนวใหม่สำหรับคำตอบเชิงข้อมูลและคณิตศาสตร์ ซึ่งมีผลสะเทือนจนเจ้าพ่ออย่างกูเกิลต้องออก Google Squared มาสู้
เมื่อสัปดาห์ก่อน กูเกิลได้ปรับโฉมหน้าผลการค้นหา และเพิ่มเครื่องมืออย่าง Google Squared เข้ามา ล่าสุดกูเกิลได้รวมผลการค้นหาบางส่วนจาก Squared เข้ามาในหน้าหลักแล้ว โดยเรียกมันว่า "short answer" ผมขอแปลว่า "คำตอบทันใจ" ละกันครับ
กูเกิลประกาศปรับโฉมหน้าผลการค้นหาใหม่อีกครั้ง การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือเพิ่ม "ตัวกรองผลการค้นหา" เข้ามาที่แถบเครื่องมือด้านซ้าย
ตัวกรองผลการค้นหา จะช่วยให้เรากรองผลการค้นหาได้ตามชนิด (เช่น ภาพ วิดีโอ) และเวลา รวมถึงแนะนำคำค้นอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกันให้ด้วย การปรับโฉมครั้งนี้เป็นการรวมเครื่องมือของกูเกิลที่เคยออกมาก่อนหน้านี้ ได้แก่ Universal Search, Search Options panel และ Google Squared เข้ากับหน้าค้นหาหลักของกูเกิล
หน้ากูเกิลบนมือถือก็ได้รับฟีเจอร์ใหม่ด้วยเช่นกัน โดยจะถูกซ่อนไว้เป็นค่า default (ตามภาพด้านใน) ต้องกดเปิดใช้เองเพื่อประหยัดเนื้อที่
กูเกิลประกาศเปลี่ยนชื่อ Local Business Center เป็น Google Places พร้อมเพิ่มฟีเจอร์อีกจำนวนมากสำหรับธุรกิจที่ต้องการโฆษณาร้านของตัวเอง เช่น
สรุปว่าตอนนี้กูเกิลกำลังทำสมุดหน้าเหลืองออนไลน์ แบบมีแผนที่ประกอบครบวงจรนั่นเอง วิดีโอด้านใน
ชิ้นแรก: ของถนัดกูเกิลเลยคือ การค้นหาทวีต (กูเกิลเรียก Updates) สามารถเลือกดูตามช่วงเวลาได้ หากเลือกเป็นปัจจุบันก็จะมี AJAX เห็นทวีตไหลไปเรื่อยๆ ด้านข้างแสดง Top Links ประกอบ ซึ่งสามารถค้นหาย้อนกลับได้ด้วยว่าใครเป็นคนทวีตลิงค์นั้นๆ บ้าง ลองดูตัวอย่างคีย์เวิร์ด redshirt
อีกสิ่งหนึ่งที่มาใหม่กับ iPhone OS 4.0 ของแอปเปิลในคราวนี้คือการถอดเอาแบรนด์ Google ออกจากปุ่มค้นหาที่อยู่บนคีย์บอร์ดเวลาใช้ Safari บนไอโฟน โดยก่อนหน้านี้เมื่อผู้ใช้ต้องการจะค้นหาอะไรก็ตามบน Safari นั้น ปุ่มสีฟ้าด้านล่างขวาของคีย์บอร์ดจะมีคำว่า Google ติดอยู่โดยผู้ใช้จะต้องกดปุ่มนี้เพื่อเริ่มการค้นหา แต่ตอนนี้ได้มีการเปลี่ยนปุ่มนี้มาเป็นคำว่า Search แทนแล้ว
ไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเคยมีข่าวมาว่าแอปเปิลอาจจะเปลี่ยน Default search engine มาเป็น Bing ของไมโครซอฟท์
ที่มา - MacRumors
ก่อนหน้านี้ เราเคยลงข่าว กูเกิลอาจ ใช้ "ความเร็วของเว็บ" จัดอันดับ PageRank ตอนนี้มันมาแล้วครับ
อัลกอริทึมของ PageRank มีปัจจัยที่ใช้คำนวณกว่า 200 อย่าง ในส่วนของความเร็ว (site speed) ที่เพิ่งเพิ่มเข้ามาจะยังมีน้ำหนักไม่เยอะมากนัก และจะเริ่มทดสอบกับ Google.com ในภาษาอังกฤษเท่านั้น กูเกิลบอกว่าตอนนี้มีเพียง 1% ของผลการค้นหาที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มปัจจัย site speed แต่ก็คงจะเริ่มปรับแต่งให้มีน้ำหนักมากขึ้นในอนาคต
จากข่าวเดิม Ubuntu 10.04 จะใช้ยาฮูแทนกูเกิล และได้เปลี่ยนจริงๆ ในรุ่นเบต้าทุกตัว แต่ล่าสุดทาง Ubuntu ประกาศเปลี่ยนกลับเป็นกูเกิลแล้ว โดยระบุว่าในรุ่นจริงจะเป็นกูเกิลแน่นอน
Ubuntu ไม่ได้ให้เหตุผลที่ชัดเจนนัก บอกเพียงแค่ว่าการคงกูเกิลไว้จะช่วยให้คนที่อัพเกรดจาก 9.10 มาเป็น 10.04 รู้สึกไม่แตกต่างจากเดิมมาก
ข่าวแถม: แบนเนอร์นับถอยหลังวันออก Ubuntu 10.04 มาแล้ว ตัวอย่างด้านใน
ที่มา - Ubuntu mailing list, OMG Ubuntu
คุณ Pete LePage ผู้จัดการโครงการของอินเทอร์เน็ตเอ็กซ์พลอเรอร์ได้โพสต์วีดีโอลงใน TechNet Edge นำเสนอการรักษาความเป็นส่วนตัวของอินเทอร์เน็ตเอ็กซ์พลอเรอร์ 8 โดยเปรียบเทียบกับ Chrome ของกูเกิล โดยมี 2 ประเด็น ดังนี้
ช่วงนี้จะมีข่าว iPad เยอะมาก ผมพยายามหาข่าวอื่นมาปนๆ จะได้ไม่เลี่ยนกันไปเสียก่อนนะครับ
บริษัท Hitwise ซึ่งรวบรวมสถิติที่เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต ได้เปิดเผยข้อมูลจากการค้นหาของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในสหรัฐ พบว่าถ้าเทียบกันแบรนด์ต่อแบรนด์แล้ว Facebook ชนะเลิศ
หน่วยวัดเป็นหน่วยใหม่ที่เรียกว่า breadth volume อ่านคำอธิบายได้ในลิงก์ที่มาครับ
ที่มา - Hitwise
ถ้ายังจำตอนที่ไมโครซอฟท์บรรลุข้อตกลงด้าน search engine กับยาฮูได้ เงื่อนไขหนึ่งในนั้นคือโอนพนักงานบางส่วนของยาฮู ที่ทำงานด้าน search engine ให้กับไมโครซอฟท์ ตอนนี้ยาฮูได้เริ่มดำเนินการแล้ว
ยาฮูจะโอนวิศวกรจำนวน 200 คนที่อยู่ในอินเดีย ให้ไปทำงานกับศูนย์วิจัยแห่งใหม่ของไมโครซอฟท์ในบังกะลอร์ ซึ่งศูนย์วิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของฝ่าย Online Services Division ของไมโครซอฟท์ การย้ายพนักงานจะเสร็จสิ้นภายในปีนี้ พนักงานมีสิทธิ์เลือกที่จะย้ายไปทำงานฝ่ายอื่นของยาฮู แทนการย้ายไปไมโครซอฟท์
ตามข้อตกลง ยาฮูจะโอนพนักงานทั้งหมด 400 คนทั่วโลกให้ไมโครซอฟท์ และยาฮูมีวิศวกรที่ทำงานในบังกะลอร์ทั้งหมด 2,000 คน แต่ก็ทำงานด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่ search ด้วย
จากความขัดแย้งระหว่างแอปเปิล-กูเกิลในช่วงหลังๆ มานี้ ทำให้นักวิเคราะห์ที่เชี่ยวชาญเรื่องแอปเปิล Gene Munster จากบริษัท Piper Jaffray ประเมินว่าสุดท้ายแล้วแอปเปิลจะทำ search engine เอง
เขามองว่าแอปเปิลมีข้อมูลจำนวนมหาศาลจาก App Store ซึ่งกูเกิลไม่มีข้อมูลเหล่านี้ และแอปเปิลจะนำข้อมูลพวกนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เขาคาดว่าแอปเปิลจะเริ่มจาก search engine สำหรับมือถือโดยเฉพาะ โดยน่าจะเข้าซื้อกิจการ search engine ขนาดเล็กสักแห่ง เช่น Cuil เพื่อนำดัชนีเว็บมาใช้งาน
Munster ประเมินว่าโอกาสที่แอปเปิลจะทำ search engine ภายใน 5 ปีนี้ อยู่ที่ 70% ในขณะที่เขามองว่าโอกาสที่แอปเปิลจะเปลี่ยนไปใช้ Bing ภายในปี 2011 มีแค่ 25%
สำนักข่าว CNET มีโอกาสสัมภาษณ์ David Webster ซึ่งเป็น chief marketing strategist ของไมโครซอฟท์ เกี่ยวกับการทำตลาดผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของไมโครซอฟท์ในช่วงหลัง เช่น Windows 7, Office 2010, Xbox, Windows Phone ฯลฯ
ความน่าสนใจอยู่ที่ Bing ซึ่งเขาเปิดเผยกระบวนการการตั้งชื่อว่า ไมโครซอฟท์อยากได้ชื่อสั้นๆ พยางค์เดียว ฟังแล้วสะกดไม่ผิด ซึ่งตอนแรกมีคนเสนอ "Bang" ซึ่งเป็นคำพูดที่ให้ความรู้สึกว่า "หาเจอแล้ว" แต่สุดท้ายไม่เอาชื่อนี้ เพราะมันใช้ในฐานะคำกริยา (เช่น "I bang it" เหมือนกับ "I google it") ไม่ค่อยเหมาะ เลยเปลี่ยนเป็น Bing ที่มีเสียงใกล้เคียงกันแทน
ไมโครซอฟท์ประกาศเพิ่มฟีเจอร์ให้กับ Bing อีกหนึ่งชุด โดยจะทยอยเพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ ตั้งแต่ช่วงนี้จนถึงกลางปี
มีภาพประกอบสำหรับบางฟีเจอร์ครับ
ข่าวค่อนข้างเก่าแล้ว แต่ผมเพิ่งรู้ และก็ยังไม่มีคนเขียนลง Blognone ดังนั้นก็ขอเล่านะครับ
เรื่องมีอยู่ว่าผมใช้ Google แล้วเจอหน้าผลการค้นหาแบบใหม่ ละม้ายคล้าย Bing พอสมควร (ดูรูปหลัง break) คือไม่ซ่อนแถบทางด้านข้างสำหรับจำกัดผลการค้นหา
ผมนึกว่าเพิ่งจะเริ่มทำ แต่จากการหาข่าวดูพบว่าลองมาได้ประมาณสี่เดือนแล้ว
โดยส่วนตัวผมว่าแบบนี้ดีกว่าเอาไปซ่อนนะ เห็นชัดดีว่าทำอะไรได้บ้าง ตอนก็ต้องรอดูว่า Google จะเอามาใช้จริงหรือไม่
ที่มา - Gizmodo
กูเกิลเพิ่มฟีเจอร์ของ Product Search เวอร์ชันบนมือถือ โดยเราสามารถค้นหาสินค้า แล้วดูว่าสินค้านั้นมีขายในร้านค้าใกล้บ้านหรือไม่ได้ด้วย
การทำงานจะเหมือนกับ Google Product Search ทุกประการ เพียงแต่ว่า ถ้าเราเปิดฟีเจอร์การระบุตำแหน่งของมือถือ และสินค้านั้นมีในสต็อก กูเกิลจะแสดงจุดสีฟ้าพร้อมคำว่า In stock nearby ให้เห็น (ภาพประกอบด้านใน)
ตอนนี้ร้านค้าที่เข้าร่วมกับกูเกิลได้แก่ Best Buy, Sears, Williams-Sonoma, Pottery Barn และ West Elm แน่นอนว่าใช้ได้เฉพาะในสหรัฐเท่านั้น กูเกิลกำลังเปิดให้ร้านค้าอื่นๆ สมัครเข้าร่วมโครงการนี้ได้เช่นกัน
ที่มา - Google Mobile Blog
ช้อได้เปรียบสำคัญของทวิตเตอร์และบริการอื่นๆ ในรูปแบบเดียวกันทุกวันนี้คือความรวดเร็วของการอัพเดตั้งข้อมูลที่เรากำลังติดตามและข้อมูลสำหรับการค้นหา แต่บล็อกกำลังกลับมาทวงตำแหน่งเมื่อ WordPress.com เปิดบริการ PuSH ให้กับบล็อกจำนวน 10.5 ล้านบล็อกทันที โดยผู้ใช้ไม่ได้ตั้งค่าใดๆ เพิ่มเติม
บริการ PuSH หรือชื่อเต็มว่า PubSubHubbub (อ่านยากมาก) เป็นบริการศูนย์รับกระจายข้อมูลตามเวลาจริงจากเดิมที่เว็บบล็อกต่างๆ ต้องเตรียมข้อมูลล่าสุดไว้ใน RSS เพื่อให้ผู้อ่านมาดึงข้อมูลไป ซึ่งเกิดปัญหาว่าถ้าผู้ใช้ดึงข้อมูลไม่บ่อย เวลาเจ้าของบล็อกอัพเดตก็จะต้องรอนานกว่าบทความจะไปถึงผู้อ่าน แต่ถ้าผู้ใช้อัพเดตบ่อยก็จะพาให้เซิร์ฟเวอร์ล่มหรือเกิดค่าใช้จ่ายด้านทรราฟิกขึ้นมาก
เมื่อปีที่แล้ว Twitter ได้ทำความตกลงกับไมโครซอฟท์ และกูเกิล เพื่อให้ crawler จากเว็บค้นหาทั้งสองเจ้า เข้ามาดึงข้อมูลจาก public timeline ไปทำดัชนีในการค้นหาได้
หลังจากนั้น ยาฮูก็ตามเข้ามาร่วมวงด้วย ล่าสุด Twitter ประกาศว่ายินดีเปิดข้อมูล tweet (ซึ่งบริษัทเรียกว่า “Firehose”) ให้กับเว็บค้นหารายเล็ก และบริการชนิดอื่นๆ แล้ว บริการหน้าใหม่ที่ประกาศความร่วมมือกับ Twitter ในขณะนี้ ได้แก่ Ellerdale, Collecta, Kosmix, Scoopler, twazzup และ CrowdEye เป็นต้น
หนังสือพิมพ์ Daily Telegraph รายงานว่าคณะกรรมการของ EU ได้รับการร้องเรียนจากเว็บไซต์ในยุโรป 3 ราย ได้แก่ Foundem จากอังกฤษ, Ciao จากฝรั่งเศส (ซึ่งเป็นของไมโครซอฟท์) และ ejustice.fr จากฝรั่งเศส ว่ากูเกิลได้ใช้กลเม็ดเอาเว็บเหล่านี้ออกจากผลการค้นหาของตัวเอง เนื่องจากว่าเว็บเหล่านี้ให้บริการสืบค้นเช่นเดียวกับกูเกิล
ภายหลังกูเกิลได้เอาเว็บเหล่านี้กลับมาคืนในผลการค้นหา ซึ่ง Foundem ระบุว่ามีทราฟฟิกเพิ่มขึ้นทันทีถึง 10,000% หลังกลับมาในผลค้นหาแล้ว
กูเกิลปฏิเสธว่าผลการค้นหามาจากอัลกอริทึมของกูเกิลเอง อย่างไรก็ตามคณะกรรมการของ EU ได้ส่งจดหมายไปยังกูเกิลให้ตอบคำถามทางเทคนิคบางอย่างแล้ว
ความร่วมมือด้านการค้นหาระหว่างยาฮู-ไมโครซอฟท์ ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลสหรัฐและสหภาพยุโรปแล้ว และทั้งสองบริษัทจะเดินหน้าเต็มตัวในการรวมระบบค้นหาครั้งนี้
เมื่อการรวมระบบเสร็จสมบูรณ์ ผู้ใช้ยาฮูจะไม่รู้สึกถึงความแตกต่างไปจากเดิมมากนัก เพราะหน้าตาของยาฮูจะยังเหมือนเดิมทุกประการ สิ่งที่เปลี่ยนไปมีแค่วิธีการเรียงลำดับผลการค้นหา และโฆษณาเท่านั้น (ดูภาพประกอบ สิ่งที่อยู่ในกรอบซ้ายมาจากไมโครซอฟท์) ยาฮูจะเป็นคนเพิ่มส่วนประกอบอื่นๆ เข้ามาเอง
รายละเอียดของข้อตกลงนี้ อ่านได้จาก สรุปความ: เกิดอะไรขึ้นระหว่างไมโครซอฟท์กับยาฮู
บริษัท Canonical ได้ประกาศว่า Ubuntu รุ่นหน้า 10.04 หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Lucid Lynx จะใช้ยาฮูเป็น search engine หลักแทนกูเกิล นอกจากนี้ยังรวมถึงหน้า start page ของ Firefox และติดตั้ง Yahoo! Toolbar มาให้พร้อมสรรพ
การประกาศแบบนี้ชัดเจนว่า Canonical นั้นได้รับเงินจากยาฮูเป็นสิ่งตอบแทน (ซึ่งกูเกิลก็ทำกับ Firefox เช่นกัน) แม้จะไม่เปิดเผยมูลค่า แต่ตัวแทนของ Canonical บอกว่าดีลกับยาฮูจะช่วยให้มีเงินมาสนับสนุนการพัฒนาของ Ubuntu มากขึ้น อย่างไรก็ตามถ้าผู้ใช้ไม่ชอบ ก็สามารถเปลี่ยนกลับเป็นกูเกิลได้ง่าย
ก่อนหน้านี้ Canonical ได้เงินจากกูเกิลอยู่บ้าง การเปลี่ยนมาใช้ยาฮูแปลว่ายาฮูจ่ายดีกว่า
แม้ว่าเมื่อก่อนแอปเปิลกับกูเกิลเคยมีความสัมพันธ์อันหวานชื่น ถึงขนาด Eric Schmidt มานั่งเป็นบอร์ดบริหารของแอปเปิล แต่ภายหลังเมื่อธุรกิจเริ่มซ้อนทับกันเอง (โดยเฉพาะมือถือ) เราก็เริ่มเห็นความร้าวฉานของแอปเปิลกับกูเกิลออกมาเรื่อยๆ (ผมว่าไม่มีกรณีไหนเกิน Google Voice นะ)
เมื่อกูเกิลเริ่มปันใจ อาจถึงเวลาที่แอปเปิลจำต้องมีรักใหม่ เพียงแต่รักครั้งนี้อาจชื่อว่า "ไมโครซอฟท์"
นิตยสาร BusinessWeek อ้างแหล่งข่าววงในว่า แอปเปิลกับไมโครซอฟท์กำลังคุยกันอยู่ว่า iPhone อาจเปลี่ยน default search engine มาเป็น Bing แทน Google Search รายละเอียดอื่นๆ ตอนนี้ยังไม่มี แต่นักวิเคราะห์คาดว่า Safari บนแมคอาจเปลี่ยนมาใช้ Bing เช่นกัน และในระยะยาวก็เป็นไปได้ว่าแอปเปิลจะทำ search engine เอง
ขอมาตามต่อกับประเด็นที่ Bing ทำสารบัญเว็บช้ามาก อยากให้เร็วต้องโพสต์ URL ในฟอรัมเพื่อใส่เข้าสารบัญเว็บด้วยมือ ทาง Ars Technica ได้สอบถามไมโครซอฟท์ไป ได้คำตอบว่ากำลังปรับปรุงอยู่ ทั้งเพิ่มการค้นหาโดย crawler (โปรแกรมที่วนซ้ำค้นหาและรวบรวมข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต) ตัวล่าสุดที่ยังเป็นรุ่นเบต้าอยู่นั้นเป็นสองเท่า นอกจากนั้นยังเพิ่มขนาด sitemap เป็น 50K, ปรับปรุงให้ผู้ดูแลเว็บควบคุม crawler ได้ง่ายขึ้นด้วย และปลายปีที่แล้วยังเพิ่มความสามารถที่จะวนซ้ำค้นหาและดึงผลลัพธ์ล่าสุดบนอินเทอร์เน็ตในเวลาเพียงไม่กี่นาที ซึ่งช่วยให้สามารถทำสารบัญเว็บที่มีการเปลี่ยนแปลงโดเมนบ่อย (เช่นเว็บข่าว) ได้ดียิ่งขึ้น