กูเกิลประกาศว่า YouTube Music จะกลายเป็นแอพฟังเพลงหลักที่ติดตั้งมาพร้อมกับอุปกรณ์ Android 9/10 ที่วางขายใหม่นับจากนี้ (รวมถึง Pixel 4 ด้วย) แทน Google Play Music ที่ใช้มาโดยตลอด
ก่อนหน้านี้กูเกิลมีแอพฟังเพลงหลายตัวที่ดูซ้ำซ้อน (เช่นเดียวกับแอพแชทที่กูเกิลมีหลายตัวมาก) แต่ประกาศนี้ทำให้เรารู้ว่า กูเกิลน่าจะตัดสินใจเลือก YouTube Music เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม Google Play Music ยังสามารถใช้งานได้ต่อไปตามปกติเช่นกัน
สมาคมอุตสาหกรรมเพลงของอเมริกาหรือ RIAA ออกรายงานเกี่ยวกับการเติบโตและรายได้ของอุตสาหกรรม โดยเผยว่ารายได้ทั้งอุตสาหกรรมครึ่งแรกของปี 2019 โต 18% อยู่ที่ 5,400 ล้านดอลลาร์ โดยจุดที่น่าสนใจคือรายได้ทั้งหมดนี้ 80% มาจากสตรีมมิ่ง
สำหรับรายได้ในส่วนของสตรีมมิ่ง หากสตรีมมิ่งทั้งหมด 3 รูปแบบ คือแบบเสียค่าสมาชิก (Spotify, Apple Music, Amazon Music) วิทยุดิจิทัล (Pandora, Sirius XM) และบริการดูฟรีมีโฆษณา (YouTube, Vevo, Spotify เวอร์ชันฟรี) ทั้งหมดเติบโตขึ้น 26% อยู่ที่ 4,300 ล้านดอลลาร์
รายการแข่งขันความสามารถด้านดนตรียังคงได้รับความนิยม แม้แต่ Netflix ก็ยังขอทำรายการแข่งแรพของตัวเองในชื่อว่า Rhythm + Flow เป็นรายการแข่งเฟ้นหาแรปเปอร์ เริ่มฉาย 9 ตุลาคมนี้
ในวันแรกที่ลงฉาย ผู้ดูจะได้ดูเฉพาะ 4 ตอนแรกของการแข่งขัน เป็นการออดิชั่น หลังจากนั้นในวันที่ 16 ตุลาคม จะได้ดูลีลาการแข่งแบทเบิลซึ่งจะตามมาอีก 3 ตอน และในอีก 3 ตอนสุดท้ายที่จะลงฉายทีเดียววันที่ 23 ตุลาคม กรรมการผู้ตัดสินคือเหล่าแรปเปอร์ชื่อดัง Cardi B, Chance the Rapper และ T.I.
Spotify ทดลองฟีเจอร์ใหม่ ให้ผู้ใช้สามารถสลับเพลงที่เล่นจากมือถือไปยังลำโพงที่เชื่อมต่อในบ้านโดยใช้กดปุ่มเดียว เมื่อผู้ใช้งานเดินทางถึงบ้าน และอยู่ในระยะเชื่อมต่อของลำโพงในบ้านอีกตัว Spotify จะขึ้นแจ้งเตือนให้สามารถเปลี่ยนเพลงไปเล่นลำโพงอีกตัวได้เลย ไม่ต้องมานั่งกดเชื่อมต่อใหม่หรือกดเปลี่ยนอุปกรณ์
แอปเปิลมีฟีเจอร์ที่คล้ายๆ กันด้วยคือ เปลี่ยนเพลงจากมือถือ iPhone ไปยังลำโพง HomePod ซึ่งทางบริษัทประกาศฟีเจอร์นี้ไปในงาน WWDC ที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้อัพเดตให้ใช้งานกัน
Apple ได้เริ่มทดสอบเปลี่ยน Mastered for iTunes ที่เป็นเครื่องหมายซึ่ง Apple ได้ให้เพลงที่กระจายบนแพลตฟอร์ม คือ iTunes และ Apple Music ที่ได้ตามมาตรฐานการทำเพลงของ Apple เป็นชื่อใหม่คือ Apple Digital Master แล้วใน macOS Catalina เบต้าล่าสุด
Mastered for iTunes คือเครื่องหมายซึ่ง Apple ให้เพลงที่ผ่านกระบวนการทำเพลงที่ถูกต้องตามมาตรฐาน Apple โดยมาตรฐานนี้กำหนดไว้เพื่อให้ได้เพลงฟอร์แมต AAC ที่เสียงไม่เพี้ยน (แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นมาสเตอร์) อย่างเช่น เสียงดังเกินไป หรือมีการ clipping เป็นต้น
ถือเป็นการขยับของบริษัทอินเทอร์เน็ตจีนที่น่าสนใจ เมื่อ Tencent เตรียมเข้าซื้อหุ้น 10% ใน Universal Music Group (UMG) ค่ายเพลงรายใหญ่อันดับหนึ่งของโลก โดยมูลค่าดีลสำหรับหุ้น 10% นี้คือ 3 พันล้านยูโร (3.3 พันล้านดอลลาร์ หรือ 1.03 แสนล้านบาท) พร้อมสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มอีก 10% ในราคาเดียวกันภายในระยะเวลา 1 ปี
ปัจจุบัน Universal Music Group มี Vivendi กลุ่มสื่อรายใหญ่ของฝรั่งเศสเป็นเจ้าของ ซึ่งตามแผนนั้น Vivendi ต้องการขายหุ้น UMG ออกมาบางส่วน และที่มูลค่าซึ่งจะขายให้ Tencent นั้น ก็เป็นราคาที่สูง
ดีลนี้ยังเป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่ายเพราะ UMG ก็เพิ่มโอกาสเจาะตลาดจีนมากขึ้น ขณะที่ Tencent ก็สามารถนำ UMG มาสร้างความร่วมมือกับ Tencent Music หน่วยงานด้านบริการเพลงของตนเอง
ในงาน LINE CONVERGE THAILAND 2019 มีประกาศผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นในครึ่งปีหลังนี้ หนึ่งในนั้นประกาศฟีเจอร์ใหม่ใน LINE คือ LINE Melody ให้ใช้เพลงโปรดเป็นเสียงเรียกเข้า และเสียงรอสายที่โทรจากแอพ LINE ได้ เริ่มใช้งานเดือนสิงหาคมนี้
พิเชษฐ์ ฤกษ์ปรีชา ซีอีโอคนใหม่ของ LINE ระบุว่า กว่า 50% ของคนใช้งานใช้ LINE Call และจะมีการจับมือกับพาร์ทเนอร์ด้านลิขสิทธิ์เพลงซึ่งจะเปิดเผยต่อไปในอนาคต
ในงานยังไม่ระบุรายละเอียดว่าจะมีเพลงอะไรบ้าง
มีการสืบสวนเผยแพร่โดยเว็บไซต์ Billboard พบว่า Spotify เผยข้อมูลผู้ใช้แก่ค่ายเพลงเยอะเกินจำเป็นผ่านฟังก์ชั่น pre-save ที่เปิดโอกาสให้แฟนเพลงใช้ฟีเจอร์นี้บน Spotify เพื่อเข้าถึงเพลงใหม่และอัลบั้มใหม่ของศิลปินก่อนที่เพลงนั้นจะปล่อยอย่างเป็นทางการ เรียกได้ว่าเป็นฟีเจอร์ที่แฟนๆ จะได้ฟังเพลงใหม่ก่อนใคร และช่วยเพิ่มยอดสตรีมให้ค่ายเพลงด้วย
ปกติเวลาใช้งาน Shazam แอพบอกชื่อเพลงที่ Apple เข้าซื้อไป จะต้องเปิดเพลงนั้นออกลำโพง และให้แอพหาชื่อเพลงให้ ล่าสุดตัวแอพเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ Pop Up Shazam บนแอนดรอยด์ สามารถระบุชื่อเพลงได้แม้จะฟังผ่านหูฟัง
เมื่อผู้ใช้งานฟังเพลงจากวิทยุหรือเพลงประกอบใน YouTube ที่บางทีในคลิปก็ไม่ได้บอกว่าเป็นเพลงอะไร ก็สามารถใช้ฟีเจอร์ใหม่ให้เป็นประโยชน์ได้ เมื่อแอพได้ยินเพลง แม้จะฟังผ่านหูฟังก็จะขึ้น notification ชื่อเพลงขึ้นมาให้ทันที โดยแอพสามารถจับเพลงได้จากทุกแอพไม่ว่าจะเป็น YouTube, TikTok และแม้จะใช้หูฟังบลูทูธก็ได้ผลเช่นกัน
Stories ใน Instagram มีฟีเจอร์ใหม่คูลๆ คือเมื่อเราอยากใช้เพลงใน Stories จะสามารถแสดงเนื้อเพลงๆ นั้นขึ้นมาให้อัตโนมัติ สามารถปรับแต่งฟอนต์ได้ และเลือกท่อนเพลงและเนื้อเพลงที่เราอยากแสดงได้
ผู้ใช้งานสามารถใช้ฟีเจอร์นี้ได้ด้วยการกดเข้าไปในสติกเกอร์ Music (เข้าใจว่ายังมีแค่ผู้ใช้บางส่วนที่ใช้งานได้) เลือกเพลงที่จะใช้ และกดให้มีเพลงและเนื้อเพลงคลอไปกับรูปที่เราอยากโชว์ใน Stories ได้
ข่าวดีสำหรับแฟนๆ เกมซีรีส์ Final Fantasy ที่ชอบฟังเพลงด้วย ล่าสุด Square Enix นำเพลงซาวน์แทร็คทั้งหมดของซีรีส์ Final Fantasy ทุกภาค (ทั้งภาคหลัก และภาคย่อยๆ อย่าง Tactics, Dissidia หรือ Brave Exvius) มาให้ฟังกันบนบริการสตรีมมิ่งเพลง ทั้ง Spotify และ Apple Music
Square Enix เพิ่งประกาศคอนเสิร์ต FINAL FANTASY VII - A Symphonic Reunion ในวันที่ 9 มิถุนายนนี้ (แล้วตามด้วยงานแถลงข่าว E3 ในวันถัดไป) การปล่อยเพลงลงสตรีมมิ่งจึงอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการโปรโมทงานด้วย
ผู้สนใจสามารถลองฟังได้จาก Spotify Web
อาจเป็นแบรนด์ที่ไม่น่าจะมาเกี่ยวโยงกันได้นัก แต่ก็เกิดขึ้นแล้ว โดยแบรนด์แฟชั่นหรู Louis Vuitton จัดงานเดินแบบคอลเลคชั่นประจำปี 2020 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา และเพลงประกอบการเดินแบบเพลงแรกที่เปิดขึ้นมาคือ Liberi Fatali จาก Final Fantasy VIII
ชื่อเพลงนี้อาจไม่คุ้นหูกันนัก แต่มันคือเพลงธีมหลักของ FF8 ที่ใช้ในฉาก CG เปิดเรื่องตั้งแต่ตอนต้นเกม ชื่อเพลงเป็นภาษาละตินแปลว่า Fated Children และใช้เนื้อร้องเป็นภาษาละตินทั้งหมด
เพลงนี้แต่งโดย Nobuo Uematsu นักแต่งเพลงหลักของซีรีส์ Final Fantasy โดยเขาบอกว่าเพลงนี้ถือเป็นเพลงหลักของ FF8 ควบคู่ไปกับเพลง Eyes on Me ที่คนจดจำกันได้มากกว่า
Google และ Amazon ประกาศพร้อมๆ กันว่าผู้ใช้งานลำโพงอัจฉริยะ Google Home และ Amazon Echo สามารถฟังเพลงสตรีมมิ่งจากแพลตฟอร์มของบริษัทได้ฟรีไม่ต้องจ่ายเงินเพื่อใช้บริการสตรีมมิ่งรายเดือนเพิ่มถ้าไม่อยากจ่าย
กล่าวคือ ผู้ใช้ Google Home ฟังเพลงจาก YouTube Music ส่วนผู้ใช้ลำโพง Amazon Echo ก็ฟังเพลงจาก Amazon Music ได้ฟรีเช่นกัน แต่มีโฆษณาทั้งคู่ และยังไม่สามารถควบคุมเพลงได้เหมือนเวอร์ชั่นเสียเงิน ดังนั้นเมื่อผู้ใช้ใช้งานจึงสามารถเลือกเพลงได้เป็นชนิดเท่านั้น เช่น เพลงป๊อบ เพลงลาติน เพลงดังตอนนี้ เป็นต้น
แหล่งข่าวของ Billboard รายงานว่า Amazon กำลังเตรียมหารือเกี่ยวกับบริการสตรีมมิ่งเพลงแบบฟรีมีโฆษณา เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่มีบริการสตรีมมิ่ง Prime Music และ Music Unlimited ที่เป็นบริการสตรีมมิ่งแบบเสียเงิน
การเปิดตัวบริการสตรีมมิ่งใหม่ของ Amazon นี้ นอกจากแข่งขันกับ Spotify โดยตรงแล้ว ก็ยังมีจุดประสงค์เพื่อเป็นบริการเสริมให้ผู้ใช้ลำโพงอัจฉริยะ Amazon Echo สามารถเปิดเพลงฟังได้เลย ไม่ต้องสมัครสมาชิกหรือจ่ายเงินก่อน แต่จะจำกัดการเข้าถึงเพลงที่ไม่เหมือนบริการเสียเงิน และมีโฆษณาด้วย
ผู้เล่นเปียโนหรือนักดนตรีเล่นเปียโนหลายคน น่าจะคุ้นเคยกับ Steinway & Sons ผู้ผลิตเปียโนชื่อดัง และบางคนก็อาจเคยมีประสบการณ์ได้เล่นหรือจับจองเป็นเจ้าของมาแล้ว ล่าสุด บริษัทได้ทำการเปิดตัวเปียโนรุ่นใหม่ "Spirio | r"
สำหรับเปียโนรุ่นนี้เป็นการพัฒนาต่อจากรุ่น Spirio เมื่อปี 2015 ที่สามารถเล่นเพลงแล้วเชื่อมต่อกับ iPad ทำให้เครื่องเล่นเพลงเองได้เสมือนหนึ่งนักดนตรีมาเล่นเอง ส่วนความสามารถพิเศษของรุ่นนี้ที่เพิ่มเข้ามาคือการบันทึกการเล่นสดของนักดนตรีหรือผู้เล่นได้ เล่นกลับ (playback) ค้นหา แล้วบันทึก รวมถึงแก้ไขรายละเอียดต่างๆ ได้เพิ่มเติมจากแอพของบริษัทใน iPad Pro ที่เชื่อมต่อเข้ากับเปียโนโดยเฉพาะ
YouTube จับมืองานเทศกาลดนตรีระดับโลก Coachella สตรีมงานคอนเสิร์ตตลอด 6 วัน และยังมีคอนเทนต์พิเศษพวกเบื้องหลังการแสดง พร้อมช่องทางซื้อบัตรเข้าร่วมคอนเสิร์ตสำหรับผู้สมัครใช้งาน YouTube Music และ YouTube Premium ในสหรัฐ
มีรายงานว่าแอปเปิลได้เข้าซื้อกิจการสตาร์ทอัพชื่อ Platoon ซึ่งเป็นบริษัทในอังกฤษด้วยมูลค่าที่ไม่เปิดเผย เพื่อนำทีมงานและสินทรัพย์มาเสริมทัพให้กับ Apple Music
Platoon เป็นบริษัทให้บริการรับพัฒนาแผนการตลาด ทั้งในรูปสื่อเสียง, วิดีโอ ตลอดจนการตลาดออนไลน์ ให้กับศิลปินนักร้องที่กำลังเริ่มต้นในวงการ ซึ่งมีผลงานคือการผลักดันจนศิลปินหลายคนได้เซ็นสัญญากับค่ายเพลงขนาดใหญ่ แหล่งข่าวเผยว่าดีลนี้แอปเปิลจะช่วยให้ Platoon สามารถผลักดันศิลปินที่มีความสามารถและน่าสนใจได้ในอีกช่องทางหนึ่ง ผ่านการนำเสนอรูปแบบต่าง ๆ ใน Apple Music นั่นเอง
Facebook เผยฟีเจอร์เพลงหลายอย่างบน Facebook นอกจากเพิ่มเพลงบนรูปโปรไฟล์เป็น Stories พร้อมสติกเกอร์เพลงใน Stories แล้วยังมีไลฟ์ร้องเพลงที่จะแสดงเนื้อเพลงประกอบไปด้วย ทีนี้คนจะได้ไม่ต้องจำเนื้อร้องหรืออ่านเนื้อร้องโดยสายตาไม่ได้โฟกัสกล้อง
เพลงที่เริ่มทำได้ในตอนนี้คือเพลงดัง New Rules ของ Dua Lipa, Better ของ Khalid และ Girls Like You ของ Maroon 5 ซึ่ง Facebook ระบุจะเพิ่มเพลงฮิตอื่นๆ อีกในอนาคต
การแชร์เพลงจากสตรีมมิ่งลง Stories ทั้งใน Instagram และ Facebook เป็นอีกหนึ่งเทรนด์โซเชียลที่คนรุ่นใหม่ชอบทำกัน ล่าสุด Facebook ก็เอาจุดนี้มาขยายเป็นฟีเจอร์ใหม่คือ ให้เพิ่มเพลงบนรูปโปรไฟล์ตัวเองในรูปแบบ Stories ได้ เป็นการเปิดเผยตัวตน อารมณ์และรสนิยมของตัวเองบนโซเชียลผ่านโปรไฟล์ตัวเอง เพื่อนๆ จะกดที่รูปโปรไฟล์เพื่อฟังเพลงโปรดของเราได้ และยังสามารถปักหมุดเพลงที่ฟังอยู่ไว้ใต้รูปโปรไฟล์ด้วย
Tencent Music Entertainment บริษัทในเครือ Tencent ยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ต ได้ยื่นไฟลิ่งเพื่อเตรียมไอพีโอเข้าตลาดหุ้นในอเมริกา (ยังไม่ระบุว่าจะเข้าตลาดใด) โดยมีแผนระดมทุนเพิ่มราว 1 พันล้านดอลลาร์ จากมูลค่ากิจการปัจจุบันราว 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์
บริการของ Tencent Music มีอยู่ 4 แอป ได้แก่ QQ Music, Kugou Music, Kuwo Music และ WeSing ซึ่งทั้งหมดทำตลาดเฉพาะในประเทศจีน ประเมินส่วนแบ่งการตลาดรวมอยู่ราว 75% ของแพลตฟอร์มฟังเพลงทั้งหมดในจีน และ Tencent ก็ระบุว่าจำนวนผู้ใช้งานรวมกันทั้งหมดมีราว 800 ล้านคน
ชีวิตง่ายขึ้นสำหรับศิลปินอิสระ นักดนตรีทำเพลงอินดี้ที่จะสามารถอัพโหลดเพลงตัวเองเข้าไปใน Spotify ได้ โดย Spotify ร่วมมือกับศิลปินอินดี้เช่น Noname, Michael Brun, VIAA and Hot Shade ในการทำฟีเจอร์ใหม่นี้
โดยตอนนี้ยังคงเป็นเวอร์ชั่นเบต้าอยู่ มีศิลปินอินดี้ในสหรัฐฯมาร่วมด้วยแล้วประมาณหลักร้อยราย โดยพวกเขาจะสามารถทำเพลงเข้าถึงคนฟังมากขึ้น จัดการแก้ไขเมตาดาต้าของตัวเอง และระบบ analytic ต่างๆ หลังบ้าน
ถือเป็นก้าวย่างสำคัญของคนทำเพลงเพราะ Spotify มีผู้ใช้งานมากเป็นอันดับต้นๆ จากเดิมที่ศิลปินเหล่านี้อัพเพลงลง SoundCloud ตอนนี้ก็มีช่องทางเผยแพร่ผลงานที่จะเช้าถึงคนฟังกว้างขวางขึ้นด้วย
YouTube ออกมาเผยว่า MV เพลงใหม่ (Idol) ของวง BTS ทำลายสถิติมีคนรับชมมากที่สุดใน 24 ชั่วโมงแรกหลังจากเปิดตัว โดยกวาดยอดรับชมไป 45 ล้านวิว
โฆษก YouTube เผยว่าสถิติที่สูงสุดที่เคยมีคนทำได้ก่อน BTS จะทำลายลงไปคือเพลง Look What You Made Me Do ของ Taylor Swift ได้ยอดรับชม 24 ชั่วโมงแรกไป 43.2 ล้านวิว
Tim Cook ซีอีโอแอปเปิล ให้สัมภาษณ์กับ Fast Company เกี่ยวกับบริการเพลงสตรีมมิ่ง Apple Music และอุตสาหกรรมเพลงในภาพรวม โดยเขาให้มุมมองน่าสนใจว่า การให้อัลกอริทึมของคอมพิวเตอร์เป็นตัวคัดเลือกเพลงล้วน ๆ นั้น เป็นการทำลายจิตวิญญาณของวงการดนตรี
ประโยคดังกล่าวถือเป็นการพุ่งไปที่คู่แข่งอย่าง Spotify ซึ่งที่ผ่านมาใช้อัลกอริทึมในการจัดเพลย์ลิสต์มาตลอด (เพิ่งเริ่มใช้คนคัดเลือกไม่นานมานี้) ขณะที่ Apple Music พยายามเน้นเพลย์ลิสต์ที่มีคนคัดเลือกมาตั้งแต่แรก
แอพนาฬิกาของ Google สามารถเพิ่มเพลย์ลิสต์จาก Spotify เข้ามาเป็นเสียงนาฬิกาปลุกได้แล้ว แทนที่จะเป็นเสียงริงโทนธรรมดา สามารถใช้งานได้ตั้งแต่แอนดรอยด์ Lollipop และไม่ต้องมีบัญชี Spotify พรีเมี่ยมก็ใช้งานได้
หลายคนอาจสงสัยว่าทำไม Google ถึงไม่ใช้บริการที่ตัวเองมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น Google Play Music หรือ YouTube Music ซึ่งทาง Google บอกว่าจะใช้เพลงจาก YouTube Music เข้ามาด้วยในเร็วๆ นี้
คนที่ใช้งานได้ จะเห็นหน้าตาแอพในหมวด Alarm sound เป็นสองฝั่งคือฝั่งที่เป็นริงโทนปกติกับฝั่ง Spotify ซึ่งผู้ใช้สามารถเลื่อนดูเพลย์ลิสต์ที่เหมาะกับยามเช้าที่ Spotify คัดมาให้ การอัพเดตจะเริ่มต้นขึ้นภายในสัปดาห์นี้
Festicket บริการจองตั๋วสำหรับงานอีเว้น เทศกาลต่างๆ ของอังกฤษ จับมือกับ Spotify ทำฟีเจอร์ Festival Finder เสนองานเทศกาลดนตรีที่ตรงกับความชอบของผู้ใช้งานแต่ละคน
โดย Festival Finder ต้องการให้ผู้ใช้ล็อกอินเข้า Festicket ผ่าน Spotify หลังจากนั้นระบบจะดึงข้อมูลแนวเพลงที่ผู้ใช้คนนั้นสนใจ เช่นศิลปินคนโปรด จากนั้นก็เสนอเทศกาลดนตรีที่น่าสนใจ 10 งานมาให้