Nick Kralevich วิศวกรด้านความปลอดภัยในทีม Android ออกมาตอบโต้ข่าว Nexus S ถูก root ได้ของ Engadget ซึ่งให้ความเห็นไว้ว่า Nexus S ถูก root ได้เพราะความปลอดภัยของ Android ไม่ดีพอ
Nick Kralevich โพสต์ผ่านบล็อก Android Developers ว่าทั้ง Nexus S และ Nexus One ถูกออกแบบมาให้ติดตั้งเฟิร์มแวร์อื่นๆ ได้ง่าย เพียงแค่สั่ง fastboot oem unlock เท่านั้นก็เรียบร้อย ดังนั้นไม่ได้แปลว่าระบบความปลอดภัยของ Android มีปัญหาแต่อย่างใด
หลังจากที่ Wikileaks ได้ปล่อยเอกสารลับของสหรัฐอเมริกาจำนวนกว่า 250,000 ชิ้นออกมา โดเมน wikileaks.org ที่เป็นชื่อโดเมนหลักของ Wikileaks ได้ถูกบล็อคและเครื่องให้บริการก็ถูกโจมตีอย่างหนักจนต้องมีการเปิดเว็บไซต์สำรองขึ้นมาทั่วโลก
Laurence Muller เป็นหนึ่งในโปรแกรมเมอร์ที่สนใจการเติบโตของจำนวนเว็บไซต์สำรองของ Wikileaks เขาจึงทำการเขียนโปรแกรมสำหรับเก็บข้อมูลของเว็บไซต์สำรองนี้ขึ้นมา พบว่ามีการเพิ่มจำนวนมากถึง 2,000 เว็บไซต์ในเวลาเพียง 7 วัน โดยเมื่อจำแนกตามประเทศของเครื่องผู้ให้บริการแล้ว เครื่องผู้ใหบริการส่วนใหญ่นั้นตั้งอยู่ในประเทศเยอรมัน โดยมีสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศสตามมาติดๆ
หนังสือพิมพ์ The New York Times รายงานว่ากูเกิลขอให้ผู้ผลิตทีวีเลื่อนการเปิดตัว Google TV ในงาน CES 2011 ช่วงเดือนมกราคมออกไปก่อน ด้วยเหตุผลว่ากูเกิลต้องการปรับปรุงซอฟต์แวร์ใหม่หลังรีวิวและเสียงตอบรับออกมาไม่ดี รวมถึงต้องการเวลาในการเจรจากับสถานีโทรทัศน์ทั้งหลายที่บล็อค Google TV ด้วย
ตามข่าวบอกว่า LG, Toshiba, Sharp จะเลื่อนการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ออกไปตามคำขอของกูเกิล ส่วนซัมซุงมีแผนจะโชว์กล่องอุปกรณ์ Google TV (แบบเดียวกับ Logitech Revue) 2 รุ่น และบริษัท Vizio อาจจะโชว์ทีวีหนึ่งรุ่นสำหรับแขกที่ได้รับคำเชิญเท่านั้น
มีข่าวลือมาจากเว็บไซต์ Mobile-review โดยบล็อกเกอร์ชื่อดังของวงการคือ Eldar Mutarzin ซึ่งสนิทสนมกับคนในบริษัทโนเกีย เขียนบล็อกเป็นภาษารัสเซียว่า โนเกียกำลังคุยกับไมโครซอฟท์เพื่อเปิดสายผลิตภัณฑ์มือถือใหม่ที่ใช้ Windows Phone เป็นระบบปฏิบัติการ
รายละเอียดจากต้นทางมีแค่นั้น ที่เหลือเป็นการวิเคราะห์ของสำนักข่าวต่างๆ ถึงความเป็นไปได้ ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่าง ทั้งยอดขายของ Windows Phone ที่ไม่ร้อนแรงนัก, การที่ Stephen Elop ซีอีโอคนปัจจุบันของโนเกียเคยทำงานที่ไมโครซอฟท์, MeeGo ที่ยังไม่เสร็จ และปัญหาการจัดการภายในโนเกียเอง
ผมคิดว่าถ้าข่าวนี้มีมูลจริง อีกสักพักจะเริ่มมีข้อมูลหลุดออกมาอีกหลายระลอกครับ
Adobe เผยผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 4 ของปี 2010 ปรากฎว่าทำรายได้รวม (revenue) แตะหลัก 1 พันล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรกของบริษัท
Adobe มีรายได้รวม 1.01 พันล้านดอลลาร์ โตขึ้น 33% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนกำไรอยู่ที่ 268.9 ล้านดอลลาร์ เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 32 ล้านดอลลาร์
สาเหตุของรายได้ที่เพิ่มขึ้นมากคือยอดขายของ CS5 ที่กลับมาดี หลังจากขายไม่ดีนักช่วงเปิดตัวใหม่ๆ เมื่อต้นปี นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ด้านองค์กรของ Adobe ก็ไปได้ดีเช่นกัน และกำลังเป็นตัวทำเงินใหม่ของบริษัทนอกเหนือจาก CS
ที่มา - Bloomberg
About.me เป็นบริการสำหรับสร้างหน้าแสดงข้อมูลส่วนตัว คล้ายๆ นามบัตรบนโลกออนไลน์ โดยผู้ใช้จะได้ URL ของตนเองเป็น About.me/Username ซึ่งได้มีการเปิดบริการอย่างไม่เป็นทางการมาแล้วเมื่อช่วงต้นปี
ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมาได้มีการเปิดตัว About.me อย่างเป็นทางการ และ 4 วันให้หลังก็โดน AOL เข้าซื้อกิจการไปเรียบร้อย ด้วยมูลค่าประมาณ 25 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคาดว่า AOL จะนำ About.me ไปรวมกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของตนเช่น AIM, AOL Mail เป็นต้น
ที่น่าสนใจอีกก็คือทีมงานเดิมของ About.me ใช้เงินลงทุนในการสร้างเพียง 425,000 ดอลลาร์เท่านั้น
ที่มา - Mashable
แพลตฟอร์ม Sandy Bridge ที่จะเป็นการอัพเกรดซีพียูตระกูล Core ทั้งหมดของอินเทลไปใช้ซ๊อกเก็ต 1155 นั้นมีกำหนดเปิดตัวในงาน CES 2011 หรืออีกประมาณ 1 เดือนข้างหน้า แต่อยู่ดีๆ ก็มีรายงานจากประเทศมาเลเซียว่ามีซีพียูและเมนบอร์ดวางขายแล้วในวันนี้
ซีพียูที่วางขายออกมาเป็นรุ่น Core i5 2300, Core i5 2400 และรุ่น Core i7 2600 โดยวางขายที่ร้าน Compuzone ในราคา 585, 609, และ 939 ริงกิต ตามลำดับ (5,600 บาท, 5,850 บาท, และ 9,000 บาทตามลำดับ)
ส่วนเมนบอร์ดนั้นที่ร้าน StarTec ก็มีการประกาศราคาของเมนบอร์ดสองยี่ห้อคือ Asus, และ Gigabyte ทั้งหมดสิบรุ่นราคาตั้งแต่ 439 ริงกิต (4,200 บาท) ไปจนถึง 1,250 ริงกิต (12,000 บาท) โดยแทบทุกรุ่นมาพร้อมกับ USB 3.0 และ SATA 6Gb
สี่เดือนหลังจากเปิดตัว BlackBerry Torch 9800 ในสหรัฐฯ ตอนนี้ก็ชัดเจนว่าในไทยจะมีการนำเข้า BlackBerry รุ่นนี้เข้ามาด้วยทาง RIM เลยส่งมาให้ผมทดสอบอยู่เครื่องหนึ่ง หลังจากใช้ไปสี่ห้าวัน ก็ได้เวลามาเล่าถึงประสบการณ์การใช้งานกัน
เล่าพื้นหลังของตัวผมเองสักหน่อย ผมเองเคยจับ BlackBerry นานสักหน่อยเพียงครั้งเดียวคือ BlackBerry Storm เท่านั้น ส่วนรุ่นอื่นๆ นั้นได้จับๆ เพียงหลักชั่วโมง และเครื่องหลัก การใช้งานของผมเองส่วนมากจะเป็นการพิมพ์อีเมล, ทวิตเตอร์, GTalk และถ่ายภาพ ส่วนเฟซบุ๊ก, เว็บ, และแอพพลิเคชั่นอื่นๆ นั้นรองลงไป
พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ หรือที่เราเรียกกันย่อๆ ว่า "พ.ร.บ. กสทช." ที่เพิ่งผ่านการโหวตของวุฒิสภาไปเมื่อเดือนที่แล้ว ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว และมีผลบังคับใช้ในวันนี้ (20 ธ.ค. 53)
เมื่อ พ.ร.บ. กสทช. บังคับใช้ ทำให้ กทช. สิ้นสุดลง แต่ในบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ. ฉบับใหม่ระบุให้คณะกรรมการ กทช. และเลขาธิการ กทช. ทำหน้าที่รักษาการไปก่อน จนกว่าจะสรรหาคณะกรรมการ กสทช. ชุดแรกได้
จากนี้ไป หน้าที่จะตกอยู่กับสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เป็นผู้เริ่มกระบวนการสรรหาคณะกรรมการ กสทช. ให้ครบ 11 คน เพื่อจะมาปฏิบัติหน้าที่ต่อไป
เว็บไซต์ Newsweek รวบรวม 8 อุปกรณ์-ผลิตภัณฑ์ไอทีที่ล้มเหลวในปี 2010 นี้
ข่าวนี้ต่อจาก อดีตผู้ร่วมทีม Gmail เชื่อ "กูเกิลจะยกเลิก Chrome OS ในปี 2011"
หลังจากข่าวที่แล้วออกไป คุณ Paul Buchheit ได้เขียนบล็อกขยายความแนวคิดของเขาเรื่อง Chrome OS ว่าโดยส่วนตัวเขาเห็นด้วยกับแนวคิด "Cloud OS" ที่มองอินเทอร์เน็ตเป็นคอมพิวเตอร์ขนาดยักษ์หนึ่งเครื่อง แต่ไม่ใช่ว่ามีแต่ Chrome OS เท่านั้นที่ทำงานลักษณะนี้ได้ เพราะในปัจจุบัน iOS/Android ก็มีลักษณะแบบนี้อยู่บ้างแล้ว เพียงแต่อาจจะไม่ได้อยู่ในรูปเว็บและ HTML เท่านั้น
หลายคนคงคุ้นชื่อกับแท็บเล็ต Adam ของบริษัท Notion Ink จากอินเดีย หลังจากเลื่อนมาหลายรอบจนหลายคนมองว่ามันจะเข้าข่าย "vaporware" ทางบริษัท Notion Ink ก็เปิดให้สั่งจองเครื่องแล้ว
ล่าสุดทาง Notion Ink สร้างความอุ่นใจอีกขั้น โดยปล่อยวิดีโอสาธิตการทำงานของระบบปฏิบัติการ Eden ที่พัฒนามาจาก Android อีกต่อหนึ่ง ซึ่งก็สร้างความฮือฮาได้ไม่น้อย จากความลื่นไหลและหน้าตาที่สวยงามของ Eden เอง
อันนี้เป็นเหมือน "ภาคต่อ" ของข่าว เบื้องหลังระบบ Facebook Messages โฉมใหม่ เลือกใช้ Hbase ที่คุณ Ich เขียนเมื่อเดือนที่แล้ว ผมแนะนำว่าคนที่สนใจเรื่อง NoSQL ควรอ่านบทความต้นฉบับครับ
ข่าวก่อนเป็นมุมมองของคนในทีม Facebook เองว่าทำไมถึงเลือก HBase เหนือ MySQL และ Cassandra ส่วนข่าวนี้เป็นมุมมองจากเว็บไซต์ The Register พูดถึงสถาปัตยกรรม MapReduce, BigTable ของกูเกิล และซอฟต์แวร์สาย Apache คือ Hadoop และ HBase ในเชิงลึกกว่าเดิม
นอกจากนี้บทความยังพูดถึงการปรับปรุง HBase โดยทีมงาน Facebook เอง และการทำงานร่วมกับ Haystack ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์สำหรับจัดการรูปภาพและไฟล์ขนาดใหญ่ของ Facebook ด้วย
จากข่าวเดิม IE9 จะเพิ่มฟีเจอร์ Tracking Protection ตามนโยบาย 'Do Not Track' ที่เสนอโดยคณะกรรมการการค้าของสหรัฐ (FTC)
ล่าสุดฝั่ง Mozilla ประกาศสนับสนุนนโยบาย Do Not Track แล้ว โดยซีอีโอของ Mozilla ประกาศว่า Firefox ควรจะมีปุ่ม 'Do Not Track' มาให้ในตัว และจะทำเสร็จภายในครึ่งแรกของปีหน้า (คงมากับ Firefox 4.x)
กูเกิลเองก็บอกว่าแนวทางนี้น่าสนใจ แต่ยังมีความซับซ้อนมาก และยังไม่มีนิยามที่แน่ชัดของคำว่า "ตามรอย" หรือ "track" ซึ่งกูเกิลยังรอดูความเป็นไปได้ในแนวทางต่างๆ อยู่
ที่มา - AFP
ลองนึกสถานการณ์ตามนะครับ ผมเดินไปเจอป้ายข้อความเป็นภาษาที่อ่านไม่ออก (เช่น ภาษาสเปน) ผมหยิบมือถือขึ้นมา ส่องกล้องให้ตรงกับป้ายที่ต้องการ ปรากฎว่าจุดที่เคยเป็นข้อความที่อ่านไม่ออก กลายร่างเป็นข้อความในภาษาที่เราอ่านออกแทน
ถ้านึกตามไม่ออก ลองดูภาพประกอบ
สถานการณ์แบบนี้เป็นจริงแล้วด้วยโปรแกรม Word Lens จากบริษัท Quest Visual
เรารู้กันดีว่ากูเกิลได้ร่วมมือกับห้องสมุดของมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่ง สแกนหนังสือเก่าๆ ให้อยู่ในรูปดิจิทัลทั้งหมด โครงการนี้ทำมาหลายปี และมันเริ่มออกดอกออกผลแล้ว
กูเกิลได้รวบรวมข้อความทั้งหมดในหนังสือจำนวน 5.2 ล้านเล่ม ถ้านับเป็นคำ จะได้ทั้งหมด 500 ล้านคำ คำทั้งหมดนี้จะถูกแยกตามปี และเราสามารถดูแนวโน้มของคำศัพท์ต่างๆ เทียบกับเวลาได้แล้วด้วย Google Books Ngram Viewer
Office Genuine Advantage หรือ OGA เป็นเทคโนโลยีป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์แบบเดียวกับ WGA เพียงแต่ใช้สำหรับ Microsoft Office ซึ่งคนที่ต้องการดาวน์โหลดตัวเสริมหรือแม่แบบจาก Office.com จะต้องผ่าน OGA เสียก่อนจึงจะใช้ได้
แต่มีรายงานว่าไมโครซอฟท์ปิดบริการ OGA แบบเงียบๆ โดยไม่ได้ระบุเหตุผลชัดเจน และหน้าเว็บที่เกี่ยวข้องกับการ validate ว่าเป็นของแท้ก็ถูกเอาออกจากเว็บไซต์ของไมโครซอฟท์
การปิด OGA ไม่เกี่ยวกับการ activate โปรแกรม Microsoft Office ตอนติดตั้งนะครับ ยังต้องใส่คีย์เหมือนเดิม ส่วน WGA ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ
ที่มา - ZDNet
Amazon Mechanical Turk เป็นแพลตฟอร์มสำหรับทำ crowdsourcing ที่ค่อนข้างดังตัวหนึ่ง รูปแบบของมันจะคล้ายๆ กับตลาดนัดแรงงาน แต่เป็นงานขนาดเล็กๆ ที่ทำได้ผ่านอินเทอร์เน็ต (เช่น จ้างคนรวบรวมหรือค้นข้อมูล) และจ่ายเงินด้วยอัตราไม่เยอะนัก ประโยชน์ของมันคือช่วยให้ทำงานที่ต้องใช้แรงคนได้เร็วและสะดวกขึ้น
แต่เดิมนั้นหากยึดตามสเปคที่กำหนดโดย ITU (องค์การโทรคมนาคมนานาชาติ) แล้ว มาตรฐานที่จะใช้คำว่า 4G นั้นมีเพียงสองตัว คือ LTE Advanced และ WiMAX2 (802.16m) เท่านั้น ส่วนคำว่า 4G ที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบันเป็นเพียง "ชื่อทางโฆษณา" เท่านั้น ถ้ายึดตามหลักแล้วมันนับเป็นแค่ 3.9G (ดู 10 คำถามกับ 3G ฉบับ Blognone)
แต่จากการสัมมนาล่าสุดที่กรุงเจนิวา ITU ได้ออกมารับว่า คำว่า 4G สามารถใช้ได้กับมาตรฐานที่มีมาก่อนหน้านี้ อันได้แก่ LTE, WiMAX และเทคโนโลยี 3G อื่น ซึ่งมาตรฐานเหล่านี้ได้รับการปรับปรุงด้านประสิทธิภาพและความสามารถเมื่อเทียบกับมาตรฐานในยุค 3G ตั้งต้น
โปรแกรมแบ็คอัพผ่านอินเทอร์เน็ตยอดนิยมอย่าง Dropbox เดินทางมาถึงเวอร์ชัน 1.0 แล้ว ฟีเจอร์สำคัญของรุ่นนี้คือ Selective Sync ซึ่งเลือกได้ว่าจะซิงค์เฉพาะไฟล์ไหนบ้าง เหมาะสำหรับคนที่มีคอมพิวเตอร์ที่พื้นที่เก็บข้อมูลไม่มากนัก หรือคนที่แยกหมวดไฟล์งานกับไฟล์ส่วนตัวออกจากกัน (แต่ต้องการแบ็คอัพด้วย Dropbox เหมือนกัน)
ฟีเจอร์อื่นได้แก่การปรับปรุงประสิทธิภาพ ซึ่งลดการใช้หน่วยความจำลงสูงสุด 50% และปรับปรุงการซิงค์ไฟล์ Resources ของแมค
ผมเข้าใจว่า Dropbox อัพเดตตัวเองอัตโนมัติได้เลยนะครับ ใครที่ใช้อยู่ก็ไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเป็นพิเศษ
ที่มา - Dropbox Blog
Mark Moskowitz นักวิเคราะห์จาก J.P. Morgan ประเมินว่าตลาดแท็บเล็ตปี 2011 จะมีมูลค่า 24.9 พันล้านเหรียญ และปี 2012 จะขึ้นไปที่ 34.1 พันล้านเหรียญ
ในอนาคตระยะใกล้และระยะกลาง เจ้าตลาดจะยังเป็นแอปเปิลและ iPad ถึงแม้ว่า Android 3.0 จะมาในปีหน้า และแท็บเล็ต Android 3.0 จะเข้าตลาดช่วงครึ่งหลังของปีหน้า แต่ก็ต้องสู้กับ iPad 2 ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์รุ่นที่สองอยู่ดี ทาง Moskowitz จึงคาดว่าการผสานประสบการณ์ใช้งานหลายอุปกรณ์ของแอปเปิล จะยังทำให้บริษัทเป็นผู้นำในตลาดนี้ได้อีกระยะหนึ่ง แต่ในระยะยาวจะมีแท็บเล็ตที่ "ดีพอ" เข้ามาเจาะตลาดได้เช่นกัน
ที่มา - AllThingsD
เป็นที่ถกเถียงกันมานานทั้งในเมืองนอกและเมืองไทยว่า ASUS นั้นออกเสียงว่าอย่างไร ซึ่งแต่ละคนก็จะออกเสียงตามถนัดไม่ว่าจะเป็น /เอ-ซัส/ /อะ-ซัส/ /อะ-ซุส/ /อัส-ซุส/ ฯลฯ หรือแม้กระทั่งคนของ ASUS เองก็ยังออกเสียงไม่เหมือนกัน! (เห็นได้จากงานคอมหลายๆ งาน)
เพื่อเป็นการลดความสับสน ทาง ASUS เลยออกประกาศการออกเสียงที่ถูกต้องว่า "/เอ-ซุส/" ซึ่งเป็นการตัดคำมาจากชื่อเดิมของบริษัทคือ pegasus นั่นเอง
ว่าแล้วก็มาฝึกออกเสียงกับวีดีโอประกอบหลังข่าวกันครับ
ที่มา - Engadget
ผลการสำรวจตลาดเพลงออนไลน์ในไตรมาสที่สามของปี 2010 จากบริษัท NPD พบว่าแอปเปิลยังเป็นเจ้าตลาดด้วยส่วนแบ่ง 66.2% เพิ่มจากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วที่ 63.2%
อันดับสองคือ Amazon MP3 ซึ่งเข้าตลาดช้ากว่า iTunes เป็นเวลา 4 ปี อยู่ที่ 13.3% เพิ่มจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ 11% ส่วนที่เหลือๆ ก็เป็นพวกรายเล็กต่างๆ
ช่วงหลัง Amazon หันมาใช้กลยุทธด้านราคาที่ถูกกว่า iTunes พอสมควร แต่ถ้านับจำนวนเพลงแล้ว iTunes ยังมีเยอะกว่ามาก อย่างไรก็ตาม ตลาดเพลงออนไลน์เริ่มอิ่มตัวและโตช้ามากคือ 0.3% จากปีก่อน
ที่มา - WSJ
MySQL 5.5 ออกแล้ว การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดคือย้ายมาใช้ InnoDB เป็น default storage engine แทน MyISAM เสียที หลังจากเตรียมการเรื่องนี้มานานหลายรุ่น
ผลก็คือ MySQL 5.5 จะได้ฟีเจอร์หลายๆ อย่างจาก InnoDB โดยเฉพาะเรื่องประสิทธิภาพ และความสามารถในการขยายตัว (scalability) เพิ่มเข้ามา ส่วนของใหม่อย่างอื่นก็คือปรับปรุงเรื่อง replication และคำสั่งใหม่อย่าง SIGNAL/RESIGNAL รายละเอียดอ่านกันเองใน What's New in MySQL 5.5
เว็บไซต์ Help Net Security ระบุว่าในการทดสอบบนวินโดวส์ MySQL 5.5 มีประสิทธิภาพดีกว่า 5.1 เรื่อง read/write เฉพาะกรณีที่สูงสุดคือ 1,500% ส่วนบนลินุกซ์สูงสุด 360%
ชื่อโปรแกรมอาจชวนให้เข้าใจผิดว่าเราจะได้เล่นเกม PlayStation บน iPhone และ Android แต่ความจริงไม่เป็นแบบนั้น
Official PlayStation App จากโซนี่สามารถใช้ดูสถานะใน PlayStation Network ไม่ว่าจะเป็นถ้วยรางวัลหรือคะแนน, ตามข่าวใหม่ๆ ของ PlayStation และแชร์เนื้อหาไปยัง social network ได้
แอพตัวนี้เป็นของโซนี่ยุโรป ตอนแรกจะยังใช้ได้เฉพาะบางประเทศในยุโรปเท่านั้น ต้องการ iOS 4 หรือ Android 1.6 ขึ้นไป
ที่มา - PlayStation.Blog